ด้วยความบังเอิญหรือความตั้งใจ--ก็แล้วแต่
ทิวแถวรวงข้าวของชนเผ่ากระเหรี่ยงปกาเกอะญอ (Kanyaw) ที่โบกสะบัดและเอนไหวไปตามแรงลมมานานนับทศวรรษ กับรูปทรงของผืนนาขั้นบันไดที่ลดหลั่นกันไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก เสน่ห์เล็กๆ ที่เรียบง่ายเหล่านี้ คือเครื่องปรุงรสชั้นดีที่คอยเติมเต็มในหลายๆ ฉากของภาพยนตร์ “หนึ่งใจเดียวกัน (Where The Miracle Happens)" ให้ร้อยเรียงกันอย่างลงตัว ท่ามกลางขุนเขาสีเขียวที่โอบล้อมหมู่บ้าน บนเสียงลำธารที่รังสรรค์เดซิเบลขนาดกำลังดี สะท้อนไปกับแนวเขารอบด้าน ที่มีต้นกำเนิดมาจากน้ำตกแห่งหนึ่งที่เรียกขานกันว่า “รักจัง (The Memory)"
ความงามอันเร้นลับและไม่เคยเปลี่ยนแปลงภายในป่าลึกของ “บ้านแม่กลางหลวง" (กม.26 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่) ทำให้ภาพสายน้ำอันโดดเด่นของ “น้ำตกผาดอกเสี้ยว" ออกไปโลดแล่นในแผ่นฟิลม์เรื่อง “รักจัง (The Memory)" บนความประทับใจที่ใครหลายคนต่างตั้งคำถาม--จากเบื้องบนลงสู่เบื้องล่าง เสียงรอยเท้าของผู้คนที่มาตามหาความงดงาม กำลังถูกผนวกเข้ากับเสียงคลอเคลียเบาๆ ของ “น้ำตกรักจัง" (อีกชื่อหนึ่งของน้ำตกผาดอกเสี้ยว) เสมือนเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการก้าวล่วงเข้าอาณาเขตของทางเดินไต่ระดับ สอดรับกับภาพของสายของน้ำตกในชั้นที่ 10 ที่กำลังทิ้งตัวลงส่งต่อไปยังจุดหมายในชั้นที่ 9 บนความราบเรียบแต่เต็มไปด้วยแรงน้ำที่พัดผ่านโขดหินน้อยใหญ่ สีเขียวของใบไม้ที่โน้มเอนกิ่งก้านมาปกคลุมทางเดินอย่างร่มรื่นตลอดระยะทางกว่า 3 กม. ช่วยทำให้ใครบางคนหลงลืมความอ่อนล้าลงไปได้--รู้สึกตัวอีกครั้ง ก็พาสายตาและรอยเท้ามาหยุดบนพื้นที่ของก้อนหินขนาดใหญ่ กับภาพสายน้ำตกในชั้น 8 ที่กำลังโยนตัวลงจากความสูงขนาดย่อม และวิ่งแผ่กระจายต่อไปตามร่องน้ำที่อยู่เบื้องหน้า ก่อนจะไหลลงจากหน้าผาที่มีความสูงกว่า 10 เมตร กลายเป็นความสวยงามที่ดังสนั่นไปด้วยเสียงน้ำของชั้นที่ 7--จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ “ผาดอกเสี้ยว" กลายเป็น “รักจัง" ในที่สุด
สะพานไม้ไผ่เล็กๆ ที่ถูกสร้างขวางบนกระแสธารแห่งนี้ เป็นสิ่งประดิษฐ์เล็กๆ แต่น่ารัก (จัง) ที่ตั้งอิงแอบแนบสนิทกับ "น้ำตกผาดอกเสี้ยว" ท่ามกลางละอองน้ำที่กระเซ็นออกมาเป็นเม็ดเล็กๆ อย่างไม่ขาดสาย ตกกระทบกับหมู่ต้นไม้ที่รายล้อมหน้าผาใหญ่สีดำทะมึน ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์จะพรั่งพรูไปด้วยดอกผาเสี้ยวที่พากันอวดโฉมในทุกปี--ขณะที่ความสูงลดลงเรื่อยๆ
ภาพของ "น้ำตกรักจัง" กำลังถูกฉาบเปลี่ยนเป็น "หนึ่งใจเดียวกัน" ด้วยรวงข้าวมากมายที่เรียงรายเล่นระดับ คอยหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวเขามานานนับชั่วอายุคน ความลาดชันของภูเขาทำให้มุมมองของหมู่บ้านแม่กลางหลวงเกิดความแตกต่างอย่างพิเศษ กับสีทองของรวงข้าวที่กำลังโตเต็มที่ บ้างก็ปรากฎสีเขียวอ่อนๆ แทรกอยู่อย่างเป็นจังหวะ แรงของสายลมในยามปลายฝนต้นหนาว ต่างหอบหิ้วเอาความเย็นที่ชุ่มฉ่ำมาแตะบนปลายยอดข้าวที่กว้างใหญ่สุดสายตา ก่อเกิดองศากำลังดีกับแสงแดดที่สาดส่องลงไปกระทบกับหลังคาบ้านเล็กๆ ที่กระจายอยู่ตามผืนนาขั้นบันได พร้อมกับหมอกปุกปุยสีขาวที่ไหลระเรื่อเสมือนถูกหยุดเวลาเอาไว้ ตามความต่อเนื่องที่สูงต่ำของยอดเขาและทอดยาวไปกับแนวขนานของท้องฟ้า--กลางดอยอินทนนท์
กว่า 2,625 เมตร จากระดับน้ำทะเล บนยอดดอยที่สูงที่สุดในสยามประเทศ ความหนาวเย็นที่เกาะกุมหลักกิโลแห่งการเดินทางตามความคดเคี้ยวของภูเขา ล้วนอบอวลไปด้วยไอหมอกกลางหน้าหนาว ฟ้าหลังฝนที่สดใส และแสงแดดอันอบอุ่นในฤดูร้อน--วัฏจักรความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่หมุนวนอยู่เหนือ “บ้านแม่กลางหลวง" ก่อให้เกิดความบรรจงของชีวิต ภายใต้ความเป็นอยู่ในแบบชนเผ่าปกาเกอะญอ อันเปี่ยมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์จากภูเขาและสายน้ำ ตามวาระการผลัดเปลี่ยนสีของใบไม้และฤดูกาลที่ผ่านไปมา รอคอยความมหัศจรรย์ครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า
เพื่อให้ทุกสัมผัส รู้สึกได้ถึงความเป็น “หนึ่งใจเดียวกันที่รักจัง"--ตามรอยสายตาและหัวใจอย่างแท้จริง
ปิดท้ายด้วยการแวะน้ำตกแม่ยะ--น้ำตกใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่
ขณะน้ำป่ากำลังไหลหลาก
Nuim Navigator
วันพฤหัสที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2559 เวลา 18.12 น.