...เคยมั๊ยที่รู้สึกว่าเราทำงานกันมานานเท่าไหร่แล้ว เคยมั๊ยที่คิดว่าเมื่อไหร่เราจะได้ทำสิ่งที่เราอยากทำสักที ผมเคยให้คำตอบกับตัวเองว่าไว้มีโอกาสดีๆและพร้อมกว่านี้ก่อน ซึ่งบางครั้งทั้งโอกาสและความพร้อมมันก็มีแต่เราอาจจะละเลยหรือให้ความสนใจเรื่องอื่นอยู่ ครั้งนี้ก็เช่นกันที่มีโอกาสได้หวนกลับมาคิดถึงสิ่งที่ติดค้างในใจเพราะความบังเอิญ มันเลยไปปลุกความคิดเก่าๆสมัยวัยรุ่นกลับมาอีกครั้งเมื่อย่างเข้าใกล้หลักสี่.....ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีก่อนผมขับรถไปเที่ยวยังบ้านปิล็อค และมาพักค้างคืนที่อช.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เช้าวันนั้นผมลงมาสั่งอาหารทานที่ร้านอาหารของอุทยาน.สายตาก็มองไปรอบๆร้านไปสะดุดตาที่รูปถ่ายหลายใบที่ติดผนังร้านเป็นภาพภูเขา ซึ่งถ่ายจากหลายมุม สอบถามได้ความว่าเป็นภูเขาลูกหนึ่งในเขตอุทยานมีชื่อว่า "เขาช้างเผือก" เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนมากขึ้นในช่วงหลัง ในหัวตอนนั้นคิดว่าทำไมเราไม่เคยรู้จัก หรือได้ยิน ทั้งๆที่เป็นคนเมืองกาญจน์แท้ๆ มารู้ก็ต่อเมื่อสถานที่นั้นเป็นเส้นทางเดินป่า กางเต้นท์ สำหรับผู้ที่มีใจรักทางด้านนี้เท่านั้น สิ่งนี้เองที่มันรบกวนจิตใจผมตลอดทุกครั้งยิ่งได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเขาช้างเผือกมากขึ้น และหลังจากนั้นอีก 2 ปีผมจึงมีโอกาสได้ไปยลโฉมของเขาลูกนี้ และมันทำให้เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตผมเลยก็ว่าได้..


การเดินป่าครั้งแรก

หากไม่นับการฝึกภาคสนามที่เขาชนไก่ของ รด.แล้วล่ะก็ ที่นี่ถือว่าเป็นการเดินป่าครั้งแรกของผมด้วยวัยเลข 3 ปลายๆตอนนั้น หาข้อมูลทุกอย่างก่อนจะตัดสินใจไป และทำให้ได้รู้จักวงการเดินป่าจากเว็บป๋าคมรัฐ trekkerhut.com ว่าเขามีรูปแบบการจัดทัวร์เดินป่าแบบนี้ด้วย ผมรวบรวมสมัครพรรคพวกได้ 5 คนไปขอแจมกับเขาด้วย เพราะคงเป็นการเดินทางที่ง่ายที่สุดแล้วสำหรับมือใหม่อย่างผม..

..พวกผมออกเดินทางจากทม.มาถึงบ้านอีต่องโฮมสเตย์ประมาณสักตี 3 เห็นจะได้ นอนพักผ่อนเอาแรงกัน 4 ชั่วโมงก่อนเดิน เช้านั้นหลังจากฝากท้องที่ร้านน้องหน่อยแล้ว ทางพี่ช้างผู้นำทริปจัดแจงเรื่องลูกหาบเสร็จก็พาพวกเราเดินออกหลังหมู่บ้าน มีป้ายบอกทางจากหมู่บ้านไปเขาช้างเผือกอีก 8 กม.ซึ่งผมไม่รู้หรอกว่า 8 กิโลนั้นมันสาหัสสากรรจ์แค่ไหนสำหรับมือใหม่..

เดินมาไม่นานก็มาถึงป้ายทางเข้า ซึ่งก็เริ่มเรียกเหงื่อได้บ้างแล้ว แต่ยังไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่ ถัดจากนั้นทางก็เริ่มวิบากขึ้นมีมุดมีลอด เดินผ่านทุ่งหญ้าคากลางแดดร้อนจนมาถึงจุดพักต้นซ้าน ถามคนที่เดินสวนมาว่าอีกไกลมั๊ย เขาตอบแบบหัวเราะบอกว่าไม่ไกลเท่าไหร่ ตอนนั้นในหัวเริ่มคิดแล้วว่าคิดถูกหรือเปล่าที่มาเดินป่าช่วงอายุมาก มาเพราะใจอย่างเดียวเท่านั้น เรื่องความคิดไม่ต้องพูดถึงไม่ได้ออกกำลังกายอะไรเลย

จากจุดพักต้นซ้าน ทางเริ่มไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ พอมาถึงเนินเขาเตี้ยๆที่วิวเปิดโล่ง ทางไกด์ชี้ให้เราดูว่าเราจะไปพักยังแนวสันเขาเบื้องหน้าซึ่งมองจากตรงนี้ไปมันไม่ไกลเท่าไหร่ แต่มันเป็น "ใกล้ตาไกลตีน" ที่เหลือทนจริงๆสำหรับผม แวะกินข้าวกลางวันที่ห่อใส่ถุงมากันกลางทาง นาทีนั้นบอกตามตรงว่ากินอะไรไม่ค่อยจะลงแต่ก็ฝืนกินเพื่อจะได้มีแรงเดิน

พอผ่านดงไผ่มา ทางช่วงนี้เราจะเริ่มเดินบนสันเขาบ้างแล้ว เดินแล้วก็เดิน ลมเอื่อยๆพัดมาพอคลายร้อนได้บ้าง วิวทิวทัศน์เปิดโล่งมองเห็นแนวเทือกเขายาวล้อมรอบตัว เมฆหมอกเริ่มก่อตัว ท้องฟ้าเหมือนฝนจะตก เดินไปหยุดถ่ายภาพไป เพื่อบรรเทาอาการที่เหมือนจะเป็นตะคริว

ในที่สุดเราก็มาถึงบริเวณจุดพักแรมของเราคืนนี้ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาลูกหนึ่งก่อนถึง camp ground 500 เมตร เพราะจุดกางเต้นท์หลักมีพื้นที่น้อย เราเลยกางกันด้านบนแทน ซึ่งก็ดีอย่างเพราะเราจะได้เก็บภาพเขาทั้งลูกได้อย่างเต็มตา

หลังจากตั้ง camp เสร็จเราก็นั่งพักผ่อนให้หายจากอาการเมื่อยล้ากันสักชั่วโมงนึง ก็เตรียมตัวขึ้นยอดเขาช้างเผือกซึ่งมองเส้นทางขึ้นไปแล้วไม่ง่ายทีเดียว เราหยุดยืนมองและถ่ายภาพความอลังการของเขาช้างเผือกซึ่งใหญ่โตประดุจดังกำแพงยักษ์ขนาดมหึมา ขวางหน้าเจ้ามนุษย์ตัวจ้อยผู้ไม่ประมาณตนที่จะฝ่าฟันข้ามไป

เดินลงจากเขาช้างน้อย มายัง ground camp เส้นทางตรงนี้ค่อนข้างชันอยู่เหมือนกันทางอุทยานจะทำเชือกไว้ให้เกาะ สภาพพื้นที่ ground camp ไม่กว้างมากนักมีพื้นที่กางเต้นท์น่าจะได้ประมาณ 20-30 หลังได้ จาก ground camp เราไต่ขึ้นยอดเป็นกลุ่มแรกๆ เส้นทางก็ตามภาพค่อยๆไต่ค่อยๆปีนกันขึ้นไป จนถึงจุดที่เสียวที่สุดคือสันคมมีด ซึ่งต้องโหนตัวไต่ขึ้นไปตามก้อนหินแล้วไปยืนบนแนวสันเขากว้างไม่ถึงเมตรที่สองฝั่งเป็นเหว

พอพ้นสันคมมีดก็เดินลงเนินเล็กๆไปลูกนึงแล้วเดินขึ้นก็ถึงยอดเขาช้างเผือกที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,249 เมตร วิวข้างบนเปิดโล่งมุมมอง 360 องศา บางช่วงก็มองเห็นอ่างเก็บน้ำของเขื่อนเขาแหลม ทางเจ้าหน้าที่บอกว่าถ้าท้องฟ้าเคลียร์ๆ อาจจะมองเห็นทะเลของเมืองทวาย ทางฝั่งพม่าได้เลย ถัดจากยอดเขาช้างเผือกยังมีทางเดินไปอีกยอด ซึ่งเป็นยอดเขาช้างพลายซึ่งยังไม่มีกำหนดเปิดให้เข้าไปแต่อย่างใด

บนยอดเขาช้างเผือก ผมปล่อยความคิดให้ล่องลอยไปตามภาพที่ปรากฎอยู่รอบๆตัวเบื้องหน้า สิ่งเหล่านี้ใช่ไหมที่ใจเราต้องการตลอดหลายปีที่ผ่านมา มันคุ้มค่ากับความยากลำบากที่เราดั้นด้นมาถึงจุดนี้ จุดที่น้อยคนที่จะหลุดพ้นจากบ่วงพันธนาการของภาระหน้าที่การงานมาสัมผัสกับธรรมชาคิที่ปราศจากการแต่งเติมใดๆทั้งสิ้น

ดวงตะวันคล้อยต่ำลง ท้องฟ้าเริ่มถูกย้อมสีเป็นสีส้มจางๆ พวกเราไม่ได้อยู่รอชมความงดงามของดวงอาทิตย์ตก เพราะเราขึ้นมาเป็นกลุ่มแรก ชื่นชมความงามของวิวบนยอดเขากันอย่างเต็มอิ่มแล้ว ก็เลยลงก่อนเผื่อกลุ่มหลังที่กำลังขึ้นมาจะได้มีพื้นทีชมความงาม และต้องการหลีกเลี่ยงการจราจรเลนเดียวบนสันเขาตอนขากลับเมื่อความมืดเริ่มเข้ามาแทนที่มันจะอันตรายมาก

ผมกลับมาถึง camp ท้องฟ้าก็เริ่มมืดพอดี จัดแจงทำอาหารกินกันเสร็จ ก็มุดเข้าไปซุกตัวกันในเต้นท์ คืนนั้นหลับไม่ค่อยสนิทนักเพราะมีฝนตกบ้างประปราย แต่ลมที่พัดผ่านสันเขาเล็ดลอดเข้ามาต้องกระทบบางส่วนของร่ายกายที่อยู่นอกเหนือถุงนอนต้องสั่นสะท้าน ผมถูกปลุกให้ขึ้นมานั่งฟังสรรพสิ่งรอบกาย เพราะแรงลมทำให้เต้นท์โยกคลอนดั่งกับมีมือยักษ์มาเขย่า เลยลุกออกจากเต้นท์ไปยืนปลดทุกข์ ความมืดทีปกคลุมไปรอบด้านทำให้สายตาบังเกิดภาพหลอนวูบวาบต่างๆนาๆ บางทีก็หูแว่วได้ยืนเสียงประหลาด แต่ก็ข่มใจใช้สติพิจารณาจนความรู้สึกหวาดหวั่นลดน้อยลง กลายเป็นยืนฟังสรรพสำเนียงธรรมชาติประสานเสียงยามค่ำคืน มองไปทางที่นอนของบรรดาลูกหาบ พวกเขาใช้ชีวิตกันอย่างง่ายๆแค่ทำเพิงโดยเอากระสอบถุงปุ๋ยปูนอนและทำเป็นหลังคาซ่อนตัวอยู่ในป่าหญ้าคา

เช้าวันรุ่งขึ้น สายหมอกปกคลุมไปทั่วทั้งหุบเขา ทัศนวิสัยรอบตัวมองเห็นไม่เกิน 5 เมตร ลมแรงจนสั่นสะท้าน เราทำอาหารเช้ากินกันอย่างง่ายๆ แล้วเก็บ camp เดินลงจากดอย

เมื่อลงมาถึงพื้นราบได้ พวกเราจัดแจงหาอะไรเย็นๆแก้กระหายกันทันที ซึ่ง pepsi นี่แหละดีที่สุดแล้ว รู้สึกหายเหนือยชุ่มคอชื่นใจจริงๆ อาบน้ำล้างหน้าล้างตัวมากินข้าวกลางวันที่ร้านน้องหน่อยเหมือนเดิม แล้วก็เก็บของขึ้นรถ อำลาบ้านอีต่อง ระหว่างทางแวะเที่ยวดูุจุดชมวิวเขาช้างเผือกข้างในอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ พร้อมทั้งรับประกาศนียบัตรที่ทางอุทยานออกให้ในฐานะผุ้พิชิตเขาช้างเผือก ไม่รู้ว่าทุกวันนี้ยังมีอยู่หรือไม่ และเขาช้างเผือกปิดไม่ให้ขึ้นมาสองปีแล้ว ส่วนปีนี้ก็คงปิดอีกจากข่าวล่าสุดที่ทางอช.แจ้งมาว่าฝนตกหนัก เส้นทางลื่นรกชัฎ เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าที่ย้ายที่หากินมาจากไทรโยค..


..และนี่ก็คือเรื่องราวจุดเปลียนในชีวิตของผม ตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้ผมได้ออกเดินทางทุกปี ปีละหลายครั้ง พร้อมทั้งได้หัดถ่ายภาพไปในตัวด้วย จนทำให้ได้มีสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิตหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนดีดีที่คอเดียวกัน มาเรียนรู้ทำความรู้จักกัน ผ่านความยากลำบากมาด้วยกัน หรือจะเป็นงานอดิเรก ที่อาจจะได้งานพิเศษจากการเดินทางของเราและต่อยอดการไปเป็นช่างภาพ การเป็นนักเขียน เป็นบล็อกเกอร์ เป็นต้น อย่างตอนนี้ยามว่างผมก็เขียนประจำอยู่ใน read me สะสมคะแนนแลกของรางวัลเที่ยวฟรีไปเรื่อยก็มีความสุขดี แล้วเพื่อนๆล่ะมีจุดเปลี่ยนในชีวิตที่ทำให้ตัวเองมีความสุขบ้างใหม..มาร่วมออกเดินทางกันดีกว่า สักครั้งในหนึ่งปีควรไปในสถานที่ที่เราไม่เคยไปกัน แล้วเราจะพบว่ามีสิ่งต่างๆอีกมากมายที่สวยงามและน่าสนใจให้ค้นหา...

รายละเอียดการเดินทาง ตาม link นี้ครับ : ช่องทางการติดต่อและข้อมูลการเดินทางขึ้นเขาช้างเผือก

****update ล่าสุด 10/12/59 เขาช้างเผือกเปิดให้ขึ้นแล้ว*******

ข้อกำหนดในการจองขึ้นเขาช้างเผือก จากเพจ อช.ทองผาภูมิ
1. จองวันที่จะขึ้นได้ล่วงหน้าไม่เกิน 7 วัน
2. สามารถโทรจองได้ ที่เบอร์ 0 3451 0979 และ 09 8252 0359
ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น.
3. สามารถจองได้ไม่เกิน 10 คน ต่อ เจ้าหน้าที่ 1 คน
4. ต้องแจ้งชื่อ-นามสกุล หมายเลขบัตรประชาชนของทุกคนทันที แล้วจัดส่งเอกสาร(สำเนาบัตรประชาชน) ของทุกคนทาง
E-mail : [email protected] ภายใน 1 วัน
5. ลงทะเบียนที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เวลา 07.00-08.00 น.
6.ค่าบริการผ่านเข้าอุทยานแห่งชาติ ดังนี้
- ค่าบริการสำหรับบุคคล 40 บาท (ผู้ใหญ่ชาวไทย)
20 บาท (เด็กชาวไทย)
- ค่าบริการสำหรับชาวต่างชาติ 200 บาท (ผู้ใหญ่ชาวต่างชาติ)
100 บาท (เด็กชาวต่างชาติ)
- ค่าบริการสำหรับยานพาหนะ
รถยนต์ 30 บาท
จักรยานยนต์ 20 บาท
-ค่าบำรุงสถานที่พักกางเต็นท์ 30 บาท/คน/คืน
7.เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย ๑ คน ต่อนักท่องเที่ยว 10 คน 1,800 บาท
ลูกหาบ 1 คนจะแบกสัมภาระไม่เกิน 30 กิโลกรัม 1,300 บาท
8. สำหรับอาหาร ควรเป็นอาหารที่ประกอบง่าย แนะนำเป็นแก๊สปิคนิคในการใช้ประกอบอาหาร
9. สำหรับน้ำดื่มควรเตรียมคนละ 3 ลิตรขึ้นไป
10. ห้องน้ำมีบริการที่บนเขา ลักษณะเป็นส้วมหลุม ควรเตรียมทิชชู่เปียกไปด้วย


-ขอขอบคุณเพื่อนๆที่ได้เข้ามาชม และ กด like กด share เป็นกำลังใจน่ะครับ

-แลกเปลี่ยนข้อมูล หรือพูดคุย สอบถามข้อมูลการเดินทาง ได้ที่ Fanpage : สตั๊ดดอยร้อยเรื่องราว

-ติดตามบทความเก่าๆ ได้ที่นี่ครับ ทริปเดินทางทั้งหมด











ความคิดเห็น