ที่ผ่าน ๆ มา ฉันเองก็เดินทางไปตามโครงการงานต่าง ๆ ของในหลวงรัชกาลที่๙ อยู่บ่อยครั้ง
แต่ก็นั่นแหละ ฉันไม่เคยสนใจเรื่องราวรายละเอียดใด
มากกว่าการไปเที่ยว ถ่ายรูป เสพความสุข
แค่นั้น เพียงแค่นั้น

แต่ครั้งนี้ต่างจากทุกครั้ง
ด้วยครั้งนี้ ความรักที่นำทางฉันไป
ความรักที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ
มีต่อประชาชนของพระองค์

จากรูปบนหลังม้า
ที่เห็นกันอยู่บ่อยครั้งในช่วงนี้
และเหรียญห้อยคอชาวเขา
ที่ใครสักคนแชร์มา
ทำให้ฉันอยากรู้ว่า ที่แห่งนั้นคือที่ไหน
เหรียญนั้นสำคัญอย่างไร

ฉันจึงลงมือค้นและพบว่า
สถานที่แห่งนั้น ไม่ใช่เพียงรอยพระบาทที่ยาตราประทับลงยังผืนดินที่แห้งแล้ง

แต่พระเมตตายังประทับลงในหัวใจผู้คน ณ ที่แห่งนั้นจวบวันนี้

แต่แค่เรื่องราวในสื่อต่าง ๆ
ไม่พอสำหรับฉัน

ฉันจึงเดินทางไป


@ดอยผาหมี ที่นีมีอะไร ?



บ้านผาหมี บนดอยผาหมี อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงรายไม่มาก

ใช้เวลาเดินทางราว ๆ ชั่วโมงเดียว




ตามประวัตินั้น ชาวบ้านที่นี่อพยพมาจากสิบสองปันนา


แรกสุดมาตั้งรกราก ณ บ้านผาแตก ดอยตุง

แต่เมื่อเริ่มอพยพเข้ามามากขึ้น ที่ทำกินไม่เพียงพอ

เลยย้ายเข้ามายังจุดบ้านผาหมี



พื้นที่ที่อยู่อาศัยกันตอนแรกนั้นติดชายแดนมากเกินไป

แล้วยังเป็นเส้นทางของคาราวานฝิ่นที่ลำเลียงข้ามชายแดน

จึงมีการต่อสู้ไล่ล่ากันตลอด



เวลามีการสู้รบกันลูกปืนก็จะเข้ามาในหมู่บ้านบ่อยครั้ง

จึงทำให้ชาวอาข่ามีแต่ความรู้สึกหวาดระแวง ไม่ปลอดภัย

รวมทั้งพื้นที่บริเวณนั้นจำกัด

แทบจะขยายไม่ได้ การคมนาคมทำได้แค่เดินเท้า

ไม่มีถนน ไม่มีเส้นทางสัญจรใด อยากจะขยับขยายย้ายหนี

รวมถึงความไม่มีอาชีพใด ๆ จึงต้องดำรงชีพด้วยการปลูกฝิ่น



อันที่จริงแรกเริ่มเดิมทีของการปลูกฝิ่นนั้น

ก็เพื่อเป็นยารักษาโรค

แต่ภายหลังพัฒนากลายเป็นยาเสพติด เป็นเฮโรอีน



บนดอยผาหมี เป็นดอยหญ้าคาเหลืองแห้ง

ผู้คนลำบากยากจน เรียกว่าแทบไม่มีความหวังใดในชีวิต

จนกระทั่ง ฟ้าสว่างในวันหนึ่ง....



ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๓

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๙ เสด็จมายังที่แห่งนี้

ทีแรกเราเข้าใจว่า ดอยผาหมีคงไกลจากตัวเมืองเชียงรายมาก


แต่ความจริง ไม่ไกลเลย จากตัวเมืองวิ่งเส้นพหลโยธิน เส้นไปแม่สาย

ทางเข้าหมู่บ้านห่างจากถนนหลักนิดเดียวเอง ค่อนข้างสะดวกสบาย



แต่ก็นั่นแหละ สิ่งเหล่านี้เข้ามาก็หลังจากการเสด็จของในหลวง

พระองค์ท่านเสด็จมาที่นี่เมื่อเกือบห้าสิบปีก่อน



ที่บ้านผาหมี เราพบกับความเป็นมิตรมากมาย


วันนั้นในหมู่บ้านคนค่อนข้างเยอะ เนื่องจากมีการแข่งขันฟุตบอลผาหมีคัพ

เราเองก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้พบหรือได้คุยกับใครหรอก

ขอเพียงแค่ได้ไปเห็นสถานที่จริง ได้ไปสัมผัสบรรยากาศจริง ๆ เท่านั้น

ก็...ด้วยความคิดถึง



แม้เพียงร่องรอยในอากาศที่ผ่านมาเนิ่นนาน

ฉันก็ยังอยากรู้สึก....



ข้างล่างนั่นคือ ต้นส้ม ลิ้นลี่ กาแฟ



เรามีภาพถ่ายที่ปริ๊นซ์จากในเนทติดไปด้วย


เพื่อเทียบดูว่าตรงไหนคือตรงไหน

มุมแต่ละมุมแทบไม่ต่าง

ที่ต่างคือ ความเขียวชอุ่มซึ่งในภาพถ่ายใบเก่านั้นไม่มี



ระหว่างที่เดินดู ถ่ายรูปอยู่นั้น ใจคิดว่า

หากได้คุยกับใครสักคนก็คงดี

เราคุยกันว่า ลองถามคนแถวนี้ดูไหม

ว่าคนในรูปนี่เราจะสามารถพบใครได้บ้าง



เราก็เอารูปไปให้เด็กหนุ่มสามสี่คน

ซึ่งนั่งเล่นอยู่ริมถนนดู

แล้วหนุ่มน้อยกลุ่มนั้นก็พาเราไป

พวกเขาน่ารัก เขาไม่ใช่แค่บอกทาง

เขาพาเราไปส่งถึงบ้านพ่อหลวงซาเจ๊ะ....

คำว่าพ่อหลวง หมายถึงผู้ใหญ่บ้าน


พ่อหลวงซาเจ๊ะ หม่อโป๊ะกู่ คือผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้น

คือบุคคลในภาพถ่ายใบนั้น ผู้ที่แต่งชุดข้าราชการซึ่งประคับประคองในหลวงอยู่ข้างม้า



แล้วความหลังก็พร่างพรู.....



@ ที่บ้านพ่อหลวงซาเจ๊ะ


คุณป้าคนนึงสวมชุดชาวเขา เดินออกมาถามว่า มาหาใคร

เราบอกไปว่า มาหาพ่อหลวงซาเจ๊ะ

คุณป้าเชิญเราไปนั่ง



สักพักพ่อหลวงซาเจ๊ะก็เดินออกมา

เราสองคนยกมือไหว้พ่อหลวง

แล้วแนะนำตัวไปว่า เราไม่ได้เป็นนักข่าว

ไม่ได้เป็นสื่อมวลชนจากสำนักไหนใด ๆ ทั้งสิ้น

เรา เป็นแค่เพียงคนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง

และเรามาที่นี่แบบกะทันหัน

เพียงเพราะรูปเก่า ๆ จากในเนท

เรามาเพราะอยากมาตามรอยพระบาท...



ใจก็กลัวพ่อหลวงจะตำหนิเอา จู่ ๆ ใครก็ไม่รู้โผล่มาถึงบ้าน

แต่...พ่อหลวงยิ้มละไมใจดี แล้วก็นั่งลง เล่าเรื่องราวให้เราฟัง...



" ในหลวงเสด็จมาที่นี่ด้วยเฮลิคอปเตอร์

และจอดลงตรงลานกลางยอดเขาตรงโน้น "

พ่อหลวงชี้ให้ดู


ก็ตรงจุดที่เป็นลานที่กำลังแข่งฟุตบอลนั่นหละ

ในครั้งแรกนั้นพ่อหลวงซาเจ๊ะกับน้องชายคือลุงฉาเคอะ

เป็นคนที่ไปจูงม้าและประคองม้าพระที่นั่ง

พาพระองค์ท่านขึ้นมาบนดอยผาหมี



เมื่อมาถึงบนดอย


พระองค์ท่านก็เดินถามไถ่ความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

จนถึงกับนั่งลงคุยอย่างไม่ถือพระองค์

และพ่อหลวงซาเจ๊ะก็ได้บอกถึงปัญหาที่หนักใจ



คือ บริเวณที่อาศัยนั้นเป็นจุดลำเลียงยาเสพติด

มีการยิงต่อสู้กันเป็นประจำ บ่อยครั้งที่กระสุนปืนมาตกในหมู่บ้าน

ทุกคนรู้สึกกลัว ไม่ปลอดภัย อยากจะย้ายไปที่อื่น แต่ก็ไม่รู้ตรงไหนดี



และอีกเรื่องก็คือการเดินทาง ไม่มีถนนเข้ามา ต้องเดินเท้ากัน

ด้วยความกลัวและลำบากแร้นแค้น

จึงคิดจะย้ายไปที่อื่น



"ในหลวงลุกขึ้นมองไปมาเลยนะ"


"แล้วชี้ลงตรงนั้น ที่ ฮ.จอดน่ะ "

"ไม่ต้องย้ายไปไหน อยู่ตรงนี้แหละ"

"จุดนี้ ไม่ใกล้ชายแดนเกินไปและจะมีทหารมาดูแล"



พ่อหลวงเล่าให้เราฟังด้วยสีหน้าปิติ



แล้วผู้คนชายขอบที่มาพึ่งพระบารมี

จึงได้ลงหลักปักฐานมีชิวิตใหม่ตั้งหมู่บ้าน

ณ จุดนั้นมาจนปัจจุบัน

และจากการเสด็จครั้งแรกนั้น


ไม่ถึงเดือน ถนนเข้าหมู่บ้านก็ตามมา



พ่อหลวงซาเจ๊ะ เล่าว่า วันนั้นจู่ๆก็มีเสียงดังอึกทึก

ทีแรกนึกว่าเป็นเสียง ฮ.

พากันวิ่งออกไปดู ไปที่ลานที่ ฮ.เคยจอด ก็ไม่เห็นใคร



ชาวบ้านเริ่มตกใจ

ความที่แถวนี้ติดชายแดนพม่ามาก

จึงคิดว่า อาจเป็นกลุ่มโจร

หรือผู้บุกรุกจากฝั่งพม่า หรือพ่อค้ายา

ต่างก็พากันหยิบฉวยเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อใช้ป้องกันตัว

ซึ่ง ก็มีแต่เครื่องมือแบบชาวบ้านนั่นแหละ

จอบ เสียม ใครมีอะไรก็หยิบกันไป

พากันวิ่งลงไปดูเชิงดอย

เมื่อไปถึงพบว่า เสียงตึง ๆๆ ก้องป่านั้น

คือเสียงขบวนรถแทรกเตอร์ กำลังขุด ๆๆๆ ไถ ๆๆๆ

เมื่อไถ่ถาม ได้ความว่า....

กำลังทำถนนเข้าดอยผาหมีให้ชาวบ้านได้มีเส้นทางสัญจร

ได้รับคำสั่งจากหน่วยเหนือมา....



ชาวบ้านล้วนยกมือไหว้ท่วมหัว

เพราะรู้ดี หน่วยเหนือที่ว่านั่น คือ เจ้าพ่อหลวงของพวกเขา

ไม่ใช่แค่ถนนหนทาง


แต่ในหลวงพระราชทานศักดิ์ศรีของความเป็นประชาชนคนไทย

ให้ชาวอาข่าแห่งดินแดนนี้ด้วย



" ลำบากกันมากตอนนั้น"



"จะลงในเมืองไปซื้อเกลือ ซื้อข้าว หรือของใช้อื่น จะถูกตำรวจจับ

เพราะไม่มีบัตรประชาชน ไปไหนก็ไม่ได้..."



พ่อหลวงบอกกับเรา



“ในหลวงให้เหรียญมา...ให้ทุกครอบครัวเลย"

พ่อหลวงเอาเหรียญมาให้เราดู

“เพราะเหรียญนี้ พวกเราทุกคนสบายขึ้นเยอะ"



"ไปไหนก็ได้ จะลงเขาไปตลาด ไปซื้อข้าวของก็ไม่โดนจับแล้ว"



“ในหลวงบอกว่า ในหลวงให้นะ

เป็นคนไทยแล้วนะ เป็นประชาชนของในหลวงแล้ว"



กล่าวถึงตรงนี้ พ่อหลวงซาเจ๊ะเรื่มมีน้ำตาคลอ

ส่วนฉัน บ่อน้ำตาแตกเรียบร้อย

เหรียญนั้น


เป็นภาพพระฉายาลักษณ์เห็นพระพักตร์ด้านข้าง

เหมือนเหรียญบาทขนาดใหญ่

ด้านหลังสลักตัวเลข ซึ่งแต่ละเหรียญตัวเลขจะไม่ซ้ำกัน



พ่อหลวงซาเจ๊ะ ยื่นให้เราดู

เรายกมือไหว้กันท่วมหัวก่อนรับมา

ความรู้สึกตอนนั้นมันซาบซึ้งตื้นตันเป็นที่สุด



ระหว่างนั้น ลูกสาวพ่อหลวงซาเจ๊ะ

และลุงป้าชาวผาหมีหลายคนก็ทยอยมาร่วมวงสนทนาด้วย



ลุง ๆ ป้า ๆ บอกเราว่า


ตอนนั้นบนผาหมีไม่มีต้นไม้เลย มีแต่หญ้าคาแห้ง ๆ เหลือง ๆ

ลูกสาวพ่อหลวงชื่อ คุณมินท์ หยิบอัลบั้มรูปเล่มหนามาให้เราดู

ในนั้นมีรูปในหลวงในจุดต่าง ๆ

ในดงดอยแห่งนี้ ซึ่งไม่มีต้นไม้เลยจริง ๆ



ลุงป้าก็ช่วยกันเล่าเรื่อง

คุณป้าเนาวรัตน์ คุณป้าในรูป เล่าว่า

เป็นคนถวายดอกไม้ในหลวง

ซึ่งก็ดอกไม้ป่าที่หาเก็บเอาจากแถวนั้แหละ

คุณป้าแอบมีสีหน้าละห้อยเล็กน้อย

บอกว่า

"นี่ถวายดอกไม้นะ แต่ไม่มีรูป เขาไม่ได้ถ่ายรูปไว้"

"แฟนจูงม้า มีรูป นี่ไม่เห็นมีรูปเลย"



เราแอบยิ้ม เอ็นดูคุณป้า คุณป้าน่ารัก



ลุงป้าทุกคนต่างก็พูดเหมือนกัน



“ในหลวงไม่ถือตัวเลย ชาวบ้านนั่งตรงไหน ในหลวงก็นั่งตรงนั้น

"ชาวบ้านให้ชิมอะไร ในหลวงก็ชิม ไม่มีรังเกียจเลยแม้แต่น้อย"



“ไม่ถือตัวเลย ตอนเดินขึ้นดอยมา เจอพวกหญ้าสมุนไพร ก็ใส่ปากกินให้ในหลวงดู แล้วยื่นให้ ท่านก็เอาใส่ปากกินตาม"



พ่อหลวงซาเจ๊ะเล่าด้วยดวงตาเป็นประกาย ยิ้มละไม

ฉันยิ้มตาม แต่มิวายน้ำตาปริ่ม



ในการเสด็จครั้งต่อ ๆ มา


พ่อหลวงซาเจ๊ะ ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านแล้ว

แต่งชุดข้าราชการรับเสด็จ

และยังคงทำหน้าที่ประคองในหลวงซึ่งอยู่บนหลังม้าเช่นเดิม



สามีของคุณป้า คุณลุงฉาเคอะ เป็นผู้จูงม้า

ป้าชี้ให้เราดูในรูปด้วยความภาคภูมิใจ

คุณลุงฉาเคอะ ทั้งได้เคยจูงม้า

ทั้งได้เคยประคองพระหัตถ์ในหลวงข้างม้า

คุณป้าเล่าให้เราฟังด้วยดวงตาเป็นประกาย

ในการเสด็จครั้งที่ 2 เมื่อปี 2514


พระองค์ท่านเดินเข้ามานั่งในบ้านพ่อหลวงซาเจ๊ะ (ขณะนั้นยังเป็นบ้านหลังเก่า)

ขณะนั่งคุยไป ลูกของพ่อหลวงก็มุดไปมา แต่พระองค์ท่านหาได้ถือสาใดๆไม่



"รูปนี้ในหลวงทรงดื่มน้ำใช่ไหมคะ

ที่บ้านพ่อหลวง" ฉันถาม



"ไม่ใช่น้ำ น้ำชา" พ่อหลวงซาเจ๊ะตอบ



แล้วคุณมิ้นท์ก็ยกกาน้ำชาร้อน ๆ มา

บอกว่า ลองดื่มดูสิคะ

น้ำชานี่แหละ ชนิดเดียวกับที่ในหลวงดื่ม

เราตื่นเต้นตาโต


คุณมิ้นท์บอกว่า เนี่ย แก้วที่ในหลวงดื่มตอนนั้นก็แก้วแบบนี้แหละ ทรงเดียวกัน

แล้วคุณมินท์ก็รินให้เราลอง...

ชาหอมอ่อน ๆ ละมุน อุ่น ๆ

ไม่ใช่แค่อุ่นชา แต่อุ่นความรู้สึก

ดื่มไป ขอบตาก็ผะผ่าว



“เมื่อก่อนปลูกฝิ่นเราพกติดตัวกันไว้ขายคนละสองถุง ขายไม่ได้เงินเท่าไหร่นะ

ไม่มีใครอยากปลูกฝิ่น แต่เราไม่รู้จะทำอะไรกัน พอในหลวงมา

ทำถนนให้ สอนปลูกกาแฟ ลิ้นจี่ แมคคาเดเมีย

เอาวัวพันธ์มาให้ โอ้ย ตัวใหญ่โตมาก ใหญโตไม่เคยเห็นที่ไหนใหญ่เท่านี้เลย “



(ปัจจุบันวัวพระราชทานสิ้นอายุขัยแล้ว)



“ในหลวงมา ในหลวงทำให้ทุกอย่าง ในหลวงเอามาให้ทุกอย่าง

ทุกอย่างดีขึ้น เราก็ไม่ปลูกฝิ่นกัน

ตอนในหลวงมา ท่านเดินเร็วนะ “



“ในหลวงมาสามครั้งเลยนะ ท่านไม่ทิ้ง ไม่เคยทิ้งพวกเราเลย


ท่านมาดู มาสอนพวกเราปลูกกาแฟ ปลูกต้นไม้

แล้วท่านก็มาตามผลว่าพวกเราเป็นยังไงบ้าง

พวกเราอยู่กันได้หรือยัง “



พ่อหลวงชี้ไปรอบ ๆ

“ที่นี่มีต้นไม้ทุกวันนี้ก็ในหลวงที่มาทำให้"


“พระราชินีก็มานะ ท่านมาสอนหนังสือเด็ก “



“ตอนนั้นพระราชินีขาเจ็บด้วย

ต้องถือไม้เท้า ยังอุตส่าห์มา"

คุณป้าเสริม



“ในหลวงมาสามครั้ง ถ้ารวมพระราชวงศ์ด้วย ก็ห้าครั้ง “



พระบรมวงศานุวงษ์แทบทุกพระองค์เคยเสด็จผาหมีกันทั้งนั้นเลย น่าชื่นใจ

เมื่อก่อนโรงเรียนดิมชื่อโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบำรุงที่ 45


ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านผาแตก ทำการสอนโดยตำรวจตระเวนชายแดน



ในหลวงได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างอาคารเรียน บ้านพักครู

ต่อมาตำรวจตระเวนชายแดนได้ย้ายโรงเรียนมา ตั้งที่หมู่บ้านผาหมี

และได้ชื่อว่า โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์๕



“ถ้าไม่มีพระราชา ก็ไม่มีบ้านผาหมี"



คำกล่าวนี้ฉันเข้าใจแล้ว ในหลวงของฉันหรือเจ้าพ่อหลวงของพวกเขา ให้ทุกอย่าง

ให้ที่อยู่ ที่ทำกิน ให้อาชีพ กาแฟสายพันธ์ดีเลิศ ลิ้นจี่ แมคคาดิเนีย สัตว์เลี้ยง

ทุกอย่างชาวผาหมีเรียกว่าสายพันธ์ุพระราชทาน ก็เจ้าพ่อหลวงของพวกเขาให้มาทั้งนั้น



ปัจจุบันพืชผลจากผาหมีทำรายได้ปีละเป็นล้าน

จากแผ่นดินที่แห้งแล้ง มีแต่หญ้าคา กลายเป็นผืนดินอุดมสมบูรณ์

ในหลวงคือ ชีวิต คือลมหายใจ คือทุกสิ่งสำหรับที่แห่งนี้



**สามสิ่งที่ในหลวงรับสั่งไว้กับพ่อหลวงซาเจ๊ะคือ



๑.ขอให้รักษาแหล่งน้ำ ไมตัดไม้ทำลายป่า

๒.ดูแลผู้คนให้ดี ไม่ให้เกิดปัญหา

๓.ไม่ทำผิดกฎหมาย ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

พ่อหลวงซาเจ๊ะ และชาวอาข่าทุกคนล้วนรับเป็นสัญญายึดมั่นจวบจนวันนี้



**** พ่อหลวงซาเจ๊ะ ได้รับพระราชทานนามสกุลใหม่คือ "พฤกษาพันธ์ทวี ****



๙ ธันวาคม ๒๕๕๙ หมู่บ้านผาหมีเพิ่งเปิดแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ



แต่วันที่เราไปคือ ๒๕ พฤศจิกายน

คุณมินท์พาเราไปชมรอบ ๆ เส้นทางบนดอย

ที่นี่ไม่มีรีสอร์ท ยังไม่มีแม้แต่โฮมสเตย์

มีเพียงลานกางเต้นท์ง่าย ๆ อยู่บนยอดดอย

ซึ่งกำลังปรับพื้นที่เพื่อรองรับผู้มาเยือน

คุณมินท์บอกว่า จะค่อย ๆ ปรับกันไป


แต่จะไม่มีรีสอร์ทเกิดขึ้นที่นี่แน่นอน

การท่องเที่ยวที่ดอยแห่งนี้ ต้องเป็นการท่องเทียวเชิงธรรมชาติ

ใช้ชีวิต กินอยู่กับธรรมชาติ

ที่นี่เป็นแผ่นดินพระราชทาน

พวกเราชาวอาข่าต้องช่วยกันดูแลรักษาสืบไป



เรายิ้มปลื้มปลิ่มใจไปกับแนวคิดของผู้คนที่นี่



ที่ลานกางเต้นท์ สวยงามมากทีเดียว


อยู่ในจุดสูงสุดของหมู่บ้าน



ที่นี่ไร้สิ่งปรุงแต่ง มีเพียงกระท่อมส่วนกลาง ห้องน้ำ ลานไม้ไผ่ให้กางเต้นท์



คุณมินท์บอกว่า

กลางคืนจะได้เห็นทั้งดาวบนฟ้าและดาวบนดิน

เพราะยอดดอยนั้นเมื่อมองลงไปจะเห็นเวิ้งของเมืองอยู่ลิบ ๆ

เสียดายวันนั้นเราไม่ได้พักค้าง ณ ที่แห่งนั้น



และคุณมินท์ยังบอกว่า ตอนเช้าทะเลหมอกบนนี้จะสวยงามอลังการมาก

เพราะฝั่งเบื้องหน้ายอดดอยนั้นเป็นฝั่งพระอาทิตย์ขึ้น



เต้นท์จะกางได้บนลานนี้ ปัจจุบันน่าจะเสร็จเรียบร้อยแล้ว


การไปท่องเที่ยวผาหมี


เหมาะสำหรับคนที่ต้องการความเรียบง่ายไร้แสงสี

แต่ความสนุกนั้น มีค่ะ

บนยอดดอยมีชิงช้าสวรรค์

เป็นชิงช้าสวรรค์สมชื่อ



เพราะมันอยู่สูงสุดยอดดอย


เป็นชิงช้าแบบชาวเขา

แต่ตรงนี้คือ จำลองไว้ให้นักท่องเที่ยวมาเล่น



ส่วนของจริงสำหรับประเพณีพิธีกรรมนั้นอยู่อีกที่

คุณมิ้นท์พาเราไปดู

พิธีกรรมโล้ชิงช้าจะมีปีละครั้งเท่านั้น



นี่คือของจริงค่ะ

ซึ่งของจริงนี้ ถ้าไม่ใช่ในงานประเพณี


ห้ามเล่นมิเช่นนั้นจะผิดผี จะเป็นเรื่องใหญ่ของชาวชนเผ่าเลยทีเดียวบนเส้นทางดอยผาหมี

สวยงามจนบอกไม่ถูก



เส้นทางวนไปบรรจบกับดอยตุง หรือจะไปดอยแม่สลองก็ได้ค่ะ

สองฟากถนน มีทิวเขาสลับซับซ้อน

มองเห็นแผ่นดินพม่าอยู่ใกล้ตาเลยทีเดียว



มีจุดชมความงามแทบตลอดเส้นทาง

กึ่งกลางระหว่างดอยตุงกับดอยผาหมี


คือ ฐานปฏิบัติการดอยช้างมูบ

เปิดให้นักท่องเที่ยวแวะชมพระอาทิตย์ตก



จุดนี้ถือเป็นจุดชมพระอาทิตย์ลับฟ้าที่สวยงามมากมาย



ข้างล่างลงไปคือแผ่นดินพม่า



ที่ผาหมี อากาศดี กาแฟอร่อย


ผู้คนเป็นมิตรอย่างที่สุด

อยากให้ทุกคนไปลองสัมผัสดู

***การเดินทาง***



ง่ายดายจนคาดไม่ถึง

จากตัวเมืองเชียงราย มุ่งหน้าไปเส้นแม่สาย ถนนพหลโยธินนั่นแหละ



ก่อนถึงแม่สาย ซ้ายมือจะเห็นร้านจันกะผัก โดดเด่น ก็เตรียมเลี้ยวซ้ายเลย



จากปากทางเข้าไปไม่กี่ร้อยเมตร

เห็นหมีตัวใหญ่อยู่ริมทาง ก็นั่นหละ คือเข้าหมูบ้านแล้ว

หากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร


ก็เข้าไปเรื่อย ๆ ค่ะ

จนผ่านโรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์๕

ก็จะเจอร้านกาแฟ

แนว ๆ เป็นจุดศูนย์กลางจุดแรกของที่นี่



ไปถามไถ่เส้นทางเที่ยวกันได้เลย



..................................................................



วันนั้นเราสองคนบอกลาพ่อหลวงซาเจ๊ะ

คุณมิ้นท์ คุณป้า และคุณลุงคุณป้าชาวผาหมี

มาอย่างประทับจิต



ดินแดนเล็ก ๆ ที่มีความรักห้อมล้อม

เรามีน้ำตา แต่เป็นน้ำตาแห่งความอบอุ่นอิ่มใจ



วันข้างหน้า เราจะกลับไปอีก




"นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง หมายผดุงยุติธรรมอันสดใส

เราต่างก็รู้ กันอยู่แก่ใจ จะมีใครรักเราได้เท่านี้

นี่คือในหลวงในดวงใจ

ที่ทำให้เราคนไทยยิ้มได้อย่างวันนี้

เย็นศิระพระบริบาล ใต้ร่มพระบารมี

ไม่มีคำใดจะตรงกับใจยิ่งกว่านี้

เรารักในหลวง..."


ยังมีเส้นทางอีกมากมาย ที่ฉันตั้งใจจะไปค้นหา...

..................................................................



ความคิดเห็น