เมื่อหลายปีก่อน เราได้รับเชิญให้ไปพูดถึงประเพณีของไทยให้นักเรียนในสิงคโปร์ฟัง เราได้รับโจทย์มาว่าให้หาอะไรแปลกใหม่ที่ไม่ใช่งานลอยกระทง สงกรานต์ มานำเสนอ เราคิดกันอยู่นาน เพื่อนคนอิสานจึงเสนอว่าให้ทำเรื่องผีตาโขน มันจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เราค้นหาข้อมูลเกี่ยวเทศกาลนี้ ทั้งที่เราก็ยังไม่เคยเห็นของจริง เราพรีเซนต์ได้ค่อนข้างดี แต่ลึกๆ ในใจเราแอบละอายที่ทำเป็นเหมือนเคยได้ไปดูไปเห็นมาจริงๆ พอกลับมาอยู่เมืองไทยเราจึงหาโอกาสไปดูเทศกาลผีตาโขนนี้สักครั้ง

ไหนๆ ก็วางแผนไปเที่ยวด่านซ้าย เราก็แถมเชียงคาน ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันมากนัก เดินทางโดยรถบขส. ออกจากสถานีขนส่งหมอชิตเวลาสี่ทุ่มตรง นั่งยาวผ่านตัวเมืองจังหวัดเลยถึงอำเภอเชียงคานเวลาประมาณแปดโมงเช้าของอีกวัน เมื่อก้าวขาลงจากรถ ก็มีสามล้อมารุมถามว่าจะไปไหน แต่ที่พักของเราไม่ไกลเราจึงตัดสินใจเดินไป พี่สามล้อคนนึงให้เบอร์โทรศัพท์ไว้เผื่อว่าเราต้องการเช่ารถเที่ยว วันที่เราไปถึง บรรยากาศในเมืองเชียงคานเงียบมากแทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวเลย บ้านพัก โฮมสเตย์ ติดป้ายว่ามีห้องว่างเยอะมาก เรียกว่าเดิน walk-in เลือกที่พักกันได้จนกว่าจะพอใจ แต่เราจองห้องพักมาล่วงหน้าแล้วที่บ้านมุ้ยฟัง ซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำโขง เพราะต้องการนั่งดูพระอาทิตย์ยามเย็นจากระเบียงห้องพัก เนื่องจากมาถึงเช้ามาก จึงยังเช็คอินไม่ได้ เราจึงฝากกระเป๋าไว้ก่อนแล้วเดินไปกินข้าวเช้า มื้อแรกของเราเป็นเฝอ กับ ไข่กะทะ รสชาติดี




กินข้าวเสร็จ ก็ไปเดินเที่ยววัดศรีคุณเมือง หรือวัดใหญ่ที่อยู่ไม่ไกลจากที่พัก วัดนี้เป็นวัดที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะล้านนาและล้านช้างผสมผสานไว้ในที่เดียวกัน สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2485 ถือเป็นวัดเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองเชียงคานมาอย่างยาวนาน สิ่งที่ดึงดูดสายตาเราคือโบสถ์เก่าแก่ที่มีหลังคาลดหลั่นเป็นชั้นๆ เราสะดุดตากับรูปปั้นยักษ์และสิงห์ที่เฝ้าอยู่ตีนบันไดทางขึ้น รูปร่างผอมเพรียว ตัวเป็นยักษ์แต่หน้าเป็นลิง สีถลอกๆ ลอกเป็นชั้นๆ แต่ยังดูสดและมีเสน่ห์อย่างบอกไม่ถูก หน้าบันเป็นไม้แกะสลักประดับกระจกสี เหนือประตูเข้าโบสถ์มีภาพจิตรกรรมเก่าแก่แต่แอบแทรกวัตถุในยุคปัจจุบัน เช่น รถตุ๊กตุ๊ก ซึ่งบ่งบอกให้เห็นร่องรอยการซ่อมแซมใหม่ เข้าไปในโบสถ์เราเห็นพระพุทธรูปปางนาคปรกศิลปะล้านช้างสีทองอร่าม







หลังจากชมวัด เรากลับไปขอยืมจักรยานของที่พักปั่นชมเมือง อากาศร้อนมาก จึงแวะหาอะไรดื่มกันที่ร้านกาแฟสุวรรณรามา อดีตโรงหนังที่เคยรุ่งเรือง ปัจจุบันกลายมาเป็นร้านกาแฟ ในร้านตกแต่งด้วยโปสเตอร์ภาพยนตร์เก่า เก้าอี้โรงหนัง เครื่องฉายหนังที่ใช้ฟิล์มม้วนใหญ่ ฟิล์มสีน้ำตาลแห้งกรอบหลายม้วนถูกแขวนประดับบนผนัง มีรูปคุณลุงถ่ายคู่กับดารานักแสดงนักร้องทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ติดไปทั่ว คุณลุงเจ้าของร้านเล่าว่า เมื่อก่อนที่นี่เป็นโรงละครมหรสพทั่วไปเปลี่ยนเจ้าของมาหลายคน ก่อนคุณลุงจะเซ้งมาทำกิจการโรงหนังเมื่อปีพ.ศ. 2513 คุณลุงพูดอย่างภูมิใจว่าโรงหนังสุวรรณรามานี้จุคนได้ 300 กว่าคนเลยทีเดียว มีที่นั่งเป็นม้านั่งยาวๆ นั่งเบียดกันได้ ชั้นล่างชั้นบนราคาเดียวกัน แต่ชั้นบนห้ามนำเครื่องดื่มขึ้นไปเด็ดขาดเพราะหากไม่ระวังน้ำจะหกราดหัวคนดูที่อยู่ด้านล่างได้ ต่อมาจึงพัฒนามีเก้าอี้โรงหนังที่เป็นไม้พับได้มีพนักวางแขนนั่งเรียงติดกันแถวละ 7 ที่นั่ง ตั๋วหนังราคาเริ่มตั้งแต่ใบละ 3 บาท 5 บาท 7 บาท 10 บาท สำหรับผู้ใหญ่ ส่วนเด็กๆ ถ้าแสดงความสามารถร้องรำทำเพลงให้คุณลุงดู ก็ได้ดูฟรี ฉายหนังครั้งหนึ่งถ้าได้สัก 1,000-1,200 บาท ก็ถือว่าคุ้ม




การจัดโปรแกรมหนังก็ขึ้นอยู่กับว่าคนหิ้วหนังจะหิ้วหนังเรื่องอะไรมา ค่าเช่าหนังมาฉายเรื่องละ 300 บาท ลุงรับผิดชอบค่าน้ำค่าไฟ วาดโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กันเอง ใกล้วันฉายหนังก็จะมีรถตระเวณป่าวประกาศในตัวอำเภอเชียงคาน และบริเวณใกล้เคียง ปกติจะฉายหนังวันละหนึ่งรอบเริ่มประมาณสองทุ่ม ถ้าหนังเป็นที่นิยมก็จะฉายหลายรอบหน่อยแต่ทั้งนี้ก็จะขึ้นอยู่กับคิวของคนหิ้วหนังว่าจะให้ฉายได้กี่วัน คุณลุงแอบกระซิบว่าบางทีก็มีการแอบเปิดฉากวาบหวิวแทรกในหนังเพื่อเรียกคนดู หรือถ้ามีหนังอย่างว่า ก็จะฉายรอบดึก ไม่ต้องประชาสัมพันธ์มากเพราะพวกผู้ชายจะบอกกันปากต่อปากเอง หนังที่นำมาฉายมีทั้งหนังบู๊ หนังรัก หนังตลก หนังผี หนังต่างประเทศก็มี แต่จะเป็นแบบพากษ์สด ส่วนมากนักพากษ์ก็จะหิ้วหนังมาพร้อมอุปกรณ์ประกอบการทำเสียงต่างๆ คล้ายละครวิทยุ นักพากษ์เก่งๆ คนหนึ่งสามารถพากษ์ได้ 5-6 เสียงเลยทีเดียว โดยทั่วไปก็จะมี พระเอก นางเอก ผู้ร้าย คนแก่ เด็ก ตัวตลก

เมื่อครั้งกิจการเฟื่องฟูคนมาเข้าคิวดูหนังจากทั่วสารทิศ หนังเรื่องที่ดังที่สุดที่เคยฉายคือ ชุมแพ ฉายกันรอบต่อรอบถึงวันละ 5 รอบเลยทีเดียว เมื่อกิจการดีขึ้นก็มีโรงหนังสร้างขึ้นใหม่ขนาบข้างอีกสองโรง เป็นตัวเลือกให้ผู้ชมมากขึ้น แต่กิจการไม่ได้สวยหรูเพราะบางครั้งมีการแย่งหนังกัน เช่นคุณลุงได้สัญญาฉายหนังเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ติดโปสเตอร์ ประชาสัมพันธ์อะไรเรียบร้อย แต่พอถึงวันที่หนังเข้าโรง ผู้จัดการหนังกลับคำเอาหนังไปให้โรงอื่นฉายแทน คุณลุงจำต้องถอนป้ายออกและคืนเงินให้คนดู คุณลุงเล่าว่าหนังม้วนหนึ่งยาวประมาณ 15 นาที ถ้าหนังทั้งเรื่องยาว หนึ่งชั่วโมงสิบห้านาทีก็จะมีม้วนหนังทั้งหมด 5 ม้วน ฉายจบม้วนหนึ่งก็จะต้องรีบสาวฟิล์มแล้วเอาสก๊อตเทปใสแปะหางฟิล์มม้วนแรกต่อกับหัวฟิล์มม้วนถัดไป มือจะต้องเบามากจนคนดูไม่ทันสังเกตเลยด้วยซ้ำว่าเปลี่ยนม้วน แต่บางครั้งหากฟิล์มขาด ก็ต้องรีบซ่อมรีบแปะเทปหรือหยุดฉายหนัง โฆษณาขายของกันไป คุณลุงเล่าต่ออีกว่าหลังๆ คนหิ้วหนังก็มีการซิกแซก หาเงินจากการแอบนำหนังไปเวียนฉาย พอฉายเสร็จจากโรงหนึ่งก็จะวิ่งเอาม้วนนั้นไปฉายต่ออีกที่หนึ่งซึ่งอาจจะเป็นโรงหนังอีกที่หรือหนังกลางแปลงก็ได้




โรงหนังสุวรรณรามาดำเนินกิจการให้ความสุขแก่คนเชียงคานและคนจากฝั่งลาวมากว่ายี่สิบปี จนกิจการเริ่มซบเซา เมื่อถึงยุคที่วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องเล่นวีดีโอ เริ่มเข้ามา โรงหนังข้างๆ ทั้งสองต้องปิดตัวไปในที่สุด ส่วนโรงหนังสุวรรณรามายังคงเก็บอนุรักษ์โรงเรือนไม้ดั้งเดิมเอาไว้ แบ่งโซนด้านหลังเป็นสนามแบดมินตันขนาดย่อมๆ 2 คอร์ท โซนด้านหน้ามีส่วนจัดแสดงเรื่องราวในอดีตให้ผู้คนที่แวะเวียนมาร้านกาแฟของคุณลุง




จุดหมายต่อไปของเราคือ แก่งคุดคู้ ในตำนานเล่าว่า มีพรานป่าคนหนึ่งมีจมูกแดงขนาดใหญ่มากถึงกับมีเด็กแอบเข้าไปเล่นหมากบ้าในฮุดัง (จมูก)ได้ จึงได้ชื่อว่า “จึ่งขึ่งดั้งแดง” เขาดักซุ่มยิงควายเงินตัวหนึ่งซึ่งนอนพักแช่น้ำริมโขง แต่ชาวบ้านแล่นเรือผ่านมาพอดี ควายเงินตกใจวิ่งเตลิดขึ้นไปบนเขาลูกหนึ่ง ต่อมาเขานี้ได้ชื่อว่า “ภูควายเงิน” “จึ่งขึ่งดั้งแดง” โกรธมากจึงขนหินมาขวางกั้นลำโขงไม่ให้เดินเรือได้ แต่ก่อนที่เขาจะทำเสร็จก็มีสามเณรรูปหนึ่งมาเห็นเข้า เณรจึงออกอุบายให้เขาใช้ไม้เฮียะ (ไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง) มาทำเป็นคานหาบหินแทน เมื่อเขาใช้ไม้หาบหิน ไม้คานก็หักบาดคอ “จึ่งขึ่งดั้งแดง” นอนตายคุดคู้อยู่ที่ริมโขง แก่งหินนั้นจึงเรียกว่า “แก่งคุดคู้”



เราปั่นจักรยานฝ่าไอร้อนระอุไปยังแก่งคุดคู้ พอถึงแก่งก็เข้าไปหลบร้อนในร้านอาหารริม ช่วงที่เราไป น้ำค่อนข้างเยอะจึงไม่เห็นแก่งสักเท่าไหร่ อาหารขึ้นชื่อของที่นี่นอกจากจะมีข้าวเหนียวส้มตำรสจัดจ้าน ก็มีอาหารที่ทำจากปลาแม่น้ำโขง มีกุ้งเต้นและกุ้งนอน (กุ้งเต้นที่ปรุงสุกแล้ว) ตลอดทางเข้าแก่งมีร้านค้าขายของฝากของที่ระลึกตั้งเรียงราย ของฝากขึ้นชื่อของจังหวัดเลยคือมะพร้าวแก้ว ปกติเราจะเห็นมะพร้าวแก้วเป็นเส้นแข็งๆ เป็นสีๆ สีขาว สีชมพู สีเขียว แต่ที่เห็นสะดุดตาก็จะเป็นมะพร้าวที่อยู่ในถุงเขียนว่าเกรด A และเกรด B เมื่อเราได้ชิมเท่านั้นแหละ เราก็ค้นพบว่ามะพร้าวแก้วอร่อยๆ มันมีอยู่จริง มันมีความหอม เนื้อมะพร้าวนิ่ม ฉาบน้ำตาลบางๆ หวานกำลังดี เราไม่รีรอเหมาร้านซื้อกลับไปเป็นของฝาก ดีใจผู้ให้ ถูกใจผู้รับ



กลับจากแก่งคุ้ดคู้ เราเพลียแดดกันมาก จึงนั่งเล่นนอนเล่นอยู่บนห้อง ดูน้ำโขงสีกาแฟไหลเอื่อยๆ นิ่งสงบ จนผล็อยหลับไป เมื่อตื่นมาอีกทีก็พบแสงแดดอุ่นสาดเข้ามายังระเบียงห้อง ได้ยินเสียงผู้คนเดินออกมาชมพระอาทิตย์ยามเย็นริมโขง พระอาทิตย์คล้อยต่ำลง ทอดแสงประกายสีทองกระทบผิวน้ำโขง มันเป็นช่วงที่สวย สุดแสนจะโรแมนติกจนเราอยากให้เวลามันหยุดเดินเลยทีเดียว






ตกค่ำอากาศเริ่มเย็นสบาย เราออกไปเดินเล่นถนนคนเดินซึ่งมีทุกเย็น แต่เพราะเป็นวันธรรมดาบรรยากาศจึงค่อนข้างเงียบเหงา คนขายของนั่งจ้องหน้ากัน รอลุ้นว่าเราจะเดินเข้าร้านไหน จะซื้ออะไร ที่เห็นแล้วอยากรู้อยากชิมก็มี ข้าวลืมผัวซึ่งเป็นข้าวเหนียวขาวผสมข้าวเหนียวดำ คลุกเกลือและน้ำตาลมีมะพร้าวขูดใส่ในกรวยใบตองขนาดย่อม กุ้งตัวจิ๋วเสียบไม้ย่าง ไอติมแสร้งว่าสับปะรด (มันคือไอติมที่คนขายไอติมเขียนป้ายไว้ว่า “ไอติมสับปะรด” แต่จริงๆ แล้ว มันคือไอติมกะทิตักใส่เปลือกสับปะรดที่ทำเป็นถ้วย แล้วโปะด้วยเนื้อสับปะรด) เดินกินขนมโน่นนี่ไปเรื่อยๆ เราก็สะดุดตากับร้านติ่มซำที่จัดหน้าร้านได้น่าสนใจร้านนึง จึงหยุดกินติ่มซำเรียกแขกให้ร้านสักหน่อย ติ่มซำอร่อย ราคาเข่งละ 29 บาท ที่เราชอบที่สุด เห็นจะเป็นติ่มซำราดซอสงาขาวบดสูตรเด็ดของเจ้าของร้าน กินเสร็จก็เดินเล่นแวะถ่ายรูปบ้านไม้ตลอดสองข้างทางจนกลับถึงที่พัก


















กิจกรรมยามเช้าที่นักท่องเที่ยวนิยมทำที่เชียงคาน ก็คือถ่ายรูปตอนใส่บาตรพระ ประมาณหกโมงเช้า หรือจะขึ้นไปชมทะเลหมอกบนภูทอก เราเลือกไปดูทะเลหมอก คืนก่อนหน้านี้ได้โทรนัดให้พี่คนขับรถตุ๊กๆ มารับตั้งแต่ตีห้าครึ่ง นั่งรถให้ลมเย็นสดชื่นโกรกหน้าไปสักสิบห้านาที เราก็มาจึงจุดซื้อตั๋วรถขึ้นภูทอกราคาใบละ 25 บาท ราคานี้รวมทั้งขาไปและขากลับ โดยจะกลับรถคันใดก็ได้ นั่งรถกะบะขึ้นไปไม่ถึงสิบนาทีก็ถึงยอดภูที่สามารถดูวิวได้เกือบรอบทิศ เห็นตัวเมืองเชียงคาน แก่งคุดคู้ และแนวเขาเขียวชุ่มอย่างชัดเจน เช้าๆ ยังไม่ค่อยมีหมอก ทำให้เราคิดว่าถ้าใส่บาตรก่อนแล้วค่อยขึ้นมาก็ยังทัน ยิ่งสายหมอกยิ่งลอยตัวหนา หมอกขาวตัดกับสีเขียวของต้นไม้บนทิวเขาเป็นชั้นๆ ดูสวยงาม เราถ่ายรูปกันประมาณชั่วโมงกว่าก็ลงมา











หลังอาหารเช้า เราเก็บของเช็คเอาท์ ฝากของไว้กับที่พัก ปั่นจักรยานไปตามหาของอร่อยแห่งเมืองเชียงคานที่ต้องมาท้าพิสูจน์ เราอ่านรีวิวและพบว่ามีคนแนะนำ ตำด๊องแด๊ง ร้านจิตส้มตำ ตรงข้ามโรงเรียนวิจิตรศึกษา “ด๊องแด๊ง” ทำมาจากแป้งขนมจีน แต่บีบเป็นตัวอ้วนๆ ป้อมๆ คล้ายเส้นลอดช่อง ตำด๊องแด๊งก็คือตำซั่วใส่เส้นด๊องแด๊งนั่นเอง รสชาติหวานนำ ไม่เผ็ดมาก เวลาเคี้ยวแป้งหนึบๆ ไปด้วย ก็ให้รสสัมผัสแปลกไปอีกแบบ





ก่อนอำลาเมืองเชียงคาน เราปั่นจักรยานเล่นเรียบริมโขงสักหน่อย วันนี้ท้องฟ้าแจ่มใส แดดแรง แต่พอจะมีลมพัดมาคลายร้อนได้บ้าง มองลงไปในแม่น้ำเห็นระดับน้ำตื้นลงกว่าเมื่อวาน และสีของน้ำก็เข้มกว่า

ประมาณบ่ายโมง เราเอาจักรยานไปคืน และแบกสัมภาระไปรอรถสองแถวที่วิ่งประจำจากอำเภอเชียงคานไปตัวเมืองเลย ระยะทาง 40 กว่ากิโลเมตร แต่ใช้เวลาเกือบชั่วโมงครึ่ง เพราะรถวิ่งหวานเย็นแวะจอดรับผู้โดยสารตามรายทางไปเรื่อย พอถึงสถานีขนส่งเมืองเลยแล้ว เราต้องต่อรถมินิบัสไปยังอำเภอด่านซ้ายอีกทอดหนึ่ง ระยะทางประมาณ 80 กิโล แต่ใช้เวลาชั่วโมงครึ่งพอๆ กัน



เราลงก่อนถึงตัวอำเภอด่านซ้ายเพราะเมาท์เทนกรีนรีสอร์ต ที่พักของเราอยู่ติดถนนใหญ่ก่อนถึงตัวเมืองประมาณสองกิโลเมตร มีแนวเขาอยู่ด้านหลัง เห็นท้องฟ้าเปิดกว้าง ที่นี่มีทั้งห้องพักที่อยู่ในตัวอาคาร เต๊นท์แบบกระโจม รวมถึง มีพื้นที่ให้กางเต๊นท์แบบสามารถเช่าหรือเอาเต๊นท์มาเองได้ ช่วงที่เราไปเป็นหน้าเทศกาล ที่พักจึงเต็มหมด เราโชคดีจองไว้ล่วงหน้าจึงได้พักเต๊นท์แบบกระโจม มีฟูกที่นอน มีพัดลม และมีปลั๊กไฟ แต่ต้องไปใช้ห้องน้ำรวม



หลังจากอาบน้ำชำระล้างฝุ่นควันจากการเดินทางแล้ว ทางที่พักเรียกรถตุ๊กตุ๊กให้ ค่าบริการ 50 บาทต่อคน พี่เจ้าของที่พักบอกว่าเย็นนี้มีงานดนตรี มีผีตาโขนมาร้องรำทำเพลงที่ลานเบียร์

ในตัวเมือง ลานเบียร์กว้างคราคร่ำไปด้วยผู้คน มีซุ้มอาหารมาออกร้านเรียงเป็นแนวยาว มีโต๊ะให้นั่งกินตั้งเบียดๆ กัน หน้าเวทีมีผู้คนออกมาเต้นมาเซิ้งกันสนุกสนาน มีคนใส่ชุดสีสันสวยงามใส่หน้ากากผีตาโขนเต้นกันกระจาย ในคืนนั้นเราอยู่ที่ด่านซ้าย ดูคอนเสิร์ตของพี สะเดิด นักร้องเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิต เจ้าของฉายา ตำนานร็อกอีสานของเมืองไทย เพื่อนๆ เราในกรุงเทพก็ไปดูคอนเสิร์ต บริทนีย์ สเปียร์



ตามถนนหนทางมีคนมากมาย สวมชุดหลากสี มีทั้งแบบตัดเย็บเรียบร้อยและตัดแบบรุ่งริ่ง ใส่หน้ากากผีตาโขน ที่มีลวดลายสวยงามบ้าง น่าเกรงขามบ้าง ไปจนถึงแบบที่ดูตลกขบขัน เวลาเดินโก่งขาเต้นเขย่าไปมา กระดิ่งที่ห้อยด้านท้ายก็จะสั่นดังกรุ๊งกริ๊งไปตามจังหวะการเต้น นอกจากหน้ากากแล้วบางคนก็จะถืออาวุธประจำกาย หรือตุ๊กตาผีตาโขนตัวเล็กๆ อีกด้วย






ประเพณีแห่ผีตาโขนจัดเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญประเพณีใหญ่หรือที่เรียกว่า "งานบุญหลวง" หรือ "บุญผะเหวด" ซึ่งตรงกับเดือน 7 ในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2560 บริเวณวัดโพนชัย และหน้าที่ว่าการอำเภอ วันอาทิตย์เราไปดูพิธีเปิดงาน มีงานแสดงเปิดขบวนผีตาโขน โดยมีเด็กนักเรียนแต่งชุดผีตาโขนออกมาทำการแสดงเล่าเรื่องผีป่าและสัตว์ป่าที่ต้องการมาส่งพระเวสสันดรและนางมัทรีเสด็จกลับสู่เมือง ด้วยรักอาลัยจึงแฝงตัวมากับชาวบ้าน แต่เกรงว่าชาวบ้านจะกลัว จึงได้แปลงกายให้มีรูปร่างเหมือนคน แต่หน้ายังคงเป็นผีอยู่ จึงเรียกกันว่า “ผีตามคน” จนเพี้ยนมาเป็น “ผีตาโขน” ในปัจจุบัน





ชาวบ้านมีความเชื่ออีกว่า “ประเพณีผีตาโขน” มีขึ้นเพื่อบูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่ค่อยปกปักรักษาคุ้มครองบ้านเมือง และบันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้บังเกิดแก่ลูกหลาน และยังแฝงพิธีขอฝน โดยแห่บั้งไฟขอฝนบูชาพระยาแถนร่วมมาในขบวนด้วย สิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจก็คือ เมื่อเด็กๆ ทำการแสดงเสร็จเท่านั้น ท้องฟ้าที่ก่อนหน้านี้สว่างจ้า กลับมืดครึ้ม ลมแรง และฝนก็โปรยเม็ดลงมา พอให้เย็นสบาย ฝนไม่ถึงกับตกหนักหนาจนทำลายงานพิธี ขบวนแห่ยังดำเนินต่อไปได้







เราตื่นตาตื่นใจกับหน้ากากหลากสีสัน หน้าตาแปลกๆ แต่งแต้มด้วยความคิดสร้างสรรค์ มีทั้งหน้ากากที่วาดลายเส้นชดช้อยดูวิจิตรบรรจง และที่ทำเองง่ายๆ ตวัดฝีแปรงหยาบๆ ไม่เนี๊ยบเป๊ะ หน้ากากบางอันดูน่าเกรงขาม บางอันตลกขบขัน หลายอันมีการแทรกรูปภาพอุปกรณ์ของใช้ในปัจจุบัน หน้ากากผีตาโขนทำมาจากไม้เนื้ออ่อน กาบมะพร้าว และหวดนึ่งข้าว มีวิธีการทำหลายวิธี เช่นการเขียนสี การฉลุลาย และการแกะสลักลงบนหน้ากาก ที่วัดโพนชัยมีพิพิธภัณฑ์ผีตาโขนบอกเล่าประวัติความเป็นมา รายละเอียดพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดแสดงหน้ากากผีตาโขน ตลอดจนมีพื้นที่สาธิตการทำหน้ากากผีตาโขนให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ารับชมและร่วมกิจกรรมได้





ขบวนแห่ผีตาโขน หรือที่เรียกอีกชื่อว่า “พิธีแห่พระเวส” นำหน้ามาโดยขบวนแห่เจ้าพ่อกวน ผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชน ตามด้วยเจ้าแม่นางเทียมนั่งอยู่บนม้า ต่อมาเป็นขบวนพระเวสสันดร ตามมาเป็นพรวนเป็นผีตาโขนจากหลายหน่วยงาน หลายหมู่บ้าน มีผีใหญ่ชายหญิงรูปร่างสูงใหญ่ทำจากสุ่มไก่และกระด้ง มีผีเด็ก ผีโคลน และหนอนชาเขียว การแห่ขบวนเต็มไปด้วยความคึกครื้นสนุกสนาน ผีตาโขนมีลีลาจังหวะการเต้นง่ายๆ ที่ใครก็เต้นตามได้ไม่ยาก โก่งขานิดๆ ย่อเข่าหน่อยๆ โยกลำตัวไปมา ซ้าย ขวา หน้า หลัง ยิ่งดูคล้ายคนเมายิ่งมัน มีการยักย้ายส่ายสะโพกเพื่อทำให้กระดิ่งที่ผูกติดกับบั้นท้ายเขย่าเกิดเสียงดัง










เราเพลิดเพลินอยู่ชมขบวนแห่ผีตาโขนตั้งแต่ต้นจนจบ ใช้เวลาไปกว่าสี่ชั่วโมง จึงเดินทางกลับไปสถานนีขนส่งเมืองเลย เพื่อต่อรถกลับกรุงเทพ

สิ่งเราที่เราประทับใจในการมาดูผีตาโขนในครั้งนี้คือ ความสนุกสนาน ความมีอัธยาศัยดี เมื่อใส่หน้ากากผีตาโขนแล้ว ทุกคนก็เข้าไปเล่นกับผีตาโขนได้โดยไม่ถือเนื้อตัว มีผีน้อยแก่นๆ หลายตน แต่มีตัวหนึ่งที่เราชอบมาก เป็นเด็กอายุประมาณ 4-5 ขวบ สวมหน้ากากผีตาโขนใส่ชุดคลุม โผล่ขาสั้นๆ ป้อมๆ ให้เห็น เต้นยักย้ายไปตามจังหวะเสียงเพลงอย่างสนุกสนาน แต่พอถอดหัวออกมา หน้าน้องบูดมาก อาจเพราะความเหนื่อยจากการเดินร่วมขบวนเป็นระยะทางไกล โผล่หน้าออกมาจากหน้ากากรับลมเย็นพอชื่นใจ น้องก็ใส่หน้ากากเต้นได้อย่างสนุกสนานต่อไป ผู้คนที่มาร่วมงานเห็นน้องดูแก่นๆ น่ารักน่าเอ็นดู ต่างรุมเข้าไปถ่ายรูปด้วย น้องอิดออดเล่นตัวเล็กน้อยแต่ก็ยอมให้ถ่ายรูปด้วยดี ทำให้รู้สึกว่าน้องช่างมีความอดทน และมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่



การมาดูเทศกาลแห่ผีตาโขนในครั้งนี้ ทำให้เราได้สะสางสิ่งที่ค้างคาใจ ครั้งหน้าหากเราต้องพูดถึงเทศกาลผีตาโขนให้ใครฟังอีก เราก็จะพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำ และสิ่งที่เราจะสื่อสารกับคนอื่นจะไม่ใช่เพียงข้อมูลที่หาอ่านได้ทั่วๆ ไป แต่จะรวมถึงความรู้สึก ความประทับใจ ที่เราได้ไปสัมผัสมาจริงๆ



ความคิดเห็น