เราออกเดินทางด้วยรถบัสนครชัยแอร์จากกรุงเทพเวลาห้าทุ่มตรง มุ่งหน้าสู่อุดรธานี มาถึงสถานีขนส่งอุดรเจ็ดโมงกว่า ยังไม่ทันก้าวลงจากรถ สามล้อสกายแลปก็มายืนคอยเป็นแถว ต่อรองราคาเป็นที่ถูกใจ ร้อยบาทเบาๆ พี่สามล้อก็พาเรามาส่งที่สนามบินอุดร มารับรถที่เช่าไว้ แล้วก็ขับเข้าเมืองมาตามหาข้าวเปียกเจ้าอร่อย มีหลายเมนูให้เลือก มาร้านข้าวเปียกก็ไม่พลาดที่จะสั่งข้าวเปียก พิเศษกระดูก ตอนแรกคิดว่าจะได้กระดูกซี่โครงอ่อน แต่ที่ร้านจัดกระดูกเล้งมาเต็มๆ ตามด้วยไข่กระทะกะขนมปัง ขนมเหนียว เป็นอาหารเวียดนาม ตัวไส้คล้ายปากหม้อญวน แต่ตัวแป้งที่ห่อมีลักษณะเหนียวๆ ใสๆ เคี้ยวหนึบๆ

จุดหมายต่อไปคือ ป่าคำชะโนด มาตามรอยเจ้าแม่นาคี ออกจากตัวเมืองมาประมาณ 99 กิโล พอเข้าเขตบ้านคำชะโนดก็เริ่มเห็นชาวบ้านตั้งโต๊ะขายบายศรีพญานาคเป็นระยะ แล้วเสียงเพลงในรถก็ดังขึ้นราวกับจงใจให้เข้ากับบรรยากาศ ~คำว่าฮักเกิดขึ้นที่ใด เกิดกับใครก็บ่สำคัญ มันจะอยู่ตรงนั้นบ่หายตามกาลเวลา~ พอเพลงจบ เราก็ขับมาถึงหน้าวัดศิริสุทโธพอดี ชาวบ้านโบกให้เข้าไปจอดในลานจอดรถ มีร้านขายบายศรีหมากพลูตั้งอยู่โดยรอบ โดนกันไปชุดละ 180 บาทจนเป็นที่พอใจจึงเดินเข้าวัดกันไปแบบงงๆ


ด้านนอกก่อนข้ามไปยังเกาะคำชะโนดอากาศร้อน ผู้คนโหวกเหวกโวยวาย ร้านค้าเรียงราย มีขายกระทั่งขวดไว้ในน้ำมนต์กลับบ้าน แต่พอก้าวเท้าเดินไปบนสะพานเชื่อมไปยังเกาะ อากาศเย็นลงอย่างรู้สึกได้ แม้จะมีคนมากมายเดินสวนกันไปมาไม่ขาดสายแต่บรรยากาศก็เงียบสงบ เรานำบายศรีไปสักการะปู่ศรีสุทโธ ย่าศรีปทุมมา โดยมีพราห์มเป็นผู้นำถวายเป็นรอบๆ จากนั้น จึงเดินไปที่ต้นมะเดื่อยักษ์ ผู้คนมากมายกำลังมาขูดหาเลขตามโคนต้นกันอย่างเมามันส์ แววตาเปี่ยมด้วยความหวัง บางคนจับกลุ่มตีเลขจากรอยขีดบนเปลือกไม้ มีเจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือผู้มาเยี่ยมชมงดทาแป้งลงบนต้นไม้แต่กระนั้นเราก็เห็นรอยแป้งขาวโพลนไปทั่วบริเวณ


ไม่ไกลกันนักก็มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าเป็นทางเชื่อมไปยังสะดือแม่น้ำโขงและเป็นทางเข้าออกเมืองบาดาล หน้าบ่อมีผู้มาอธิษฐานขอพร บ้างก็รุมตักน้ำดื่มกินล้างหน้าประพรมตามร่างกาย บ้างก็รองน้ำใส่ขวดกลับบ้าน ขากลับออกมาหลายคนเชื่อว่าหากเดินลูบเกล็ดพญานาคออกมาจะมีโชคลาภ เราจึงทำตามเอาแบงค์ร้อยออกมาลูบเกล็ดพญานาคไปตลอดทาง ขอให้รวย ขอให้รวย


บ่ายๆ ออกจากคำชะโนดมายังบ้านพักใกล้ๆ ท่าเรือบ้านเดียมที่จะลงเรือไปชมทะเลบัวแดงในเช้าวันรุ่งขี้น บ้านพักที่จองไว้อยู่ห่างจากท่าเรือประมาณหนึ่งกิโลเมตร ตลอดทางที่ขับรถมาบ้านเดียม แทบไม่มีบ้านพักหรือร้านค้าร้านอาหารเลย จนแอบหวั่นใจว่าเย็นนี้จะมีอะไรตกถึงท้องไหม เรานัดเจอเจ้าของที่พักที่โรงเรียนบ้านเดียม ซึ่งใกล้ๆ กัน มีร้านขายของชำเพียงแห่งเดียวในละแวกนั้น

ในตอนเย็นเราขับรถไปสำรวจท่าเรือและหาข้าวเย็นกิน มีร้านอาหารเพียงหนึ่งร้านเท่านั้นที่เปิดให้บริการ และโชคดีที่อาหารร้านนี้รสชาติอร่อยใช้ได้ ของขึ้นชื่อที่นำมาประกอบอาหารของที่นี่ก็คือไหลบัว รวมถึงเครื่องดื่มที่เป็นซิกเนเจอร์ของทางร้านคือนมปั่นไหลบัวเชื่อม รสชาติอร่อยหอมมันมากจนอยากกินอีก


ยามเย็นบริเวณริมบึงค่อนข้างเงียบเหงา ไม่มีนักท่องเที่ยวเนื่องจากบัวจะหุบไม่บานสวยเหมือนตอนเช้า มารอดูพระอาทิตย์ตก แต่เย็นนั้นเมฆหนา ไม่มีท้องฟ้าเปลี่ยนสีสวยๆ ให้เห็น ไม่มีอะไรให้ทำให้ดู เราจึงเข้าที่พักแต่หัวค่ำ


วันรุ่งขึ้น ตื่นตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง เพื่อจะได้ไปดูทะเลบัวแดง เราออกจากที่พักหกโมงสิบห้า ไม่กี่นาทีก็ถึงลานจอดรถกว้างขวาง มีรถจอดอยู่ไม่กี่คัน จึงได้จอดใกล้จุดซื้อตั๋วเรือ บรรยากาศในตอนเช้าคักคึกผิดกับเมื่อเย็น ตามทางเดินมีร้านค้าหอมกลิ่นหมูปิ้ง ข้าวจี่ มันเผา ไส้กรอกอิสานย่าง หมูยอนึ่ง ไอข้าวเหนียวอุ่นๆ เรารีบตรงไปที่โต๊ะซื้อตั๋ว เรือเล็กลำละ 300 บาท โดยสารได้ 3 คน ใช้เวลาไปกลับหนึ่งชั่วโมง เรือใหญ่ลำละ 500 บาท ใช้เวลาไปกลับ ชั่วโมงครึ่ง โดยสารได้ไม่เกิน 5 คน เรือเล็กเป็นเรือหางยาว ซึ่งโคลงเคลงกว่าแต่ไม่มีหลังคาจึงมีมุมถ่ายรูปที่สวยมองได้รอบทิศ ซื้อตั๋วปุ๊บขึ้นเรือปั๊บเครื่องสตาร์ท เรือก็บึ่งทะยานไปบนผืนน้ำ ละอองน้ำกระเซ็นเป็นฟอง อากาศเย็นสบายสดชื่น

เรือออกไปได้สักพักพระอาทิตย์ก็เริ่มโผล่พ้นขอบฟ้า เรารีบรัวกดซัตเตอร์ หลังพระอาทิตย์พ้นน้ำสักพัก แนวเส้นสีชมพูก็ปรากฏให้เห็นอยู่ไกลๆ เราเริ่มตื่นเต้น ตาจดจ้องไปยังทะเลบัวแดง ไม่กี่อึดใจถัดมาบัวแดงก็ละลานตาเต็มไปหมด บนเรือหางยาวแคบๆ เราพยายามทรงตัวหามุมถ่ายรูปสวยๆ กันอย่างสนุกสนาน เรือย้ายจุดจอดให้เราถ่ายรูปเป็นระยะ พอครบชั่วโมงลุงคนเรือก็บึ่งเข้าท่า รอรับนักท่องเที่ยวกลุ่มต่อไป


สายๆ เราขับรถมุ่งไปยังอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ถนนหนทางหลายช่วงแคบคดเคี้ยวและอยู่ระหว่างการก่อสร้างจึงทำให้ต้องชะลอขับช้าๆ มีเวลาได้ชื่นชมความสวยงามของหมู่บ้านและธรรมชาติข้างทาง ขับรถมาประมาณร้อยกิโลนิดๆ ก็เข้าสู่ทางขึ้นเขา ไม่ชัน ขับสบายๆ ต้นไม้ใบไม้แห้งเป็นสีทองตัดกับสีท้องฟ้า มีก้อนหินก้อนใหญ่ให้เห็นเป็นระยะ จนขึ้นไปถึงลานจอดรถด้านบน

ขับรถทางไกล ธรรมชาติจึงเรียกร้องให้วิ่งแจ้นหาห้องน้ำ แล้วเราก็ต้องเซอร์ไพรส์อย่างหนัก เมื่อเดินเข้าห้องน้ำและพบว่ามันกว้างใหญ่สะอาดตกแต่งภายในสวยงามและมีการดูแลรักษาอย่างดี แค่เห็นห้องน้ำก็รู้เลยว่าระบบการจัดการของที่นี่ต้องดีมากๆ

ทำธุระส่วนตัวเสร็จ เราก็เดินเข้าไปซื้อตั๋ว ค่าเข้าชมคนละ 30 บาทเท่านั้นเอง จึงอดถามเจ้าหน้าที่ขายตั๋วไม่ได้ว่าเก็บค่าเข้าชมแค่นี้ เอางบที่ไหนมาพัฒนา พี่เจ้าหน้าที่ก็ไขข้อข้องใจว่าอุทยานฯภูพระบาทได้งบสนับสนุนจากกรมศิลปากร

ตอนหาข้อมูลที่เที่ยวอุดร ยอมรับเลยว่าภูพระบาทดูไม่ค่อยน่าสนใจ และรูปถ่ายที่เห็นตามเว็บไซด์ก็ไม่น่าดึงดูดเอาซะเลย จนเราเกือบจะตัดออกจากโปรแกรมเที่ยว แต่ลองอ่านรีวิวและหลายๆ คอมเม้นท์ กลับบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าสวยมากควรจะมา

และเมื่อมาเห็นด้วยตาตัวเอง มันสวยกว่าในรูปถ่ายมาก และคุ้มค่ากลับการขับรถมาไกล…

ภูพระบาทเป็นโขดหินและเพิงผารูปร่างแปลกๆ ซึ่งเกิดจากการกัดกร่อนตามธรรมขาติของหินที่มีความแข็งแกร่งต่างกันไป นอกจากนั้น ยังพบร่องรอยอารยธรรมโบราณกว่า 2,000-3,000 ปีมาแล้ว อันได้แก่ ภาพเขียนสี ที่ปรากฏบนผนังหิน พระพุทธรูปแกะสลัก การสกัดหินให้เป็นห้อง สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มีบ่อน้ำและทางระบายน้ำให้เห็นอย่างขัดเจน กระจายอยู่ทั่วบริเวณ


ตอนแรกเรากะจะใช้เวลาที่ภูพระบาทแค่ 1 – 1.5 ชั่วโมง ท่ามกลางแดดเปรี้ยง แต่กลายเป็นว่ากว่าจะเดินดูจนครบก็ปาเข้าไป 3 ชั่วโมงเต็ม

เดินนานก็เริ่มหิว ในบริเวณอุทยานมีร้านอาหารตามสั่งเพียงร้านเดียวเท่านั้น ร้านนี้ที่นั่งโปร่งสบายไม่อับเหมือนร้านตามสั่งทั่วไป รสชาติอาหารอร่อยถูกปาก ทุกอย่างที่นี่ดูลงตัวไปหมด เราจึงประทับใจที่นี่มากๆ

ออกจากภูพระบาทประมาณบ่ายสามครึ่ง เรารีบบึ่งรถไปวัดป่าภูก้อน ที่อยู่ไกลออกไป 50 กิโล ระหว่างทาง ขับผ่านวัดและสถานปฏิบัติธรรมหลายแห่ง แต่ละแห่งใหญ่โต แต่ก็ดูเงียบสงบและร่มรื่นมาก ทางขึ้นวัดป่าภูก้อนค่อนข้างชันจนเราแอบกลัวว่าน้องสวิฟท์ที่เช่ามาจะขึ้นไม่ไหว

วัดป่าภูก้อนใหญ่โต สะอาดสะอ้าน สวยงาม มีจุดชมวิวรอบทิศ ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งไม่ได้ตกแต่งจนดูรกตา วัดป่าภูก้อนมีเนื้อที่กว่า 3000 ไร่ มีความเงียบสงบเหมาะสำหรับเป็นที่บำเพ็ญวิปัสนากรรมฐาน

ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานปางไสยาสน์องค์ใหญ่ทำจากหินอ่อนสีขาวที่สวยงามและเชื่อว่าทนทานที่สุด นำเข้าจากประเทศอิตาลี พระพักต์มีความอ่อนโยน นิ่ง เย็น สงบ จีวรแนบพริ้วไปตามส่วนเว้าส่วนโค้งขององค์พระ ปลายจีวรมีลายเส้นขอบทองพองาม

เนื่องจากเราไปถึงตอนสี่โมงครึ่งจึงมีเวลาชื่นชมความสวยงามของวัดเพียงครึ่งชั่วโมง ก่อนเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้เรารีบลงจากเขาก่อนมืด โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าวัดนี้สวยดีแต่ไม่ถึงกับสวยว้าวแบบต้องมาให้ได้

ขากลับขับรถยาวๆ ถึงตัวเมืองอุดร ผ่านถนนขรุขระหลายช่วง และต้องใช้ทางเบี่ยงเลี่ยงการก่อสร้างทางจึงทำให้การเดินทางล่าช้ากว่ากำหนดเล็กน้อย

มาถึงที่พักประมาณทุ่มครึ่ง เราก็ออกไปหาอะไรกินแถวถนนคนเดิน ยูดีทาวน์ แหล่งชอปปิ้งของวัยรุ่นคล้ายสยามแสควร์น้อยๆ ซึ่งของและอาหารที่ขายก็เหมือนถนนคนเดินทั่วๆ ไป ไม่มีของพื้นเมืองให้เลือกกินเลือกช้อปมากนัก

เช้าวันรุ่งขึ้น ประเดิมมื้อเช้าด้วยวีทีแหนมเนืองเจ้าดังแห่งอุดร มากินแหนมเนืองวีทีถึงแหล่ง รสชาติอร่อยมาก อาหารก็สดใหม่ ต่างจากกินที่สาขาอื่น

หลังอาหารเช้า เราก็ไปตามหาเป็ดเหลืองที่หนองประจักษ์ เจ้าเป็ดเหลืองตัวใหญ่หายไปจากหนองน้ำแล้ว มันโดนพายุพัดแตกแฟบไป แต่ยังดีที่มีเจ้าเป็ดเหลืองตัวย่อมๆ 2 ตัวมาแทน

ถ่ายรูปกับเจ้าเป็ดจนพอใจ เราก็เดินทางไปพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียงกันต่อ

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียงจัดแสดงวัตถุโบราณที่ขุดค้นพบในอำเภอบ้านเชียงและบริเวณใกล้เคียง วัตถุโบราณที่ถูกค้นพบนี้เปลี่ยนความเชื่อที่ว่าผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีอารยธรรมเป็นของตนเอง แต่รับเอาอารยธรรมจีนและอินเดียมาผสมผสานกัน วัตถุโบราณที่ขุดค้นพบนี้บ่งบอกร่องรอยอารยธรรมโบราณกว่า 5000 ปี เก่าแก่พอๆ กับแหล่งอารยธรรมจีนโบราณ พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกันการลักลอบนำวัตถุโบราณไปขายซึ่งระบาดเป็นอย่างมากในขณะนั้น วัตถุที่พบส่วนมากเป็นเครื่องปั้นดินเผา และเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากสำริด

เครื่องปั้นดินเผาแบ่งออกเป็น 3 ยุค พิจารณาจากลักษณะรูปทรง ลวดลาย และการตกแต่ง

ภาชนะดินเผายุคต้นคาดว่าอายุระหว่าง 5600-3000 ปี มีลายเชือกทาบ ลายขูดขีด และการเขียนสีไหล่ภาชนะ

ภาชนะดินเผายุคกลาง อายุประมาณ 3000-2300 ปี พบว่าเริ่มมีการทาขีดสีแดง

ภาชนะดินเผายุคปลาย อายุระหว่าง 2300-1800 ปี ลวดลายสวยงาม มีการเคลือบน้ำโคลนสีแดงขัดมัน

จากยุคต้นถึงยุคปลายรูปทรงภาชนะพัฒนาจากรูปทรงเรียบง่าย เป็นรูปทรงที่ปั้นแต่งยากขึ้น

นอกจากเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ภาชนะดินเผายังถูกใช้ในพิธีกฝังศพอีกด้วย ยุคแรกๆ เครื่องปั้นดินเผาถูกฝังรวมกับศพโดยทุบให้แตกถมคลุมร่างศพ ในยุคต่อมาจะใช้วางข้างศพใส่ของลงไปโดยไม่มีการทุบให้แตก และยังมีการใช้บรรจุศพเด็กทารกอีกด้วย เครื่องปั้นดินเผาที่จัดแสดงส่วนใหญ่ไม่สมบูรณ์ หรือพบว่ามีรอยแตกที่เชื่อมประสานกันทีหลัง

พิพิธภัณฑ์ที่นี่ค่อนข้างเงียบเหงาไม่ค่อยมีใครมา แต่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างก็ให้ความสนใจนิทรรศการเป็นอย่างมาก เราพบเด็กๆ กำลังเล่นต่อโมเดลชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผากันอย่างสนุกสนานจึงไม่รีรอร่วมแจมทันที และมันก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด

เราเดินทางต่อไปยังวัดศรีโพธิ์ในเพื่อดูสถานที่ขุดค้นจริงซึ่งอยู่ห่างไปประมาณหกร้อยเมตร หลุมขุดค้นแสดงให้เห็นระบบและวิธีการที่นักโบราณคดีทำงาน เริ่มจากแบ่งพื้นที่เป็นตาราง วัดอัตราส่วนบนพื้นที่จริงและลงมือขุดค้นทีละจุด โดยจะขุดลึกลงไปทีละ 10 เซนติเมตร โดยใช้อุปกรณ์ทางทันตแพทย์ ค่อยๆ ขุดลงไปอย่างระมัดระวัง เมื่อพบเจอร่องรอยวัตถุโบราณก็จะทำการถ่ายภาพและวาดรูปเก็บรายละเอียดให้มากที่สุดก่อนขุดขึ้นมาศึกษาและทำทะเบียนเพื่อเก็บรักษาต่อไป จากนิทรรศการและหลุมขุดค้นจริง เราเห็นว่าคนในชุมชนมีความภูมิใจ ยินดีเล่าเรื่องราวและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการทำนุบำรุงรักษามรดกของชาตินี้ แต่กระนั้นคนที่มาเยี่ยมชมก็น้อยมากจนเรารู้สึกเสียดาย



ต่อจากนั้นเราไปเยี่ยมชมวัดบัวลอยกลางน้ำห่างออกไปสองกิโลเมตร เป็นวัดและสถานปฏิบัติธรรมแห่งใหม่ของจังหวัดอุดร มีการสร้างอุโบสถกลางน้ำเป็นรูปดอกบัว เราพักผ่อนให้อาหารปลาสักพักก็เดินทางกลับเข้าตัวเมืองอุดร



จุดหมายสุดท้าย คือศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมประวัติศาสตร์การตั้งรกรากของคนเชื้อชาติจีนในอุดรธานี และเป็นแหล่งให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและเทศกาลประเพณีของจีน

เมื่อเดินเข้าไปรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปในประเทศจีน ตัวอาคารและการตกแต่งสวนสวยงามกำลังดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป

กิจกรรมที่น่าสนุกสนานของที่นี่ คือการให้อาหารปลาคาร์ฟด้วยขวดนม เด็กๆ ชอบกันใหญ่ ผู้ใหญ่ก็ไม่น้อยหน้า

อยู่ที่นี่จนถึงหนึ่งทุ่ม ได้เวลาปิดพอดี เราก็รีบเอารถไปคืนที่สนามบิน และเช่าแท็กซี่ให้มาส่งที่สถานีขนส่งอุดร แท็กซี่แค่ 200 บาท ไม่ได้แพงขูดเลือดขูดเนื้ออย่างที่เคยอ่านเจอในกระทู้ต่างๆ

เรามีเวลาก่อนรถออกประมาณ 45 นาที จึงเดินหาข้าวเย็นกินกัน ได้ก๋วยเตี๋ยวเนื้อหน้าสถานีขนส่งกันไปคนละชาม กลิ่นหอม รสชาติอร่อยมากทีเดียว นั่งกินกันอยู่ดีๆ ก็มีสงครามผัวเมียตีกันจนโต๊ะเก้าอี้กระจายหลบแทบไม่ทัน เป็นการจบทริปนี้แบบดุเด็ดเผ็ดมันส์กันเลยจ้า























ความคิดเห็น