ทริปนี้ผมมีโอกาสได้ร่วมเดินทางกับ AIS Trip ใน Project “กอดสายหมอกที่พะเนินทุ่ง เมืองเพชรบุรี เรียนรู้เทคนิคถ่ายภาพจากช่างภาพมืออาชีพ”โปรแกรมการเดินทางหลักๆ จะอยู่ที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดเพชรบุรี โดยจะมีอาจารย์นพดล อาชาสันติสุข รองประธานมูลนิธิภาพถ่ายแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.2557 -ปัจจุบัน รวมถึงเป็นช่างภาพที่บันทึกภาพเหตุการณ์ครั้งสำคัญของประเทศ และอาจารย์สมโภช แตงไทย ช่างภาพอิสระและเป็นผู้เขียนบทความด้านการถ่ายภาพ และการท่องเที่ยวในนิตยสารถ่ายภาพคาเมราร์ต คอยมาให้ความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพให้กับสมาชิกทุกคนครับ ผมเลยอยากเอาประสบการณ์ที่ได้รับมาแบ่งปันกันครับ สำหรับการจัดกิจกรรม AIS Trip มีการจัดต่อเนื่องกันมา ปีนี้เป็นปีที่ 5 แล้ว และ AIS Trip ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 23 ครับ
สมาชิกนัดรวมตัวกันที่ตึก AIS 1 เมื่อสมาชิกพร้อม ก็เริ่มออกเดินทางกันครับ
หลังจากที่ออกเดินทางประมาณ 30 นาที อาจารย์นพดลก็มาแนะนำเทคนิคการถ่ายภาพให้พวกเราบนรถ แต่เป็นการแนะนำแบบคร่าวๆ ก่อน เพียงให้เราได้รู้จักกล้องของเรามากขึ้น เพื่อที่เตรียมพร้อมในการลงไปถ่ายรูปยังจุดหมายปลายทางแรก คือวัดขนอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรีครับ
เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ก็มาถึงยัง “วัดขนอน (หนังใหญ่)” สันนิษฐานว่าวัดขนอนสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2327 หรืออาจจะก่อนหน้านั้น เดิมชื่อวัด “กานอน” ด้วยเหตุเพราะรอบๆ บริเวณวัดมีป่าไม้แดง ไม้ยาง จึงทำให้มีสัตว์นานาชนิดมาอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเสือ เก้ง กวาง ลิง ค่าง บ่าง ชะนี รวมถึงนกหลากหลายชนิด แต่มีนกชนิดหนึ่งที่มีจำนวนมาก นั่นคือ นกกา ในเวลากลางวันนกกาจะบินไปหาอาหารตามลำน้ำแม่กลอง และจะกลับมานอนที่วัดขนอน ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่าวัดกานอน ต่อมาภายหลังจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดขนอนโปราวาส” แต่ชาวบ้านนิยมเรียกสั้นๆ ว่า “วัดขนอน” ครับ
สิ่งที่ไม่ควรพลาดชมของวัดขนอนมี 3 จุด จุดแรกคือพระอุโบสถ ที่มีลักษณะการสร้างคล้ายกับพระวิหารหลวงของวัดสุทัศน์เทพวราราม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาแลงประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย ศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย-ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ด้านซ้ายและขวามีพระอัครสาวกยืนพนมมือ ด้านหลังพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงระฆังก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ครับ
โดยรอบพระอุโบสถมีระเบียงคตก่ออิฐถือปูนล้อมรอบ มีซุ้มประตูทางเข้าอยู่ทั้งสี่ทิศ ภายในระเบียงมีพระพุทธรูปปั้นปางมารวิชัยจำนวน 120 องค์ประดิษฐานรายรอบเจดีย์ราย
จุดที่สองคือพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอนครับ
เรือนหลังนี้เป็นที่จัดแสดงของตัวหนัง ที่ทยอยเริ่มสร้างขึ้นในสมัย ร.5 โดยหลวงปู่กล่อม ท่านได้ชักชวนช่างร่วมกันสร้าง ชุดแรกที่สร้างคือ ชุดหนุมานถวายแหวน ต่อมาได้สร้างเพิ่มอีกรวม 9 ชุด ปัจจุบันมีตัวหนังทั้งหมด 313 ตัว
พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน ผู้อนุรักษ์หนังใหญ่ไม่ให้สูญหายไปจากเมืองไทย ท่านมาเล่าถึงประวัติความเป็นมาของหนังใหญ่ให้พวกเราได้ฟังกันครับ
จากนั้นอาจารย์นพดลมาแนะนำเทคนิคต่างๆ ในการถ่ายภาพ และให้ผู้ร่วมทริปได้ทดลองถ่ายภาพกันครับ
ถ่ายออกมาแล้วก็มาตรวจเช็คกัน อาจารย์สมโภชจะมาคอยให้คำแนะนำเพื่อให้ภาพนั้นๆ ดูดีขึ้นครับ
ตัวหนังใหญ่ส่วนมากทำจากหนังโค นำมาฉลุเป็นภาพตามตัวละครในเนื้อเรื่อง ตัวหนังที่มีความสำคัญคือ หนังเจ้าหรือหนังครู จะเป็นตัวหนังที่ใช้ในการไหว้ครู มี 3 ตัวคือพระฤาษี พระอิศวร และพระนารายณ์ การทำหนังเจ้าจะใช้หนังโคที่ตายท้องกลม หรือถูกเสือกัดตาย หรือถูกฟ้าผ่าตาย แต่ถ้าหากหาไม่ได้ก็จะใช้หนังเสือหรือหนังหมีแทน โดยผู้สร้างจะต้องนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลแปด เขียนและลงสีให้เสร็จภายในวันเดียว สำหรับหนังอื่นๆ จะใช้หนังโคครับ
ตัวหนังแต่ละตัวที่นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์จะนำมานาบกับตู้ไฟ ทำให้ตัวหนังมีสีสันสดใส ตอนที่เดินดูตัวหนังในพิพิธภัณฑ์ผมยังแอบนึกสงสัยอยู่ในใจว่า ตัวหนังแต่ละตัวมีอายุมายาวนานมาก แต่ทำไมที่นำมาโชว์เหมือนหนังที่ทำขึ้นใหม่เลย แต่ถ้าหากว่าเราทำการปิดไฟที่ตู้ไฟ จะทำให้มองเห็นถึงความเก่าของตัวหนังอย่างชัดเจนครับ
ตัวหนังที่อยู่กลางภาพ คือตัวหนังนารายณ์ทรงสุบรรณ ซึ่งเป็นร่างอวตารของพระราม ตัวนี้ใช้หนังวัวถึง 4 ตัว มีความสูง 3.15 เมตร ใช้เวลาทำเพียง 2 วัน ถือเป็นตัวหนังที่ใหญ่ที่สุดในโลกครับ
และสิ่งที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของวัดขนอน ที่ไม่ควรพลาดชม นั่นคือการแสดงเชิดหนังใหญ่ที่โรงมหรสพหนังใหญ่วัดขนอน ซึ่งในวันเสาร์จะมีการแสดงเชิดหนังใหญ่ในเวลา 10.00 น. และวันอาทิตย์แสดงเวลา 11.00 น. จัดแสดงวันละ 1 รอบเท่านั้นครับ
หนังใหญ่ถือเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมไทย ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นการแสดงชั้นสูง เป็นการแสดงที่รวมศิลปะที่ทรงคุณค่าหลายแขนง ได้แก่ด้านศิลปะการออกแบบลวดลายไทยเชิงจิตกรรมที่มีความวิจิตรบรรจง ผสมกับฝีมือช่างแกะสลักที่ประณีต เมื่อแสดงก็จะมีการนำศิลปะทางนาฏศิลป์การละครที่เคลื่อนไหวอย่างได้อารมณ์ตามเนื้อเรื่อง ประกอบกับบทพากย์ บทเจรจา บทขับร้อง ดนตรีปี่พาทย์ ทำให้เกิดเรื่องราวและอรรถรสในการชม
หลังจากชมการเชิดหนังเสร็จแล้ว ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่สมาชิกทุกคนได้ร่วมลงมือกันทำ นั่นคือการตอกตัวหนังครับ
มีวิทยากรจากทางวัดมาแนะนำในการตอกตัวหนัง จากนั้นสมาชิกทุกคนได้เริ่มประชันฝีมือในการตอกตัวหนังกันอย่างเอาจริงเอาจัง เมื่อจัดการทำหนังธรรมดาให้มีลวดลายตามที่ร่างไว้เรียบร้อยแล้วก็ถึงขั้นตอนนำหนังมาติดพวงกุญแจ เป็นอันเสร็จพิธี และทางวัดได้มอบตัวหนังที่เราทำเองกับมือให้เราเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วยครับ
ที่วัดขนอน เราได้รับทั้งความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของตัวหนังใหญ่ ความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพ ความเพลิดเพลินในการชมการเชิดหนังใหญ่ รวมถึงการได้ลงมือตอกหนังฝีมือตัวเองแถมยังได้นำกลับเป็นของฝากอีกด้วย แต่ละคนดูมีความสุขกันถ้วนหน้า ต้องบอกเลยว่ามาที่นี่ดีต่อใจจริงๆ ครับ
คณะกรรมการจากยูเนสโกประกาศให้ “การสืบทอดและฟื้นฟูหนังใหญ่วัดขนอน” ได้รับรางวัลจากยูเนสโก และได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรมด้วยนะครับ น่าภูมิใจแทนวัดขนอนมากๆ ใครที่มาเที่ยวราชบุรี ผมแนะนำว่าไม่ควรพลาดการมาเที่ยวชมที่วัดขนอนนะครับ และควรวางแผนดีๆ ให้มาตรงเวลาที่มีการแสดงด้วยจะคุ้มค่ามากๆ ครับ
กองทัพต้องเดินด้วยท้อง เที่ยงนี้เราฝากท้องไว้ที่ “ร้านอัลปาก้า ราชบุรี” ครับ
ถึงแม้ร้านอัลปาก้า ราชบุรีจะไม่ได้อยู่ติดถนนใหญ่ ซึ่งการเดินทางเข้ามายังร้านจะต้องอาศัยผ่านทางเข้าหมู่บ้าน จนไกด์ยังพูดเล่นๆ ว่าพามาดูวิถีชีวิตของชาวโพธารามว่าเขาอยู่กันอย่างไร แต่เมื่อถึงร้านแล้วความรู้สึกที่เป็นหมู่บ้านมันหมดไปเลยครับ พื้นที่ร้านกว้างขวางมากๆ ด้านในมีห้องประชุมสัมมนาด้วย เก๋กู๊ด
ร้านอัลปาก้า ราชบุรี อยู่ห่างจากวัดขนอนเพียง 6 กิโลเมตรเท่านั้น หากใครมาเที่ยวที่วัดขนอนแล้ว ผมแนะนำว่าให้แวะมาทานข้าวเที่ยงที่ร้านนี้ครับ รับรองโดนใจคุณแน่นอนครับ
จากร้านอัลปาก้า ราชบุรี คณะตียาวมุ่งหน้าสู่เพชรบุรี เพื่อไปฝึกถ่ายรูปสวยๆ กันที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรีครับ
เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงก็มาถึงอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี ทาง AIS อำนวยความสะดวกพวกเราในการนั่งกระเช้าขึ้นไปบนยอดเขาวัง ซึ่งเป็นการประหยัดเวลา ประหยัดแรง ถนอมหัวเข่าชาว สว. (สวยสมวัย) แถมยังไม่ต้องฝ่าฟันกับฝูงลิงที่จะคอยมาแย่งของจากเราด้วยครับ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพอพระราชหฤทัยที่จะสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขาคีรี หรือเขาสมน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปลัดเมืองเพชรบุรีเป็นนายงานก่อสร้างจนสำเร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ.2403 และทรงพระราชทานนามว่า “พระนครคีรี” ครับ
จากสถานีรถรางไปยังพระราชวัง บรรยากาศค่อนข้างร่มรื่น ทางเดินปกคลุมด้วยต้นลั่นทมครับ
เขาวังมีพระที่นั่ง พระตำหนัก วัด และกลุ่มอาคารต่างๆ มากมาย ส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนิโอคลาสสิคผสมสถาปัตยกรรมจีน ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ๆ 3 ยอด แต่ผมมีเวลาเพียงแค่ขึ้นชมบนยอดเขาด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระราชวังพระนครคีรี บริเวณยอดเขานี้จะเป็นที่ตั้งของพระราชวังที่ประทับอันได้แก่ พระที่นั่งสันถาคารสถาน, พิพิธภัณฑ์แห่งชาติพระนครคีรี, พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท, พระที่นั่งราชธรรมสภาและ หอชัชวาลเวียงชัยครับ
หอชัชวาลเวียงชัยเป็นหอทรงกลมสูงสองชั้น หลังคาโค้งกรุด้วยกระจก สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ศึกษาและสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ในสมัยก่อนช่วงเวลากลางคืนจะมีการจุดโคมไฟแขวนไว้ภายในโดมกระจก เมื่อมองจากทะเลสามารถมองเห็นหอชัชวาลเวียงชัยได้แต่ไกล จึงเป็นที่หมายของชาวเรือในการเดินทางเข้าอ่าวบ้านแหลมได้เป็นอย่างดีครับ
บริเวณพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท หากมองออกไปด้านนอกจะมองเห็นตัวเมืองเพชรบุรีที่รายล้อมไปด้วยต้นตาลจำนวนมาก มีฉากหลังเป็นทิวเขา สวยงามมากๆ ครับ
เสียดายที่ผมมีเวลาที่นี่ค่อนข้างจำกัดเลยไม่มีเวลาเข้าชมในส่วนของพิพิธภัณฑ์ครับ
ถึงเวลาให้อาหารมื้อเย็นแล้ว เย็นนี้ผมฝากท้องที่ “ร้านวิวทะเลซีฟู้ด” ครับ
มื้อนี้ขอบอกเลยว่า AIS เค้าพาลูกค้าจัดเต็มเน้นๆ ด้วยอาหารทะเลทุกเมนู ไม่ว่าจะเป็นกุ้งเผา,เนื้อปูผัดผงกระหรี่, หอยเชลล์, ทะเลผัดฉ่า, ยำรวมมิตรทะเล, ปลากะพงทอดน้ำปลา, ต้มยำปลาเก๋าใส่ใบกะเพรา, ปลาหมึกไข่นึ่งมะนาว, หอยนางรม รวมถึงข้าวผัดปู ผมว่ามื้อนี้ถ้าสมาชิกในทริปคนใดแพ้อาหารทะเล คงต้องแอบเศร้าเป็นแน่ๆ ครับ
เมื่อมาถึงร้านอาหาร สมาชิกแต่ละคนก็ร้อนวิชากัน ห่วงถ่ายภาพอาหารมากกว่าห่วงหิวครับ
แต่ละคนดูมีความสุขกับมื้อนี้จริงๆ
โดยรวมสำหรับร้านวิวทะเลซีฟู้ด ผมว่าที่นี่ชนะเลิศด้วยวัตถุดิบที่เน้นอาหารทะเล แต่เรื่องรสชาติ ผมยังเทใจให้ทางร้านอัลปาก้า ราชบุรีอยู่ครับ ผมเลยขอให้เหรียญเงินกับร้านวิวทะเลซีฟู้ดครับ
หลังมื้อเย็นเราเดินทางสู่ที่พักที่ “D VAREE NANA KAENG KRACHAN” ใช้เวลาเดินทางจากร้านวิวทะเลซีฟู้ดมาที่รีสอร์ทประมาณ 1 ชั่วโมงครับ
คณะเดินทางถึงที่พักราว 19.30 น. ก็เริ่มเข้าห้องประชุมเพื่อเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพสวยๆ จากอาจารย์ทั้งสองต่อทันทีครับ
อาจารย์ให้คำแนะนำการถ่ายภาพทั้งกล้องแบบ DSLR และ Smart phone เริ่มแนะนำตั้งแต่ ISO , White Balance, โหมดการถ่ายภาพต่างๆ เช่น P, AV, TV และ M เทคนิคการถ่ายภาพเซลฟี่ด้วย เป็นที่ถูกอกถูกใจสมาชิกในทริปนี้มากๆ ครับ
ได้เวลาอันสมควรแล้ว คงต้องกลับไปพักผ่อนที่ห้องแล้ว เพราะพรุ่งนี้เรามีนัดออกไปกอดสายหมอกบนยอดพะเนินทุ่งกันครับ
ตัดมาที่รีสอร์ทครับ ผมขอนำภาพบรรยากาศภายใน D VAREE NANA KAENG KRACHAN มาให้ชมกันครับ
คืนนี้ขอนอนตุนแรงไว้ก่อนครับ เพราะพรุ่งนี้มีนัดออกเดินทางในเวลา 04.45 น.ครับ
เช้านี้ถือเป็นไฮไลต์ของทริปนี้ นั่นคือการออกไปกอดสายหมอกบนยอดพะเนินทุ่งครับ
สมาชิกทุกคนแยกย้ายกันขึ้นรถออฟโรทที่ทาง AIS ได้จัดเตรียมไว้ให้ รถจะเป็นลักษณะรถปิคอัพ 4 ประตู ซึ่งนั่งได้ 4 คน และมีโครงหลังคาด้านหลัง สามารถนั่งได้ 6 คน รวม 1 คันสามารถนั่งได้ 10 คนครับ
ตั้งแต่เมื่อวาน ผมนั่งภาวนาอยู่ตลอดว่าช่วงที่จะขึ้นพะเนินทุ่งขออย่าให้ฝนตกเลย เพราะถ้าฝนตกอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการขึ้นไปบนพะเนินทุ่ง และโอกาสที่จะเห็นทะเลหมอกก็คงยากตามไปด้วย แต่เช้านี้หลังจากเปิดประตูห้องเพื่อเตรียมออกเดินทาง ผมแอบนึกดีใจว่าเช้านี้ปลอดฝนแน่นอน
ช่วงที่นั่งอยู่ด้านหลังของรถ รับรู้ถึงอากาศที่เริ่มเย็นลง ปกติผมเป็นคนไม่กลัวความหนาว แต่เมื่อนั่งตากลมอยู่หลังรถไปนานๆ กลับเริ่มมีอาการสั่นๆ บ้าง เพียงไม่นานนักสายฝนก็เริ่มตกลงมา ทั้งอากาศที่เย็น บวกกับสายฝนที่กระเด็นโดนใส่ตัว ทำให้ยิ่งทวีความหนาวเข้าไปอีก โชคดีหน่อยที่รถคันที่ผมโดยสารมา ทำโครงหลังคาคลุมค่อนข้างมิดชิด ทำให้เม็ดฝนสาดเข้ามาด้านหลังไม่มากสักเท่าไร ผิดกับรถอีกหลายๆ คันที่ยกโครงหลังคาสูง แต่ด้านหน้าของโครงหลังคากลับเปิดโล่ง ทำให้ฝนสาดเข้าด้านหลังแบบเต็มๆ
รถวิ่งฝ่าความมืด ผมไม่รู้เลยว่า ณ ตอนนี้ด้านซ้ายคือผืนป่า ด้านขวาคือเหว รู้แต่เพียงว่าถนนเบื้องหน้าเต็มไปด้วยหลุมบ่อ ทำให้สมาชิกแต่ละคนหัวสั่นหัวคลอนไปตามๆ กัน เมื่อเริ่มใกล้ถึงจุดหมายปลายทาง ความมืดเริ่มจางหาย ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแก่งกระจานก็เริ่มปรากฏให้เห็น เราใช้เวลาเดินทางจากที่พักขึ้นไปด้านบนพะเนินทุ่งประมาณสองชั่วโมงครับ
“เขาพะเนิน” ทุ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,207 เมตร ด้วยความที่เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์จึงทำให้พะเนินทุ่งสามารถชมทะเลหมอกได้ตลอดทั้งปีถึงแม้จะเป็นฤดูร้อนก็ตาม หมอกที่พะเนินทุ่งเกิดจากต้นไม้ที่อุดมสมบูรณ์ได้คลายก๊าซคาร์บอนไดออกกไซด์ออกมาแล้วเกิดเป็นสายหมอกที่สวยงามครับ
จากลานจอดรถเราต้องเดินเท้าต่อสักประมาณ 100 เมตร เพื่อขึ้นมายังลานกว้างซึ่งเป็นจุดชมทะเลหมอก ทาง AIS ได้เตรียมเสื้อกันฝนให้กับทุกๆ คนไว้ตั้งแต่ตอนออกเดินทางแล้ว และเช้านี้ทุกคนก็ได้นำเสื้อกันฝนออกมาใช้จริงๆ บรรยากาศที่ลานชมวิวดูไม่ต่างจากลานกีฬาสีโรงเรียนเลยครับ
หลังจากชุ่มฉ่ำกับสายฝนเคล้าสายหมอกแล้วผมเดินกลับไปยังพะเนินทุ่งแคมป์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดชมวิว เพื่อมาทานอาหารเช้าที่ทางรีสอร์ทได้จัดเตรียม Set Box ไว้ให้ เสริมทัพด้วยข้าวต้มไก่และซาลาเปา พร้อมกาแฟที่ทาง AIS นำมาเสริมครับ
จนแล้วจนรอด ฝนก็ยังคงตกพรำอยู่ไม่ขาดสาย คงต้องถึงเวลาอำลาพะเนินทุ่งแล้ว หวังว่าคงจะได้กลับมาล้างตาตามล่าทะเลหมอกสวยๆ ที่พะเนินทุ่งอีกครั้งอย่างแน่นอน
ช่วงขาลงนี้ ฟ้าสว่างแล้ว จึงทำให้ผมสามารถมองเห็นทิวทัศน์ตลอดสองข้างทางตั้งแต่ยอดพะเนินทุ่งมาจนถึงพื้นราบได้ เส้นทางบางช่วงต้องข้ามลำธารด้วย ดูสนุกและตื่นเต้นดีครับ
สำหรับการเดินทางขึ้น-ลง พะเนินทุ่ง จะเปิดให้ขึ้นได้วันละ 2 รอบ คือรอบที่ 1 เวลา 05.30-07.30 น. และรอบที่ 2 เวลา 13.00-15.00 น. สำหรับขาลงจากพะเนินทุ่ง ก็ให้ลงวันละ 2 รอบเช่นกัน คือรอบที่ 1 เวลา 09.00-10.00 น. และรอบที่ 2 เวลา 16.00-17.00 น.ครับ รถที่จะขับขึ้นไปบนพะเนินทุ่ง แนะนำให้เป็นรถปิคอัพ ยิ่งถ้าเป็น 4x4 จะดีมากๆ สำหรับรถเก๋ง รถตู้ ไม่สามารถขึ้นพะเนินทุ่งได้ พะเนินทุ่งจะปิดเพื่อให้ธรรมชาติได้มีโอกาสฟื้นตัวในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม-31 ตุลาคมของทุกปีครับ
เมื่อลงมาถึงพื้นราบ ขอแวะไปชมบริเวณเขื่อนแก่งกระจานกันสักพัก จากนั้นมุ่งหน้ากลับที่พักเพื่ออาบน้ำอาบท่าเก็บสัมภาระเพื่อเดินทางกันต่อครับ
เมื่ออิ่มท้องกันแล้ว เราเดินทางกันต่อสู่ The Tea House เพื่อไปจิบกาแฟยามบ่ายกันครับ
ทาง AIS ให้ลูกค้าทุกคนเลือกเครื่องดื่มและอาหารว่างได้เองครับ
หน้าตาของเครื่องดื่มแต่ละแก้ว รวมถึงการตกแต่งของว่างแต่ละเมนู มันช่างดูน่าทานมากๆ อดใจไม่ไหวที่จะหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายภาพ เวลานี้คงต้องงัดวิชาการถ่ายภาพอาหารตามที่อาจารย์นพดลแนะนำขึ้นมาใช้อีกรอบ ผมแอบสังเกตเห็นสมาชิกบางคน ตั้งแต่ผมเริ่มถ่ายภาพจนผมจัดการกับของว่างของผมหมดไปแล้ว แต่สมาชิกท่านนั้นยังสาละวนกับการถ่ายของว่างของตัวเองอยู่เลยครับ
The Tea House ถูกออกแบบให้เป็นร้านชาในบรรยากาศฝรั่งเศส ที่สะดุดตาที่สุดเห็นจะเป็นซุ้มประตูไม้แกะสลักขนาดใหญ่จากอินเดีย ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังเคาเตอร์ครับ
ที่นี่นอกจากจะได้สนุกกับการถ่ายภาพอวดเพื่อนๆ แล้ว ยังมีความสุขกับการจิบเครื่องดื่มเย็นๆ และของว่างอร่อยๆ เคล้าเสียงแซกโซโฟนที่ไพเราะ...โอ๊ย สุดๆ เลยครับ หากเพื่อนๆ ผ่านมาเที่ยวแถวชะอำ หัวหิน อย่าลืมแวะมา Check in ที่ The Tea House กันนะครับ
ถือว่าเป็นการปิด AIS Trip “กอดสายหมอกที่พะเนินทุ่งเมืองเพชรบุรี” อย่างสมบูรณ์ครับ ขอสารภาพเลยว่า ตอนแรกที่ผมเห็นราคาค่าทริป 3,500 บาทต่อคน ผมแอบคิดว่าราคาค่อนข้างสูงเลยทีเดียวสำหรับการท่องเที่ยวในจังหวัดราชบุรีและเพชรบุรี เพราะถ้าหากเป็นการวางแผนเดินทางเที่ยวเอง ราคาไม่น่าจะแพงกว่า 2,000 บาท แต่เมื่อผมได้ร่วมกิจกรรมจนจบทริปนี้แล้ว คงต้องเปลี่ยนความคิดในทันที เฉพาะแค่ค่าอาหาร 3 มื้อ ค่าที่พัก 1 คืน มันก็เกินคุ้มกว่าราคา 3,500 บาทแล้วครับ แต่นี่ยังได้รับการดูแลดีๆ จาก AIS และมิตรภาพจากเพื่อนร่วมทริป ได้รับความรู้เรื่องการถ่ายภาพ และยังได้รู้ประวัติของสถานที่ท่องเที่ยวติดตัวกลับมาอีก ถือเป็นของแถมที่ดียิ่ง นับว่า AIS Trip เป็นกิจกรรมดีๆ ที่ทาง AIS มอบให้กับลูกค้าที่คุ้มค่ามากๆ ครับ
ลองอ่านข้อความที่ลูกทริปแต่ละคนเขียนแสดงความรู้สึกต่อทริปนี้ในกลุ่มไลน์ดูนะครับ อาจจะทำให้เพื่อนๆ อยากมีประสบการณ์ดีๆ แบบนี้บ้าง หากเพื่อนคนใดสนใจกิจกรรมแบบนี้ สามารถติดตามข่าวสารได้ทาง http://aistrip.ais.co.th/
ลุงเสื้อเขียว
วันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 เวลา 13.57 น.