พระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศและมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน เคยมีชื่อเสียงในฐานะเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีอำเภอพระนครศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ชาวบ้านโดยทั่วไปนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "กรุงเก่า" หรือ "เมืองกรุงเก่า" (ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย)
ทริปนี้ เจ้าถิ่นคนเมืองอยุธยาเป็นผู้นำทีม พาไหว้พระขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล
พร้อมกับศึกษาประวัติศาสตร์ของวัดในตำนานแห่งประเทศสยาม
"วัดนิเวศธรรมประวัติ"
วัดนิเวศธรรมประวัติตั้งอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามกับพระราชวังบางปะอิน โดยนั่งกระเช้าข้ามแม่น้ำไปเยี่ยมชมพระอุโบสถ ลักษณะของพระอุโบสถของวัดสร้างเลียนแบบโบสถ์คริสต์ โดยภายในประดิษฐาน "พระพุทธนฤมลธรรโมภาส" เป็นพระประธานโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการทรงออกแบบ โดยลักษณะที่ผสมผสานศิลปะแบบประเพณีนิยม ใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมกอทิกเลียนแบบโบสถ์คริสต์
"วัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหาร"
วัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหาร เดิมชื่อ วัดทะเลหญ้า เป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่ใกล้กับเพนียดคลองช้าง สิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิริมงคลสำคัญของวัด คือ ประวัติศาสตร์ของวัดกับรัชกาลที่ 5 มีรูปหล่อเคารพพระองค์ในวิหาร นอกจากนี้ยังมีพระตำหนักของพระองค์เป็นที่เก็บรูปภาพโบราณและพระราชประวัติตั้งแต่ประสูติจนถึงสวรรคต
"วัดหน้าพระเมรุ"
ตั้งอยู่ที่ ริมคลองสระบัวด้านเหนือของคูเมือง (แม่น้ำลพบุรีเก่า) ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าทำลาย และยังคงสภาพที่ดีมาก เพราะพม่าได้ไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่วัดนี้ ในภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูป(พระประธาน) เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสำริดภายนอกฉาบด้วยปูนลงลักปิดทองปางมารวิชัยทรงเครื่องพระมหากษัตราธิราชสมัยกรุงศรีอยุธยา หน้าตักกว้างประมาณ ๔.๔๐ เมตร สูงประมาณ ๖.๐๐ เมตร พระนามว่า “พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ”
พระวิหารหลังเดิม ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ(เหนือพระอุโบสถ) เรียกชื่อกันต่อๆมาแต่โบราณว่า
“วิหารขาว” ปัจจุบันทางวัดได้สร้างสถานที่ต่อเติมออกมาทางด้านทิศตะวันออก ใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญกัมมัฏฐานของพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่มีศรัทธาจากทุกสารทิศ
พระวิหารสรรเพชญ์ (ประชาชนเรียกชื่อว่าพระวิหารคันธารราฐ) เป็นที่ประทับของพระพุทธรูปพระนามว่า “คันธารราฐ” และเรียกชื่อว่า “วิหารเขียน” เพราะมีลายเขียนในพระวิหารและมีชื่อเรียกกันอีกว่า “วิหารน้อย”
"วัดภูเขาทอง"
วัดภูเขาทอง เป็นวัดโบราณในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร มีเจดีย์ใหญ่ที่ชื่อว่า เจดีย์ภูเขาทอง เป็นเจดีย์ที่สูงใหญ่ตั้งอยู่กลางทุ่งนา สามารถเห็นได้แต่ไกล เมื่อปี พ.ศ. 2112 พระเจ้าบุเรงนองแห่งเมืองหงสาวดีได้ยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ จึงได้สร้างพระเจดีย์ใหญ่แบบมอญขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์ที่วัดนี้ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ได้ทำการปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ใหม่ เปลี่ยนรูปจากเจดีย์มอญเป็นรูปเจดีย์ย่อไม้สิบสองที่กำลังนิยมอยู่ในขณะนั้น ส่วนฐานนั้นเป็นศิลปะมอญอยู่
"วัดตูม"
วัดตูม ตั้งอยู่ริมถนนสายประตูชัย ป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยใช้เป็นที่สำหรับลง เครื่องพิชัยสงคราม วัดตูมได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาและได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินหลายครั้ง โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีการทำพิธีลงยันต์และอักขระลงในธงพระครุฑผ่าห์เพื่อพระราชทานเป็นธงไชยเฉลิมพลแก่ทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญภายในวัดตูม คือ "หลวงพ่อทองสุขสัมฤทธิ์" เป็นพระพุทธรูปสำริดทรงเครื่องปางมารวิชัย โดยมีลักษณะพิเศา คือ บนพระเศียรขององค์พระสามารถเปิดออกและมีน้ำไหลซึมออกมาตลอดเวลา เชื่อกันว่าเป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์สามารถรักษาโรคภัยให้หายได้ และผู้มีขอพรมักจะประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะในด้านอาชีพหน้าที่การงาน
"วัดพระศรีสรรเพชญ์"
วัดพระศรีสรรเพชญ์ ตั้งอยู่ในเขตพระราชวังโบราณ เป็นวัดพุทธาวาสไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาเพื่อประกอบพิธีต่างๆ แต่เป็นสถานที่เก็บอัฐิของพระมหากษัตริย์ เปรียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท หรือซื้อบัตรรวม ชาวไทย 40 บาท ชาวต่างชาติ 220 บาท เข้าชมวัดบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์
"วัดมเหยงคณ์"
วัดมเหยงคณ์ เดิมเป็นพระอารามหลวงฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่เคยสำคัญยิ่งมาในอดีตสมัยอยุธยา หลังจากสิ้นกรุงศรีอยุธยาวัดมเหยงคณ์ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดมเหยงคณ์เป็นโบราณสถานของชาติ เขตโบราณสถานได้จัดเป็นสำนักปฏิบัติกรรมฐาน โดยมีประชาชนเข้าไปรับการอบรมเป็นจนนวนมาก ทางวัดมเหยงคณ์ได้จัดให้มีกิจกรรมทางศาสนา
ภายในวัดมเหยงคณ์ มีพระอุโบสถ ตั้งอยู่บนฐานสูง ๒ ชั้นลดหลั่นกัน นับว่าเป็นพระอุโบสถที่ใหญ่ที่สุดในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หลังพระอุโบสถทางทิศตะวันตกพ้นเขตกำแพงแก้ว จะพบพระเจดีย์ฐานช้างล้อมซึ่งเป็นเจดีย์องค์ประธานของวัดมเหยงคณ์ องค์เจดีย์ประธานยอดเจดีย์หักตั้งแต่ใต้บัลลังก์ลงมา ฐานชั้นล่างของพระเจดีย์มีซุ้มพระพุทธรูปจตุรทิศยื่นออกมาเห็นชัดเจน
จ๊ะจ๋า - ตาตีบ
วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560 เวลา 15.59 น.