ก่อนอื่นต้องขอกล่าวสวัสดีทุกคนนะครับ ธรรมดาแล้วเวลาคนส่วนใหญ่พูดถึง “สตูล" จะคิดถึงหลีเป๊ะก่อนเลยเป็นอันดับแรก แต่จริง ๆ แล้วสตูลยังมีอีกหลายอย่างที่หลายคนยังไม่รู้ โดยรีวิวนี้จะพาไปชมสถานที่ท่องเที่ยวที่ถือว่าเป็นที่สุดในประเทศไทย ซึ่งไม่อยากเชื่อว่าจะมีอยู่ถึง 3 ที่เลยทีเดียว ไม่อยากให้เสียเวลามาก ไปดูกันเลยดีกว่าครับว่าเราจะไปที่ไหนกันบ้าง รีวิวนี้จะเน้น ๆ เป็นข้อมูลสำหรับการไปเที่ยวชมในแต่ละสถานที่นะครับ จะมีรหัส GPS ให้สำหรับใครที่มาแล้วอยากลองไปชมอย่างผม สามารถจับ GPS แล้วจับรถมาได้เลยไม่ยากครับ
ข้อแนะนำในการอ่านรีวิวนี้ : รีวิวนี้ค่อนข้างยาวนะครับ สำหรับใครที่ใช้สมาร์ทโฟนในการอ่าน กรุณาหา WiFi ต่อสำหรับอ่านเพราะรูปเยอะพอสมควรเลย รวม ๆ แล้วจากที่ลองเช็คดูประมาณ 40 MB กว่า สำหรับท่านที่ใช้แบบเติมเงิน อาจจะติด FUP ได้ ผมไม่อยากย่อความละเอียดมาก เพื่ออรรถรสในการชมครับ
ถ้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
ชื่อเดิมของถ้ำภูผาเพชร คือ “ถ้ำลอด ถ้ำยาว หรือถ้ำเพชร" เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด มีเนื้อที่ภายในถ้ำกว่า 50 ไร่ เป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และใหญ่ติดอันดับต้น ๆ ของโลก เนื่องจากถ้ำมีความยาว ลักษณะคดเคี้ยว แบ่งเป็นหลายตอน ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย เมื่อกระทบกับแสงไฟ ผนังถ้ำมีประกายแวววาวเหมือนเพชร จึงเป็นที่มาของชื่อถ้ำเพชรก่อน ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเต็มอย่างเป็นทางการว่า “ถ้ำภูผาเพชร" ครับ ถ้ำภูผาเพชร ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอมะนัง 27 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางตลอดสาย เส้นทางเดียวกับทางถ้ำเจ็ดคต (มีป้ายบอกทางตลอดครับ ไปตาม GPS ไม่หลงแน่นอน) พอไปถึงสุดทางจะเจอป้ายใหญ่ ๆ บอกเลยครับว่าถึงทางเข้าถ้ำแล้ว
ถ้ำภูผาเพชร เปิดให้บริการเวลา 08.30 น. – 15.30 น. ของทุกวัน ก่อนจะขึ้นไปด้านบนเพื่อเข้าชมถ้ำ ก็มาเสียค่าบัตรกันซะก่อน ค่าบัตรก็ถูกแสนถูก 30 บาท อันนี้ราคาบุคคลทั่วไปนะครับ ถ้าเด็กนักเรียนถูกกว่านี้อีก รายละเอียดแจกแจงระเอียดยิบว่าแต่ละบาทที่จ่ายไปเอาไปบำรุงส่วนไหนบ้าง มาคิดถึงค่าทัวร์เข้าชมถ้ำเซิ่นด่องที่ใหญ่ที่สุดในโลกของเวียดนามแล้ว ขยาดเลยครับเพราะตกคนละ 3,000 เหรียญ หรือ 100,000 บาท เทียบกันแล้วต่างกันราวฟ้ากับดิน
ทางเดินขึ้นไม่ลำบากนะครับ ทางเจ้าหน้าที่เค้าทำไว้เป็นบันไดทางเดินให้เดินได้สะดวก แต่อาจจะหลายขั้นหน่อย ประมาณ 300 กว่าขั้น จะมีศาลาแวะพักระหว่างทาง ในภาพคือสภาพตอนที่ฝนกำลังพรำเบา ๆ ดีที่เป็นขั้นบันได ค่อย ๆ เดินครับ ไม่ต้องรีบ แป็บเดียวก็ถึง เคยไปบางที่ให้เหยียบตามก้อนหินแทน อันนั้นยอมรับว่าเสียกว่ากันเยอะ ที่นี่จะเจออย่างมาก ก็อาจจะมีน้ำเป็นแอ่ง ต้องเดินเลี่ยงเอาหน่อยเท่านั้นเอง
“ลุงนิล" ผู้บุกเบิกถ้ำภูผาเพชรนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และเป็นผู้ดูแลคณะเราตลอดการเข้าชมภายในถ้ำครับ ลุงนิลใช้ขวานด้ามเล็ก ๆ (สามารถดูได้ที่ปากถ้ำ ลุงแกวางเอาไว้ให้ดู) เปิดปากถ้ำเพื่อเข้าไปถึงด้านใน ก่อนเข้าไปสำรวจถ้ำ กรุณาอ่านและปฏิบัติตามข้อกำหนดของการเข้าชมถ้ำด้วย เช่นการห้ามสูบบุหรี่ การน้ำอาหารเข้าไปทาน หรือแม้กระทั้งการพกพาน้ำหรือเครื่องดื่มเข้าไปในถ้ำเป็นต้น รวมไปถึงการปฏิบัติตัวภายในถ้ำด้วยครับ
ภาพนี้เป็นภาพหลังจากที่เรามุดลอดรูตรงปากถ้ำเข้ามาด้านในแล้ว รูปากถ้ำที่ลุงนิลเปิดทางเข้ามามีขนาดไม่กว้างมากครับ แต่ก็ไม่ได้ยาวมาก แค่ลอดเข้ามาแป็บเดียวก็ถึงภายในถ้ำแล้ว
ลักษณะภายในถ้ำจะเป็นถ้ำที่ค่อนข้างมืด (ที่เห็นแบบนี้เพราะผมยิงแฟลชที่กล้องนะครับ) ก่อนหน้านี้มีไฟส่องสว่างครับ แต่ด้วยความที่ทำให้เกิดอุณหภูมิสูงภายในถ้ำ เดี๋ยวจะกระทบกับสภาพแวดล้อมภายใน เลยต้องปิด แต่เราสามารถเช่าไฟฉายจากด้านล่างก่อนขึ้นมาถึงปากถ้ำได้ครับ แค่ดวงละ 20 บาทเท่านั้น (แนะนำว่าให้เช็คความสว่างก่อนเลยครับ เดี๋ยวจะสว่างได้ไม่ตลอดเส้นทาง) ด้านในจะมีสะพานไม้ให้เดินได้สะดวกครับ
สภาพด้านในเป็นหินงอกหินย้อยเต็มไปหมดครับ รูปร่างแปลกตา แล้วแต่จินตนาการที่คนจะมอง ภายในถ้ำแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ ตามที่จินตนาการ ประมาณ 20 ห้อง
อย่างรูปที่เห็นนี่คล้าย ๆ พญานาค เลยตั้งขื่อว่า ห้องหัวพญานาค เป้นหินย้อยขนาดใหญ่ และในรูปถัดไปคือการกำเนิดหินงอกครับ โดยจะเกิดจากหยดน้ำด้านบนที่หยดลงมาจะทำให้หินปูนค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น จะมีลักษณะแบบนี้ โดยอัตราส่วนการงอกจะงอกประมาณปีละ 1 มิลลิเมตร (น้อยจริง ๆ)
ห้องนี้ชื่อว่า "ห้องม่านเพชร" เป็นหินย้อยขนาดกว้าง มีหินสีที่กระทบกับไฟแล้วดูคล้ายกับผ้าม่านที่มีเพชรประดับประดาเอาไว้ จริง ๆ แล้วภายในค่อนข้างมืดมากนะครับ ต้องอาศัยเวลาพอสมควรกว่าจะได้ภาพนี้มา
ในบางช่วงเราต้องเดินผ่านหินงอกหินย้อยที่พาดกันมาจะเหมือนกับซุ้มประตูให้เราลอดผ่าน เล่าให้ฟังว่า ตอนผมตั้งกล้องถ่ายรูปตรงนี้ตอนรอให้นักท่องเที่ยวท่านอื่นผ่านไปให้หมด มีนักท่องเที่ยวน่าจะเป็นคนมาเลยเซีย ก็มายืนรอคนอื่นถ่ายรูปเสร็จจากจุดหลังจากนี้ไปเหมือนกัน แต่ไม่ยืนเปล่า มืออยู่ไม่สุขไปลูบ ๆ คลำ ๆ แกะหินตรงซุ้มประตู ก็เลยโดนผมร้องเตือนไปทีนึง ใครไปใครมาตรงนี้ขอร้องนะครับ อยากให้ความงามทางธรรมชาติอยู่กับเรานาน ๆ อย่าไปทำอะไรเลย ดูแต่ตาเป็นพอนะ
อยากให้ดูขนาดความกว้างใหญ่ภายในถ้ำครับว่ามันใหญ่มาก เทียบกับทางเดินที่เราใช้เดินก็ได้ บอกไว้ก่อนว่าอยากให้เผื่อเวลาไว้หน่อยนะครับเพราะใช้เวลาพอสมควรเลย
ลุงนิลเล่าว่า จริง ๆ ยังมีจุดที่ยังไม่ได้สำรวจอีกอยู่เหมือนกัน เป็นจุดที่ไม่ได้ทำสะพานทางเดินไปต่อให้ ตอนนี้ต้องทำหน้าที่เป็นมัคกุเทศก์ เลยยังไม่ได้สำรวจต่อที่ผมทึ่งคือมาคิดย้อนดูแล้วกว่าหินงอก หินย้อยเหล่านี้จะมาต่อกันสนิท ต้องใช้เวลากี่แสนกี่ล้านปี แล้วไหนจะความยิ่งใหญ่อลังการของมันอีก บางต้นมองเผิน ๆ แล้วคิดแล้วเหมือนธรรมชาติสร้างมาเพื่อค้ำยันถ้ำเอาไว้ และบางต้นธรรมชาติก็ทำให้รูปร่างสวยไม่เหมือนก้อนหินเลยด้วยซ้ำ เหมือนกับริ้วผ้าที่พาดลงมาจากด้านบน
เดินต่อมาสักพักนึงจะเจอเป็นลานกว้างพอสมควร ตรงนี้จะมีหินงอกรูปร่างสวยแปลกตาอยู่ที่นึง เรียกห้องนี้ว่า ห้องโคมศิลาเพชร ซึ่งยังมีน้ำไหลลงมาจากด้านบน ประกอบกับช่วงที่เรามานี้มีฝนตกพรำ ๆ อยู่จึงทำให้ยังเห็นกระแสน้ำที่ไหลมากระทบกับหินก้อนนี้อยู่พอดี ในบริเวณนี้มีป้ายเตือนไว้ด้วยนะครับ เหมือนเป็นพื้นที่ ๆ อ่อนตัวได้
หลังจากนั้นลุงนิล ก็พาไปดูจุดของหินงอกจุดนึงที่ยังมีน้ำหยดลงมาจากเพดานที่สูงนับสิบเมตรอยู่ ก่อนหน้านี้หินก้อนนี้เป็นหินงอกที่ยังเจริญเติบโตตามธรรมชาติอยู่ แต่ก็มีคนที่มีความเชื่อว่าแท่งหินนี้เป็นเหล็กไหล มาทำลายออกไปซะ จนกลายสภาพเป็นเสาหินที่หักแต่ยังมีหยดน้ำหยดลงมาโดยตลอด คิดแล้วก็เสียดายนะครับ คิดกันไปได้ยังไงน้อ ลุงนิลก็ชื้ให้เห็นจุดที่น้ำที่หยดลงมา สูงจริง ๆ แหล่ะครับ (ผมถ่ายภาพไม่ติด)
หลังจากนั้นลุงนิลก็พาเราเดินต่อครับ ทำเวลาพอสมควรเพราะยังเหลือพื้นที่อีกหลายจุดที่ยังต้องไปดูกันต่อ
ห้องที่เราจะไปดูกันต่อนี่ถือเป็น Hilight ของที่นี่ครับ นั่นก็คือ “ลานแสงมรกต" เป็นจุดเดียวของถ้ำนี้ที่แสงจะส่องมาจากธรรมชาติได้ เป็นลานกว้างที่มีบริเวณรอบ ๆ เป็นสีเขียวของตะไคร่น้ำและมอสขึ้นอยู่โดยรอบ ลุงนิลเล่าว่าตอนที่สำรวจมาถึงในตอนแรก เป็นลานกว้าง ๆ และยังมีหินอยู่อีกหลายก้อน เป็นสีเขียวเต็มบริเวณนี้เลย
จริง ๆ เวลาที่เหมาะจะมาชมที่บริเวณนี้คือประมาณบ่าย 3 โมงครับ แสงจะสาดส่องเข้ามาได้องศาที่ทำให้เกิดความสว่างทั่วไปหมดทั้งลานนี้ ข้อแนะนำและควรปฏิบัติคือ ไม่ควรจะไปทำลายจุดที่เป็นมอสหรือตะไคร่น้ำนะครับ เพราะแค่คุณแต่มันก็อาจจะหายไปได้ และไม่ควรจะปีนขึ้นไปสูงเกินไปในบริเวณเนินปากทางเข้าของแสงเพราะมันอาจจดูเหมือนปีนได้ แต่ก็กลิ้งเป็นลูกขนุนลงมาหลายคนแล้วสำหรับคนที่ไม่เชื่อ
ขอเก็บภาพนักผจญภัยในทริปนี้สักรูปครับ…แน่นอนไม่มีผม (T_T)
หลังจากนั้นเราเดินลึกเข้าไปจากจุดนี้ไปอีกนิดครับ ระหว่างทางลุงนิลชี้ให้ดูหินย้อยที่หยุดโตไปแล้วเพราะมีคนไปจับทั้ง ๆ ที่ยังสามารถโตได้อยู่เพราะยังมีหยดน้ำไหลอยู่ตลอด
สภาพของหินงอก – หินย้อยที่หยุดโต เอามาให้ดูใกล้ ๆ คือตรงที่โดนจับจะกลายเป็นสีดำคล้ำ แค่โดนจับแค่ครั้งเดียวก็คือหยุดโตเลยนะครับขอบอกไว้ก่อน
เดินเข้ามาไม่ไกล แต่ก็ถึงกับไม่เห็นแสงจากภาพนอกลอดเข้ามา ก็จะมาเจอห้องโถงขนาดใหญ่พอสมควร ห้องนี้ชื่อว่า “ห้องพญานาคพัน" แล้วลุงนิลก็ชี้ให้ดูรอบ ๆ บริเวณครับว่าบริเวณโดยรอบจะมีชั้นหินก่อนตัวเป็นแนวยาวในระดับที่เท่ากันโดยตลอดทั่วทั้งห้อง เหมือนพญานาคพันรอบทั้งห้อง น่าจะเกิดปรากฎการณ์ที่น้ำขังและค่อย ๆ ลดระดับลงแต่การลดระดับมันจะนานขนาดไหนไม่รู้ถึงเกิดการก่อตัวแบบนี้
พออยู่สักพักนึง ลุงนิลก็ขอความร่วมมือให้ดับไฟ และก็อยู่เงียบ ๆ กันสักพัก มันจะรู้สึกว่าเราอยู่เพียงคนเดียวท่ามกลางความมืด แม้แต่ระยะห่างของมือเรายังไม่สามารถวัดระยะได้ แม้จะลืมตาก็ตาม ถ้าไม่มีการออกเสียง จะไม่รู้สึกถึงการอยู่ของคนข้าง ๆ ด้วยซ้ำมีสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องเอามาเล่าให้ทุกคนได้อ่าน ในช่วงที่เราออกมาจากห้องพญานาคพันแล้ว ลุงนิลชี้ให้ดูถึงร่องรอยของคนที่ฝ่าฝืนปีนเข้าไปในคอกที่ล้อมหินตรงลานแสงมรกต เพื่อจะแค่เข้าไปถ่ายรูปคู่กับหินใกล้ ๆ (ตรงที่ผมวงไว้นั่นแหล่ะครับ) ห้ามก็ไม่ฟัง ยังเถียงว่ามีการศึกษา (มีการศึกษแต่อ่านป้ายไม่ออก) การที่ทำแบบนี้ตะไคร่, มอสที่มันเกาะกับหินเพราะความชื้นที่สมดุลตรงนี้ มันก็จะค่อย ๆ หาย ค่อย ๆ ตายไป เพราะการกระทำของคนมักง่ายที่ไม่คิดอะไรเกินกว่าความต้องการส่วนตัว ผมในตัวแทนของนักเดินทางท่องเที่ยวทุกคน ขอให้ใครที่เคยทำหรือยังทำอยู่ ถ้าได้อ่านถึงตรงนี้ ขอให้เลิกเถอนะครับ เพื่อส่วนรวม กรุณาเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ อย่ามาเพื่อทำลายแล้วจากไปเลยนะครับ
และก่อนจะออกจากถ้ำ ลุงนิลได้ชี้ให้เห็นอีกจุดนึงที่ดูแล้วเป็นที่แปลกตามาก มันคือหินงอกออกจากหินอีกทีนึง คล้ายกับปะการังในท้องทะเลเลย ไม่ได้เกิดจากการที่น้ำหยดลงมาแล้วกลายเป็นหินงอกเหมือนกับทั่วไปอย่างที่เราเคยเห็น ลุงนิลสันนิษฐานว่ามันเกิดจากแรงดันภายในที่มากพอจนดันหินออกมาจากหลักเดิมที่มีอยู่ ก็อยากให้นักธรณีวิทยาไปลองดูหน่อยก็ดีนะครับ
จากที่เรามาถึงปากถ้ำ จนถึงเวลาที่เราเดินอยู่ในถ้ำ รวมเวลาแล้วประมาณ 3 ชั่วโมงโดยประมาณ อาจจะใช้เวลาไปมาก เพราะกลุ่มของพวกผมที่ไปใช้เวลาเก็บภาพนานพอสมควร แต่บอกเลยว่า อยากกลับไปอีกครับ หลายจุดที่ผมเดินตามเค้าไม่ทันเพราะต้องมัวแต่คอยเก็บภาพ ภาพที่เห็นแต่ละภาพกว่าจะได้ภาพนึงต้องตั้งกล้องไม่ต่ำกว่า 10 วินาที ถึงจะได้ภาพที่เห็นได้ชัดขนาดนี้นะครับ ไหนจะประคองไม่ให้สั่น ไหนจะต้องรอจังหวะให้คนไม่เดินมาชน เพราะทางเดินมีทางเดินเดียวเป็นทางเดินไม้ เดินนิดนึงก็สั่นแล้ว หลาย ๆ ห้องไม่ได้เดินไปดูก็เพราะมัวแต่เก็บภาพนี้แหล่ะครับ สำหรับใครที่ได้มาที่สตูล แนะนำว่าให้เพิ่มโปรแกรมที่จะมาเที่ยวที่นี่เข้าไปในโปรแกรมนะครับ รับรองไม่ผิดหวังจริง ๆ
สันหลังมังกรกลางทะเล ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย
ที่ ๆ ผมจะพาไปดูต่อไปคือ แผ่นดินกลางทะเลหรือทะเลแหวก อย่างที่ใคร ๆ เรียก สำหรับที่นี่เราเรียกว่า “สันหลังมังกร" ครับ เรานั่งรถไปขึ้นเรือที่หมู่บ้านชาวประมง ชื่อหมู่บ้านตันหยงโป (พิกัด GPS ใช้ พิกัดนี้นะครับ : 6.592759, 99.965650) อยู่ใกล้ ๆ กับโรงเรียนบ้านตันหยงโป จริง ๆ หมู่บ้านนี้จากที่หาข้อมูลแล้ว เป็นหมู่บ้านชาวประมงที่เงียบสงบ มีหาดทรายขาวเหมาะแก่การพักผ่อน มีสวนยางขึ้นอยู่โดยรอบ เป็นวิถีชีวิตของคนพื้นที่จริง ๆ
เรามาดูกันดีกว่าว่าสันหลังมังกรที่ว่ามันคืออะไร ถ้าดูจากภาพถ่ายทางอากาศอย่างในรูป เราจะเห็นเป็นรูปหาดยาว ไปตามทะเล อยู่ระหว่างหมู่เกาะ 2 กลุ่ม คืออยู่ระหว่างเกาะหัวมันกับเกาะสาม เป็นสันที่มีความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร โดยทะเลแหวกตรงนี้ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลานะครับ พื้นจะปรากฎขึ้นมาเป็นเวลาประมาณ 7 ชั่วโมงด้วยกัน ซึ่งเวลาขึ้นลง จะขึ้นอยู่กับข้างขึ้น-ข้างแรม
ว่าแล้วก็ลงเรือกันเลยครับ เรือที่นั่งไปเป็นเรือใหญ่ครับ เหมือนในรูปเลย นั่งได้ประมาณ เกือบ ๆ 20 คนได้ ใช้เวลาไม่นานครับ เพราะอยู่ไม่ห่างฝั่งมาก จะบอกว่าระหว่างที่นั่งไปผมได้เห็นโลมาสีชมพูอยู่แว๊บนึงด้วย แต่เก็บภาพไม่ทัน เหมือนจะมาแกล้งให้เห็นเล่น ๆ ซะงั้นแหล่ะ
นั่งเรือไปสักพักนึง ลอยเรือกันอีกหน่อย ก็เริ่มจะเห็นสันหลังมังกรโผล่ขึ้นมาจากทะเลแล้วหล่ะครับ ตามเวลาเป๊ะเลย
บางคนอาจจะคิดว่า มันไม่เห็นมีอะไรเลยก็แค่ทะเลแหวกธรรมดา แต่จะบอกว่าจริง ๆ แล้วความพิเศษของมันไม่ใช่แค่ทะเลแหวกนะครับ ที่เห็นเป็นพื้นที่โผล่มาจากกลางทะเลนี่ไม่ใช่ทรายนะครับ มันมีสภาพเหมือนเปลือกหอยที่แตกละเอียด ๆ ตามที่พี่ไกด์เล่าให้ฟังคือ การจะเกิดสันหลังมังกรขึ้นมาได้ ต้องเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง อย่างนึงคือกระแสน้ำกระแสลม ที่พัดเข้าหากันแล้วพาสิ่งที่ทับถมกันในทะเลมารวมตัวกันอยู่เป็นแนวแบบนี้ และที่สำคัญมันเป็นสันเปลือกหอยที่ยาวมาก มีความกว้างประมาณ 4-5 เมตรตลอดแนว และยิ่งได้ดูภาพถ่ายทางอากาศด้านบนแล้ว เป็นขนาดที่ไม่ธรรมดาเลยนะครับ (เสียดายผมไม่ได้ถ่ายความละเอียดของเปลือกหอยที่บอกมาให้เห็นเกิด accident นิดหน่อยและที่เห็นเหมือนปะการังในรูปไม่ใช่อะไรนะครับ มันคือเศษโฟมที่ลอยมาเกยตื้นตรงนี้พอดีเลยจับมาเป็นวัตถุในฉากซะเลย)
ที่สันหลังมังกรที่นี่เคยได้รับการมาเยือนจากสาวงามในตอนเก็บตัวก่อนเข้าประกวดมาแล้วนะครับ เรามากันคราวนี้ไม่ได้มีระดับนางงามมา แต่ก็สวยไม่แพ้กัน ก็เลยขอแอคท่าถ่ายคล้าย ๆ กันหน่อย อุปกรณ์ที่แนะนำในการมาที่นี่คือ ผ้าคลุมสวย ๆ ที่เอามาโบกสะบัดในระหว่างการถ่ายภาพนะครับ
เราสามารถเดินได้ตลอดเส้นของสันหลังมังกรนี้นะครับ จะมีอยู่แค่ช่วงเดียวที่เป็นช่วงที่ลึกและโค้งหน่อยตอนเดินต้องระวังดี ๆ เดินไม่ดีออกนอกเส้นทางมีสิทธิ์ร่วงได้ ยังดีที่เรามีพี่คนขับเรือเดินเป็นแนวให้ ถ้าถ่ายรูปมุมดี ๆ เหมือนกับเราเดินบนพื้นน้ำได้เลยนะครับ
พอผมเดินถ่ายรูปจนมาถึงอีกฝั่งนึงยังไม่ถึงเกาะอีกเกาะนึง เราก็ต้องกลับกันแล้วหล่ะครับ เพราะเริ่มจะเย็นแล้ว เสียดายที่ช่วงเวลาที่มาสันหลังมังกรไม่ได้โผล่ขึ้นมาตอนกลางวัน เลยมีเวลาเดินกันอยู่แป็บเดียวเอง
และในขณะที่เรากำลังจะกลับ ผมก็มองเห็นหมู่เกาะขนาดใหญ่ดูคุ้น ๆ ตามากครับ พอเห็นโครงเสาด้านบนเกาะ ก็นึกออกครับว่า ที่เห็นนั้นคือ เกาะลังกาวี ที่เพิ่งจะไปมานี่เอง เรียกได้ว่าใกล้มาก ๆ ครับ
พอเรือของเราใกล้จะถึงฝั่ง ผมก็สังเกตเห็นได้ว่ามีทะเลหมอกเกิดขึ้นในแนวป่าใกล้ ๆ กับชายฝั่งที่กลับ เรียกได้ว่านี่คือทะเลหมอกของจริง เพราะมีทั้งหมอกทั้งทะเลเลย
ถ้ำธารลอดน้ำเค็ม ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย
สถานที่ท่องเที่ยวต่อไปที่จะขอนำเสนอ คือการไปลอดถ้ำธารลอดน้ำเค็ม ที่ได้ค้นพบฟอสซิลฟันกรามของช้างสเตโกดอนช้างที่มีชีวิตอยู่ในช่วงดึกดำบรรพ์ นานกว่าช้างแมมมอธ ที่ทุก ๆ คนรู้จักกันดีก่อนที่เราจะไปลอดถ้ำกันขอเกริ่นในส่วนของ “พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า" ที่มีประวัติความเป็นมาและเป็นที่เก็บฟอสซิลกระดูกรามของช้างสเตโกดอนที่ถูกค้นพบภายในถ้ำ นอกจากนั้นยังมีเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับช้างในประเทศไทย และประวัติศาสตร์ของอ. ทุ่งหว้านี้ด้วย
รูปเต็ม ๆ ของฟันกรามช้างดึกดำบรรพ์ ช้าสเตโกดอน ฟันกรามนี้ การค้นพบฟอสซิลชิ้นนี้เกิดจากการที่ มีชาวบ้านไปหากุ้งก้ามกรามในถ้ำ แล้วเจอจนเกิดการสำรวจถ้ำนี้ และทำให้เจอฟอสซิลอีกมากมาย บางคนอาจจะไม่รู้ว่าช้างสเตโกดอนมันเก่าแก่ขนาดไหน ผมสรุปง่าย ๆ โดยการเทียบกับช้างแมมมอธว่า ช้างแมมมอธเอง อาศัยอยู่ในยุคน้ำแข็งราว 20,000 ปีก่อน แต่ช้างสเตโกดอนเป็นช้างดึกดำบรรพ์ที่มีอายุเก่าแก่กว่าช้างแมมมอธ อายุอยู่ในสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene) หรือประมาณ 1.8-0.01 ล้านปีก่อน เรียกได้ว่านานกว่าเยอะมากเลยนะครับ
จากพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ ไปที่ถ้ำเลสเตโกดอนใช้เวลาไม่นานครับประมาณ 10 นาทีเอง เราก็มาถึงปากถ้ำแล้ว มีรูปปั้นจำลองช้างสเตโกดอนคอยรอต้อนรับเราอยู่ครับ จริง ๆ แล้ว ถ้ำเล สเตโกดอน เดิมชื่อถ้ำวังกล้วย เป็นถ้ำที่อยู่ติดทะเล และมีน้ำทะเลท่วมขังตามการขึ้นลงของน้ำทะเล จึงเรียกว่าถ้ำเล มีความยาวกว่า 4 กิโลเมตร
วันนี้น้ำค่อนข้างเยอะครับ แอบเสียวนิดนึงเพราะแทบจะไปแต่ตัวกับกล้องเท่านั้นเอง (ตกน้ำไปนี่เศร้าแน่ ๆ) แต่ทางเจ้าหน้าที่เค้าขัดฝีพายมาให้ครับ ก่อนเข้าไปในถ้ำเจ้าหน้าที่ก็แจกเสื้อชูชีพกับหมวกให้ใส่เป็นเครื่องป้องกันครับ ถ้ามีของสำคัญอะไรก็ให้เอาใส่ถุงกันน้ำที่มีให้ หรือจะติดเอามาเองด้วยก็ไม่มีปัญหา
พอทุกคนพร้อมก็ล่องเรือแคนูเข้าไปกันเลยครับ ลำนึงจะนั่งได้ 3 คนรวมฝีพาย น้ำข้างในไม่แรงครับ ไหลเอื่อย ๆ ระดับน้ำวันนี้ไม่ตื้นและก็ไม่สูงเกินไปครับ
เข้ามาด้านในได้สักพักก็เริ่มเสียวสำหรับผมซะแล้วครับ เพราะมีช่วงนึงที่เหมือนร่องน้ำเล็ก ๆ ถ้าผมตัวเปล่าไม่ได้ติกล้องมาก็คงไม่เป็นไรสามารถนั่งไปกับเรือเลยก็ได้ แต่ก็ไม่อยากพลาดครับ เลยขอขึ้นมาก่อนแล้วค่อยลงอีกที (จริง ๆ ฝากแค่กล้องก็ได้นะ แต่เค้าให้ขึ้นมาก็ขึ้นแหล่ะ) มีช่วงหวาดเสียวแบบนี้อยู่ช่วงเดียวแหล่ะ ที่เหลือก็ไปสบาย ๆ แล้วหล่ะครับ เพราะจริง ๆ แล้วระดับน้ำไม่สูงนะครับ ถ้าลงเดินในตอนนี้ก็คงจะระดับเอว ธรรมดาแล้วน้ำจะน้อยกว่านี้ ลงเดินระดับหน้าแข้งเท่านั้นเอง แต่ก็เดินลำบากอยู่เพราะมันเป็นเหมือนดินเลน
หลังจากนั้นเราก็นั่งกันไปต่อครับ ด้านในเป็นถ้ำขนาดใหญ่เพดานถ้ำค่อนข้างสูง ไม่จำเป็นต้องก้มหัวหรือต้องนอนราบเหมือนถ้ำลอดหลาย ๆ ที่ ที่เคยเห็นกัน
การชมความงามภายในถ้ำแล้วแต่จินตนาการของแต่ละคนนะครับ อย่างเช่นรูปที่ผมเอามาให้ดูเป็นตัวอย่างนี้แล้วกันนะครับ เพราะตอนแรกที่ถ่ายมาก็ยังไม่คิดอะไรมาก แต่พอมาดูดี ๆ แล้วคล้าย ๆ รูปหุบเขากลับหัวอยู่เหมือนกัน
หลังจากนี้ขอให้ภาพของหินย้อยภายในถ้ำเป็นตัวเล่าเรื่องแทนแล้วกันนะครับ และจะบอกว่าเป็นแค่ส่วนนึงที่ผมพอจะเก็บภาพมาฝากได้เท่านั้นครับ
เราล่องเรือกันนานพอสมควรเลยครับ ระหว่างทางเจ้าหน้าที่ก็ชี้ให้รูปทรงของหินเป็นระยะ ๆ พอมาถึงจุดนึงที่เห็นค้างคาวเกาะกันอยู่ตามผนัง ก็ใกล้ถึงทางออกแล้วหล่ะครับ
ที่ปลายทางออกที่จะออกไปสู่ป่าชายเลนด้านนอกที่จะออกสู่ทะเล บริเวณปากถ้ำจะมีลักษณะพิเศษตรงจะเหมือนกับรูปหัวใจ จนเป็นคำนิยามของถ้ำนี้เลยว่า “ตามหาหัวใจที่ปลายอุโมงค์" เสียดายที่ตอนที่ผมไปน้ำเยอะไปหน่อย เลยมองดูลำบากนิดนึง
หลังจากออกมาจากถ้ำแล้ว ก็นั่งเรือแคนูต่ออีกนิดนึงครับเพื่อไปต่อเรือใหญ่ ไปขึ้นรถที่ท่าเรือกัน ถือเป็นการจบทริปการสำรวจถ้ำเลสเตโกดอนครับ
จริง ๆ แล้วขอบอกก่อนเลยว่า ผมเป็นโรคที่ไม่ถูกกับถ้ำลอด เพราะมันรู้สึกอึดอัด กลัวว่าจะติดอยู่ในถ้ำไม่ได้ออกมา (ออกแนวโรคจิตนิด ๆ ) เป็นการเข้าถ้ำลอดครั้งแรกเลยก็ว่าได้ แต่ด้วยหน้าที่เลยต้องลองกันสักครั้ง แล้วก็ไม่ผิดหวังคุ้มจริง ๆ ครับก่อนจากกัน ก็มีของฝากอย่างนึงที่ใครมาสตูลแล้วไม่ควรจะพลาดนะครับ นั่นก็คือ “ชาชัก" ที่หอมหวาน พร้อมกับโรตีนุ่ม ๆ อร่อย ๆ มันทำให้ผมต้องมาชิมตลอดที่อยู่ที่สตูลนี้เลย ลีลาการชงชาด้านล่างนี่ แสดงเป็นพิเศษนะครับ ธรรมดาพี่เค้าจะชงอยู่ด้านหลัง Counter
โรตีและชาชัก
โรตีกระเบื้อง โรตีแบบพิเศษขนาดใหญ่ และกรอบทั่วทั้งแผ่น
สำหรับใครที่อยากมาลองลิ้มชิมรสโรตีกับชาชักร้านนี้ ชื่อร้าน “ขอบคุณสตูล" พิกัด GPS ร้านนี้ 6.623056, 100.073333 นะครับ หาไม่ยากร้านตั้งอยู่ตรงถนน ปานชูรำลึก อยู่ตรงหัวมุมพอดีเลยยาวไปหน่อยนะครับ รีวิวนี้ แต่ผมไม่อยากให้มีอะไรขาดตกบกพร่องไป เลยพยายามใส่ข้อมูลที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับเพื่อน ๆ ครับ ถือว่าประสบการณ์ท่องเที่ยวแดนใต้ครั้งนี้ของผมประทับใจมาก ๆ และเสียดายที่ยังมีอีกหลายจุดครับที่ไม่ได้ไป
สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณผู้มีอุปการะคุณทั้งหลายที่ทำให้เกิดทริปนี้ขึ้นนะครับ ไม่ว่าจะเป็น
– การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กองตลาดภาคใต้ เค้ามีเพจด้วยนะ เข้าไปหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงที่พักดี ๆ กันได้ที่
https://www.facebook.com/letsgosouththailand
– การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงาน ตรัง (ตรัง,สตูล) ที่ไปร่วมลุยกับพวกเราด้วย ถ้าใครอยากจะได้ข้อมูลเพื่อไปเที่ยวสามารถติดต่อได้ที่
http://thai.tourismthailand.org/ข้อมูลจังหวัด/ตรัง/ศูนย์ข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว
– ท่านนายก ณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า ที่ให้การต้อนรับและให้ข้อมูลเกี่ยวกับถ้ำเลสเตโกดอนอย่างเต็มที่
– พี่ ๆ เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ให้การต้อนรับและพวกเราเป็นอย่างดี
– และที่ขาดไม่ได้ก็คือ สายการบินนกแอร์ ที่พาพวกเราไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัย
ขอบคุณทุกคนที่ติดตามอ่านมาโดยตลอดนะครับ สำหรับใครที่มีข้อคิดเห็นหรืออยากสอบถามอะไรตรงไหน สามารถถามมาได้เลยนะครับ หรือสามารถติดตามการท่องเที่ยวของผมกันได้ที่แฟนเพจของผมที่
https://www.facebook.com/naisoop
พบกันอีกทีในรีวิวหน้านะครับ
จูงมือกันเที่ยว by NaiSoop
วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เวลา 07.51 น.