ภูผา ผืนนา ป่าล้อม ย้อมคราม คือ คำนิยาม ของ ชุมชนบ้านหนองส่าน จ.สกลนคร


ถ้าพูดถึง จังหวัดสกลนคร แล้ว ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ของผม ที่ได้ไปเยือนครับ ซึ่งแค่ครั้งแรกก็ทำให้รู้สึกติดใจเสน่ห์ของวัฒนธรรมอีสานแล้ว และ ครั้งนี้ก็ยิ่งทำให้รู้สึกเข้าถึงมากขึ้นไปอีก โดยผมได้ไปเที่ยวที่ ชุมชนท่องเที่ยวบ้านหนองส่าน ซึ่งนับว่าเป็นประสบการณ์ดีๆ อีกครั้งที่ได้มาสัมผัสด้วยตัวของตัวเองครับ

ทริปนี้.. ผมได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปพร้อมกับ คณะเดินทาง ภายใต้โครงการ “ตามรอยศาสตร์พระราชา” ของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และสืบสานพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการน้อมนำหลัก เข้าใจ เข้าถึง และ พัฒนา เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวของไทย และ ชุมชนบ้านหนองส่าน จ.สกลนคร ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องของโครงการนี้ด้วย ซึ่งเรื่องราวของชุมชนแห่งนี้จะเป็นเช่นไรนั้น มาติดตามชมกันได้เลยครับ!


ปล. ถ้าสนใจในการท่องเที่ยวชุมชน สามารถติดต่อได้ที่.. "ชุมชนท่องเที่ยวบ้านหนองส่าน จ.สกลนคร" (https://www.facebook.com/bannongsan)


มาทำความรู้จัก กับ “ชุมชนบ้านหนองส่าน”


ชุมชนบ้านหนองส่าน เป็นชุมชนเล็กๆ อยู่ในเขต ต.โคกภู อ.ภูพาน จ.สกลนคร ซึ่งมีพื้นที่ผืนนาอันกว้างใหญ่ และโอบล้อมด้วยผืนป่า คนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตร ทำไร่ ทำนา มีวิถีชุมชนอันเรียบง่ายที่ถือว่าเป็นเสน่ห์ของที่นี่ อีกทั้งชุมชนแห่งนี้ ยังเป็นแหล่ง “ย้อมคราม” ที่มีชื่อเสียงอีกด้วย

การมาเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยวบ้านหนองส่าน เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งเหมาะที่จะมาเรียนรู้การทำเกษตรกรรมแบบผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชนที่ต้องลองมาสัมผัสสักครั้งครับ



ออกเดินทาง!


เริ่มต้นออกเดินทางจาก สนามบินดอนเมือง มุ่งหน้าสู่ จังหวัดสกลนคร บินไปแบบสบายๆ ด้วย สายการบินแอร์เอเชีย ซึ่งใช้เวลาในการเดินทาง ประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ก็เดินทางมาถึง สนามบินสกลนคร

เดินทางมาถึง จังหวัดสกลนคร ในช่วงเช้า ก็ต้องหาอาหารเช้าทานกัน เพื่อเพิ่มพลังกันเสียก่อน โดยมากันที่ ร้านเลิศรสไข่กระทะ ร้านอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดสกลนคร และเมนูที่ไม่ลองไม่ได้ ก็คือ ไข่กระทะ

ตามด้วย กาแฟร้อน เหมาะมากสำหรับจิบในยามเช้าเช่นนี้

ก่อนที่จะออกเดินทางไปยัง ชุมชนบ้านหนองส่าน เราได้แวะสักการะ พระธาตุเชิงชุม เพื่อเป็นสิริมงคลกันเสียก่อน




พระธาตุเชิงชุม เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ฐานรูปสี่เหลี่ยม ส่วนบนเป็นทรงบัวเหลี่ยม มีความสูงประมาณ 24 เมตร ไม่มีลวดลายประดับ ยอดฉัตรทองคำเหนือองค์พระธาตุเชิงชุมทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ มีซุ้มประตู 4 ด้าน นับเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองสกลนครมาแต่โบราณ ใครมาเยือนเมืองสกลนคร ต้องแวะมาไหว้พระธาตุสักครั้ง..



ชุมชนท่องเที่ยวบ้านหนองส่าน จ.สกลนคร


จากตัวเมืองออกมาราว 40 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางมาเรื่อยๆ ประมาณ 1 ชั่วโมงก็มาถึง ชุมชนบ้านหนองส่าน ซึ่งเราได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากแม่ๆ และ คนในชุมชน ที่แสดงออกถึงความตื่นเต้นที่มีผู้มาเยือนถิ่นของตัวเอง

น้ำสมุนไพรเย็นๆ ในแก้วกระบอกไม้ไผ่ ถือเป็น Welcome Drink เก๋ๆ และ สร้างความสดชื่นเป็นอย่างดี ในสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนในวันนี้

บ้านเรือนของคนในชุมชน ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านไม้ยกสูง มีใต้ถุนบ้านเปิดโล่ง ซึ่งเราก็ต้องมาพักค้าง 1 คืน ในบ้านหลังที่เปิดให้เข้าพัก โดยจะพักร่วมกับเจ้าของบ้านแนวโฮมสเตย์ กินง่าย อยู่ง่าย สบายๆ ได้ใกล้ชิดกับคนในชุมชน


ขึ้น “รถอีแต๊ก” ออกไปชมท้องนา


หลังจากที่นำสัมภาระขึ้นไปเก็บเรียบร้อยแล้ว ก็เปลี่ยนเสื้อผ้าในชุดที่สวมใส่สบายๆ พอให้เคลื่อนกายขึ้นลง รถอีแต๊ก ได้สะดวกหน่อย ซึ่งโปรแกรมต่อไป ก็จะเป็นการเดินทางออกไปเที่ยวรอบๆ ชุมชน ด้วย รถอีแต๊ก ที่จอดอยู่นี้ พร้อมผู้ขับขี่ที่เป็นคนในชุมชนเอง โดยจะพาเราไปแวะชมตามจุดสำคัญต่างๆ

รถอีแต๊ก ค่อยๆ เคลื่อนตัวไปตามถนนลูกรังเส้นเล็กๆ ที่สองข้างทางเป็นผืนนาอันเขียวขจี

สภาพอากาศวันนี้ค่อนข้างร้อน และแดดแรงไปสักนิด ถ้าได้ขึ้น รถอีแต๊ก แบบนี้ ในบรรยากาศช่วงเย็นๆ พระอาทิตย์ตกดินอะไรแบบนี้คงดีไม่น้อยเลยล่ะ


โสมนัสฟาร์ม ชมการทำการเกษตรแบบผสมผสาน


รถอีแต๊ก มาแวะจอดที่ โสมนัสฟาร์ม ซึ่งอยู่ห่างจากตัวชุมชนออกมาไม่ไกล เราจะลงมาชม การทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าว มีทั้งพื้นที่นาข้าว และ พื้นที่ไว้สำหรับปลูกพืชผักสวนครัวหลากหลายชนิด

และ อาหารมื้อเที่ยง เราก็จะทานกันที่นี่ โดยใช้วัตถุดิบในการประกอบอาหารในพื้นที่นี้เอง จึงให้ความรู้สึกที่ว่า.. ไม่จำเป็นต้องไปซื้อให้เปลืองตังค์เลย อย่างเช่น ปลา ก็หาได้ตามแหล่งน้ำ กลายมาเป็นเมนู ปลาย่างเกลือ ที่น่ากินแบบนี้

แม่ๆ และ คนในชุมชน ต่างช่วยกันทำอาหารเมนูต่างๆ ให้ผู้มาเยือนได้ลอง อาหารทุกอย่างทำแบบง่ายๆ แม้แต่ไฟก็ไม่ได้ใช้ไฟจากเตาแก๊ส

ปลาย่างเกลือ ส่งกลิ่นหอมโชยไปทั่วบริเวณ

นอกจากนี้ ผู้มาเยือนอย่างเรา ก็มีโอกาสได้ลองลงมือทำเมนูต่างๆ ด้วยตัวเองอีกด้วยนะ

และ อาหารทุกเมนู ก็เสร็จเรียบร้อยด้วยความร่วมมือ ร่วมใจของทุกคน ซึ่งหน้าตาอาหารก็ดูน่าอร่อยดี เป็นอาหารที่มีประโยชน์ และปลอดสารพิษอย่างแน่นอน

ร่วมวงรับประทานอาหารกันอย่างเอร็ดอร่อย พร้อมมีออฟชั่นเสริมเพิ่มเติมมาด้วย




เดินศึกษาธรรมชาติ แบบเบาๆ ไปพักแช่เท้าที่ น้ำตกวังป่าเจียง


ช่วงบ่าย เราออกเดินทางกันต่อ ด้วย รถอีแต๊ก เช่นเคย ไปตามถนนลูกรังเส้นเล็กๆ แต่ ขรุขระ เด้งซ้าย เด้งขวา ให้ความรู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาเลย

เมื่อสิ้นสุดทางที่ รถอีแต๊ก จะเข้าไปได้ ก็ใช้วิธีเดินเท้าไปกันต่อครับ โดยเดินตามกันเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบลัดเลาะไปตามคันนา

ไม่นานจะเริ่มเข้าสู่พื้นที่ของป่า ที่รู้สึกร่มรื่นมากขึ้น มีต้นไม้พอช่วยบดบังแสงแดดได้บ้าง

บรรยากาศสองข้างทาง ก็จะพบกับบรรดาสัตว์ตัวเล็กๆ

ระหว่างทางก็จะพบกับหินรูปทรงประหลาดๆ อย่างนี้ด้วย

เดินมาได้สักพักก็มาถึงจุดหมาย ที่ น้ำตกวังป่าเจียง แต่เสียดายที่มาในช่วงหน้าแล้ง น้ำจึงมีน้อยมากๆ แต่ก็ยังมีพอให้นั่งพักหลบร้อน แช่เท้าเล่นๆ ก้พอช่วยให้ผ่อนคลายได้อยู่ครับ

เมื่อได้เวลาอันพอสมควร เราก็พากันเดินเรียงแถวกลับเข้าสู่หมู่บ้านครับ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เดิน ก็ได้พบเห็นกับท้องนาและ ป่าที่อยู่โดยรอบเขียวขจีมาก ถึงแม้อากาศจะร้อน แดดจะแรง แต่..ก็สนุกสนานดี

จากภาพที่คิดตอนแรกว่า ที่นี่.. จะต้องเป็นพื้นที่แห้งแล้ง.. กลับไม่ใช่เลย ที่นี่ดูอุดมสมบูรณ์ดีมากเลยครับ สมกับคำนิยาม “ภูผา ผืนนา ป่าล้อม ย้อมคราม” ..จริงๆ ครับ ซึ่งตอนนี้ได้พบเห็นหมดแล้ว ทั้ง ภูผา ผืนนา ป่าล้อม ยังคงเหลือ “ย้อมคราม” สินะ!



พิธีบายศรีสู่ขวัญ รับขวัญผู้มาเยือน


ช่วงเย็นมีพิธีที่สำคัญ ที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น โดยมีแม่ๆ ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน มาทำ พิธีบายศรีสู่ขวัญ ให้กับผู้มาเยือนอย่างเรา ซึ่ง การบายศรีสู่ขวัญ ถือเป็นประเพณีที่สืบทอดมาอย่างยาวนานของชาวอีสาน เชื่อว่าเป็นการเรียก “ขวัญ” ให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เป็นการช่วยเสริมสร้างกำลังใจที่ดี

หลังจากเสร็จ พิธีบายศรีสู่ขวัญ แล้ว ก็ร่วมรับประทานอาหารเย็นร่วมกันกับคนในชุมชน ซึ่งเป็นบรรยากาศที่เรียบง่าย แต่แลดูอบอุ่นมาก

วงสนทนาหลังอาหารเย็นยังคงดำเนินต่อไป เรื่องราวต่างๆ จากคนในชุมชนถูกถ่ายทอดมาให้กับผู้มาเยือนได้รับฟัง ซึ่งก็ถือว่าเป็นความรู้ดีๆ ที่ได้รับ ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปพักผ่อนในค่ำคืนนี้ครับ

วงสนทนาหลังอาหารเย็นยังคงดำเนินต่อไป เรื่องราวต่างๆ จากคนในชุมชนถูกถ่ายทอดมาให้กับผู้มาเยือนได้รับฟัง ซึ่งก็ถือว่าเป็นความรู้ดีๆ ที่ได้รับ ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปพักผ่อนในค่ำคืนนี้ครับ



เช้าวันใหม่ ใน.. "ชุมชนบ้านหนองส่าน"


ตื่นเช้ากันหน่อยวันนี้.. เพื่อไปรอใส่บาตรพระ ที่หน้าบ้าน

ยามเช้า แบบนี้ไม่มีอะไรดีกว่า กาแฟร้อนๆ สักแก้ว



Workshop การทำขันหมากเบ็ง ไปไหว้พระ


ในช่วงเช้าของวันนี้ มีการลองทำ ขันหมากเบ็ง จากวัสดุธรรมชาติที่มีในชุมชน โดยสอนวิธีทำอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอนจากคนในชุมชน เริ่มจากการพับใบตอง การจัดรูปทรง การตกแต่งด้วยดอกไม้ จนเสร็จเรียบร้อย เป็นผลงานของตัวเอง

จากนั้น ก็นำ ขันหมากเบ็ง ที่เสร็จเรียบร้อย เข้าไปไหว้พระ ในวัดที่อยู่ในชุมชนนี้เอง




Workshop การทำผ้ามัดย้อมคราม



ดูเหมือนว่า.. กิจกรรมทำ ผ้ามัดย้อมคราม หลายๆ คนจะดูสนุกสนานที่สุด เพราะนอกจากจะได้ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว ยังได้ลองลงมือสร้างสรรค์ผลงานด้วยมือของตัวเองอีกด้วย

สำหรับวิธีการทำผ้ามัดย้อมคราม จะเริ่มจาก การนำ ต้นคราม มาผ่านกระบวนการให้เป็น “ครามเปียก” และผ่านการ “ก่อหม้อ” ซึ่งจุดนี้ เป็นขั้นตอนที่ละเอียดซับซ้อนน่าดู จนเสร็จสิ้นมาเป็น หม้อคราม พร้อมสำหรับย้อมผ้าได้

การมัดย้อมผ้าคราม จะนำผ้าสีขาว ที่เป็นเสื้อ ผ้าพันคอ หรือ ผ้าอื่นๆ มา พับ รัด มัด ด้วยเชือก หรือ ยางรัด ตามความต้องการ

เมื่อมัดผ้าได้ตามต้องการแล้ว.. อาจจะซักน้ำเปล่าก่อนสักนิด..

นำผ้าไปขยำลงในหม้อคราม ให้เม็ดสีแทรกซึมลงเนื้อผ้า อาจใช้เวลาราว 10-15 นาที

ขยำเรื่อยๆ จนได้เฉดสีเข้มตามที่ต้องการ ก็บิดให้หมาด และนำขึ้นมา

เมื่อแกะสิ่งที่รัดผ้าเอาไว้ออก ก็จะได้ลวดลายผ้าที่เกินจะคาดเดา เป็นลวดลายฝีมือของตัวเองที่มีหนึ่งเดียวในโลก ไม่ซ้ำใคร!!

อาจจะซักน้ำเปล่าก่อนสักหน่อย แล้ว.. สุดท้ายก็เอาไปผึ่งให้แห้ง ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยครับ

ระหว่างที่รอให้ผ้ามัดย้อมแห้ง ก็ จัดการ อาหารมื้อเที่ยง ครับ ซึ่งมื้อนี้ท่าทางจะ แซ่บหลาย เลยแหละ!

หลังจากทานอาหารกลางวันเสร็จเรียบร้อย ก็ได้เวลาที่เราจะต้องอำลา ชุมชนหนองส่าน แห่งนี้แล้ว ซึ่งเราได้ไหว้ และกล่าวลา แม่ๆ ผู้เฒ่าผู้แก่ และ คนในชุมชน ก่อนที่เก็บสัมภาระขึ้นรถ เพื่อออกเดินทางกันต่อไปครับ..



เขื่อนน้ำพุง อ.ภูพาน จ.สกลนคร


เราได้มาแวะมากันที่ “เขื่อนน้ำพุง” ซึ่งถือว่า.. เป็นเขื่อนที่มีความสำคัญแห่งหนึ่ง อยู่เลยพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ไปประมาณ 30 กิโลเมตร ลักษณะเขื่อนเป็นเขื่อนแบบหินทิ้ง แห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความยาว 1,720 เมตร สูง 40 เมตร ผลิตกระแสไฟฟ้าแจกจ่ายให้ประชาชนในเขตจังหวัดสกลนคร และ นครพนม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงทำพิธีเปิดเขื่อนน้ำพุงเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508

เขื่อนน้ำพุง มีประโยชน์ในการช่วยเสริมระบบการผลิต และการส่งกระแสไฟฟ้าในแถบภูมิภาคนี้ ให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น และนอกจากนี้ ทัศนียภาพรอบบริเวณเขื่อน ก็โอบล้อมไปด้วยขุนเขาที่ให้บรรยากาศร่มรื่น จึงเป็นสถานที่ที่คนนิยมมาพักผ่อนหย่อนใจ


3 ดำ มหัศจรรย์ ..แห่ง ภูพาน


ก่อนจะเดินทางกลับ เรามีโปรแกรมสุดท้ายส่งท้ายทริป ที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งถือกำเนิดขึ้น เพื่อเป็นแบบจำลองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเป็นพื้นที่ส่วนย่อที่สอดคคล้องกับการแก้ปัญหา และศึกษาวิธีการพัฒนาของภูมิภาคนี้ได้อย่างเหมาะสม

โดยจะมาแวะชม 3 ดำ มหัศจรรย์ แห่งภูพาน ที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แห่งนี้



3 ดำ มหัศจรรย์ ..แห่ง ภูพาน ได้แก่


  • วัวดำ (โคเนื้อทาจิมะภูพาน) เป็นสายพันธุ์ที่ให้เนื้อมีคุณภาพสูง เนื้อมีความนุ่ม ไขมันแทรกตัวดี
  • ไก่ดำ (ไก่ดำภูพาน) เป็นไก่พันธุ์ดี ทนโรค ทนต่อสภาพแวดล้อม เลี้ยงง่าย กินเก่ง โตเร็ว สามารถลดต้นทุนการผลิต และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร
  • หมูดำ (สุกรภูพาน) เป็นหมูที่เลี้ยงง่าย กินง่าย ใช้อาหารตามธรรมชาติ ที่มีต้นทุนไม่สูง

นอกจากนี้ ก็ยังได้ชมการทำการเกษตรอื่นๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ศูนย์ มาคอยให้ความรู้ต่างๆ อีกด้วยครับ



เดินทางกลับ!


และแล้ว.. ก็ถึงเวลาที่ต้องเดินทางกลับแล้วครับ ซึ่งมาเยือน “สกลนคร” ในทริปนี้ ก็ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างเลย โดยเฉพาะ การทำผ้ามัดย้อมคราม ที่ได้ลองลงมือทำจริง และ ได้ผลงานที่ทำนั้นเป็นที่ระลึกกลับบ้านไปด้วย

นอกจาก ประสบการณ์ และความรู้ดีๆ ที่ได้รับ จากการไปเยือน ชุมชนบ้านหนองส่าน จ.สกลนคร แล้ว.. ก็มีสิ่งที่ประทับใจ ที่ไม่พูดถึง ไม่ได้เลย นั่น..ก็คือ น้ำใจ และ มิตรไมตรีที่ดีของคนในชุมชน ที่คอยให้ความช่วยเหลือ และ แนะนำสิ่งต่างๆ ราวกับเป็นญาติพี่น้อง นับเป็นอีกหนึ่งชุมชนท่องเที่ยว ที่น่าสนใจ และ อยากแนะนำให้ลองไปเที่ยวกันครับ!




การท่องเที่ยวเชิงไฉไล | CHAILAIBACKPACKER

Fanpage : https://www.facebook.com/chailaibackpacker

Instagram : CHAILAIBACKPACKER

Twitter : @chailaibackpack / goo.gl/VIBXC9

E-mail : [email protected]

Website : www.chailaibackpacker.com

ความคิดเห็น