สวัสดีผู้อ่านทุกท่านนะครับ การเดินทางของผมในครั้งนี้เป็นจังหวัดลพบุรี เมืองแห่งลิงนั่นเองครับ แต่จริงๆแล้ว ลพบุรีมีสิ่งที่น่าสนใจมากเลยนะครับ และที่เลือกมาเที่ยวเมืองลพบุรีในครั้งนี้เพราะเป็นทริปตามคำขอของ คุณป้า คุณน้า คุณอา จากทริปก่อนนั้นเอง สำหรับการเดินทางในครั้งนี้คือการโดยสารจากรถไฟครับ เนื่องจากสะดวกและปลอดภัยครับ

ผมเดินทางออกจาก สถานีรถไฟบางซื่อครับ รถไฟ เร็ว ขบวนนี้ออกจาก สถานีหัวลำโพง 07.00 น. จะวิ่งผ่าน สถานีบางซื่อ 07.23 และจะถึง สถานีลพบุรี ประมาณ 09.42 ครั้งนี้ถือว่าโชคดีครับ รถไฟ ไม่สายมากนัก ราคาแค่ 50 บาทเท่านั้นเองครับ

หลังจากได้ตั๋วแบบไม่ระบุที่นั่ง ก็ขอเลือกนั่งริมหน้าต่างนะครับ ชมบรรยากาศไปเรื่อยๆ เพลินดีครับ

ช่วงเช้าวันศุกร์นี้ คนไม่เยอะ โชคดีจริงๆครับ

หลังจากใช้เวลา 2 ชั่วโมงนิดๆ เพราะรถไฟ สายอีกหน่อยครับ ก็มาถึง สถานีรถไฟ ลพบุรีกันแล้วครับ

ถ่ายบริเวณหน้าสถานีรถไฟลพบุรีกันนิดหน่อยครับ


หลังจากมาถึงแล้วด้านข้างของสถานีรถไฟ ผมก็มาสะดุดตากับวัดโบราณ ชื่อว่า วัดบันไดหิน

- วัดบันไดหิน -

สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อีกทั้งโบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่พบภายในเขตโบราณสถานแห่งนี้ก็มักจัดอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ดังนั้นโบราณสถานวัดบันไดหินจึงอาจสร้างขึ้นช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างปีพ.ศ.2209 – 2231 หรือราวพุทธศตวรรษที่ 23 สิ่งก่อสร้างภายในวัดเหลือเพียงวิหารซึ่งมีกำแพงทั้งสองด้าน มีประตูหน้าต่างแหลมๆ คล้ายกลีบบัว ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ทริปวัยรุ่นนะครับ จัดว่ามาครบทุกรุ่น โพสท่าก็รู้แล้วครับ

เข้าไปดูด้านในกันสักนิดนะครับ

เหล่าสตรีผู้กล้าหาญแห่งเมืองลพบุรี เฮ้ย ไม่ใช่ คุณป้าและคุณอา ขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกสักหน่อย

มุมนี้ก็สวยครับ

ผมก็ไม่พลาดเช่นเดียวกัน

บานประตูของวิหารก็สวยงามมากๆครับ ผมจินตนาการไปไกลมากๆ

รูปสุดท้ายของวัดบันไดหินครับ คุณป้ามีพระบัญชา

หลังจากนั้นเราก็เดินข้ามถนนไปฝั่งตรงกันข้ามกับ สถานีรถไฟลพบุรี ก็จะมาเจอกับ

-วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ-

มีป้ายบอกชื่อวัด รับรองว่าไม่หลงแน่นอนครับ

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นวัดที่อยู่ในตัวเมืองของจังหวัดลพบุรี เป็นวัดหลวงขนาดใหญ่ มีพื้นที่ ๒๐ ไร่ สร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนา และเป็นศูนย์กลางความศักดิ์สิทธิ์ของเมือง มีระเบียงคดล้อมรอบ ๒ ชั้น มีวิหารหลวงเก้าห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีการบูรณะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช


ศาลาเปลื้องเครื่อง เหลือแต่ซากฐาน และเสาเอน มองตรงไปด้านหลังคือวิหารหลวงครับ ส่วนช่องประตูด้านข้าง และหน้าต่างเป็นรูปโค้งแบบกลีบบัว อิทธิพลศิลปะตะวันตก


วิหารหลวง สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เป็นวิหารขนาดเก้าห้อง ประตูทำเป็นเหลี่ยมแบบไทย ครับ

ขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกสักนิดนะครับ

แผนผังหลักนั้นประกอบด้วยพระปรางค์ประธาน อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ อิทธิพลศิลปะเขมร แต่แสดงรูปทรงแบบใหม่ นับเป็นปรางค์แบบไทยที่มีอายุเก่าที่สุด และเป็นแบบอย่างสำหรับเจดีย์ทรงปรางค์ ในสมัยอยุธยาตอนต้น

พระปรางค์องค์ใหญ่ที่สูงที่สุดในลพบุรี สร้างเป็นพุทธเจดีย์ องค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงโบกปูน มีเครื่องประดับลวดลายเป็นพระพุทธรูปและพุทธประวัติ ที่ลายปูนปั้นหน้าบันพระปรางค์แสดงถึงอิทธิพลของพุทธศาสนา นิกายมหายาน และซุ้มโคปุระของปรางค์องค์ใหญ่เป็นศิลปะละโว้ มีลายปูนปั้นที่ถือว่างามมาก ปรางค์องค์นี้เดิมบรรจุพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก ที่ขึ้นชื่อคือ พระเครื่องสมัยลพบุรี เช่น พระหูยาน พระร่วง ซึ่งมีการขุดพบเป็นจำนวนมาก

วัดนี้สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 - 19 ต่อมาได้รับการปฏิสังขรณ์หลายสมัย เช่น สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา และสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยรัตนโกสินทร์ เป็นต้น

ขอเก็บมุมนี้สักรูปครับก่อนเสร็จภาระกิจที่วัดนี้

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเปิดทำการทุกวัน เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น.
ค่าธรรมเนียมเข้าชม คนไทย ๑๐ บาท
ชาวต่างชาติ ๕๐ บาท


หลังจากออกจากวัดแล้ว ก็เดินมุ่งหน้าไปอีก 5 นาทีครับ จะเจอกับ ศาลพระกาฬ นะครับ

-ศาลพระกาฬ-

ตั้งอยู่ริมทางรถไฟด้านทิศตะวันออกพระปรางค์สามยอด เป็นเทวสถานเก่าของขอม สร้างด้วย ศิลาแลงเรียงซ้อนกัน เป็นฐานสูง แต่ก่อนเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ศาลสูง" ทับหลัง ซึ่งทำด้วยศิลาทรายสลักเป็นรูปพระนารายณ์บรรทม สินธุ์สร้าง ขึ้นราว พุทธศตวรรษที่ 16 สมัยขอมเรืองอำนาจ วางอยู่ติดฝาผนังวิหารหลังเล็กชั้นบน ณ ที่นี้ได้พบหลักศิลาจารึก แปดเหลี่ยม จารึกอักษร มอญโบราณพ.ศ. 2494 โดยสร้างทับบนรากฐานเดิมที่สร้างไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชภาย ในวิหารประดิษฐาน พระนารายณ์ประทับยืน ซึ่งเดิมพระกร และพระเศียร หายไป แต่ต่อมามีผู้นำพระเศียร ของพระสมัยอู่ทอง และพระกรมาต่อ ตาม ตำนานกล่าวว่า ที่พระกรหายไปทั้งหมดเพราะ พระกาฬไปรับลูกระเบิด พระกรจึงขาดหายไปหมด ในบริเวณ รอบศาลพระกาฬ มีลิงประมาณ 300 ตัว เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดลพบุรี บริเวณนี้มีต้นกร่างขนาดใหญ่ (แต่ปัจจุบันมีไม่มาก มีแต่ต้นมะขามเทศ) เป็นที่อาศัยของลิง เมื่อมีคนนำอาหารและผลไม้มาไหว้ที่ศาลพระกาฬ ลิงก็จะเข้ามากิน ทำใหผู้คนที่เข้ามา สักการะ ส่วนใหญ่ได้ชม ความน่ารักของลิงไปพร้อมๆกับการมากราบไหว้ศาลด้วย

อยู่ในช่วงปรับพื้นที่ก็เลยเดินไม่สะดวกเท่าไหร่นะครับ บริเวณนี้ก็มีลิงอยู่บ้าง แต่ผมว่าน้อยลงกว่าเดิม

มุมด้านบนของศาลจะเห็นจุด พระปรางค์สามยอด เป็นจุดที่เราจะเดินกันต่อไปครับ

เมื่อออกจากศาลพระกาฬ ก็เดินมุ่งหน้าต่อไเลยครับ ไม่หลงทางแน่อน

-พระปรางค์สามยอด-

ตั้งอยู่บนเนินดินด้านตะวันตกของทางรถไฟ เป็นปราสาทศิลาแลงแบบขอมเรียงต่อกัน 3 องค์ เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสัน พระปรางค์สามยอดเป็นศิลปะเขมรแบบบายน ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 สร้างด้วยศิลาแลง และตกแต่งลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ พ.ศ. 1724 - ประมาณ 1757) เพื่อเป็นพุทธสถานในลัทธิวัชรยานประจำเมืองละโว้หรือลพบุรี ซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรขอม

แต่เดิมภายในปราสาทประธานประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง ปราสาททิศใต้ประดิษฐานรูปพระโลเกศวรสี่กร และปราสาททิศเหนือประดิษฐานรูปพระนางปรัชญาปารมิตาสองกร เสาประดับกรอบประตูแกะสลักเป็นรูปฤาษีนั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งเป็นแบบเฉพาะของเสาประดับกรอบประตูศิลปะเขมรแบบบายน ปรางค์องค์กลางมีฐาน แต่เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแ ละมีเพดานไม้เขียนลวดลายเป็นดอกจันสีแดง

ด้านหน้าทางทิศตะวันออก มีวิหารสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2199 -2231) ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ปางสมาธิที่สมบูรณ์ดี ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาผสมแบบยุโรปในส่วนของประตูและหน้าต่าง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 แต่เดิมปรางค์สามยอดนี้คงเป็นเทวสถานของขอมในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ต่อมาได้ดัดแปลงเป็นเทวสถาน โดยมีฐานศิวลึงค์ปรากฏอยู่ในองค์ปรางค์ทั้งสามปรางค์

เปิดให้เข้าชม ระหว่างเวลา 06.00-18.00 น. เว้นวันจันทร์-อังคาร อัตราค่าเข้าชม

ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท


เก็บความประทับใจก่อนเสร็จภาระกิจ


ป้ายพระปรางค์สามยอดมีความสวยงามจริงๆ


จากนั้นก็เดินลงไปอีกประมาณ 10 นาทีได้ครับ ก็จะเจอกับประตูทางเข้า พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์

-ประวัติพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์-

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ทรงสถาปนาเมืองลพบุรีให้มีฐานะเป็นเมืองหลวงสำรอง เนื่องจากพระองค์เล็งเห็นถึงภัยจากชาวตะวันตก จึงจำเป็นต้องเตรียมเมืองหลวงสำรองไว้เผื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นจะได้แก้ปัญหาได้ทันท่วงที พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำลพบุรี

พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์นี้ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดฯ ให้สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.2209 ภายหลังจากที่พระองค์ครองราชย์ได้ 10 ปี โดยใช้เนื้อที่ 42 ไร่เศษ เป็นลักษณะรูปแบบศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย กำแพงพระราชวังก่ออิฐถือปูนอย่างหนาแน่นสูง 5 เมตร ข้างบนกำแพงมีใบเสมาเรียงรายบนสันกำแพง ยาวตลอด ตรงมุมกำแพงแต่ละมุมจะมีป้อมปืนไว้ป้องกันศัตรู ส่วนที่ผนังด้านในเจาะเป็นช่องซุ้มโค้งแหลมเล็กประมาณ 2,000 ช่อง สำหรับใช้วางตะเกียงหรือประทีป มีซุ้มประตูทั้งหมด 11 ซุ้ม ช่องประตูเข้าโค้งแหลม หลังคาประตูเป็นทรงจตุรมุข ตรงจั่วซุ้มประตูตกแต่งลายกระจังปูนปั้นที่วิวัฒนาการมาจากดอกบัว ที่ซุ้มประตูและกำแพงพระราชฐานชั้นกลาง และชั้นในมี ช่องเล็กๆ เจาะเป็นรูปโค้งแหลมคล้ายบัวเรียงเป็นแถว กำแพงด้านตะวันออกแถบใต้ของพระราชวังมีประตูพยัคฆา ชื่อนี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติประวัติขุนหลวงสรศักดิ์ ในเหตุการณ์ยึดอำนาจรัฐตอนปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นการล้มอำนาจอิทธิพลฝรั่งเศษในขณะนั้นด้วย ประตูพยัคฆาเป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นมีความสง่างาม มั่นคง แข็งแรง ปัจจุบันใช้เป็นทางเข้า ออกเพื่อเข้าไปในบริเวณพระราชวังทั้งหมด ทางด้านท้ายพระราชวังยังมีอีก 2 ประตู ได้แก่ ประตูยาตรากษัตริย์ เป็นประตูสำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกเพื่อเสด็จลงเรือพระที่นั่งเสด็จกลับพระนครศรีอยุธยา ประตูยาตรากษัตริย์นี้มีถนนตัดจากท้ายพระที่นั่งจันทรพิศาลตรงออกมา เมื่อพ้นประตูก็จะมีทางลาดไปสู่ท่าเรือ และถัดจากท่าเรือพระที่นั่งก็จะมีท่าสำหรับขุนนางที่ตามเสด็จ เรียกว่าท่าขุนนาง อีประตูคือประตูนารีลีลา เป็นประตูที่ให้บรรดาเจ้าจอมหม่อมห้ามและข้าราชบริพารฝ่ายในที่จะต้องเสด็จเป็นกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคตั้งแต่ครั้งยังใช้การคมนาคมทางน้ำเป็นเส้นทางสัญจร ประตูพระราชวังมีถึงสองชั้น คือชั้นนอกมี 7 ประตู ชั้นในมี 4 ประตู หัวมุมและกึ่งกลางกำแพงแต่ละด้านมีป้อมปืนใหญ่สร้างอย่างมั่นคงแข็งแรง พระราชวัง แบ่งเป็น 3 ชั้น คือพระราชฐานชั้นนอกทางด้านทิศตะวันออกประกอบไปด้วย อ่างเก็บน้ำ หมู่ตึกสิบสองท้องพระคลัง ตึกเลี้ยงต้อนรับแขกเมือง ตึกพระเจ้าเหา โรงช้าง โรงม้า พระราชฐานชั้นกลางประกอบด้วย พระที่นั่งจันทรพิศาล หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ พระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัย พระที่นั่งไชยศาสตรากร พระที่นั่งอักษรศาสตรากร พระที่นั่งอักษรศาสตราคม พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท ตึกพระประเทียบ ทิมดาบ และพระราชฐานชั้นในอยู่ทางทิศตะวันตก ประกอบด้วยพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงสร้างขึ้นมี 3 ที่ คือพระที่นั่งจันทรพิศาล พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ และพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท ภายหลังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จสวรรคต พระราชวังแห่งนี้ก็หมดความสำคัญถูกปล่อยให้ชำรุดหักพังไป


หน้าประตูวังจะบอกเวลาเปิด-ปิด ทำการครับ

ผมเดินตรงไปที่ตึกด้านในเพื่อไปชมพิพิธภัณฑ์เป็นอันดับแรกนะครับ ไม่ต้องเสียเวลาเดินตามมาเลยครับ

มีรายละเอียดการจัดแสดงวัตถุโบราณใว้อย่างชัดเจนครับ

จนกระทั่งเมื่อปี 2399 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระ จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระราชวังขึ้นใหม่และทรงสร้างพระที่นั่งขึ้นสำหรับประทับและเป็นราชธานีสำรอง มีแบบแปลนที่แยกพระที่นั่งออกเป็น 4 พระที่นั่งในตึกเดียวกันซึ่งประกอบด้วย พระที่นั่งพิมานมงกุฎ พระที่นั่งสุทธิวินิจฉัย พระที่นั่งไชยศาสตรากร และพระที่นั่งอักษรศาสตราคม การซ่อมแซมสร้างพระราชวังแห่งนี้แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2405 จึงโปรดฯ พระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” ในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ มีสิ่งสำคัญประกอบไปด้วย

1.พระที่นั่งจันทรพิศาล

2.พระที่นั่งพิมานมงกุฎ

3.พระที่นั่งสุทธิวินิจฉัย

4.พระที่นั่งไชยศาสตรากร

5.พระที่นั่งอักษรศาสตราคม

6.พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท

7.พระที่นั่งสุทธาสวรรย์

8.ตึกพระเจ้าเหา 9.ตึกเลี้ยงรับแขกเมือง

10. หมู่ตึกสิบสองท้องพระคลัง

11. ตึกพระประเทียบ

12. อ่างเก็บน้ำ

13. โรงช้าง โรงม้า

14. ทิมดาบ 2 หลัง

15. ประตู ป้อม กำแพง

16. บันได 51 ขั้น ศาลาท่าน้ำ

เนื่องจากวันนี้มีเวลาไม่มากมายนักจึงไม่ได้เดินสำรวจ ทุกๆจุดนะครับ แต่ก็ก็ได้เดินสำรวจจุดสำคัญหลายๆจุดในเหมือนกันครับ ถ้าพร้อมแล้วเดินตามเข้ามาพร้อมกันเลยครับ

-พระที่นั่งพิมานมงกุฎ-

เป็นอาคารสูง 3 ชั้น สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน สำหรับเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ ปัจจุบันได้จัดแสดงนิทรรศการถาวร 7 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การจัดแสดงนิทรรศการถาวร 2 เรื่อง คือเรื่องสมัยก่อนประวัติศาสตร์แถบภาคกลาง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อประมาณ 3,500 - 4,000 ปีมาแล้ว จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นที่แหล่ง
โบราณคดีในจังหวัดลพบุรี ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค แหล่งโบราณคดีบ้านโคกหม้อ แหล่งโบราณคดีบ้านดงมะรุม แหล่งโบราณคดีพรมทิมใต้และ แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวเช่น โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทำจากโลหะ และเครื่องประดับที่ทำจากหินและเปลือกหอย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีห้องจัดแสดงโบราณคดีบ้านท่าแค จ. ลพบุรี ที่มีอายุประมาณ 3,500 - 1,000 ปี เป็นห้องจัดแสดงทั้งหมด 3 ชั้นด้วยกันครับ


ห้องแสดงวัตถุโบาราณชั้น 1 และ 2 จะมีประมาณนี้นะครับ มีเยอะมากๆ หลายชิ้น ไม่สามารถลงได้ทั้งหมดครับ










ชั้น 3 แต่เดิมเป็นห้องบรรทมของรัชกาลที่ 4 คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ห้องดังกล่าวจัดแสดงโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ ฉลองพระองค์ ภาพพระสาทิสลักษณ์ แท่นบรรทม เหรียญ เครื่องแก้ว และจานชามมีสัญลักษณ์รูปมงกุฎ


ภาพพระสาทิสลักษณ์


แท่นบรรทม

จากนั้นเราเดินไปอาคาข้างๆกันครับ คือ พระที่นั่งจันทรพิศาล เป็นท้องพระโรงสำหรับประชุมเสนาบดีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีห้องจัดแสดง 2 ห้อง คือ

เรื่องประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จัดแสดงภาพประวัติศาสตร์ที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ ที่ชาวต่างประเทศได้วาดไว้ และโบราณวัตถุที่มีอายุในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รวมไปถึงการติดต่อกับชาติตะวันตก เช่น ฮอลันดา โปรตุเกส ในสมัยนั้นเป็นต้น

เมื่อเดินขึ้นมาถึงพระที่นั่งจันทรพิศาล สิ่งทีต้องสะดุดตาคงไม่พ้นรูปนี้นะครับ หลายๆคนอาจจะได้ดูละครทางช่อง 3 มาแล้ว เรื่อง บุพเพสันนิวาส ออกฉายในช่วง มีนาคม 2561

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงโปรดให้ราชทูตวิสามัญเชอวาลิเอร์ เดอ โชมงต์(Chevalier de Chaumont) เข้าเฝ้า เพื่ออัญเชิญพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท พระบรมมหาราชวังในกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม .. 2228 ในภาพนี้ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ทางราชสำนักอยุธยาได้ผ่อนปรนโบราณราชประเพณีทางการทูตบางประการ เช่นให้คณะราชทูตได้เข้าเฝ้าโดยไม่ต้องหมอบคลาน และอนุญาตให้ถวายพระราชสาสน์ต่อพระหัตถ์โดยตรง

ราชทูตวิสามัญเชอวาลิเอร์ เดอ โชมงต์ (Chevalier de Chaumont) ถือพานมีเชิงสูง อัญเชิญพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่ไม่ยอมยกชูพานขึ้นสูงกว่าระดับไหล่ ดังนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงทรงโน้มพระวรกายลงมาจากพระบัญชรท้องพระโรงเพื่อทรงรับพระราชสาส์น ซึ่งขณะนั้น ฟอลคอน (ออกญาวิชเยนทร์) หมอบเฝ้ากับพื้นตามแบบของเสนาบดีไทย ร้องขอให้ราชทูตชูพานให้สูงขึ้นอีก แต่ไม่เป็นผล ในภาพจะเห็นอุปทูตเดอ ชัวซี (De Choisy) ยืนเคียงข้างราชทูต ออกญาวิชาเยนทร์ (ฟอลคอน) ที่หมอบอยู่หน้าสีหบัญชร พยายามส่งสัญญาณให้ราชทูตทูนพานพระราชสาสน์ให้ถึงพระหัตถ์ของสมเด็จพระนารายณ์ และบุคคลที่เห็นด้านข้างหลังทูต คือ อับเบ เดอ ชัวซี ส่วนบุคคลแถวหน้า คือท่านลาโน สังฆราชแห่งเอลิโอโปลิส ในเครื่องแต่งกายตามสมณศักดิ์

ภาพต้นฉบับจริงๆ อาจจะเป็นภาพของฌอง-บาปติสต์ โนแลง Jean-Baptiste Nolin (คศ.1657-1725) ซึ่งเป็นช่างวาดและช่างแกะสลัก (เคยเดินทางไปยังประเทศอิตาลี) เป็นบรรณาธิการและผู้จำหน่ายหนังสือ ร้านของโนแลง ชื่อว่า ลา ปลาซ เดส์ วิกตัวส์ La Place des Victoires อยู่ที่ถนน แซงต์ฌากส์ ปารีส ส่วนสถานที่เก็บปัจจุบันอยู่ที่หอสมุดแแห่งชาติ ปารีส ห้อง Cabinet des Estampes

อีกภาพที่ถือว่า เด่นมากๆ คือภาพของ คณะราชฑูตไทยเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงแต่งให้พระวิสูตรสุนทร คือโกษาปาน เป็นราชทูตเชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการไปเจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนพระเจ้าหลุยที่ 14 โนับเป็นการส่งทูตไทยไปครั้งที่ 3 โดยมี ออกพระวิสุทธสุนทร (ปาน) ราชทูต , ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต , ออกขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูต ไปกับเรือรบฝรั่งเศสกับเชอวาลิเอร์ เดอ โชมงต์ (Chevalier de Chaumont) ด้วยกัน ไปถึงเมืองฝรั่งเศสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ที่พระราชวังเวอซายเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2229 โกษาปานอยู่ในเมืองฝรั่งเศส 7 เดือน เดินทางกลับในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2230

ออกพระวิสุทธสุนทร (ปาน) /เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) (พ.ศ. 2176–2242)

ที่อยู่ใกล้ๆกันก็เป็นประติมากรรมรูปเทพธิดาออกไม้ สัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ผลิ

เมื่อเดินถัดเข้าไปห้องด้านในจะเป็ฯเรื่องศาสนวัตถุต่างๆ ในพุทธศตวรรษที่ 19 - 24 (สมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์) จัดแสดงตู้พระธรรม ธรรมาสน์ ตาลปัตร สมุดไทย


หลังจากชื่นชมใน พระที่นั่งจันทรพิศาล เสร็จแล้วก็เดินเข้าไปที่

-ตึกพระประเทียบ-

เป็นตึกที่อยู่ตรงกลางไม่หลงแน่นอนครับ ตึกนี้สาร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2399 เป็นที่พำนักของข้าราชบริพารฝ่ายในผู้ตามเสด็จฯ


ในช่วงเวลาที่ไปนั้นมีนิทรรศการพิเศษ เรื่อง อวดภาพเมืองเก่าเมืองลพบุรีมรดกแห่งความทรงจำ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เที่ยวชมวัง ฟังดนตรี เมืองพระนารายณ์ ประจำปี 2561 เพื่อเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดและการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ตลอดจนความตระหนักรักหวงแหน ความภาคภูมิใจในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ การจัดนิทรรศการครั้งนี้ เป็นการร่วมมือระหว่าง องศ์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรี พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุโบราณและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ คณะกรรมการและทีมงานนิทรรศการ

เปิดให้เข้าชม 09 มิถุนายน - 15 กรกฏาคม 2561 เวลา 09.00- 16.00 น. ยกเว้นวันจันทร์ - วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์

วัดโบราณครับ เป็นภาพเก่าที่ดูแปลกตาดีครับ

ภาพคนจีนในสมัยนั้น

ภาพเก่าพระปรางค์สามยอดครับ ผมมองไม่เห็นลิงเลยนะครับเนี่ย

ภาพเก่าในอดีตอีกหลายรูปซึ่งมีคุณค่าจริงๆ

หลังจากชมพิพิธภัณฑ์จบแล้ว เราก็เดินย้อนกลับไปที่ ข้างๆตึก พระที่นั่งพิมานมงกุฎ ครับ เป็นเขตพระราชฐานชั้นกลาง ครับ คือ

-พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท-

เป็นพระที่นั่งศิลปกรรมแบบไทยและฝรั่งเศสผสมกัน เดิมเป็นท้องพระโรงมียอดแหลมทรงมณฑป ตรงกลางท้องพระโรงมีสีหบัญชร ซึ่งเป็นที่เสด็จออกเพื่อทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้เข้าเฝ้า ประตูและหน้าต่างท้องพระโรงซึ่งอยู่ด้านหน้าทำเป็นโค้งแหลม ส่วนตัวมณฑปซึ่งอยู่ด้านหลังทำประตูหน้าต่างเป็นซุ้มแบบไทย คือ ซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ ในจดหมายเหตุทูตฝรั่งเศส กล่าวพรรณนาพระที่นั่งว่า “ตามผนังประดับด้วยกระจกเงา ซึ่งนำมาจากฝรั่งเศส เพดานแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส 4 ช่อง ประดับด้วยลายดอกไม้ทองคำ และผลึกที่ได้มาจากเมืองจีนงดงามมาก” ผนังด้านนอกพระที่นั่งตรงมณฑปชั้นล่างเจาะเป็นช่องโค้งแหลมไว้สำหรับวางตะเกียง หลังจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคต กระจกเงาก็ได้ถูกกษัตริย์ในรัชกาลถัดมาถอดออกแล้วเอาไปถวายเป็นพุทธบูชาที่วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 กระจกเงาเหล่านั้นก็ถูก พม่า ทำลายทิ้ง ซึ่งจะเห็นได้อีกเป็นจำนวนมากตามซุ้มประตูและกำแพงของพระราชวัง สมเด็จพระนารายณ์ฯเคยเสด็จออกรับคณะราชทูตฝรั่งเศส เชอวาเลีย เดอ โชมองต์ (Chevalier de Chaumont) ที่พระที่นั่งองค์นี้ในปี พ.ศ. 2228 ด้วย

มีรูปหล่อจำลองของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้พวกเราได้มาสักการะด้วยครับ


ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกครับ


หลังจากนั้นก็เดินออกประตูด้านข้างไปยังสถานที่สุดท้ายที่เชื่อว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคต ณ ที่แห่งนี้ คือ

-พระที่นั่งสุทธาสวรรย์-

เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า “พระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ในพระราชอุทยานที่ร่มรื่น ทรงปลูกพรรณไม้ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง หลังคาพระที่นั่งมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ที่มุมทั้งสี่ มีสระน้ำใหญ่สี่สระ เป็นที่สรงสนานของพระเจ้าแผ่นดิน” สมเด็จพระนารายณ์ฯ สวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2231 หลังจากสำรวจดูรอบๆ จะเห็นว่าร่องน้ำเปิดโดยรอบคล้ายกับศิลปะชาวเปอร์เซีย ซึ่งทำให้มีความสดชื่นตลอดเวลา หลักฐานที่เห็นคือร่องหินอ่อนสีขาวที่อยู่บริเวณนี้เป็นเป็นเสมือนอ่างอาบน้ำขนาดใหญ่


หลังจากนั้นผมก็เดินออกไปยังพระราชฐานช้้นนอก เพื่อไปตึกพระเจ้าเหานั้นเอง

-ตึกพระเจ้าเหา-

เป็นตึกที่สร้างในปี 2209 เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร ยกพื้นสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ตัวตึกเป็นรูปทรงไทย ฐานก่อด้วยศิลาแลง และจึงก่ออิฐขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ปัจจุบันเหลือแต่ผนังประตูหน้าต่าง ทำเป็นซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ ปัจจุบันคงปรากฏลายให้เห็นอยู่ ด้วยเหตุว่าภายในตึกมีฐานชุกชีปรากฏให้เห็นอยู่และชาวฝรั่งเศสได้ระบุว่าเป็นวัด จึงสันนิษฐานว่าเป็นหอพระประจำพระราชวัง ตึกพระเจ้าเหาหรือ “พระเจ้าหาว” (พระเจ้าเป็นภาษาไทยโบราณภาคเหนือ หมายถึงพระพุทธรูป ส่วนคำว่า หาว น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า เฮาส์ ที่แปลว่า บ้าน/ที่ตั้ง ในภาษาอังกฤษ = ที่อยู่ของพระพุทธรูป) ในตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ พระเพทราชา และขุนหลวงสรศักดิ์


ในอดีต หน้าตึกพระเจ้าเหาก็เป็นลานน้ำพุ เห็นได้จากร่องรอยฐานที่ยกสูง และท่อน้ำดินเผา คล้ายของชาวฝรั่งเศสหรืออิตาลี ซึ่งน่าจะเป็นบาทหลวงที่มาช่วยก่อสร้างใว้ ถวาย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในตึกมีช่องเล็กๆ ที่น่าจะใว้จุดตะเกียง วงกบหรือคานบนของหน้าต่างเป็นหินแกรนิตเพื่อความแข็งแรงของตึกเพราะตึกนี้ไม่มีเสา


ถ่ายรูปกันก่อนไปตึกอื่นครับ



เดินถัดมาอีกนึดจะเป็น

-ตึกรับรองคณะทูตต่างประเทศ-

เป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศส บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า ตึกหลังนี้อยู่กลางอุทยาน ซึ่งแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส รอบตึกมีคูน้ำล้อมรอบ ภายในคูน้ำมีน้ำพุเรียงรายเป็นระยะอยู่ 20 แห่ง จากเค้าโครงที่เห็นแสดงว่าในสมัยก่อนคงจะสวยงามมาก ทางด้านหน้าตึกเลี้ยงรับรองมีรากฐานเป็นอิฐแสดงให้เห็นว่าตึกหลังเล็ก ๆ คงจะเป็นโรงมหรสพ ซึ่งมีการแสดงให้แขกเมืองชมภายหลังการเลี้ยงอาหาร สมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้พระราชทานเลี้ยงแก่คณะทูตจากประเทศฝรั่งเศส ณ สถานที่นี้ใน พ.ศ. 2228 และ พ.ศ. 2230

ตามบันทึกเก่าแก่ มีเขียนใว้ว่ามีโต๊ะยาวขนาดใหญ่รับรองแขกได้ถึง 50 คน มีพรมจากเปอร์เซียพื้นใหญ่ที่พื้น ทั้งหมดต้องอาศัยจินตนาการมากๆครับ

บรรยากาศด้านหน้าครับมีความสวยงามจริงๆ

เดินถัดมาอีกสักนิดจะเป็นตึก

-สิบสองท้องโรงพระคลัง-

สร้างขึ้นในปี 2209 อย่างมีระเบียบด้วยอิฐเป็น 2 แถวยาวเรียงชิดติดกัน อาคารมีลักษณะค่อนข้างทึบ มีถนน ผ่ากลาง จำนวนรวม 12 หลัง เข้าใจว่าเป็นคลังเพื่อเก็บสินค้า หรือเก็บสิ่งของเพื่อใช้ในราชการ เป็นที่เก็บสินค้าหลวงก่อนที่จะส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดให้เบิกผ้าจากพระคลังศุภรัตน์ให้ข้าหลวงใส่บวชก่อนที่พระองค์จะสวรรคตซึ่งเป็นคลังผ้าหนึ่งใน 12 ท้องพระคลัง

ขออีกสักรูปครับ

สถานที่สุดท้าย ก่อนเดินทางออกจากพระนารายณ์ราชนิเวศ คือ

-อ่างเก็บน้ำซับเหล็ก-

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ชาวฝรั่งเศสและชาวอิตาลีได้ช่วยกันสร้างระบบระบายน้ำ ด้วยท่อดินเผาเพื่อลำเลียงน้ำจากห้วยซับเหล็ก ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองลพบุรี มาใช้ในพระราชวังและในเมืองลพบุรี ถังเก็บน้ำในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ คงทำไว้เพื่อกักน้ำไว้จ่ายในพระที่นั่งและตึกต่าง ๆ ในพระราชวัง



หลังจากเสร็จภารกิจที่ พระนารายณ์ราชนิเวศ เราก็เดินออกนอกพระราชวัง เลี้ยวซ้ายแล้วเดินเข้า ถนนด้านข้างวัง เดินลงไปประมาณ 10 นาทีครับ เพื่อไปสถานที่สุดท้ายของวันนี้คือ

-บ้านหลวงรับราชทูต (บ้านวิชาเยนทร์)-

บ้านวิชาเยนทร์ หรือ บ้านหลวงรับราชทูต สร้างขึ้นเพื่อใช้ต้อนรับคณะทูตจากประเทศฝรั่งเศสชุดแรกที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2228 ในสมัยแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์ อีกทั้งยังเป็นบ้านพักที่เมืองลพบุรีของท้าวทองกีบม้า กับสามี เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือ หลวงสุรสาคร (คอนสแตนติน ฟอลคอน) สมุหนายกชาวกรีก คนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์ ในสมัยนั้นท่านได้รับเกียรติให้ต้อนรับคณะทูตจากต่างแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะทูตจากฝรั่งเศส และได้ใช้บ้านหลังนี้เป็นสถานที่รองรับเอกอัครราชทูตจากฝรั่งเศสของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในปี พ.ศ. 2228 จึงได้เรียกที่นี่ว่าบ้านหลวงรับราชทูต

คอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantine Phaulkon) คือชื่อเดิมเมื่อครั้งท่านเข้ามารับราชการ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ท่านมีเชื้อสายกรีกและอิตาเลียน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2190 ได้เริ่มเดินทางออกมาทำงานยังประเทศต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2205 ช่วงแรกนั้นทำงานกับเรือสินค้าของอังกฤษ จนมาตั้งหลักปักฐานทำการค้าในกรุงศรีอยุธยา จากนั้นก็ได้เข้ารับราชการในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ด้วยการเป็นล่ามมีความสามารถในการสื่อสารภาษาต่างประเทศ เช่น กรีก (ภาษาบ้านเกิด), อิตาเลียน, อังกฤษ, โปรตุเกส, มลายู และภาษาไทยได้เป็นอย่างดี โดยเริ่มรับราชการทำงานกับเจ้าพระยาพระคลัง (โกษาเหล็ก) ต่อมาแต่งงานกับมารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา (Maria Guyomar de Pinha) หรือมารี กีมาร์ หรือท้าวทองกีบม้า จนได้รับตำแหน่งทางราชการที่สูงพอสมควร จากออกหลวงสุรสาคร มาเป็นออกพระออกพระฤทธิกำแหงภักดีศรีสุเรนทเสนา จนได้เป็นออกญาวิชเยนทร์ หรือเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ด้วยเพราะทำความดีความชอบไว้มาก และได้รับพระราชทานที่พักอาศัยให้อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของบ้านหลวงรับราชทูต จึงเป็นที่มาของชื่อบ้านวิชาเยนทร์ นั่นเอง

และด้วยความเก่งกาจและความใกล้ชิดของเจ้าพระยาวิชเยนทร์กับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นที่ไม่พอใจแก่เหล่าขุนนางทั้งหลายในสมัยนั้น ด้วยเห็นว่าเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาหาผลประโยชน์ในกรุงศรีอยุธยา ในช่วงที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชประชวรอย่างหนัก และพระเพทราชาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทน จึงได้จับกุมเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไปประหารชีวิตในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2231 ส่วนมารี กีมาร์ (ท้าวทองกีบม้า) นั้นชีวิตได้ตกอับถึงขีดสุด ทรัพย์สินทั้งหลายถูกริบคืนและถูกคุมขัง จนเมื่อออกมาจากคุกก็ได้ทำหน้าที่เป็นพนักงานเครื่องต้น ทำของหวานนานาชนิด มีการดัดแปลงวิธีการทำขนมโปรตุเกสให้กลายมาเป็นขนมไทย จนได้ฉายาว่าราชินีของขนมไทยนั่นเอง

ส่วนทิศตะวันตก สันนิษฐานว่าเป็น บ้านพักของพระยาวิชาเยนทร์ (ในขณะนั้นมียศเป็นออกพระฤทธิกำแหงภักดีศรีสุเรนทเสนา) และท้าวทองกีบม้า / มารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา (Maria Guyomar de Pinha) เป็นกลุ่มอาคาร ได้แก่ ตึก 2 ชั้นหลังใหญ่ ก่อด้วยอิฐ และอาคารชั้นเดียว แคบยาว ซุ้มประตูทางเข้าเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม

ส่วนกลาง สันนิษฐานว่าเป็นหอระฆัง และ โบสถ์ศาสนาคริสต์ ซึ่งถือเป็นโบสถ์หลังแรกของโลก ที่ตกแต่งด้วยลักษณะของโบสถ์ทางพระพุทธศาสนา ผสมผสานสถาปัตยกรรมยุโรปยุคเรเนซองส์


ส่วนทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเป็ณ บ้านพักรับรองเหล่าคณะทูต ประกอบด้วย กลุ่มอาคารใหญ่ 2 ชั้น มีบันไดขึ้นทางด้านหน้าเป็นรูปครึ่งวงกลม แสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมแบบยุโรป โดยเฉพาะหน้าต่างและซุ้มประตู เป็นศิลปะแบบเรอเนสซองส์

ประตูทางเข้าครับ

ที่อยู่ : ถนนวิชาเยนทร์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี

เปิดให้เข้าชม : วันพุธ-อาทิตย์ เวลา 07.00-17.00 น.

ค่าเข้าคนไทย 10 บาท

โทร : 0-3641-2510, 0-3641-3779

หลังจากนั้นก็เดินมุ่งหน้ากลับไปยังสถานีรถไฟครับ มีเวลาแวะกินข้าวเย็นก่อนกลับ กทมครับ

- สรุปค่าใช้จ่าย -

ค่ารถไฟ บางซื่อ-ลพบุรี 50 บาท

ค่าเข้าพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ 10 บาท

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ 10 บาท

พระปรางค์สามยอด 10 บาท

บ้านวิชาเยนทร์ 10 บาท

ค่ารถไฟ ลพบุรี -บางซื่อ 26 บาท

ค่าอาหารเช้า-กลางวัน+น้ำ+ขนม 150 บาท

ค่าอาหารเย็น+น้ำ+ขนม 100 บาท

สรุป ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 366 บาท ครับ

ติดตามต่อกันได้ที่

ติดตามและเป็นกำลังใจกันได้ที่ - ขอบคุณทุกๆกำลังใจที่ติดตามกัน สามารถกด Like /Share/Comment กันต่อได้ที่

https://th.readme.me/id/Golfythejourney

https://www.facebook.com/GolfytheJourney/

https://www.instagram.com/golfythejourney/

https://www.youtube.com/channel/UCnqCI_fF3OPdFUSLR...


ความคิดเห็น