พระราชวังเดิม หรือ พระราชวังเก่าแห่งกรุงธนบุรี
เปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื่องในโอกาสพิเศษ "ฉลองครบ 250 ปี กรุงธนบุรี" และเนื่องใน "วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันปราบดาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร"
ห้ามพลาดกับโอกาสดี ๆ เช่นนี้ ที่เราสามารถเข้าไปเยี่ยมชมและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านโบราณสถานอันล้ำค่าหลากหลายแห่งในพระราชวังเดิม ผ่านสถาปัตยกรรมที่งดงาม และโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่จัดแสดง
" ดอกบัวรอบพระราชวัง, เบ่งบานรับแสงแดดในเดือนธันวาคม "
" ความคึกคักของผู้คนที่ต่างให้ความสนใจมาเยี่ยมชมกันอย่างไม่ขาดสาย "
พระราชวังเดิมเปิดให้เข้าชม :
- วันที่ 15 - 28 ธันวาคม 2561
- จันทร์ - อาทิตย์
- เวลา 09.00 - 15.30 น.
เป็นช่วงเวลาเพียงสองอาทิตย์เท่านั้น !
ข้อแนะนำเพิ่มเติม :
- ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม
- ควรแต่งกายสุภาพ งดกางเกงขาสั้น
- ไม่อนุญาติให้ถ่ายภาพบริเวณด้านในตัวพระตำหนักต่าง ๆ (แต่สามารถถ่ายบริเวณด้านนอกและโดยรอบได้) และต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าชมพระตำหนักทุกครั้ง
- เป็นการเดินชมแบบฟรีสไตล์ ไม่ได้บังคับเส้นทางใด ๆ แต่เพื่อความเข้าใจในภาพรวมทั้งหมด แนะนำว่าควรเข้าไปเยี่ยมชม "อาคารเรือนเขียว" ทางด้านซ้ายก่อน เนื่องจากมีห้องฉายวีดีทัศน์เกี่ยวกับเรื่องราวของพระราชวังเดิมอย่างละเอียด เราจะได้เห็นภาพรวมและเข้าใจประวัติศาสตร์ของแต่ละสถานที่มากขึ้น
- สามารถเข้าออกได้ 2 ทาง โดยไม่ต้องแลกบัตรผ่านเข้าออก 1. เข้าด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ 2. ประตูด้านข้างกำแพงวัดอรุณฯ (เดินเชื่อมกันได้เลย)
- เยี่ยมชมในวันจันทร์ - ศุกร์โดยรถยนต์ส่วนตัว จะต้องหาที่จอดรอบนอกกองบัญชาการกองทัพเรือแล้วค่อยเดินเข้าไป เนื่องจากมีรถยนต์ข้าราชการจอดเต็มบริเวณพื้นที่
- วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ สามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาจอดภายในกองบัญชาการกองทัพเรือได้
มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม : https://www.facebook.com/wangdermpalace/
เมื่อเดินตรงเข้ามาจากด้านหน้าของกองบัญชาการกองทัพเรือแล้วเลี้ยวขวา เราก็จะพบกับอนุเสาวรีย์พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์อยู่ในท่าประทับยืนหันหน้าไปทางทิศที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยา มือซ้ายถือพระแสงดาบ ส่วนมือขวาชี้ลงพื้นดิน
"ความโล่งสบายตาของต้นไม้สีเขียว, แม่น้ำเจ้าพระยา และป้อมใหญ่สีขาว"
" ปัจจุบันพระราชวังเดิมอยู่ในความดูแลของมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม
และกองบัญชาการกองทัพเรือ "
พระราชวังเดิมหรือพระราชวังกรุงธนบุรี สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปี พ.ศ. 2310 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใกล้กับป้อมวิไชยประสิทธิ์ ปากคลองบางกอกใหญ่
" บริเวณทางเข้าพระราชวังเดิม "
โบราณสถานที่สำคัญในพระราชวังเดิม :
- ท้องพระโรง
- พระที่นั่งขวาง
- พระตำหนักเก๋งคู่
- พระตำหนักเก๋งพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
- อาคารเรือนเขียว
- ศาลศีรษะปลาวาฬ
- ป้อมวิไชยประสิทธิ์
" ความสวยงามของสถานที่แห่งนี้ "
" ความเข้ากันดีของธรรมชาติและสถาปัตยกรรม "
จุดแรกที่เราเข้ามาชมคือ " พระตำหนักเก๋งคู่ " อาคารสองหลังประกอบด้วยเก๋งคู่หลังเล็ก(ซ้าย) และเก๋งคู่หลังใหญ่(ขวา) เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมไทย หลังคาปูนปั้นและเขียนสี
" พระตำหนักทั้งสองที่อยู่ติดกัน ,มีประตูไม้เชื่อมตรงข้ามกัน "
" ลวดลายบนหลังคาของพระตำหนักเก๋งคู่ "
ปัจจุบันพระตำหนักสองหลังนี้ใช้จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก โดยพระตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก จัดแสดงพระราชกรณียกิจด้านการรบ อาวุธโบราณ และวัตถุที่พบในการสำรวจทางโบราณคดี
พระตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ จัดแสดงพระราชกรณียกิจด้านเศรษฐกิจ เช่น สินค้าส่งออกที่สำคัญในยุคสมัยกรุงธน สังคม และวัฒนธรรมในยุคสมัยของพระเจ้าตากฯ เช่น การสร้างและปฏิสังขรณ์วัดอินทารามวรวิหาร , วัดหงส์รัตนารามวรวิหาร , วัดอรุณ เรื่องราวตำนานพระแก้วมรกต , สมุดไตรภูมิ
" ห้ามถ่ายภาพ และถอดรองเท้าก่อนเข้าชมพระตำหนักทุกครั้ง "
เมื่อเดินออกมาจากพระตำหนักเก๋งคู่ก็สามารถเดินมาชมท้องพระโรงทางด้านซ้ายต่อได้ โดยในส่วนนี้เป็นพระที่นั่งสององค์เชื่อมต่อกัน ในทิศเหนือเรียกว่า ท้องพระโรง ในทิศใต้เรียกว่า พระที่นั่งขวานหรือส่วนที่พระองค์เคยใช้ประทับอยู่ ปัจจุบันท้องพระโรงนี้ใช้จัดงานที่สำคัญ
" ท้องพระโรงที่เคยเป็นที่ว่าราชการ "
" บริเวณตรงกลางเป็นการจัดแสดงบอร์ดความรู้ ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโบราณสถานต่าง ๆ ในวังเดิม "
" บริเวณด้านข้างที่โปร่งโล่ง และสวยงาม "
บริเวณอีกฝั่งของท้องพระโรง มีเต๊นท์จำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับพระราชวังเดิม และสมเด็จพระเจ้าตาก จำหน่ายอยู่ เช่น หนังสือ แสตมป์พระราชวังเดิม (เหมาะสำหรับนักสะสมมาก)
" อาคารด้านหลังท้องพระโรง "
" ใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ ที่สวยงามรอบกาย "
" ซึมซับความสงบของสถานที่ "
เดินย้อนกลับมาอีกฝั่งหนึ่งเพื่อกราบไหว้บูชาพระเจ้าตาก ณ "ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีผสมรูปแบตะวันตก โดยภายในศาลประดิษฐานรูปหล่อและพระบรมสาทิสสลักษณ์ของพระองค์ รวมทั้งพระบรมรูปในท่าประทับยืนและทรงพระแสงดาบขนาดเท่าคนจริง
บริเวณด้านข้างศาลสมเด็จพระเจ้าตากฯ ก็จะพบกับ "ศาลศีรษะปลาวาฬ"
ศีรษะปลาวาฬนี้ถูกค้นพบอยู่บริเวณใต้ศาลสมเด็จพระเจ้าตากฯ สันนิษฐานว่าศาลเดิมสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นและได้พังลง จึงสร้างศาลขึ้นใหม่ในบริเวณเดิม
" อีกสิ่งหนึ่งที่ชอบคือการได้ชื่นชมกับสวนหย่อมและธรรมชาติที่สวยงามต่าง ๆ รอบพระราชวัง"
" สดชื่นกับสีสันของดอกบัว "
" อาคารเรือนเขียว เด่นสง่าด้วยต้นไม้สีเขียวโดยรอบและสีเขียวอ่อนของตัวอาคาร "
เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ยกพื้น 2 หลังเชื่อมต่อกัน สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ 2443 - 2449
" โคมไฟเก่า "
บริเวณด้านในอาคารแบ่งเป็นสองห้อง ห้องหนึ่งจัดแสดงวีดีทัศน์ความยาวประมาณ 10-15 นาที เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และข้อมูลที่สำคัญของพระราชวังเดิม และโบราณสถานอื่น ๆ ในพระราชวัง ส่วนอีกห้องจัดแสดงโต๊ะประชุมและตู้แสดงเครื่องปั้นดินเผา
" รายละเอียดของไม้บริเวณหลังคาของอาคาร "
" พันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่ประดับอยู่รอบอาคารเรือนเขียว "
" อีกหนึ่งภาพด้านหน้า, ก่อนจะลาจาก "
ยิ่งมองยิ่งสดชื่นและหลงไหลไปกับธรรมชาติเหล่านี้
" กลุ่มคุณน้าผู้น่ารัก ที่มาเยี่ยมเยือนโดยการสวมใส่ชุดไทยแบบเก๋ ๆ
ฉันจึงไม่พลาดที่จะขอชักภาพไว้เป็นที่ระลึกเสียหน่อย "
" ดีใจที่เห็นว่าผู้คนหลากหลายวัยให้ความสนใจมาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้กัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ที่เดินเยี่ยมชมกันอย่างมีความสุขท่ามกลางสภาพอากาศร้อน "
สถานที่สำคัญสุดท้ายที่ฉันไปเยี่ยมเยียนคือ "ป้อมวิไชยประสิทธิ์" หรือเดิมชื่อป้อมวิไชยเยนทร์ สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อแวะเวียนมาตรงนี้ก็อย่าลืมกราบไหว้ "ศาลเจ้าพ่อหนู" ศาลเล็ก ๆ ที่อยู่บริเวณด้านขวาของป้อมกันด้วยนะ
" ด้านหลังของป้อม "
" ปืนใหญ่เก่ากับช่องยิง "
" ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ "
นับเป็นโอกาสดี ๆ ที่เราจะได้เข้าไปเยี่ยมชมและสัมผัสความสวยงามและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเหล่านี้ ในสถานที่ ๆ เต็มไปด้วยโบราณสถานสำคัญและสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เดินทางง่ายและไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เมื่อเที่ยวชมเสร็จก็ท่องเที่ยวต่อที่วัดอรุณ หรือจะข้ามเรือไปฝั่งวัดโพธิ์ก็น่าสนใจไม่แพ้กันเลย !
Adventure-of-St
วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2561 เวลา 21.10 น.