ใครจะเชื่อว่าท่ามกลางความวุ่นวายของย่านเยาวราช จะมีที่พักบูตีคโฮเทลแฝงตัวอยู่ จุดเด่นของที่นี่คือตัวอาคารเป็นบ้านเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยชื่อ ๒๔๕๙ นี้ก็มาจากปีพ.ศ.ของอาคารหลังนี้นี่เอง
เมื่อเดินเข้ามาจะเจออาคารตกแต่งสไตล์โคโรเนียลกลิ่นอายตะวันตก
บ้าน ๒๔๕๙ เป็นบ้าน 2 ชั้น มีห้องพักทั้งหมดเพียง 4 ห้องเท่านั้น
ระหว่างรอห้องมี Welcome Drink เย็นชื่นใจ พร้อมเมนูอาหารเช้ามาให้เลือก และเวลาที่สะดวกในการรับอาหารเช้า เพราะจะเสิร์ฟกันถึงหน้าห้องพักเลยทีเดียว
คอนเซปของที่นี่คือต้องการให้ผู้มาพักได้รับประสบการณ์ความรู้สึกของการเป็นแขกที่ได้เข้าพักตามบ้านผู้สูงศักดิ์สมัยก่อน
การรีโนเวทบ้านหลังนี้จึงทำโดยคงสภาพของเดิมไว้มากที่สุด และเพิ่มเติมเฟอร์นิเจอร์บางอย่างให้เข้ากับตัวอาคาร
ที่บ้าน ๒๔๕๙ จะมีชื่อห้องเป็นเอกลักษณ์คือ ห้องหมายเลข ๒, หมายเลข ๔, หมายเลข ๕ และ ห้องหมายเลข ๙ โดยใช้เลขไทยเป็นสัญลักษณ์ประจำห้อง โดยแต่ละห้องมีสไตล์การตกแต่งที่แตกต่างกันไป
แม้จะมีคาเฟ่อยู่ในบริเวณเดียวกัน แต่ไม่ต้องกลัวคนพลุกพล่านเพราะในส่วนของโรงแรมจะไม่อนุญาตให้คนนอกเข้าไปรบกวน
ส่วนกลางของชั้น 2 ขึ้นบันไดมาจะเจอชุดโต๊ะเก้าอี้ ตรงนี้เป็นที่ทานมื้อเช้าสำหรับวันพรุ่งนี้ค่ะ
บันไดเป็นไม้เก่า เดินเบาๆนะ
ครั้งนี้เราได้พักที่ห้องหมายเลข ๙ เป็นห้องที่มีเพดานสูงโปร่ง โทนสีห้องสวยถูกใจมาก
ห้องพักของที่นี่เน้นความโบราณที่แท้จริง จะสังเกตได้ว่าเตียงของทุกห้องนั้นจะมีความสูงต่างกับเตียงปัจจุบัน ที่นอนจะแข็งกว่า ตู้เสื้อผ้า โต๊ะเขียนหนังสือ เรียกได้ว่าที่นี่ใส่ใจในทุกรายละเอียด เหมือนเนรมิตให้เราได้ย้อนเวลากลับไปสมัยก่อนจริงๆ เน้นการตกแต่งโทนสีฟ้าอมเทา มีโซฟากำมะหยี่สีน้ำเงินเข้มปลายเตียงสำหรับนั่งดูทีวีและพักผ่อนได้อย่างดี
มุมโต๊ะทำงาน เปิดกระจกขึ้นมาส่อง หรือพับปิดเป็นโต๊ะเรียบ ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่
และหากใครได้มาพัก ลองมองบนผนังดีๆด้านบนจะมีช่องเป็นรูเล็กๆอยู่นั่นคือรูระบายอากาศที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อน ช่างที่ออกแบบจะเจาะช่องสำหรับระบายอากาศเอาไว้ เพราะอากาศร้อนจะลอยขึ้นบน ทำให้ภายในไม่ร้อนอบอ้าว ตอนได้ยินครั้งแรกที่แบบ โอ้โห คนสมัยก่อนสุดยอดความคิดจริงๆ
แม้ห้องนี้จะไม่มีอ่างอาบน้ำเหมือนห้องอื่น แต่เวลาเราอาบน้ำแล้วเหมือนอยู่ในนิยาย เพราะการตกแต่งภายในห้องน้ำไม่ว่าจะเป็นอ่างล้างหน้า กระจก รวมถึงโทนสีที่ใช้ บรรยากาศเปรียบเสมือนเราได้หลุดไปอยู่อีกโลกนึงเลย
บันไดวนนี้ เป็นของเก่าแท้ดั้งเดิมเลยนะ ไม่แนะนำให้เดินขึ้นทางนี้เพราะอาจจะเกิดอันตรายได้
มาถึงอาหารเช้ากันบ้าง ตอนเช็คอินที่เราเลือกไว้ มาเสิร์ฟตรงตามเวลาเป๊ะ
อาหารที่นี่มีให้เลือกหลากหลาย แต่จะไม่มีเมนูที่มีส่วนผสมของหมูเลย เพราะทางเจ้าของให้เกียรติเจ้าของพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งเป็นชาวมุสลิม
พอได้เวลาอาหารจะมาเสิร์ฟที่บริเวณโถงชั้น 2 วิวของเราคือนั่งทานอาหารเช้าพร้อมชมวิววัดเกาะไปด้วย - ไข่กระทะเมนูขึ้นชื่อของที่นี่เลยนะ อยากให้ลองทานกัน
มาต่อกันที่คาเฟ่สุดฮิตที่ชาวฮอปเปอร์ต้องเคยได้ยินชื่อ หรือเคยมากันแล้วแน่ๆอย่างร้าน "CHATA" อ่านว่า "ชะตา" มาจาก Destiny ที่แปลว่าโชคชะตา เหมือนกับทางเจ้าของโรงแรมที่ได้มาเจอกับเจ้าของที่แห่งนี้และได้รีโนเวทเป็นโรงแรมบ้าน ๒๔๕๙ ขึ้นมา
ไม่ใช่มีแต่กาแฟนะคะ อาหารก็พร้อมเสิร์ฟ ใครหิวอยากของคาวแล้วตบท้ายด้วยกาแฟ ของหวาน แวะมาที่นี่รับรองไม่ผิดหวัง
ผนังปูนเก่านี้ได้ชื่อว่า "ผนังปูนลายวัว" ความลายวัวนี้เป็นของโบราณอย่างแท้ทรู สวยด้วยกาลเวลาไม่ผ่านการแต่งเติม ตรงนี้เค้าจะมีภาพถ่ายก่อนจะทำร้านกาแฟนี้ขึ้นมา คือผนังนี้นี่แหล่ะ
มาถึงถิ่นทั้งที จะไม่ลองกาแฟก็ดูจะพลาด ไม่รอช้า พี่คะจัดมาเลยค่ะอะไรที่แนะนำ เป็นคนเชื่อคนง่าย ใครว่าดีก็โอเคหมด 555++
เริ่มกันที่แก้วแรก "Colapresso" (ราคา 140 บาท) ช็อตกาแฟเอสเปรซโซ่ ผสมเข้ากับโคล่า และน้ำมะนาว ความลงตัวแปลกใหม่ Signature ของที่ร้าน
มีกาแฟแล้วต้องมีขนม "เค้กกล้วยบวชชี" (ราคา 145 บาท) การผสมผสานกันระหว่างเนื้อเค้กราดหน้าด้วยกล้วยบวชชี ออกมาได้ดีรสชาติกลมกล่อม ทานคู่กับกาแฟเข้ากันดี
ส่วนแก้วนี้ชื่อ "Baby Chic" (ราคา 120 บาท) โกโก้ ผสมเข้ากับนมสตอร์เบอรี่ โรยหน้าด้วยเกล็ดช็อคโกแลต อร่อยหอมหวานสไตล์นมๆ
กินอิ่ม นอนหลับเต็มที่ ได้เวลากลับบ้านพร้อมประสบการณ์และความทรงจำที่กำลังจะเป็นอดีต แต่จะคงอยู่ในใจไปอีกนานกับ "บ้าน ๒๔๕๙"
➤ Address : 98 PHAT SAI ROAD. KHWAENG SAMPHANTHAWONG KHET SAMPHANTHAWONG Bangkok, Thailand
➤ Tel : 082 393 2459
➤ Facebook : Baan2459
➤ Website : www.baan2459.com
#Baan2459 #บูตีคโฮเทล #เยาวราช #Chata #รีวิว #TiewJourney #เที่ยวเจอนี่
😊 จบรีวิวเป็นที่เรียบร้อย ขอบคุณที่ติดตามกันน๊าา ผิดตกอย่างไรต้องขออภัยด้วยค่ะ
ติดตามการเดินทางอื่นๆของเราได้ที่
FB : www.facebook.com/tiewjourney
IG : TiewJourney
Tiew Journey : เที่ยวเจอนี่
วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562 เวลา 23.57 น.