มาแล้วครับ..อาทิตย์นี้ผมขอเป็นตัวแทนน้าอ๊อด มาพาเพื่อน ๆ ไปเที่ยวจังหวัด เพชรบูรณ์ ในรูปแบบที่ หลายคน ไม่เคยไปกันแน่นอน...(คาดว่าไม่ต่ำกว่า 80%)...ส่วนใหญ่นิยมไป เขาค้อ ภูทับเบิก กันเนอะ...ตามผมไปดูกันยาว ๆ เหมือนเดิมครับ..ต่อไป จะพยามเอาภาพทริปเที่ยวถ่ายภาพมาฝากกันทุกอาทิตย์นะครับ

สำหรับอุปกรณ์การถ่ายภาพทริปนี้ เหมือนเดิมครับ ใช้ Canon 5DMk3 + 16-35 + 24-70 + 70-300 ...ทุกภาพถ่ายบันทึก raw file แล้วผ่านการปรับแต่งแสงสีก่อนโพสท์ ด้วยโปรแกรม PS+LR ทั่วไปนะครับ

เพื่อนสมาชิกท่านใด ต้องการเที่ยวหาความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ www.museumthailand.com นะครับ

หมายเหตุ...ภาพทั้งหมดถ่ายไว้ช่วง 10/4/2561 นะครับ ทริปนี้ขอเริ่มต้นจากตัวเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์เลยนะครับหลังจากเสร็จจากภารกิจก่อนหน้าและยังไม่อยากจะรีบกลับบ้าน เพราะต้องการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุดเลยก็เลยต้องหาเรื่อง เถลไถลอีกซักนิ๊ด....ช่วงนี้ละครย้อนอดีตกำลังมาแรง ขอเกาะกระแสกับเค้าซักนิดนึง ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ศึกษาอดีตกันซักหน่อยนะคร้าบ......

ที่แรกที่เราจะไปเจาะเวลากันคือ หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน จันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่ 8.30 - 16.30 น. เสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ 9.30 - 15.30 น.....ซึ่งอยู่ในตัวเมืองอยู่แล้วหาง่ายเดินทางสะดวก ใช้เวลา 5 นาทีจากโรมแรมที่ผมพักอยู่ก็ถึง ตัวอาคารเป็นศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์เดิม ซึ่งตอนนี้ได้ย้ายที่ไปอยู่ศูนย์ราชการแล้ว ทางเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์จึงขอเข้ามาใช้พื้นที่และทำเป็นแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์จนกลายเป็นหอโบราณคดีในปัจจุบันนี้ โดยจัดแสดงเรื่องราวของเพชรบูรณ์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงยุคศรีเทพ สมัยสุโขทัย อยุธยาและรัตนโกสินทร์ จนถึงยุคร่วมปัจจุบัน และชื่อ เพ็ชรบูรณ์อินทราชัย นั้นได้มาจาก พระนามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสอันดับที่ 72 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่  (น้องนัท เจ้าหน้าที่ของหอโบราณคดี เค้าเล่าให้ฟังนะครับ)

ตามเข้าไปเที่ยวด้านในพร้อม ๆ กันเลยครับ.. ห้องแรกเป็นห้องที่จำลอง โรงหนังแห่งแรกของเพชรบูรณ์ เห็นเก้าอี้นั่งดูหนังก็รู้แล้วว่า คลาสิคแค่ไหน

ห้องที่ 2 ห้องจากเขาคะนาถึงศรีเทพ จัดแสดงประวัติศาสตร์ของเพชรบูรณ์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคศรีเทพ

ห้องที่ ๓ จัดแสดงเกี่ยวกับความเป็นมาของเมืองเพชรบูรณ์ในสมัยสุโขทัย ซึ่งพบหลักฐานสำคัญที่ทำให้รู้ว่าชื่อเดิมของเพชรบูรณ์คือ เพชบุระ ..อันนี้ความรู้ใหม่ของผมเลยนะ

ห้องที่4 จำลองร้านค้าเก่าแก่ของจังหวัดในสมัยก่อน รวมถึงบอกเล่าประวัติความเป็นมาของแต่ละร้านแบบคร่าว ๆ ถ้าใครชอบหามุมถ่ายภาพ กับเพื่อน ๆ แปลกใหม่ แนะนำ ไปเที่ยวตามกระทู้นี้ มุมถ่ายภาพใหม่ ๆ เพียบครับ

ผมชอบร้านนี้เป็นพิเศษเลยครับ...คลาสิคสุด ๆ
มุมนี้เล่าถึงกำเนิดและประวัติความเป็นมาของเมืองเพชรบูรณ์ตั้งแต่ยุคสงครามระหว่างกรุงรัตนโกสินทร์กับอาณาจักรล้านช้าง

ห้องนี้จัดแสดงประเพณี “อุ้มพระดำน้ำ” เป็นประเพณีที่แปลกประหลาดและมีเพียงที่เดียวในโลก นอกจากมีเรื่องราวเชิงอิทธิปาฏิหาริย์ที่ผูกโยงเป็นตำนานความเชื่อส่งต่อกันมาก็ยังนับเป็น “มรดกทางวัฒนธรรม” ที่แฝงไว้ด้วย “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ซึ่งบรรพบุรุษนำความเชื่อและศรัทธาจากชาวบ้านที่มีต่อพุทธศาสนาและองค์พระพุทธมหาธรรมราชา ให้ทุกคนช่วยกันดูแลรักษาแม่น้ำลำคลอง

มุมนี้แสดงชาติพันธุ์ต่าง ๆ และการละเล่นพื้นบ้านของชาวเพชรบูรณ์ ในอดีต

ลาวพุงขาว บรรพบุรุษของคนเพชรบูรณ์  ในความหมายคือการสักขาลายของคนสมัยโบราณที่สักตั้งแต่บริเวณหัวเข่าขึ้นมาจนถึงขาหนีบแต่สักขึ้นมาไม่ถึงบริเวณพุง พุงจึงขาว พบอยู่แถบเมืองหลวงพระบาง ชัยยะบุรี บ่อแตน แก่นท้าว แถบมณฑลอุดรและทางภาคอีสานตอนบน ตลอดจนเมืองเพชรบูรณ์ในอดีต ลวดลายที่สักจะมีรูปตัวมอม นกร้าย ลิงลมเป็นส่วนมาก ส่วนลาวพุงดำจะสักขึ้นมาถึงบริเวณพุง พุงจึงมีรอยสัก เรียกว่าลาวพุงดำ พบอยู่ทางตอนเหนือของสยาม แถบโยนก เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน มีหลักฐานปรากฏอยู่บนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน บนภาพกระซิบรักของปู่ม่านย่า ม่านจะมองเห็นปู่ม่านสักขาลายซึ่งมีลวดลายมาถึงบริเวณพุง

ผีตาโม่ เป็นความเชื่อของคนโบราณที่มีประวัติมายาวนานของผู้คนในท้องถิ่น ผีตาโม่เป็นกลอุบายของคนโบราณเพื่อใช้หลอกลูกหลานไม่ให้ดื้อไม่ให้ซน  

ตามประวัติตาโม่เป็นคนที่มีรูปร่างอ้วน สูงใหญ่ หน้าตาดุแต่มีนิสัยขี้เล่น และชอบดื่มสุรา เมื่อมีงานประเพณีที่ไหนก็จะร่วมด้วยเสมอ โดยแต่งตัวเป็นผีล้อเลียนให้น่ากลัว แล้วนำเอาวัสดุท้องถิ่นที่หาได้ในสมัยนั้น เช่นหวดนึ่งข้าวเหนียว เสื้อผ้าขาดผ้าห่มขาด แหขาด สีของหม้อดิน สีเปลือกไม้มาแต่งแต้มตามร่างกายให้ดูหน้ากลัว ที่เอวจะแขวนกะโหลก กะลา กระดิ่ง เพื่อให้เกิดเสียงดังเวลา เดินหรือเต้น ในมือถือปลัดขิกที่ทำด้วยไม้เนื้ออ่อนหรืออาวุธเที่ยวหลอกหลอนผู้คน และเด็กๆที่มาเที่ยวชมงานสร้างความหวาดเสียวตื่นเต้น น่ากลัวให้กับผู้คนในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก ต่อมาเมื่อตาโม่ได้เสียชีวิตลง ผีตาโม่จึงเป็นที่กล่าวขวัญถึง และติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้คนอย่างไม่รู้ลืม

ภาพจำลองจิตรกรรมฝาผนังวัดศรีมงคล หรือ วัดนาทราย เป็นวัดที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีอายุประมาณ 200ปี ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีเรื่องราวภาพเกี่ยวกับประวัติพระพุทธเจ้าสิบชาติ ภาพนรก-สวรรค์และภาพที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตท้องถิ่นในอดีต

ห้องสมรภูมิเขาค้อ....อนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้ออนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อสร้างเป็นรูปสามเหลี่ยม เป็นหินอ่อนทั้งหมดขนาดและรูปทรงของอนุสรณ์สถานนี้มีความหมายที่สำคัญคือรูปสามเหลี่ยมหมายถึงการปฏิบัติการร่วมกันระหว่างพลเรือนตำรวจทหารฐานอนุสรณ์ กว้าง 11 เมตรหมายถึงปี พ.ศ 2511 อันเป็นปีที่เริ่มการปฏิบัติการรุนแรงของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ความสูงจากแท่นบูชาถึงยอดอนุสรณ์สูง 24 เมตรหมายถึงปี พ.ศ 2524 อันเป็นปีที่เปิดยุทธการครั้งใหญ่ความสูงจากฐานถึงยอดอนุสรณ์ 25 เมตรหมายถึงปี พศ 2525 อันเป็นปีที่สิ้นสุดการรบความกว้างฐานสามเหลี่ยมด้านละ 2.6 เมตรหมายถึงปี 2526 ซึ่งเป็นปีที่สร้างอนุสรณ์แห่งนี้

ฐานกรุงเทพสมรภูมิเดือดบนยอดเขาค้อ  คนในยุคนี้อาจจะรู้จักเขาค้อในมุมที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสวยงามทางธรรมชาติแค่มุมเดียว แต่ว่าในอดีตประมาณ 40 ปีที่แล้ว (ช่วงพ.ศ. 2511-2525 ) เขาค้อเคยเป็นแหล่งสู้รบที่สำคัญมากระหว่างกองกำลังของฝ่ายรัฐกับกลุ่ม ผกค. (ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์)....เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์สำคัญของพวกเราชาวไทยทั้งหลายจะต้องเรียนรู้และจดจำ พื้นที่นี้เต็มไปด้วย นักรบผู้กล้าทั้งพลเรือน ทหาร ตำรวจ จำนวนมากที่ร่วมกันต่อสู้ปราบปรามและสละชีวิตเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ จากกลุ่ม ผกค. ที่ไม่หวังดี

ครบถ้วนเรียบร้อย ได้ความรู้แถม ไม่โดนแดดเลยซักนิ๊ดเดียว..ฮ่า ๆ แอร์เย็นฉ่ำเลยครับ จุดหมายอีก 2 ที่ต่อไปของผมอยู่ที่อำเภอหล่มสักที่ห่างออกไปราว 55 กิโล ใช้เวลาขับรถไปราวๆ 1 ชั่วโมง เข้าห้องน้ำห้องท่า และหากาแฟไปกินบนรถแล้วก็ตั้ง GPS ไปกันได้เลยครับ

อนุสรณ์สถานเมืองราดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนนะครับ ด้านหน้าของอนุสรณ์สถานเมืองราดเป็นที่ประดิษฐานของรูปปั้นพ่อขุนผาเมืองในท่ายืน มือข้างซ้ายชี้นิ้วลงยังแผ่นดิน อันหมายถึงแผ่นดินตรงนี้คือ บ้านเกิดของท่านล้อมรอบด้วยเสาสูง 5ต้นโดยที่เสาทั้ง5ต้นนี้หมายถีงพระพุทธเจ้า5พระองค์

ส่วนที่ 2 เป็นส่วนจัดแสดงเผยแพร่เกียรติประวัติของ พ่อขุนผาเมืองรวมถึงสิ่งที่น่าสนใจ รวมถึงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาวหล่มสัก โดยจัดแสดงอยู่ในอาคารหลังคาสีส้มด้านหลังรูปปั้นพ่อขุนผาเมืองครับ...ส่วนจัดแสดงก็จะเรียบง่ายเป็นกันเองหน่อย ๆ เป็นอาคารชั้นเดียวไม่ติดแอร์นะครับ แต่ก็โปร่งโล่งดีไม่ได้ร้อนอึดอัดอะไรเดินชมได้สบาย ๆ

ไปดูกันครับว่ามีอะไรให้เราดูกันบ้าง บอร์ดนี้เป็นประวัติของพ่อขุนผาเมือง

อันนี้เป็นเครื่องใช้สมัยก่อน เคยใช้เตารีด ที่ก่อนรีดต้องเอาถ่านหุงข้าวร้อน ๆ รีดผ้ากันมั๊ย...และผ้าทอโบราณ สวยงาม มากครับ

เครื่องใช้ในครัวพวกหม้อน้ำ และไหดินเผา

หลักเมืองจำลอง และชุดชาวม้ง บ่งบอกได้ว่า สมัยก่อน มีชาวไทยภูเขา อาศัยอยู่ในแถบนี้มากพอสมควร

อนุสาวรีย์จอมพล ป. และเครื่องมือหาปลา (บอกตรง ๆ ว่าเหมือนเจาะเวลาย้อนอดีตจริง ๆ ผมเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ แล้ว)
ครัวไทยโบราณ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ตะเกียงเจ้าพายุ นี่เป็นของต้องมีประจำบ้านเลยนะครับ ให้ความสว่างมาก ๆ เด็กรุ่นใหม่ อาจจะจุดตะเกียงแบบนี้ไม่เป็นนะครับ ภูมิปัญญามนุษย์ ที่ใช้ไอน้ำมันจุดไฟให้แสงสว่างได้นาน ๆ โดยใช้ใส้ตะเกียงจากใยผ้าเป็นตัวรับความร้อนให้แสงสว่างครับ

มุมนี้เป็นเรื่อง การทอผ้า

คนโทใส่น้ำ หอกโบราณ ที่คาดผมโบราณ  ดาบ และใบหอก สมัยโบราณทั้งนั้นครับ

มูลบทบรรพกิจ ผมนี่รีบกูเกิ้ลดูเลย มูลบทบรรพกิจเล่มนี้เป็นหนังสือแบบเรียนภาษาไทยสมัยโบราณ เป็นตำราที่ว่าด้วยรูปสระ พยัญชนะ ตัวอักษร วรรณยุกต์ และเครื่องหมายพิเศษต่าง ๆ มีแบบฝึกหัด อ่านเป็นกาพย์ เรื่อง พระไชยสุริยา ของสุนทรภู่

แต่งโดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)  ในปี พ.ศ. 2414  * ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

เวลาเรามีน้อยรีบไปที่ต่อไปเลย พิพิธภัณฑ์หล่มสัก อยู่ห่างจากนี่แค่ 10นาที ขับรถไปอีก 6 กิโลก็ถึง แนะนำเข้าไปจอดรถใน พิพิธภัณฑ์ให้เรียบร้อย แล้วแวะกินผัดไทย้อนยุค ร้านตรงข้ามพิพิธภัณฑ์รองท้องก่อนก็ดีนะครับอร่อยที่เดียวเชียวแหละ

ที่นี่ผมได้เจอกับน้องพีทและน้องโบว์เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่น่ารักทั้งคู่ ต้อนรับและพาชมพร้อมยังอธิบายให้ความรู้ในทุกๆส่วนที่จัดแสดงได้อย่างมืออาชีพมากๆ ขอขอบคุณดังๆ อีกครั้งตรงนี้นะครับ ตัวอาคารพพิพิธภัณฑ์รูปทรงโคโลเนียลประยุกข์2ชั้น ที่เด่นมากสังเกตเห็นได้มาแต่ไกลด้วยสีและขนาดที่ใหญ่โตแถมยังมีความเป็นไทยผสมอยู่อย่างลงตัวเป็นที่ทำการของพิพิธภัณฑ์หล่มสักในปัจจุบัน (ในอดีตเคยเป็นสำนักงานเทศบาลมาก่อน)

ภายในอาคารแบ่งพื้นที่จัดแสดงเป็น 2 ชั้นแต่ละชั้นแยกเป็นเป็นห้องๆ เพื่อความชัดเจนตามเนื้อเรื่องที่จะนำเสนอ

พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมฟรี วันพุธถึงวันศุกร์ เวลา 09.00-16.00 น. โดยแบ่งเป็น 4 รอบ รอบที่หนึ่ง 09.00-10.00 น. รอบที่สอง 10.30- 11.30 น. รอบที่สาม 13.30-14.30 น. และรอบที่สี่ 15.00-16.00 น. ในวันเสาร์ เปิดเวลา 17.00 ถึง 21.00 น. เข้าชมได้ตลอด หยุดวันอาทิตย์ จันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ไปครับเราไปไล่ดูกันเลยว่ามีอะไรยังไงบ้าง ...ชั้นล่างเริ่มต้นที่ห้องภาพยนตร์ เป็นที่ๆ นักท่องเที่ยวจะได้รับชมเรื่องราวที่นำเสนอเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนไทหล่ม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโดยมีแก่นของเรื่องคือ คนไทหล่มคือใคร มาจากไหน ดำรงชีวิตกันอย่างไร และเมืองหล่มสักมีอะไรที่น่าสนใจผ่านการนำเสนอในรูปแบบภาพยนตร์

ห้องหล่มสักในอดีต ห้องนี้จะจำลองเมืองหล่มสักเมื่อ ซัก60 ปีที่แล้ว จัดแสดงร้านค้าที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นไม่ว่าจะเป็นร้านตัดผมปรีชาเกศา โรงฝิ่นหล่มสักซึ่งเป็นโรงฝิ่นที่ใหญ่ที่สุดในเพชรบูรณ์ ร้ารกาแฟหมุยหลีสภากาแฟอันดับหนึ่งของเมือง และโรงภาพยนตร์เบญจบันเทิงซึ่งเป็นโรงหนังแห่งแรกของเมืองหล่มสัก

ร้านตัดผมปรีชาเกศา เป็นร้านตัดผมของนายปรีชา พาแก้ว หรือนายปรีชาขาแหย่ง ตามสมญานามที่ได้รับจากลูกค้า “ขาแหย่ง” ภาษาคนหล่มมีความหมายว่า ขาไม่เท่ากัน ร้านปรีชาเป็นห้องแถวไม้ ๒ ชั้น ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามตรอกโรงยา ชั้นบนใช้เป็นที่พักชั้นล่างเปิดเป็นร้านตัดผม ใช้ปัตตาเลี่ยนมือ มีลูกค้าจำนวนมากนั่งรอบนเก้าอี้ไม้ด้านหลัง รวมถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มาใช้บริการกันเป็นประจำ ลูกค้าใช้เวลาว่างขณะรอตัดผมนั่งเล่นหมากรุกและฟังเพลงจากวิทยุใส่ถ่านที่มีอยู่ภายในร้าน

โรงฝิ่นหล่มสัก โรงฝิ่นหล่มสักตั้งอยู่บริเวณตลาดนายหมาย นายสง่า ย่านการค้าใจกลางเมืองหล่มสัก เป็นที่มาของคำว่าตรอกโรงยามาถึงปัจจุบัน สภาพโรงฝิ่นเป็นห้องแถวไม้ ขนาดใหญ่ ๓ คูหา ลักษณะเป็นห้องโถงมีเตียงสูบฝิ่น ๔ แถว สองแถวหันหัวเข้าผนัง ตรงกลางเป็นแถวใหญ่หันหัวขนกันมีทางเดินที่ปลายเท้าจีนเต็งหรือคนรับใช้มาบริการจุดฝิ่นนำฝิ่นมาให้ลูกค้า จัดว่าเป็นโรงฝิ่นขนาดใหญ่สามารถรองรับลูกค้าสูบฝิ่นได้ถึง ๓๐ คน

โรงสูบ ฝิ่นสมัยหนึ่งเป็นสิ่งถูกกฎหมาย มีการทำสัมปทาน มีนายอากรโรงฝิ่น เปิดอยู่ทั่วทุกหัวเมืองใหญ่ ๆ คนสูบฝิ่นเชื่อว่าสูบฝิ่นนอกจากจะเคลิบเคลิ้มแล้วยังช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้อีกด้วย คนสูบฝิ่นเชื่อว่าจะคลาสสิคกว่าคนสูบกัญชาเพราะว่าคนสูบฝิ่นจะเยือกเย็น พูดจาช้า ๆ ไม่เอะอะโวยวาย คนสูบฝิ่นส่วนมากจะเป็นคนไทยเชื้อสายจีนและเป็นคนที่มีฐานะ ลูกค้าคนสำคัญจะมีอุปกรณ์การสูบฝิ่นเฉพาะคน พวกกล้องสูบฝิ่น เสื่อปูพื้น หรือหมอนสูบฝิ่น เวลาสูบฝิ่นจะมีกลิ่นคลุ้งไปทั่ว บางคนบอกว่ากลิ่นหอมมาก

ร้านกาแฟ หมุยหลี สภากาแฟอันดับหนึ่งของเมืองหล่ม ตั้งอยู่ปากตรอกโรงฝิ่น ถนนรณกิจ หมุยหลีเป็นชื่อเจ้าของร้านกาแฟ เป็นคนจีนไหหลำมีภรรยาคนไทยชื่อยายคำมวล ซึ่งมีพื้นเพเดิมเป็นคนหล่มเก่าเปิดร้านขายกาแฟชงกาแฟได้ทั้งคู่ แต่ลูกค้าจะติดใจรสชาติของยายคำมวลมากกว่าเนื่องจากได้นมเยอะ โดยสภาพร้านเป็นห้องแถวไม้สองชั้น ชั้นล่างไว้สำหรับค้าขายส่วนชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ภายในร้านจะห้อยตะเกียงแสงจันทร์และนาฬิกาแมงดาแปดเหลี่ยมแขวนผนัง บริเวณกลางร้าน มีโอ่งมังกรสำหรับใส่น้ำตาลทราย ด้านหน้าร้านคือถนนรณกิจซึ่งสมัยนั้นยังเป็นดินลูกรัง เต็มไปด้วยหลุม บ่อ สภากาแฟที่นี่จะคึกคักช่วงเช้า ช่วงเที่ยงเป็นน้ำแข็งใสที่ขายดี โดยเฉพาะน้ำแข็งใสโปะแตงโม ราดด้วยน้ำสละแล้วโรยด้วยนมข้นหวานถือได้ว่าเป็นสินค้าขายดีประจำร้าน หมุยหลี กาแฟร้อนสมัยนั้นถ้าซื้อกลับบ้านจะใส่กระป๋องนม ร้อยด้วยเชือกปอกล้วย สนนราคาประมาณ ๑ บาท นมร้อน นมเย็น โอเลี้ยง โอยัวะ มีครบ แถมยังมีมะพร้าวอ่อนเฉาะขายเป็นลูก ๆ เกือบทุกวัน บริเวณหลังร้านมีกองแกลบหมกน้ำแข็งกั๊กหรือน้ำแข็งก้อนใหญ่ ๆ สมัยโบราณ สำหรับให้ลูกค้าแบ่งซื้อเป็นมือเพื่อนำกลับไปแช่น้ำกินที่บ้าน ขนาดน้ำแข็ง ๑ ลูก มี ๒ กั๊ก โดยแต่ละกั๊กสามารถแบ่งออกได้เป็น ๔ มือ

ห้องเสน่ห์เมืองหล่มสัก รวบรวมและจัดแสดงเอกลักษณ์ของเมืองหล่มสัก 2 อย่างด้วยกัน ก็คือหุ่นขี้ผึ้งหน้าใหญ่ซึ่งเป็นสามล้อถีบคนสุดท้ายของเมืองหล่มสัก เป็นคนยิ้มเก่งมีมนุษย์สัมพันธ์ทีดี เป็นตัวแทนลักษณะนิสัยของคนหล่มสัก และคนตีมีดบ้านใหม่เป็นวิถีชีวิต ของคนหล่มสัก ที่เป็นภูมิปัญญาของคนลาวหลวงพระบาง (เชื่อกันว่าบรรพบุรุษของคนตีมีดบ้านใหม่เป็นคนลาวที่ถูกกวาดต้อนมาสมัยสงคราม ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์)

น้าใหญ่...สามล้อถีบคันสุดท้ายของหล่มสัก คาดผ้าขาวม้าเป็นเอกลักษณ์ เป็นคนง่าย ๆ ไม่เคยเรียกค่าจ้าง เรียกง่าย...ใช้ง่าย ใคร ๆ ก็รัก

พื้นเพดั้งเดิมของ คนตีมีดบ้านใหม่ ย้อนหลังไปเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีที่แล้ว บรรพบุรุษของกลุ่มตีมีดบ้านใหม่เดิมเป็นช่างตีมีดอยู่ที่เมืองเวียงจันทร์ แต่ถูกกวาดต้อนมาเมืองไทย เมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยกบฏเจ้าอนุวงศ์ ส่วนหนึ่งอยู่ที่หมู่บ้านอรัญญิกจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  และอีกกลุ่มหนึ่งมาที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ การโยกย้ายถิ่นฐานในครั้งนั้นเป็นการยกมาทั้งครอบครัว จำนวนหลายสิบครอบครัว ซึ่งล้วนเป็นช่างฝีมือโดยเฉพาะมีทั้งช่างทำทองและช่างตีมีด ด้วยกุศโลบายอันแยบยลของกองทัพไทยคือเมื่อนำช่างตีมีดมาแล้วก็จะเป็นการตัดตอนการทำอาวุธของฝ่ายตรงข้ามจึงเกณฑ์ทัพช่างฝีมือเหล่านี้มา และให้อยู่ที่คุ้มโนนสะทอน เพื่อผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็ก ประเภทมีด พร้า จอบ เสียม ของใช้ เพื่อการเกษตรและเครื่องใช้ในครัวเรือน ปัจจุบันกลุ่มตีมีดบ้านใหม่จัดว่าเป็นกลุ่มตีมีดที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทยเมื่อกล่าวในเรื่องของรูปแบบและขั้นตอนการทำงานในรูปแบบโบราณที่ยังคงใช้ฝีมือและแรงงานโดยมนุษย์เป็นหลักส่วนเรื่องของการสืบทอดนั้นมีการสืบทอดวิชากันภายในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่โดยสมาชิกของกลุ่มมีทั้งหมด ๕๐ คนที่ยังคบสืบสานวิชาตีมีดเพื่อเลี้ยงชีพและยังคงสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ห้องหล่มสักเมื่อวันวาน เก็บรวบรวมภาพถ่ายของชาวหล่มสักโดยฝั่งซ้ายมือจนเกิดภาพถ่ายในยุคปัจจุบัน ขวามือเป็นภาพถ่ายในยุคอดีต และตรงกลางเป็นภาพถ่ายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่9และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาบนแผ่นดินเมืองหล่มสัก

ไปต่อชั้นบนกันครับ ห้องของกินบ้านเฮา ห้องนี้จัดแสดงเกี่ยวกับอาหารของคนไทหล่ม แยกเป็นสองส่วนคืออาหารพื้นบ้านและอาหารชวนชิม อาหารพื้นบ้านเป็นอาหารดั้งเดิมที่คนไทหล่มกินกันมาเป็นเวลานาน เช่น เมี่ยงค้น น้ำพริกขี้ปู ซุบใบมะม่วง ฯลฯ อาหารบางอย่างยังปรากฏให้เห็น แต่บางส่วนอาจจะลืมเลือนไปบ้าง ส่วนอาหารชวนชิม เป็นอาหารอร่อยที่แนะนำหรือให้ผู้มาเยือนได้มาลองชิม

อาหารต้องห้ามพลาดสำหรับผู้มาเยือน

        หนมเส้น มีอยู่ทั่วไปทั้งในเมืองและนอกเมือง แต่ความอร่อยจะแตกต่างกันออกไป นอกจากผักสด ผักต้มที่เป็นเครื่องเคียงแล้ว น้ำราดหนมเส้น ยังแตกต่างกันไป เช่น น้ำพริก (น้ำหวาน) น้ำยา น้ำยาป่า น้ำปลาร้าที่มักกินคู่กับต่อนปลา (ปลาดุกต้มชิ้นเล็ก)

        ลาบเป็ดหล่มสัก อาหารแนะนำสำหรับผู้มาเยือน รสชาติและความอร่อยเป็นที่ยอมรับกันว่าหากมาเยือนเมืองหล่ม อาหารที่ห้ามพลาดอย่างหนึ่งคือลาบเป็ด

        ลาบเป็ดหล่มสักต่างกับลาบเป็ดทั่วไปอย่างไร ตอบว่าต่างกันตรงที่ลาบเป็ดหล่มสัก นอกจากรสชาติจะนัวแล้วยังมีการใส่ เครื่องเจียว พวกหอมแดง กระเทียม ข่า ตะไคร้ บางแห่งมีการโรยหน้าด้วยหนังเป็ดทอดจึงทำให้ลาบเป็ดหล่มสักมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร

น้ำพริกขี้ปู ขี้ปูทำมาจากปูนา นำปูมาแปลรูปเคี่ยวจนกลายเป็นผลึกเหมือนกะปิ จากนั้นนำมาปรุงเป็นอาหาร ใส่พริกบีบมะนาว ปรุงรสเรียกว่าน้ำพริกขี้ปู กินกับหน่อไม้ต้มเป็นของคู่กัน

ห้องไทหล่ม  ห้องนี้จะตอบคำถามว่าคนหล่มคือใครมาจากไหน

ไทหล่ม เป็นคนเชื้อสายลาวที่มีต้นกำเนิดอยู่ทาง เมืองหลวงพระบาง ไชยะบุรี บ่อแตน แก่นท้าว และเรื่อยลงมาทางใต้ จนถึงท่าลี่ เชียงคาน ด่านซ้าย นครไท ชาติตระการ น้ำปาด ฟากท่า และมาจนถึงบริเวณเมืองหล่มในจังหวัดเพชรบูรณ์  บรรดาผู้คนในพื้นที่เหล่านี้ ล้วนแต่มีวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต ตลอดจนอาหารและภาษาเป็นอย่างเดียวกันหมด จึงอาจเรียกเพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้นว่ากลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เป็น ลาวหลวงพระบาง ซึ่งจะแตกต่างจากลาวเวียงจันทน์ และคนล้านนา

สาวนุ่งซิ่นหัวแดง ตีนก่าน “ซิ่นหัวแดงตีนก่าน” เป็นการเรียกผ้าซิ่นชนิดหนึ่งที่หญิงไทหล่มนิยมใส่มากที่สุด โดยเรียกตามองค์ประกอบซิ่นที่มองเห็นเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ มีหัวสีแดง(ส่วนที่อยู่ด้านบนใช้เหน็บเอว) มีตัวมืดทึมลายเล็กละเอียดแทบไม่เห็นลวดลาย มีตีนที่เป็นเส้นแนวนอน ขวางกับตัวซิ่น ที่เรียกว่า ลายก่าน จึงเป็นที่มาของ “ซิ่นหัวแดงตีนก่าน” นั่นเอง

ลาวพุงขาว บรรพบุรุษคนไทหล่ม

คนไทหล่ม ส่วนใหญ่เป็นคนที่สืบเชื้อสายมาจากลาวหลวงพระบาง ผู้ชายบรรพบุรุษของไทหล่มจึงนิยมสักขาแค่ส่วนขาท่อนบน ไม่สูงขึ้นไปถึงพุงและเอว อย่างที่คนสยามเรียกคนกลุ่มที่สักแบบนี้ว่า ลาวพุงขาว ต่างจากคนแถบล้านนา แพร่ น่าน ที่นิยมสักเลยสูงขึ้นไปถึงพุงและเอว ที่คนสยามเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ลาวพุงดำ จึงอาจกล่าวได้ว่าเมืองหล่มเป็นพื้นที่ที่ลาวพุงขาวอยู่อาศัยมาแต่ดั้งเดิม

ห้องวัฒนธรรมล้านช้างจัดแสดงวิถีชีวิต ประเพณีความเชือของคนไทยหล่ม

บ้านคนไทหล่ม ลักษณะเป็นบ้านไม้สองชั้นใต้ถุนสูง หลังคาจั่วแบบบ้านคนไทยทั่วไป บางบ้านที่หน้าจั่วจะมีลวดลายประกอบ ชั้นบนแบ่งเป็นส่วนห้องนอนและห้องโถงโล่งกลางบ้าน ส่วนมุมหนึ่งจัดทำเป็นครัวสำหรับประกอบอาหารแยกอย่างเป็นสัดส่วนชัดเจน มีการแขวนภาชนะที่ใช้ในการปรุงอาหารกับไม้ระแนงที่ตีขึ้นมาเป็นส่วนผนังห้องครัว เพื่อระบายลมขณะประกอบอาหารซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่สุดของบ้านไทหล่มก็อาจจะกล่าวได้ ส่วนหน้าบ้านเป็นระเบียงบ้านสำหรับนั่งเล่น บางบ้านมีม้านั่งยาวและพนักพิงหลัง ส่วนของระเบียงบ้านอยู่ไม่ไกลจากบันไดทางขึ้นบ้านที่มีหลังคาคลุมกันแดด กันฝนบริเวณส่วนของบันไดโดยเฉพาะ

ประเพณีแห่ต้นดอกผึ้งหรือปราสาทผึ้ง  การทำต้นดอกผึ้งหรือปราสาทผึ้งนั้นเป็นค่านิยมที่มีมาแต่โบราณ จุดประสงค์หลักก็คือ ทำเป็นเครื่องสักการบูชา สำหรับบูชาพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อนำขี้ผึ้งไปถวายพระภิกษุสงฆ์ให้ได้นำไปใช้ประโยชน์ และยังเชื่อว่าสามารถอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ญาติผู้ล่วงลับอีกประการหนึ่งด้วย และยังมีความเชื่อในการถวายบูชาแก่เทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือเป็นต้นว่าการแก้บนวิญญาณ ผีเจ้า ผีนาย ที่ตนได้บนบานสานกล่าวไว

(ดอกผึ้ง คือการนำเอาขี้ผึ้งนำมาต้มให้ละลายแล้วทำแบบจากผลมะละกอ แกะสลักเป็นรูปดอกไม้นำมาจุ่มลงในน้ำขี้ผึ้ง แล้วนำมาจุ่มลงในน้ำเย็นอีกทีหนึ่ง ขี้ผึ้งที่เกาะกับแม่พิมพ์ก็จะหลุดออกมามีลักษณะเหมือนดอกไม้)

ฮูปแต้มหรือรูปแต้มในที่นี้หมายถึงภาพเขียนสี ที่ผนังของโบสถ์หรือสิม ซึ่งเขียนโดยช่างพื้นบ้านด้วยความเลื่อมใสและศรัทธาในพระพุทธศาสนา ลวดลายที่เขียนเป็นไปตามจิตนาการของช่างเขียน

พิธีกวนข้าวทิพย์ เป็นประเพณีที่ได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตามที่นางสุชาดาได้กวนข้าวทิพย์ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ แล้วนำไปถวายพระพุทธเจ้าก่อนที่ตรัสรู้ 1 วัน โดยถือว่าได้บุญมาก ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธจึงพร้อมใจกันกวนข้าวทิพย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และยังช่วยสร้างความพร้อมเพียงในชุมชน และถือเป็นการรักษาวัฒนธรรมอันดีงาม

พิธีกวนข้าวทิพย์ เริ่มต้นด้วยพิธีพราหมณ์ ตั้งบายศรีบวงสรวงเทพยาดา จากนั้นเริ่มพิธีกวนข้าวทิพย์ โดยการนำเอาข้าวที่ยังเป็นน้ำนม (ข้าวที่เพิ่มออกรวงใหม่ ที่เมล็ดยังเป็นแป้ง นำมาเอาเปลือกออก) พร้อมด้วยเครื่องปรุงข้าวทิพย์ คือมลคล ๙ สิ่ง ได้แก่ นม เนย ถั่ว งา น้ำอ้อย น้ำตาล น้ำผึ้ง แลผลไม้ต่าง ๆ ใส่รวมกันลงไป แล้วกวนให้ข้าวสุกจนเหนียว การกวนข้าวทิพย์นี้จะต้องใช้สาวพรหมจรรย์ นุ่งขาวห่มขาวอย่างน้อย ๔ คน เป็นผู้กวนในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ จากนั้นช่วยกันปั้นข้าวทิพย์เป็นก้อน ๆ ถวายแด่พระภิกษุภายในวัด และจัดแบ่งไปถวายพระภิกษุตามวัดต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ที่เหลือแจกจ่ายให้แก่คนที่ไปร่วมทำบุญในวันนั้น เพื่อเป็นการให้ทาน

ห้อง เฮ็ดเวียกเฮ็ดงาน หรือห้องทำการทำงานที่แสดงถึงอาชีพของคนหล่มในสมัยก่อน...เมืองหล่มสัก มีใบยาสูบและมะขามหวานเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยมีมะขามหวานพันธ์ปากดุกเป็นผลไม้ประจำจังหวัด

ตำนานการขุดทองที่อำเภอน้ำก้อ เราเคยมีช่วงตื่นทองแบบอเมริกาด้วยนะ 555 ขุดกับแบบจริงจังมาก แต่สุดท้ายค้นพบเพียงทองเนื้อ 6 ซึ่งไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจใด ๆ เลยเลิกตื่นกันไปในที่สุด

ใบลาน หรือต้นลูกฆ่าแม่ คือเมื่อต้นลูกออกมาต้นแม่ก็จะตาย เป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่ส่งออกไปประเทศไต้หวันใช้เป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องสานต่าง ๆ

เดินครบแล้วชอบมากครับแอร์เย็น เดินสบาย จั๊กกูแร้ไม่เปียกเลย 555 ได้รับความรู้เยอะแยะมากมายเนื้อหาที่คัดมานำเสนอน่าสนใจดี การนำเสนอทำได้ดีมากไม่แพ้พิพิธภัณฑ์ใหญ่ ๆ แถมเจ้าหน้าที่ยังเอาใจใส่และต้อนรับนักท่องเที่ยวดีมาก ๆ เอาไปเลย 5 ดาว จากนี้เราจะไป แก่งบางระจันกัน อยู่ที่หนองแม่นา อำเภอเขาค้อ เป็นอีกหนึงอันซีนที่น้องนัท(เจ้าหน้าที่ที่หอโบราณคดีแนะนำไว้เมื่อเช้า) เค้าเล่าว่าเป็นแหล่งแมงกะพรุนน้ำจืดเพียงไม่กี่แห่งในโลกเลย ผมก็เชื่อคนง่ายซะด้วยว่าแล้วก็หาข้อมูลแล้วตามไปดูกัน

หลังจากหาข้อมูลได้ครบถ้วนเจ้า GPS บอกว่า 62กิโล 1 ชั่วโมงครึ่งนะครับพี่....เอ้า ไปก็ไปครับรีบไปเพราะยังไงคืนนี้ผมก็ตั้งใจจะไปพักในเขาค้ออยู่แล้วออกนอกรายการย้อนอดีตซักหน่อยคงไม่โดนใบแดงหลอกนะ ...ขับรถขึ้นเขาลงเขานิดหน่อยให้พอเสียวก็มาถึงละครับ แก่งบางระจัน อยู่ที่บ้านทานตะวัน หมู่5 อำเภอเขาค้อ

เอาละนะเราจะลงเรือล่องแก่งบางระจันตามหาออเจ้ากันละนะ .......555... แมงกะพรุน ก็ได้ครับ

บรรยากาศช่วงพายเรืองเข้าไปยังแก่งบางระจันซึ่งเป็นส่วนนึงของลำน้ำเข็กครับ

ช่วงนึงก่อนที่จะถึงแก่งบางระจัน จะเจอซากไม้ใหญ่ล้มขวางทางอยู่สวยเชียว เราใช้เวลาประมาณ 40 นาทีจากจุดเริ่มต้นก็จะมาถึงแก่งบางระจันจุดหมายของเรา (เลยจากจุดไม้ลมไปนิดเดียวครับ)

วันนี้โชคคงไม่เข้าข้างเรานักแดดไม่มีเลยแถมอยู่ ๆ ฝนก็ตกลงมาซะอีก ทั้งผีเสื้อทั้งแมงกะพรุนเลยพร้อมใจกันหายไปหมด ยังโชคดีที่สุดท้ายเราก็ได้เห็นตัวเป็นๆ 1ตัวถ้วนไม่งั้นคงนอนไม่หลับแน่ ๆ ตัวจริงตัวเล็กมากนะครับขนาดไม่เกินเหรียญบาทตัวบางใส ๆ หาไม่ง่ายเลยต้องเล็งกันดี ๆ

เย็นมากแล้วรีบไปที่พักกันดีกว่าคืนนี้เราจะไปพักกัน เดอะ เซ็นส์ วิวทะเลหมอก เขาค้อ ช่วงนี้ โลว์ซีซั่น มีโปร ลด 50% เหลือห้องละ 2 พันหน่อยๆ พร้อมอาหารเช้าครับ

วิวแถว ๆ จุดชมวิว พระอาทิตย์กำลังจะตกแสงสวยที่เดียวช่างต่างกับเมื่อกี้เหมือนอยู่กันคนละประเทศ! เห็นแบบนี้ก็อดที่จะจอดแวะ ถ่ายภาพไม่ได้อีก 555 มืดก็ยอมละทีนี้

ถึงละครับที่พักคืนนี้สวยเชียวริมสุดนู้นเป็นร้านอาหารได้มุมพระอาทิตย์ ดูแล้วมุมอาจจะดีกว่าตรงจุดชมวิวที่ผมไปยืนถ่ายรูปอยู่เมื่อกี้ด้วย !!! นี่เราทำอะไรลงไป555

ทางเดินลงไปบ้านพักครับ ลงไปไกลลิบ ๆ นู้นนนนนนน ไม่เหมาะกับ สว ที่มีปัญหาข้อเข่าอย่างยิ่ง ขาลงไม่เท่าไหร่แต่ขาขึ้นนี้เหนื่อยแน่ ๆ ครับ

ห้องพักสวยและเงียบสงบดี ...จะไม่สงบได้ไงหน้าโลว์แทบจะไม่มีเพื่อนบ้านเลย ชอบและถูกใจที่สุดครับขอพักผ่อนให้สบายก่อนจะขับรถกลับกรุงเทพยาว ๆ พรุ่งนี้  ฝันดีราตรีสวัสดิ์ครับทุกคน

แถมภาพกิจกรรมตอนเช้าไว้อีกนิ๊ดไหน ๆ ก็ออกไปถ่ายภาพไว้แล้ว ใครเป็นคนตื่นเช้าออกไปยืนตากลมรับแสงทองยามเช้ากัน ภาพแสงเช้ามุมนี้จากแถวๆ ร้านกาแฟ Pino Latte ที่ใครๆ ก็น่าจะรู้จักวิวสวยสมคำร่ำลือจริง ๆ

เห็นวัดพระธาตุผาซ้อนแก้วอยู่ไกล ๆ เดียวกลับโรงแรมกินข้าวเก็บของแล้วเราก็จะไปแวะไหว้พระกันก่อนกลับกรุงเทพครับ

ระเบียง outdoor มุมนี้ ลมเย็น แสงสวย อดไม่ได้ที่จะแอบถ่ายสาว ๆ ซักหน่อย 555

รูปนี้จากวัดพระธาตุผาซ่อนแก้วครับ วัดใหญ่มากมีมุมสวย ๆ ให้ถ่ายรูปเยอะเลยจริง ๆ ผมใช้เวลาอยู่ที่นี่อีกหลายชั่วโมง แต่ขอฝากรูปจากที่นี้ไว้ใบนึงก่อนพอ เพราะทริปนี้เราเน้นเจาะเวลาหาอดีตกัน แล้วเจอกันใหม่โอกาสหน้าตอนนี้ขอตัวขับรถกลับบ้านก่อนละครับทุกคน บุญรักษาครับ

คอยติดตามอาทิตย์หน้านะครับ  ...รอชมว่าผมจะพาไปเที่ยวเมืองไทย ที่ไหนต่อไปครับ

โชคดีมีเงินใช้ทุกท่านครับ จริงครับ ส่วนใหญ่ คนไม่ค่อยแวะเที่ยว ศึกษาหาความรู้กัน..คิดว่าเป็นเรื่องไม่สนุกครับ...ปัจจุบันหลายพิพิทธภัณฑ์ ก็พัฒนาตามยุคสมัยดีขึ้นมากแล้วครับ....ขอบคุณครับ น้าโลว์แบตฯ
ความคิดเห็น