พระราชวังกรุงธนบุรี (วังเดิม)

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทยได้ใน พ.ศ. 2310 นั้น ก็ทรงโปรดฯให้สร้างพระราชวังกรุงธนบุรีขึ้นพร้อมกับสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี แทนกรุงศรีอยุธยาที่ถูกทำลายลงยากที่จะบูรณะกลับมาดั่งเดิม

พระราชวังกรุงธนบุรีใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เชื้อพระวงศ์ตลอดจนข้าราชการระดับสูงในยุครัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 พระราชทานให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ (ปัจจุบัน โรงเรียนนายเรือตั้งอยู่ที่ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ) ปัจจุบันพระราชวังกรุงธนบุรีอยู่ในความดูแลของมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานและกองทัพเรือ ตั้งอยู่ในพื้นที่ภายในกองบัญชาการกองทัพเรือ (เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพ) เพราะฉะนั้นจึงไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าชมพระราชวังกรุงธนบุรีเว้นแต่จะแจ้งความจำนงค์หรือเปิดให้เข้าชมเนื่องในวันพิเศษต่างๆ

และในปี พ.ศ. 2562 นี้ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานภายในพระราชวังเดิม ได้ร่วมกับกองบัญชาการกองทัพเรือ เปิดพระราชวังกรุงธนบุรีให้บุคคลภายนอกเข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งวันที่ 14 - 28 ธันวาคม 2562 จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้เยี่ยมชมและศึกษาประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี


การเดินทางนั้นเริ่มจากรถโดยสารประจำทาง สาย 1 จากเยาวราชเพื่อไปท่าเตียนนั่งเรือข้ามฟาก โดยเราจะใช้บริการรถโดยสารประจำทางสาย 1 ที่ถนนเยาวราช ไปลงที่วัดโพธิ์ จากนั้นก็เดินตรงขึ้นไปจนสุดถนน (ถนนมหาราช)

จุดตัดระหว่างถนนมหาราชกับถนนท้ายวัง
บรรยากาศบริเวณท่าเตียน (ถ่ายจากกำแพงพระบรมมหาราชวัง ฝั่งด้านถนนท้ายวังและถนนมหาราช)

จากริมกำแพงพระบรมมหาราชวัง ฝั่งด้านถนนท้ายวังและถนนมหาราช เมื่อมองตรงไปจะเห็นตึกตรอกซอย ตรงนั้นด้านในสุดจะเป็นท่าน้ำ เรียกว่า "ท่าเตียน"

ท่าเตียน (ท่าน้ำเดินเข้าไปในซอยด้านข้าง)

เมื่อเราเดินเข้าไปในซอยจะพบว่าด้านซ้ายมือของเราที่เป็นตึกแถวสีเขียว-เหลืองนั้นมีพ่อค้าแม่ค้าเปิดร้านขายของ มีทั้งอาหาร เสื้อผ้า ของที่ระลึก และมีคนต่างชาตินักท่องแวะช้อปปิ้งกัน ส่วนท่าน้ำนั้นอยู่ด้านในสุดเลยจ้าาา

ทางขึ้นเรือเดินไปที่ลูกศรชี้เลย

ภาพด้านล่างเป็นทางเข้า-ออกสำหรับขึ้นลงเรือข้ามฟาก ราคาค่าโดยสาร 4 บาท / คน คนไทยกับคนต่างชาติราคาเท่ากันครับ

ทางเข้า-ออกสำหรับขึ้นลงเรือข้ามฟาก ราคาค่าโดยสาร 4 บาท / คน

เมื่อเข้ามาด้านในจะเห็นร้านค้าขายของที่ระลึก และเราก็ต่อคิวเพื่อรอขึ้นเรือข้ามฟาก เมื่อถึงคิวเราก็จ่ายค่าโดยสาร 4 บาท แล้วเดินออกไปขึ้นเรือได้เลย

ต่อคิวรอจ่ายค่าโดยสาร 2 ข้างจะเป็นร้านขายของที่ระลึก
เมื่อผ่านจุดจ่ายค่าโดยสารแล้วเราก็เดินขึ้นเรือได้เลยจ้า
ฝั่งตรงข้ามเรียกว่า ฝั่งธนบุรี ส่วนที่เห็นในภาพบนคือพระปรางค์วัดอรุณฯ

เมื่อมาถึงฝั่งธนบุรีแล้ว ให้เราเดินตรงไปเรื่อยๆ จะพบทางเข้าวัดอรุณฯ อยู่ทางซ้ายมือ ซึ่งจริงๆแล้วเราสามารถเดินเข้าวัดอรุณฯเพื่อไปพระราชวังกรุงธนบุรีได้เลย แต่ด้วยความที่ไม่แน่ใจ จึงถามแม่ค้าเท่านั้นก่อน แม่ค้าบอกว่าประตูปิด ให้เดินอ้อมไปทางด้านหลังซึ่งก็คือ ถนนวังเดิม

เมื่อข้ามมาถึงฝั่งธนบุรีแล้วจะมีซอยเล็กๆ เราเดินตรงไป
ประตูเข้าวัดอรุณฯนี้สามารถลัดไปพระราชวังกรุงธนบุรีได้ แต่แม่ค้าบอกว่าปิด ให้เดินอ้อม

เมื่อเราไม่ได้เดินเข้าประตูวัดอรุณฯที่ผ่านมาเมื่อกี้ เราก็เดินตรงไปจนสุดจะเห็นถนนเล็กๆ เรียกว่า ถนนวังเดิม ให้เราเลี้ยวซ้ายแล้วเดินตรงไปเรื่อยๆ ประมาณ 5 นาที

m6qapclbvqrf
ถนนวังเดิม ด้านหลังวัดอรุณฯ

และแล้วเราก็เดินมาถึงด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ ที่ตั้งของพระราชวังกรุงธนบุรี ซึ่งอยู่ในความดูแลของกองทัพเรือ เดินเข้าไปได้เลยครับ ...

ด้านหน้า กองบัญชาการกองทัพเรือ
uzkl7glcwo66

พระปรางค์วัดอรุณฯ ถ่ายจากในกองบัญชาการกองทัพเรือ

เราเดินตรงมาเรื่อยๆ เลี้ยวขวาไปตามถนน (เดินตรงต่อไปไม่ได้เพราะสุดทางคือแม่น้ำเจ้าพระยา) เราก็พบพระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แวะสักการะเพื่อเป็นสิริมงคล

พระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

หลังจากสักการะพระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแล้ว เดินไปอีกนิดนึงจะพบป้อมปืนใหญ่ ชื่อ "ป้อมวิไชยประสิทธิ์" ที่สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชกลับมาได้จึงได้โปรดฯ ให้สร้างพระราชวังหลวงในบริเวณป้อมพร้อมกับสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี และพระราชทานนามใหม่ว่า "ป้อมวิไชยประสิทธิ์"

ป้อมวิไชยประสิทธิ์ สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ด้านในป้อมวิไชยประสิทธิ์
กระบอกปืนทั้ง 4 กระบอก หันออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
ป้อมวิไชยประสิทธิ์

เมื่อได้ชมได้เห็นป้อมวิไชยประสิทธิ์ใกล้ๆอย่างเต็มตาแล้ว ทีนี้เราจะนำท่านเข้าสู่ส่วนที่เรียกว่า พระราชวังกรุงธนบุรี

ประตูทางเข้าสู้พระราชวังกรุงธนบุรี (อยู่ด้านหลังพระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)

เมื่อเราก้าวข้ามเข้ามาในส่วนของพระราชวังกรุงธนบุรี ภายในจะประกอบไปด้วยสถานที่สำคัญต่างๆดังนี้

  1. เรือนเขียว
  2. ตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก
  3. ตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่
  4. ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
  5. ศาลศีรษะปลาวาฬ
  6. ท้องพระโรง
  7. ตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

เรือนเขียว

เรือนเขียวตั้งอยู่ห่างออกจากสถานที่อื่นๆในพระราชวังกรุงธนบุรี เมื่อเราผ่านประตูพระราชวังกรุงธนบุรีเข้ามา เรือนเขียวจะตั้งอยู่ทางด้านซ้ายมือ เรือนเขียวเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2443-2449 เป็นอาคารโรงพยาบาลของโรงเรียนนายเรือ

ในวันที่ไปชมนั้นภายในเรือนเขียวนั้นจัดเป็นห้องชมวิดีโอกล่าวถึงประวัติความเป็นมา / สถานที่ส่วนต่างๆ ภายในพระราชวังกรุงธนบุรี แสดงวัตถุโบราณสมัยกรุงธนบุรีรวมไปถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ เราเลยนำรูปเฉพาะตัวอาคารเรือนเขียวมาให้ชมกันครับ

เรือนเขียว
ระเบียงเรือนเขียว
ระเบียงเรือนเขียว

ตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก - ตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่

ตำหนักเก๋งคู่หลังเล็กและตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ตั้งอยู่ติดกัน เมื่อเราผ่านประตูพระราชวังกรุงธนบุรีเข้ามาตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก - ตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่จะอยู่ด้านขวามือ บริเวณใกล้กับศาลศีรษะปลาวาฬ ตำหนักเก๋งคู่หลังเล็กและตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่สร้างขึ้นในช่วง พ.ศ. 2367-2394 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะนั้นทรงดำรงพระยศ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์)

ตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก (ซ้าย) - ตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ (ขวา)

ปัจจุบันตำหนักเก๋งคู่หลังเล็กใช้จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านการรบและอาวุธโบราณชนิดต่างๆของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ส่วนตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ใช้จัดแสดงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในด้านสังคม เศรษฐกิจ ศาสนาและศิลปกรรม จิตรกรรม สิ่งของ หุ่นจำลองและแผนที่ ภายในตำหนักเก๋งคู่ทั้ง 2 หลัง ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพเช่นกันครับ

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหลังปัจจุบันสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2424-2443 แทนหลังเก่าที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ภายในศาลประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ด้านนอกศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ด้านในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ด้านในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ด้านในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ศาลศีรษะปลาวาฬ

สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2542 บนฐานของศาลหลังเดิมที่ขุดพบขณะสำรวจทางโบราณคดี วัตถุประสงค์ก็เพื่อจัดแสดงกระดูกศีรษะปลาวาฬที่ขุดพบโดยบังเอิญเมื่อปี พ.ศ. 2538


กระดูกศีรษะปลาวาฬที่ขุดพบโดยบังเอิญเมื่อปี พ.ศ. 2538

ท้องพระโรง

ท้องพระโรงตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยท้องพระโรงนั้นสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2310 พร้อมกับพระราชวังกรุงธนบุรีและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ท้องพระโรงประกอบด้วยพระที่นั่ง 2 องค์ คือ "ท้องพระโรง" ใช้เป็นที่ออกขุนนาง และ "พระที่นั่งขวาง" เป็นที่ประทับส่วนพระองค์


พระที่นั่ง"ท้องพระโรง"จัดการแสดงภาพและประวัติความเป็นมา รวมไปถึงขั้นตอนการบูรณะซ่อมแซมส่วนต่างๆของพระราชวังกรุงธนบุรี

ทางเข้า "พระที่นั่งขวาง" เป็นส่วนราชมณเฑียรใช้เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ (ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพด้านใน)

ตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ถัดจากท้องพระโรง สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2367-2394 ในสมัยรัตนโกสินทร์ ด้านหน้าของตำหนักมีปืนใหญ่ตั้งอยู่ ตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้มี 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นที่อยู่ของข้าราชบริพาร (ปัจจุบันใช้จัดแสดงนิทรรศการเงินตรา เครื่องถมทอง เครื่องถ้วยโบราณ) ส่วนชั้นบนเป็นที่ประทับของเจ้านาย (ปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ด้านในไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ

ด้านหน้าของตำหนักมีปืนใหญ่ตั้งอยู่

ชั้นล่างเป็นที่อยู่ของข้าราชบริพาร - ชั้นบนเป็นที่ประทับของเจ้านาย

ครบแล้วสำหรับการเข้าเที่ยวเยี่ยมชมพระราชวังกรุงธนบุรี ในวันนี้ ขากลับนั้นเราสามารถออกทางประตูด้านข้างของกองบัญชาการกองทัพเรือได้ที่บริเวณ อาคาร 6 สำนักงานผู้บังคับบัญชา ทร. ได้เลย ซึ่งพอออกไปก็จะเป็นวัดอรุณฯ


ขากลับออกประตูด้านข้างนี้ได้เลย (ประตูนี้ปิด-เปิดเวลา 9.00-15.00 น.)


วัดอรุณฯ

โอกาสหน้าจะไปเที่ยวเยี่ยมชมที่ไหนจะมาเขียนเล่าให้อ่านอีกนะครับ

ขอบคุณครับ

ข้อมูลพระราชวังกรุงธนบุรีเพิ่มเติม www.facebook.com/wangdermpalace

ภาพถ่ายด้วยกล้อง Canon EOS M50 เลนส์ Canon Ef-m 15-45 mm และ Canon Ef-s 10-18 mm ผ่าน Adapter Canon


ความคิดเห็น