"ไวกูณฐเทพยสถาน พิมานจักรี ศรีสุทธนิวาส

เทวราชสภารมย์ อุดมวนาภรณ์"

เป็นชื่อองค์พระที่นั่งต่างๆที่อยู่ภายในพระราชวังพญาไท จุดเริ่มต้นของพระราชวังพญาไทนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริแปรพระราชฐานและหาทำเลที่เหมาะสมในการทดลองปลูกพืชทำเกษตรกรรม ทำนา จนมาพบที่ดินบริเวณที่เรียกว่า "ทุ่งพญาไท" จึงโปรดฯขอซื้อที่ดินบริเวณนี้เพื่อสร้างพระราชวังไว้สำหรับประทับและทดลองทำการเกษตร จึงเป็นที่มาขอคำว่า "โรงนา" แต่การก่อสร้างพระที่นั่งองค์ต่างๆยังไม่เสร็จสมบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเสด็จสวรรคตก่อน 

การก่อสร้างองค์พระที่นั่งต่างๆเสร็จสมบูรณ์ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กลายเป็น "พระราชวังพญาไท" ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์ได้เสด็จมาประทับพระราชวังพญาไทบ้างในบางครั้งคราว ไม่ได้ประทับเป็นการถาวร และพระองค์ได้ทูลเชิญ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จมาประทับหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้ทรงประทับที่พระราชวังพญาไทยาวนานถึง 10 ปีจวบจนสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จสววรคต

ครั้งจนถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นว่าพระราชวังแห่งนี้ไม่ค่อยได้มีเจ้านายพระองค์ใดเสด็จมาประทับ จึงได้เปลี่ยนจากพระราชวังพญาไทเป็นโรงแรมชั้น 1 ของประเทศ ชื่อว่า "โรงแรม พญาไทพาเลจ" (Phya Thai Palace Hotel) โดยราคาห้องพักคืนละประมาณ 100-120 บาทต่อคืน แต่ทำได้ไม่นานก็ประสบภาวะขาดทุน จึงต้องยกเลิก และหลังจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎร์ได้ใช้พระราชวังแห่งนี้เป็นสถานที่ดูแลรักษาพยาบาลทหารที่บาดเจ็บต่อเนื่องภายหลังต่อมาจึงกลายเป็น "โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า" จึงเป็นที่มาของคำว่า "จากโรงนาสู่ยุคโรงหมอ"

อนึ่งพระราชวังพญาไทเคยใช้เป็นสถานที่ประกอบ "พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" โดยย้ายมาจากทุ่งพระเมรุ(สนามหลวง)ก่อนจะย้ายไปสนามหลวงอีกครั้งในปัจจุบัน


วันนี้ขอนำทุกท่านไปเยี่ยมชมและรู้จักพระราชวังพญาไทให้มากขึ้นจากรีวิวนี้ที่ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมชมมา (ไปเมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2562 แต่กว่าทำรีวิวให้อ่านก็ล่วงเลยไปถึง มกราคม พ.ศ. 2563) และเนื่องจากวันที่ไปนั้นพระที่นั่งบางองค์นั้นอยู่ระหว่างการบูรณะปรับปรุง ท่านวิทยากรจึงไม่ได้นำชม (คราวหน้าไปใหม่ครับ)

พระราชวังพญาไทตั้งอยู่ในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถนนราชวิถี การเดินทางนัั้นไม่ยากเลย ขอเริ่มที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยผู้เขียนนั่งรถไฟฟ้า BTS มาลงที่สถานีอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากนั้นก็เดินเท้าไปตาม ถนนราชวิถี (จากถนนราชวิถี เดินเท้าประมาณ 500 เมตร ใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที) ถ้าผู้อ่านท่านใดไม่สะดวกเดินจะใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างก็ได้ครับ อันนี้แล้วแต่สะดวก

จุดเริ่มต้นที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนราชวิถีอยู่ด้านซ้ายมือ

ระหว่างทางที่เดินตามถนนราชวิถีนั้นให้สังเกต 2 ข้างทาง จะผ่าน โรงพยาบาลราชวิถี (โรงพยาบาลเด็ก) อยู่ทางด้านซ้ายมือ, สถาบันพยาธวิทยา-โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เลยป้ายประตูใหญ่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าไปอีกเล็กน้อยให้สังเกตสะพานลอยคนข้าม เพราะทางเข้าพระราชวังพญาไทจะมีสะพานลอยคนข้ามอยู่ด้านหน้า เลยไปอีกสักนิดก็จะพบป้าย "พระราชวังพญาไท"

ป้าย พระราชวังพญาไท

เมื่อเดินเข้ามาด้านจะพบพระบรมราชานุเสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอาคารเทียบรถพระที่นั่ง

พระบรมราชนุเสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

การเข้าชมพระราชวังพญาไทในวันเสาร์-อาทิตย์นั้นจัดให้เข้าชมวันละ 2 รอบ คือ รอบเช้า 9:30 น. และ รอบบ่าย 13:30 น. วันที่ผู้เขียนไปนั้นเป็นวันเสาร์ รอบบ่าย ส่วนค่าเข้าชมพระราชวังพญาไทนั้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (แต่วันที่ผู้เขียนไปชมนั้นท่านวิทยากรแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป จะเริ่มเก็บค่าเข้าชมแล้ว แต่วันที่ผู้เขียนไปชมนั้นยังไม่สรุปว่าเก็บค่าเข้าชมกี่บาท ***ความคืบหน้าเรื่องราคาค่าเข้าชมอยู่ด้านล่างสุด***) การเข้าชมทุกรอบนั้นต้องทำการลงชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ ก่อนเข้าชม และเจ้าหน้าที่จะให้ป้ายคล้องคอ เพื่อเป็นการแสดงให้ทราบว่าผู้เข้าชมท่านนี้ได้ลงทะเบียนแล้ว (ในจุดลงทะเบียนจะมีตู้รับบริจาคเงินสำหรับเป็นค่าบำรุงรักษาสถานที่ สามารถร่วมทำบุญจำนวนเงินเท่าไหร่ก็ได้แล้วแต่สะดวก)

รอบวันเวลาที่เปิดให้เข้าชม และ บัตรผู้ชมสำหรับผู้ลงทะเบียนแล้ว

กฎระเบียบ-การแต่งกายเข้าชม

  • ห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มเข้า
  • ห้ามนำสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เข้า
  • ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้า
  • ห้ามวิ่ง
  • ห้ามถ่ายรูป (ข้อนี้ทางท่านวิทยากรขยายความว่าห้ามถ่ายรูปโดยมีบุคคลอยู่ในภาพ)
  • ห้ามส่งเสียงดัง
  • เข้าชมครั้งละไม่เกิน 40 ท่าน
  • ไม่อนุญาตให้แต่งกายด้วย กางเกงขาสั้น / กระโปรงสั้น / เสื้อแขนกุด เข้าชม (สำหรับสุภาพสตรีที่สวมกระโปรงจะต้องเช่าผ้าถุง 20 บาท เพื่อความสะดวกและเรียบร้อยในการเข้าชมเฉพาะพระที่นั่งบางองค์ที่ต้องนั่งพับเพียบเท่านั้น)

เริ่มเข้าสู่การชมพระราชวังพญาไทกันเลย

พระที่นั่ง,ตำหนัก,อาคาร ในพระราชวังพญาไท มีดังนี้

  • พระที่นั่งพิมานจักรี
  • พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน
  • พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส (พระที่นั่งองค์นี้ไม่ได้เข้าชม เพราะอยู่ระหว่างบูรณะปรับปรุง)
  • พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ (พระที่นั่งองค์นี้ไม่ได้เข้าชม เพราะอยู่ระหว่างบูรณะปรับปรุง)
  • พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ (พระที่นั่งองค์นี้ไม่ได้เข้าชม เพราะอยู่ระหว่างบูรณะปรับปรุง)
  • พระตำหนักเมขลารูจี
  • อาคารเทียบรถพระที่นั่ง
  • สวนโรมัน

** วิทยากรไม่ได้นำชมตามลำดับข้างต้นนะครับ ผู้เชียนจึงขอรีวิวตามลำดับที่วิทยากรพาชมในวันนั้น

พระที่นั่งเทวราชสภารมย์

พระที่นั่งเทวราชสภารมย์เป็นพระที่นั่ง 2 ชั้น ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมแบบไบเซนไทน์ โครงสร้างไม้ มีโดมอยู่ตรงกลาง บนฝาผนังมีจิตรกรรมรูปคนและลายพรรณพฤกษา ในอดีตเคยเป็นโรงละครเปิด ปัจจุบันใช้จัดงานแสดง งานกุศลต่างๆเพื่อหารายได้มาทำนุบำรุงพระราชวังพญาไท

พระที่นั่งเทวราชสภารมย์
พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ด้านใน

ตำหนักเมขลารูจี

เดิมชื่อ "ตำหนักอุดมวนาภรณ์" ตั้งอยู่ที่พระราชวังดุสิต ก่อนรื้อย้ายมาตั้งที่พระราชวังพญาไทและพระราชทานชื่อใหม่ "ตำหนักเมขลารูจี" เป็นเรือนไม้สัก 2 ชั้น และมีสระสรง(อ่างอาบน้ำ) มีคลองล้อมเชื่อมกับคลองสามเสนในออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ใช้เป็นที่สรงน้ำหลังจากทรงพระเครื่องใหญ่(ตัดผม)

ตำหนักเมขลารูจี ด้านหน้า
ตำหนักเมขลารูจี ด้านข้าง ด้านหลังมีคลองน้ำไหลไปยังห้องสระสรง
โต๊ะทรงงาน ตำหนักเมขลารูจี
ตำหนักเมขลารูจี ห้องสรง(ห้องน้ำ)และสระสรง(สระอาบน้ำ)

พระที่นั่งพิมานจักรี

พระที่นั่งพิมานจักรีเป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระที่นั่ง (เป็นพระที่นั่งหลัก) เป็นอาคารก่ออิฐ ฉาบปูน 2 ชั้น สถาปัตยกรรมระหว่างโรมาเนสก์กับโกธิค บนเพดานและบริเวณด้านบนของผนังเขียนเป็นลายเชิง ฝ้าเพดานรูปดอกไม้งดงาม

พระที่นั่งพิมานจักรี พระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระที่นั่ง

โดยภายในพระที่นั่งพิมานจักรีแบ่งออกเป็น 2 ชั้น มีห้องต่างๆ ดังนี้ (ผู้เขียนไม่ได้เข้าชมทุกห้อง)

ชั้นที่ 1 ห้องธารกำนัล, ห้องเสวย, ห้องพระโอสถมวน และสวนโรมันอยู่ด้านนอกออกไปทางหลังพระที่นั่ง

ชั้นที่ 2 ห้องท้องพระโรง, ห้องเมืองดุสิตธานี, ห้องพระบรรทมตะวันออก, ห้องสรง, ห้องทรงพระอักษร

เริ่มจากชั้นที่ 1

ห้องธารกำนัล

เป็นห้องอยู่ตอนกลางของพระที่นั่งพิมานจักรี ใช้สำหรับเป็นห้องรอเฝ้าพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ ลักษณะศิลปะแบบวิคตอเรียน

ห้องธารกำนัล ใช้สำหรับรอเฝ้าพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพาร

ห้องเสวย

เป็นห้องเสวยสไตล์ยุโรปสำหรับร่วมเสวยกับฝ่ายหน้าโดยด้านหลังของห้องจะประกอบด้วยห้องเตรียมพระกระยาหารและห้องพักเครื่อง

ห้องเสวย

ห้องพระโอสถมวน

เป็นห้องส่วนพระองค์ห้องนี้ใช้สำหรับสูบมวนโอสถ(บุหรี่หรือซิกกา) หลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ลักษณะห้องเป็นทรงกลม

ห้องพระโอสถมวน สำหรับสูบมวนโอสถ (บุหรี่หรือซิกกา)

สวนโรมัน

อยู่ด้านหลังของพระที่นั่งพิมานจักรี พื้นที่เป็นสี่เหลี่ยมเรขาคณิตใช้สำหรับพักผ่อนพระอิริยาบทและจิบพระสุธารส(น้ำ) ที่สวนโรมันนี้วิทยากรอนุญาตให้ถ่ายภาพบุคคลได้ โดยให้เวลา 10 นาทีสำหรับเยี่ยมชมและถ่ายภาพ

สวนโรมัน ด้านหลังพระที่นั่งพิมานจักรี พระราชวังพญาไท
สวนโรมัน ด้านหลังพระที่นั่งพิมานจักรี พระราชวังพญาไท

ชั้นที่ 2

ห้องท้องพระโรง

เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์อิตาลีที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรด สำหรับห้องท้องพระโรงนี้เป็นที่สำหรับออกเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์และเป็นห้องเสวยพระกระยาหารกลางวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดที่จะรับเสวยแบบไทยแท้ คือ ประทับบนพื้นและเสวยด้วยพระหัตถ์ ฉะนั้นเพื่อเป็นการเคารพสถานที่เวลาเราเข้าชมจึงควรต้องนั่งพื้น และเป็นเหตุผลว่าทำไมสุภาพสตรีจึงต้องเช่าผ้าถุงดังที่กล่าวข้างต้น

ห้องท้องพระโรง ชั้น 2 พระที่นั่งพิมานจักรี พระราชวังพญาไท ก่อนกลายมาเป็นห้องล็อบบี้ โรงแรมวังพญาไท

ห้องเมืองดุสิตธานี

ห้องเมืองดุสิตธานีปัจจุบันใช้เป็นห้องเก็บโมเดล "เมืองดุสิตธานี" เมืองดุสิตธานี เป็นเมืองจำลองที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้น เพื่อทดลองระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย "เมืองดุสิตธานี" เริ่มสร้งขึ้นที่พระราชวังดุสิตก่อนที่จะย้ายมาที่พระราชวังพญาไท โดยกำหนดพื้นที่ด้านหลังพระที่นั่งพิมานจักรีขนาดพื้นที่ 2 ไร่เศษ ให้เป็นเมืองทดลอง โดยประกอบด้วย พระราชวัง วัด โรงเรียน โรงพยาบาล โรงทหาร ธนาคาร สถานีตำรวจ สวนสาธารณะ บ้านเรือนทั่วไป

ก่อนจะมาเป็นห้องเมืองดุสิตธานีนั้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวห้องนี้ใช้เป็นห้องประทับของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา

ห้องเมืองดุสิตธานี เป็นห้องเก็บโมเดลเมืองดุสิตธานี (เคยเป็นห้องประทับของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระราชวรชายา)

ห้องพระบรรทมตะวันออก

ห้องพระบรรทมห้องนี้อยู่ถัดจากห้องท้องพระโรง ห้องนี้มีความแตกต่างจากห้องอื่นๆตรงที่จิตรกรรมบนผนังเพดานเป็นจิตรกรรมแบบพุทธศิลป์ และห้องนี้ยังมีห้องสรงรวมอยู่ภายในด้วยกัน

อนึ่งครั้งที่เปลี่ยนเป็นโรงแรมวังพญาไท ห้องนี้ได้ปรับเป็นห้องเดอลุกซ์ราคาคืนละ 100 บาท

ห้องพระบรรทมตะวันออก ภายหลังเปลี่ยนเป็นห้องเดอลุกซ์ คืนละ 100 บาท

ห้องทรงพระอักษร

เป็นห้องทรงกลมอยู่ใต้โดม มีตู้หนังสือสีขาวแบบสีผนัง ลวดลายบนเพดานเป็นรูปแบบจีน

ห้องทรงพระอักษร มีตู้หนังสือสีขาวติดผนัง เพดานลวดลายแบบจีน
ห้องทรงพระอักษร ชั้น 2 เป็นห้องลักษณะกลม

พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน

อยู่ด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่งพิมานจักรี เดิมเป็นอาคารพระที่นั่งสูง 2 ชั้น ต่อมาภายหลังมีการต่อเติมชั้นที่ 3 เพื่อสร้างห้องพระบรรทม ห้องทรงพระอักษร และห้องสมุด เพิ่มอาคารมีลักษณะแบบโรมาเนสก์

ในครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยใช้เป็น "สถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ที่พญาไท"

พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน เป็นพระที่นั่งที่มีการต่อเติมชั้นที่ 3

ห้องพระบรรทม

ห้องพระบรรทมนี้เป็นห้องที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้ต่อเติมขึ้นเพื่อเป็นห้องพระบรรทมส่วนพระองค์ โดยห้องพระบรรทมนี้ติดตั้งม่านแบบพิเศษพับเก็บได้ เมื่อกางออกก็จะรับลม-อากาศบริสุทธิ์จากภายนอกเข้ามาได้ และดูดความร้อนออกทางพัดลมด้านบน บนเพดานเป็นจิตรกรรมรูปวาดเทพ 4 องค์ พร้อมเครื่องดนตรี ดีด สี ตี เป่า พร้อมกันนี้ห้องนี้ยังมีมุมที่มองเห็นสวนโรมันได้อีกด้วย

และในช่วงที่เป็นโรงแรมวังพญาไทนั้น ห้องนี้จัดเป็นห้องที่หรูหราที่สุด (สวีท ดีลักซ์ บี1) ราคาคืนละ 120 บาท

ห้องพระบรรทม ชั้น 3 ส่วนต่อเติมเพิ่ม พระที่นั่งไวยกูณฐเทพยสถาน เป็นห้องที่มีราคาแพงที่สุดในครั้งที่เป็นโรงแรมวังพญาไท
สวนโรมันมองมองจากห้องพระบรรทมชั้น 3 พระที่นั่งไวยกูณฐเทพยสถาน
ห้องสรงน้ำ ชั้น 3 พระที่นั้งไวยกูณฐเทพยสถาน วังพญาไท

หลังจากที่วิทยากรนำชมพระที่นั่งองค์ต่างๆ ตำหนัก ครบแล้ว โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษในการชม ถือว่าได้ความรู้มากมายเลยทีเดียว


ในระหว่างเดินกลับนั้นผู้เขียนแวะรูปหน้า ร้านกาแฟนรสิงห์ (แต่ไม่ได้เข้าไปชมด้านใน)

ร้านกาแฟนรสิงห์ วังพญาไท

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้สร้าง ร้านกาแฟนรสิงห์ เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นอาคารคอนกรีตขนาดเล็กชั้นเดียว

ร้านกาแฟนรสิงห์ พระราชวังพญาไท

จากนั้นผู้เขียนเดินต่อไปทางด้านหลัง (เดินไปตามถนนในโรงพยาบาล)เพื่อไปกราบไหว้ "พระมหานาคชินะวร วรานุสรณ์มงกุฎราช" และ "ท้าวหิรัญพนาสูร"

พระมหานาคชินะวร วรานุสรณ์มงกุฎราช

พระมหานาคชินะวร วรานุสรณ์มงกุฎราช วังพญาไท เป็นชื่อที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนาม และให้เป็นพระพุทธรูปประจำพระราชวังพญาไท สร้างเมื่อปี พ.ศ.2352 โดยจำลองมาจาก "พระมหานาคชินะ" ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครั้งทรงผนวช

พระมหานาคชินะวร วรานุสรณ์มงกุฎราช นี้เดิมทีประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ และเนื่องจากพระที่นั่งเทวราชสภารมย์เป็นโบราณสถานที่กรมศิลปกรขึ้นบัญชีคุมเพื่อการอนุรักษ์ จึงได้ทำการย้าย พระมหานาคชินะวร วรานุสรณ์มงกุฎราช มาประดิษฐาน ณ หอพระแห่งนี้

พระมหานาคชินะวร วรานุสรณ์มงกุฎราช พระพุทธรูปประจำพระราชวังพญาไท

ท้าวหิรัญพนาสูร

ท้าวหิรัญพนาสูรอยู่ใกล้กับ พระมหานาคชินะวร วรานุสรณ์มงกุฎราช เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมณฑลพายัพ ผู้ติดตามได้ฝันว่า มีชายรูปร่างใหญ่ชื่อว่า หิรันย์ เป็นอสูรชาวป่า แจ้งว่าจะมาตามเสด็จเพื่อคอยดูแล เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ จึงมีพระราชดำรัสให้จัดธูปเทียนและอาหาร ไปเซ่นไหว้ เวลาเสวยค่ำทุกวัน และโปรดเกล้าฯให้ช่างหล่อรูปหิรันยอสูรและพระราชทานนามใหม่ว่า "ท้าวหิรัญพนาสูร"

ท้าวหิรัญพนาสูร พระราชวังพญาไท

สรุป

การเยี่ยมชมวังพญาไทในวันนั้นแม้จะไม่ได้ชมทุกพระที่นั่ง ทุกห้อง แต่ก็ถือว่าได้เห็น ได้ประสบการณ์ความรู้ ความเป็นมาเกี่ยวกับพระราชวังพญาไท มากเลยทีเดียว วังกลางกรุงในปัจจุบันถือว่ามีไม่มากนักที่สามารถเข้าชมได้จึงอยากแนะนำให้เข้าไปชมกัน การเดินทางก็สะดวกสบายมาก

การรีวิวนี้ผู้เขียนมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะเผยแพร่ข้อมูลต่างๆทั้งจากไปชมด้วยตัวเองและหาข้อมูลอื่นๆเพิ่มเติม หากการรีวิวนี้ผืดพลาดประการใด ผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ

***ค่าเข้าชม พระราชวังพญาไท ข้อมูล ณ.วันที่ 10 มกราคม 2563***

เสาร์ และ อาทิตย์ เวลา 9.30 น. และ 13.30 น.

อังคาร และ พฤหัสบดี 13.30 น.

-บุคคลทั่วไป คนละ 40 บาท

-ผู้สูงอายุ (60 ปี ขึ้นไป) คนละ 20 บาท

-พระสงฆ์, นักเรียน, นักศึกษาในเครื่องแบบ ยกเว้นค่าเข้าชม

นอกเวลาการเปิดให้เข้าชม

-ค่าวิทยากรนำชม 500 บาท ต่อ วิทยากร 1 ท่าน

*อ้างอิงจาก https://www.facebook.com/PhyathaiPalace

ขอบคุณครับ

ความคิดเห็น