นั่งรถไฟ ไหว้พระ เดินย่านเก่าแก่สมัยรัชกาลที่5 กินอาหารทะเลอร่อยๆ ซื้อของติดไม้ติดมือกลับบ้าน ทั้งหมดนี้แค่หนึ่งวันจะพอหรือเปล่า...พอครับ เหลือด้วยซ้ำ ตามมาครับจะพาไป
เริ่มต้นที่สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ การเดินทางมาที่สถานีนี้ถ้ามาด้วยรถไฟฟ้า BTS ให้ลงที่สถานีวงเวียนใหญ่แล้วเดินมาที่สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ระยะทางประมาณ 700 เมตรหรือจะนั่งจักรยานยนต์รับจ้างใต้สถานี BTS มาก็ได้
สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่และเส้นทางรถไฟสายนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าร้อยปี เมื่อก่อนรถไฟสายนี้บริหารงานโดยบริษัทเอกชนชื่อ "บริษัท รถไฟท่าจีน ทุนจำกัด" บริการตั้งแต่สถานีคลองสานถึงมหาชัย เปิดเดินรถครั้งแรกในปี พ.ศ.2488 หลังจากหมดสัมปทานก็ขายให้กรมรถไฟจากนั้นยกเลิกเส้นทางช่วงคลองสานถึงวงเวียนใหญ่ในปี พ.ศ. 2504 และได้กลายเป็นถนนเจริญรัถ ตรงข้ามสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ ถ้ามีเวลาลองเดินไปดูก็ได้ครับ จะเห็นร่องรอยของทางรถไฟอยู่ตรงกลางถนน
ถ้ายังไม่ได้ทานข้าวเช้า มาทานที่นี่ได้ครับ ร้านอาหารเยอะแยะเลือกทานได้ตามชอบใจ ก่อนขึ้นรถไฟก็ไปซื้อตั๋วกันก่อน ราคาตั๋ว 10 บาทต่อเที่ยวเท่านั้น เป็นตั๋วแบบไม่ระบุที่นั่งอยากนั่งตรงใหนก็ตามความชอบเลย
สภาพรถไฟหวานเย็นเส้นทางวงเวียนใหญ่-มหาชัยไม่หรูหรา ที่นั่งเป็นพลาสติกแข็งเป๊ก ยังดีที่ระยะเวลาการเดินทางแค่ประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ถ้านั่งนานกว่านั้นน่าจะแย่ รถไฟพาเราทะลุเข้าไปในย่านต่างๆไม่ว่าจะเป็นตลาดพลู วัดไทร นั่งดูวิวข้างทางเพลินๆไม่นานเราก็มาถึงมหาชัย
มหาชัยต้อนรับเราด้วยกลิ่นปลาคละคลุ้งในอากาศ สถานีรถไฟปลายทางมหาชัยอยู่กลางตลาดพอลงรถไฟก็เห็นภาพความเป็นเมืองปากอ่าวไทยแหล่งอาหารทะเลขึ้นชื่อได้ทันที ภายในอาคารสถานีรถไฟมีภาพเก่าๆของสถานีและบริเวณนี้ให้ชม ใช้เวลาชม 1 นาทีถ้วนไปกันต่อได้ ออกมานอกสถานีก็พบกับ
ร้านขายอาหารทะเลทั้งสด แห้ง แปรรูปเต็มไปหมด...แต่ใจเย็นๆก่อน เรายังไม่ซื้อตอนนี้ไปเที่ยวกันก่อน
มาบ้านเขาเมืองเขาก็ต้องไปไหว้ศาลหลักเมืองกันก่อน ศาลหลักเมืองสมุทรสาครอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟมากนักเดินเหงื่อไม่ทันซึมก็ถึงแล้ว ด้านหน้าหันหน้าออกแม่น้ำท่าจีนคือศาลเจ้าพ่อหลักเมืองหรือเจ้าพ่อวิเชียรโชติเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวมหาชัยและชาวประมงให้ความเคารพอย่างมากโดยก่อนจะออกเรือต้องมาสักการะและจุดประทัดที่หน้าศาลนี้
ด้านหลังศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเป็นเสาหลักเมืองสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเสาหลักเมืองที่สูงที่สุดในประเทศไทยด้วย หากมาไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองแล้วก็เดิมมาด้านหลังมาไหว้เสาหลักเมืองเพื่อความเป็นสิริมงคลไปด้วยเลย
ติดกับศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเป็นป้อมปราการโบราณชื่อ ป้อมวิเชียรโชฎก สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่3เพื่อป้องกันปากแม่น้ำท่าจีน ปัจจุบันยังมีกำแพงและปืนใหญ่อยู่แต่ไม่โดดเด่นอะไรนักเพราะรอบข้างเป็นที่จอดรถไปหมดแล้ว เดินไปอีกหน่อยคือวัดป้อมวิเชียรโชติการามหรือวัดป้อมที่เป็นวัดเก่าแก่คาดว่าอายุประมาณ 200 กว่าปี ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างแล้วตั้งชื่อตามหมู่บ้านในย่านนั้นหรือสร้างขึ้นพร้อมกับป้อมปราการริมแม่น้ำ วัดป้อมถือว่าเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งในมหาชัยเลย อุโบสถหลังใหม่ใหญ่สวยงาม ไหว้พระเรียบร้อยก็พร้อมจะไปต่อแล้ว
เดินย้อนกลับมาที่ท่าเรือ เราจะนั่งเรือข้ามฟากไปฝั่งท่าฉลอมซึ่งจริงๆไปด้วยรถยนต์ก็ได้แต่จะอ้อมไปอีกหลายกิโล การข้ามเรือจึงเป็นวิธีที่เร็วและง่ายที่สุด จ่ายเงิน 3 บาทแล้วขึ้นเรือกันเลย ไม่ถึง 3 นาทีก็ถึงฝั่งท่าฉลอม เดินออกจากท่าเรือมีรถสามล้อถีบรอให้บริการอยู่แถมสร้างบรรยากาศด้วยเพลงไทยเก่าๆ เลือกนั่งได้ตามสะดวกแต่สำหรับเราในวันนี้เราจะเดินเที่ยวกัน
ใครมาเที่ยวท่าฉลอมแนะนำให้แวะที่นี่ก่อนครับ ชื่อ"บ้านท่าฉลอม" ออกจากท่าเรือเดินเลี้ยวขวามาไม่ไกล บ้านท่าฉลอมสร้างเมื่อปี พ.ศ.2506 อายุ 50 กว่าปีแล้วเจ้าของเดิมทำอาชีพประมงและขายปลา มีเรือและแพปลา ปัจจุบันเจ้าของย้ายไปอยู่ฝั่งมหาชัยแล้วและเปิดบ้านหลังนี้ให้เป็นศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวของท่าฉลอม เข้าชมได้ฟรีนะครับไม่มีค่าใช้จ่ายแต่บ้านท่าฉลอมจะหยุดทุกวันพุธนะครับ
ภายในของบ้านท่าฉลอมจัดแสดงข้อมูลต่างๆของท่าฉลอม แบบจำลองของเรือประมง ของที่ระลึกและมีจักรยานให้เช่าปั่นเที่ยวท่าฉลอมได้รวมถึงมีคู่มือแนะนำสถานที่สำคัญต่างๆในท่าฉลอมด้วยซึ่งทำออกมาได้ดีมากๆ ภาพสวยรายละเอียดครบถ้วน
ปากแม่น้ำที่ไหลผ่านย่านนี้มีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากจึงเรียกแม่น้ำนี้ว่า "แม่น้ำท่าจีน" และเรียกชุมชนแถวปากแม่น้ำนี้ว่า "ท่าจีน" ซึ่งคือฝั่งที่สถานีรถไฟตั้งอยู่ ภายหลังชุมชนชาวจีนขยายไปฝั่งตรงข้ามซึ่งมีเรือจีนที่เรียกว่า "เรือฉลอม" อยู่จำนวนมาก จึงเรียกฝั่งนี้ว่า "ท่าฉลอม"
ออกจากบ้านท่าฉลอมเดินตรงมาอีกหน่อยก็ถึง "วัดแหลมสุวรรณาราม" เดิมชื่อ "วัดหัวบ้าน" เพราะตั้งอยู่ต้นถนนถวาย ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างมาตั้งแต่เมื่อใด แต่มีหลักฐานเกี่ยวกับวัดนี้ในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในวัดมีพระอุโบสถไม้ศิลปะไทยผสมจีนโดยรอบมีพระพุทธรูป 18 องค์เรียกว่า 18อรหันต์ ด้านติดแม่น้ำมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางทรมานพญาชมพูบดี ชื่อ "สมเด็จองค์พระปฐม สมเด็จพระพุทธสิขีจักรพรรดมุนีสัมพุทธชยันตี" ซึ่งเป็นหนึ่งใน 9 องค์ที่สร้างขึ้นทั่วประเทศในพื้นที่ที่รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาส
ถัดจากวัดแหลมสุวรรณารามเป็นสถานีรถไฟบ้านแหลม มุ่งหน้าตลาดร่มหุบแม่กลองใครจะไปจะซื้อตั๋วจากวงเวียนใหญ่หรือมาซื้อที่นี่ก็ได้ รถไฟสายนี้อายุเก่าแก่พอๆกับสายวงเวียนใหญ่-มหาชัยเพราะเปิดเดินรถในเวลาใกล้ๆกันทางรถไฟสายนี้มีความพิเศษคือเป็นสายรถไฟโดดเดี่ยวไม่ต่อกับใครเลย
เดินย้อนกลับไปที่ท่าเรือกันแต่ยังไม่ข้ามกลับไปฝั่งมหาชัยนะครับ เราจะเดินตรงไปเยี่ยมชมบ้านและอาคารเก่าๆสมัยรัชกาลที่ 5 กันตามถนนถวาย
ท่าฉลอมเป็นสุขาภิบาลแห่งแรกของประเทศไทย มีบันทึกเหตุการณ์ไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำรัสในวันประชุมเสนาบดี ภายหลังเสด็จประพาสเมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดงในปัจจุบัน) ว่า "โสโครกเหมือนตลาดท่าจีน" (ท่าฉลอมในปัจจุบัน) ทำให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีหนังสือตราราชสีห์น้อยถึงผู้ว่าราชกาลเมืองสมุทรสาคร เป็นที่มาของการที่ประชาชนและพ่อค้าในตำบลท่าฉลอมร่วมใจกันสละเงินรวมห้าพันกว่าบาท ทำถนนปูอิฐ และทำ ความสะอาดตำบลท่าฉลอม วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ตั้งเป็นสุขาภิบาลแห่งแรกของประเทศไทย และวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2448 ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดถนนเส้นนี้และพระราชทานนามว่า "ถนนถวาย" และวันที่ 18 มีนาคม ของทุกปีเป็นวัน "ท้องถิ่นไทย"
การเดินชมบ้านและอาคารเก่าเกือบทั้งหมดจะดูได้แค่ด้านนอกนะครับเพราะว่าอาคารยังใช้งานหรือมีคนอาศัยอยู่
แวะดูโรงเรียนแห่งแรกๆของท่าฉลอมกันหน่อย โรงเรียนแรกชื่อ"โรงเรียนสาครวิทยา"อายุกว่า 70 ปี เดิมชื่อ "โรงเรียนป๋วยไช้" เป็นโรงเรียนสอนภาษาจีน โรงเรียนนี้ปิดไปตั้งแต่ พ.ศ.2553 อีกโรงเรียนที่ดูได้แต่ด้านนอก แหงล่ะเล่นอยู่กลางป่าซะขนาดนั้น โรงเรียนนี้ชื่อ โรงเรียนทัศนะธรรมวิทยา อายุกว่า 60 ปี ชื่อโรงเรียน "ทัศนธรรม"มาจากนามสกุลของเจ้าของโรงเรียน ด้านบนป้ายชื่อโรงเรียนมีรูปปูนปั้นรูปพระพรหม ซึ่งเป็นตราประจำโรงเรียน โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของสมุทรสาครด้วย ปิดตัวไปตั้งแต่ พ.ศ.2532
ดูบ้านเรือนกันบ้างครับ หลังแรกเป็นบ้านของตระกูลพงษ์พานิช อายุกว่า 80ปีแล้ว บ้านประดับด้วยไม้ฉลุลวดลายแบบจีนผสมตะวันตก หลังถัดมาเป็นบ้านศรีจันทร์อายุกว่า 100ปี เป็นบ้านชั้นเดียวหลังคามุงกระเบื้องที่เรียกว่า "กระเบื้องว่าว" หลังที่เด่นที่สุดคือบ้านศิลาสุวรรณ บ้านไม้สักทองสีเขียวอายุกว่า 90 ปีเดิมเป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง สร้างเมื่อ พ.ศ.2465 สมัยรัชกาลที่6 ต่อมาได้รับการปรับปรุงจนเหมือนปัจจุบัน แบบบ้านได้รับแรงบันดาลใจจากพระที่นั่งวิมานเมฆ
อาคารถัดมาเป็นล้งเก่า ซึ่งล้งคือสถานที่แปรรูปสัตว์น้ำ ที่แรกเป็นล้งกะปิอายุกว่า 60ปี ใช้แปรรูปสัตว์น้ำและทำกะปิปัจจุบันก็ยังทำกะปิอยู่ อีกหลังหนึ่งคือล้งลุงปะกิตอายุกว่า 100ปี เคยเป็นล้งแปรรูปสัตว์น้ำมาก่อนแต่ตอนนี้เป็นที่อยู่อาศัย
ตึกแถวบริเวณตลาดสดเทศบาล เป็นอาคารพาณิชย์ชุดแรกๆ อายุกว่า 50 ปี ในอดีตบริเวณนี้เป็นจุดศูนย์กลางของท่าฉลอม มีทั้งโรงหนัง โรงฝิ่น สถานีตำรวจ เมื่อปี พ.ศ. 2500 เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ จึงสร้างบ้านเรือนขึ้นมาใหม่แทนของเดิมที่ถูกไฟไหม้ไป แถวๆตลาดนี้จะมีตรอกซอกซอยที่ผมยังไม่ได้เดินเข้าไปเช่น ห้องแถวตรอกดาราศิลป์
อย่างที่บอกข้างต้นว่าท่าฉลอมเป็นชุมชนชาวจีน จึงไม่แปลกเลยที่จะมีศาลเจ้าและโรงเจอยู่หลายแห่งเช่น ศาลเจ้าปุนเถ้ากง เรียกอีกชื่อว่า ศาลเจ้ากลางเพราะอยู่ตรงกลางระหว่างหัวบ้านและท้ายบ้านของท่าฉลอม เทพเจ้าปุนเถ้ากงเป็นเทพเจ้าแห่งชุมชนที่คอยดูแลทุกข์สุขของคนในชุมชนนั้นๆ และศาลเจ้าแม่จุ๊ยบ๋วยเนี้ย ภายในศาลมีเจ้าแม่จุ๊ยบ๋วยเนี้ยซึ่งแปลว่า "เจ้าแม่ท้ายน้ำ" ซึ่งเป็นที่นับถือของคนเดินเรือชาวไหหลำและมักเรียกเป็นภาษาไทยว่า "เจ้าแม่ทับทิม"
เที่ยวจนเหนื่อยดูเวลาก็ล่วงมาเกือบเที่ยง กลับไปหาอะไรกินที่ฝั่งมหาชัยกันครับ
เราเลือกร้านบ้านริมน้ำเพราะเดินไปได้และกลับไปสถานีรถไฟก็ไม่ไกล แค่จากท่าเรือข้ามฟากเดินไปางซ้ายเรื่อยๆไม่นานก็ถึง สั่งกับข้าวมาพอประมาณ หลนปูอร่อยมากเนื้อปูเยอะมากเต็มถ้วยเลย ตักไปได้แต่เนื้อปู รสชาติออกหวานมันด้วยน้ำกะทิ เด็กๆก็กินได้ ร้านนี้อาหารบางอย่างก็แพงกว่าร้านอื่นในมหาชัย อาหารบางอย่างก็ราคาพอกัน แต่รสชาติโดยรวมผมชอบครับ
จบทริปก่อนกลับภรรยาแวะซื้อยำปูจากแม่ค้าที่เล็งไว้ตั้งแต่ตอนเช้า ตอนนี้ปริมาณปูหายไปร่วมครึ่งถาดใหญ่ หยิบมา 1 ถุง 40 บาทไว้กินตอนเย็น...หลังจากชิมแล้วเธอบอกว่าอร่อย
เป็นทริปง่ายๆที่จบได้ในครึ่งวันกว่าๆ แต่ถ้าจะเดินให้ลึกขึ้นอีกก็อาจจะใช้เวลาเพิ่ม หรือถ้าแค่นั่งสาม ล้อชมวิวก็จะใช้เวลาน้อยกว่านี้ แต่ถ้าให้ผมแนะนำ มาถึงมหาชัยประมาณ 9 โมง เที่ยวจนถึง 11 โมงหรือเที่ยงกินข้าวแล้วค่อยกลับ...ลองมาเที่ยวดูครับ
Pratuneung
วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 15.19 น.