“วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน” หรือ วัดบ้านเด่น เดิมชื่อวัด “หรีบุญเรือง” เป็นวัดสวยที่สร้างขึ้นด้วยศิลปล้านนาประยุกต์ วัดตั้งอยู่ที่ ตำบลอินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ จากเชียงใหม่เดินทางไปได้สองเส้นทางคือ เส้นทางสาย สันทราย-พร้าว เลี้ยวซ้ายเข้าไปทางเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล หรือจะไปเส้นเชียงใหม่-แม่แตง และเลี้ยวไปเส้นทางเดียวกับไปเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลก็ได้ค่ะ วัดตั้งอยู่บนเนินเขามีเนื้อที่กว่า 80 ไร่ มองเห็นธรมมชาติรอบๆสวยงาม ไปชมกันค่ะ
บันไดทางขึ้นของวัด โดดเด่นด้วยลักษณะของบันไดนาคสีสด ที่หันหัวไปยังทิศทางของที่ตั้งพระอุโบสถ ด้านปลายสุดของหางนาค มีรูปปั้นสิงห์สถาปัตยกรรมแบบล้านนาสีขาว เสมือนคอยต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือน


วัดมีความงดงามอลังการมากค่ะ เป็นพุทธศิลป์แบบล้านนาประยุกต์ สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2437 ในอดีตเป็นวัดเล็กๆ เมื่อ "ครูบาเจ้าเทือง นาถสีโล" มาจำพรรษานั้นก็เริ่มมีต้นโพธิ์ปรากฎขึ้น จากที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งต้นโพธิ์นั้น ภาษาเหนือเรียกว่า “ต้นสะหลี” ค่ะจึงเป็นที่มาของชื่อวัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน ส่วน "เมืองแกน" ก็คือเมืองโบราณที่เคยเจริญรุ่งเรืองกินอาณาเขตพื้นที่ในบริเวณนี้นี่เอง
เข้ามาจะเห็น พระวิหารหลังใหญ่ลักษณะเป็นอาคารไม้ขนาดใหญ่ ตรงซุ้มบันไดเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ สัตว์ในวรรณคดีที่มีหัวเป็นช้างตัวเป็นนก ผิดจากซุ้มบันไดในวัดอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นพญานาคค่ะ


จากแรงศรัทธาของศิษย์จำนวนมาก ครูบาเจ้าเทือง นาถสีโล ท่านไม่ต้องการจะเก็บปัจจัยส่วนนี้ไว้ ประกอบกับมีความตั้งใจที่จะสร้างอนุสรณ์สถานแห่งบุญขึ้นมาเป็นรูปธรรม จึงเป็นที่มาของการปรับปรุง ก่อสร้างวัดเด่นสะหลีฯ ใหม่ในปี พ.ศ.2534 บนเนินเขากว่า 80 ไร่ จึงทำให้วัดเด่นสวยงาม อลังการดังที่เห็นในปัจจุบัน
พระวิหารพระเจ้าพันต๋น พระเจ้าเงินทันใจ

ความวิจิตรงดงามตระการตาด้วยศิลปะสถาปัตยกรรมไทยล้านนา มีให้ชมทั้งอุโบสถ หอไตร หอกลอง วิหารเสาอินทขิล กุฏิไม้สักทอง โดยครูบาท่านตั้งใจว่าจะให้เป็นศาสนสถานที่งดงาม แฝงด้วยคติธรรม เป็นอุบายในการดึงคนเข้าวัดเพื่อการขัดเกลาจิตใจ เพื่อให้เป็นสถานที่พักผ่อนทางจิตใจมากกว่า การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

นกหัสดีลิงค์ สัตว์ในป่าหิมพานต์ มีความพิเศษ คือ เป็นนกที่มีหัวเป็นช้าง มีหางเป็นหงส์ มีพละกำลังดั่งช้างเอราวัณ ๓-๕ เชือกรวมกัน เป็นสัตว์คู่บารมีของกษัตรา เจ้าเมืองผู้มีอำนาจบารมีสูง ความเชื่อของชาวล้านนาแต่อดีตกาล นิยมสร้างปราสาทนกหัสดีลิงค์ เพื่อบรรจุศพของกษัตริย์เจ้านายฝ่ายเหนือ รวมถึงพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มรณภาพ เพื่อให้พิธีศพสง่างาม สมฐานะบารมี และเป็นการส่งดวงวิญญาณไปสู่ชาติสรวงสวรรค์ชั้นพรหมโลก

พระวิหารหลังใหญ่บริเวณหน้าวัด บันไดนาคคู่ พญานาคราชศรีสุทโธ ผู้ชอบจำศีลบำเพ็ญเพียร และปฏิบัติธรรม มีนิสัยอ่อนโยน มีเมตตา ที่มาของพญานาคทั้งสองตนผู้ปกปักรักษาวิหารพระเจ้าทันใจ



ภายในวิหารมีพระเจ้าทันใจ พระพุทธรูปองค์สีขาวงดงาม

พระมหาเจดีย์นักษัตร 12 ราศี พระเจดีย์ฐานล่างเป็นเซรามิค ด้านบนปิดทองแผ่นอ่อนช้อยสวยงาม

นกยูง อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของชนชาติไทในเอเชียอาคเนย์ และมีความเกี่ยวข้องกับตำนานพื้นบ้านและพุทธศาสนา



พญานกการเวก หรือ ปักษาวายุภักษ์ ตำนานเล่าขานว่า เป็นนกในเทพปกรณัมของตะวันออก ปรากฏในป่าหิมพานต์ เรียกกันอีกชื่อหนึ่งในวรรณคดีเรื่อง ไตรภูมิพระร่วงว่า นกกรวิค อธิบายว่า บินได้สูงเหนือเมฆ มีเสียงไพเราะยิ่งนัก สัตว์ทุกชนิดเมื่อได้ยินแล้วจะต้องหยุดฟังเสียง ตามวรรณคดีไตรภูมิพระร่วงนั้น กล่าวว่าขนนกการเวกนั้นเป็นที่ต้องการเพราะกลายเป็นทองคำได้

วิจิตรตระการตามากค่ะ


สิ่งก่อสร้างตระการตาจริงๆ
มณฑปพระเศรษฐีนวโกฏิ เป็นพระพุทธรูปที่โหรชื่อดังได้สร้างขึ้นถวายวัดทุกภาคในประเทศไทย โดดเด่นด้วยการลงรักปิดทองที่เสาต้นใหญ่




เป็นวัดที่งดงาม อลังการมาเชียงใหม่อย่าลืมแวะมาเยี่ยมชมกันนะคะ การเข้าชมวัดควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยเพื่อเคารพสถานที่ด้วยนะคะ ^^
ฝากติดตามเพจท่องเที่ยวด้วยนะคะ กด ไปแอ่วกัน Fun Trip
ไปแอ่วกัน Fun Trip
วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 เวลา 13.06 น.