การเดินทางไปเที่ยวประเทศไหน ยิ่งเดินทางไปเองโดยไม่ได้ไปกับทัวร์ นอกจากต้องเตรียมตั๋ว เตรียมตังค์ เตรียมเตียง ด้วยตัวเองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ควรเตรียม นั่นคือการศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศนั้น เพราะจะทำให้เราเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คน และเรื่องราวของสถานที่ที่ไปเยือน ยิ่งไปเที่ยวโบราณสถานด้วยแล้ว การรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์จะทำให้การเดินทางมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่รู้แต่ว่าสวย ยิ่งใหญ่อลังการ แล้วก็ยืนแอ๊ทท่า เซลฟี่ถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียเพื่ออวดใครต่อใครว่าข้าฯไปมาแล้ว แต่ครั้นจะต้องศึกษาประวัติศาสตร์กันอย่างละเอียด ชนิดศึกษาเสร็จก็เข้าสอบรับปริญญากันได้เลยก็จะเกินไป ยิ่งประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานอย่างรัสเซีย หากต้องศึกษากันขนาดนั้นมีหวังกว่าจะได้ไปคงเกษียณเสียก่อน งั้นเรามาศึกษากันแบบลัดๆ ให้พอไปวัดไปโบสถ์ได้โดยไม่อายใครแล้วกัน
จากบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะตำราไหนก็ระบุตรงกันว่า ชาวสลาฟคือชนชาติแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในรัสเซีย แต่เฉพาะพื้นที่ทางตอนใต้ โดยมีเมืองเคียฟเป็นจุดศูนย์กลาง (หลังจากการล้มสลายของสหภาพโซเวียต ปัจจุบันเมืองเคียฟอยู่ในพื้นที่ของประเทศยูเครน) ในขณะที่พื้นที่ตอนเหนือเป็นที่อยู่ของชาวไวกิ้ง หรือชาวสแกนดิเนเวียในปัจจุบัน แต่ในอดีตรู้จักกันในชื่อ วาแรนเจียน ซึ่งทั้ง 2 ชนชาติก็ทำมาค้าขายกันด้วยดี จนในปีค.ศ.880 กษัตริย์แห่งวาแรนเจียนเริ่มไม่อยากทำการค้าแล้ว แต่หวังจะครอบครองกิจการทั้งหมดจึงยกทัพมายึดครองพื้นที่ของชาวสลาฟ ผนวกดินแดนทั้งฝั่งเหนือและใต้เข้าด้วยกัน แต่กลับใช้เมืองเคียฟซึ่งเป็นเมืองหลวงของชาวสลาฟเดิมให้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรใหม่นามว่า The Stage of Rus ซึ่งเป็นที่มาของชื่อประเทศรัสเซียในปัจจุบัน
ในแง่ของศรัทธาและความเชื่อ ตลอดจนรากฐานแห่งศิลปวัฒนธรรม ต้องยอมรับว่าศาสนาคริสต์ นิกายออร์โธดอกซ์มีบทบาทสำคัญมาก โดยเจ้าชายวลาดิมีร์ โมโนแมกค์ เป็นผู้นำเข้ามาจากอาณาจักรไบแซนไทน์ (ปัจจุบันคือประเทศตุรกี) เมื่อปีค.ศ.978 สาเหตุเนื่องมาจากพระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับพระขนิษฐาของสมเด็จพระจักรพรรดิบาซิลที่ 2 แห่งอาณาจักรไบแซนไทน์ จึงทรงเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ นิกายออร์โธดอกซ์ตามที่ราชวงศ์ในอาณาจักรไบแซนไทน์นับถือ พร้อมประกาศให้ประชาชนนับถือตามพระองค์ จนศาสนาคริสต์ นิกายออร์โธดอกซ์กลายเป็นศาสนาประจำชาติรัสเซียตั้งแต่บัดนั้น
เมืองเคียฟเจริญรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่เศรษฐกิจและศาสนา ในขณะที่ชื่อเมืองมอสโกก็เริ่มปรากฏขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ ในปีค.ศ.1147 เมื่อเจ้าชายยูริ โคลโกรูกี ได้สั่งให้สร้างเครมลิน หรือป้อมปราการไม้ขึ้นที่เนินเขาโบโรวิตสกา ริมแม่น้ำมอสควา พร้อมตั้งชื่อเมืองนี้ว่า มอสโก
เมืองมอสโกเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น จนกลายเป็นที่ประทับของกษัตริย์จากเหตุที่กองทัพมองโกลยกทัพเข้ามารุกรานรัสเซียในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 และสามารถยึดเมืองเคียฟได้สำเร็จ พระเจ้าอิวานที่ 1 จึงทรงย้ายที่ประทับมายังเมืองมอสโก ทำให้มอสโกกลายเป็นเมืองหลวงไปโดยปริยาย จนกระทั่งในสมัยพระเจ้าอิวานที่ 3 มองโกลจึงเริ่มเสื่อมอำนาจ การฟื้นฟูกำแพงเครมลิน และโบสถ์หลายแห่งในมอสโกจึงเกิดขึ้น โดยถือว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่งของรัสเซีย
ในสมัยพระเจ้าอิวานที่ 4 ซึ่งดูเหมือนจะเป็นกษัตริย์ที่โด่งดังมากที่สุดพระองค์หนึ่ง หากแต่ในแง่ร้ายจนได้รับฉายาว่าอิแวนผู้ชั่วร้าย จากเหตุที่มีรับสั่งให้ควักลูกตาสถาปนิกผู้ออกแบบสร้างวิหารเซนต์บาซิล เพื่อไม่ให้สามารถออกแบบสร้างวิหารอื่นที่อาจจะงดงามยิ่งกว่า อีกทั้งพระองค์ยังเป็นพระเจ้าซาร์พระองค์แรกของรัสเซีย คำว่า ซาร์ มีที่มาจากคำว่า ซีซาร์ ซึ่งเป็นชื่อผู้ปกครองของอาณาจักรโรมันและต่อเนื่องจนถึงอาณาจักรไบแซนไทน์ ทำให้กษัติย์องค์ต่อๆมาจึงมีคำว่า ซาร์ นำหน้าตามไปด้วย แต่หลังจากยุคของพระองค์ รัสเซียก็เข้าสู่ยุคตกต่ำ จนเปลี่ยนการปกครองสู่ราชวงศ์โรมานอฟ เมื่อปีค.ศ.1613
แล้วเมืองหลวงก็ถูกย้ายจากมอสโกไปยังเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อปีค.ศ.1712 ในสมัยของพระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งยุคสมัยที่รัสเซียได้แผ่ขยายอำนาจและอาณาเขตออกไปกว้างไกล ครอบคลุมทั้งทวีปยุโรปและเอเชีย จนกลายเป็นจักรวรรดิรัสเซีย นอกจากนี้พระองค์ยังทรงนำวิทยาการต่างๆเข้ามาสู่รัสเซียมากมาย พร้อมนำรัสเซียเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ไม่น้อยหน้าชาติใดในตะวันตก จนได้รับการยกย่องจากชาวรัสเซียให้เป็นพระเจ้าปีเตอร์มหาราช
หลังจากพระเจ้าปีเตอร์มหาราช กษัตริย์ผู้นำความเจริญมาสู่รัสเซียมากที่สุดไม่ใช่ผู้ชาย หากแต่เป็น พระนางเจ้าแคทเทอรีนที่ 2 ซึ่งมีการเจริญสัมพันธไมตรีและทำการค้ากับนานาประเทศ ในขณะเดียวกันพระนางก็ชื่นชอบการสะสมทรัพย์สมบัติล้ำค่าไว้มากมายจนเต็มพระราชวัง จนพระราชวังฤดูหนาวได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในปัจจุบัน
ในช่วงปลายรัชสมัยของราชวงศ์โรมานอฟเกิดปัญหาขึ้นมากมาย ทั้งความยากจน ความเสื่อมล้ำทางสังคม จนพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 2 ถูกลอบปลงประชนม์ กลางนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แม้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 จะครองราชต่อมา แต่ปัญหาต่างๆยังคงคุกรุ่นรอวันประทุ จนปิดฉากการปกครองแบบระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์ ในปีค.ศ.1917 พระเจ้านิโคลัสที่ 2 คือซาร์พระองค์สุดท้ายในหน้าประวัติศาสตร์รัสเซีย พระองค์ไม่สามารถจัดการกับความปั่นป่วนภายในประเทศ แพ้สงครามทางเรือกับญี่ปุ่น อีกทั้งทรงตัดสินพระทัยเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่กลับไม่สามารถควบคุมกองทัพได้ นำมาซึ่งปัญหาความยากจน ทำให้เกิดการลุกฮือต่อต้านจากราษฎร จนถูกฝ่ายปฏิวัติบอลเชวิคบังคับให้สละราชสมบัติ และถูกยิงสิ้นพระชนม์พร้อมราชวงศ์หลายพระองค์
ฝ่ายปฏิวัติบอลเซวิค นำโดยวลาดิมีร์ เลนินได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ พร้อมเปลี่ยนจักรวรรดิรัสเซียเป็นสหภาพโซเวียต เมื่อปีค.ศ.1917 และย้ายเมืองหลวงกลับไปยังมอสโก เมื่อเลนินถึงอสัญกรรม ในปีค.ศ.1924 โจเชพ สตาลินได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ เขาปกครองด้วยความเผด็จการ กวาดล้างผู้ต่อต้าน แต่กระนั้นก็สามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมจนขึ้นมายืนเคียงบ่าสหรัฐอเมริกา
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียตได้ขยายอำนาจไปยังยุโรปตะวันออก พร้อมเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ก่อให้เกิดสงครามเย็นขึ้นระหว่าง 2 ขั้วอำนาจ คือ สหรัฐอเมริกา ผู้นำของโลกเสรีประชาธิปไตย กับ กับสหภาพโซเวียต ผู้นำของโลกคอมมิวนิสต์
แม้สหภาพโซเวียตจะเป็นผู้นำในโลกคอมมิวนิสต์ แต่สุดท้ายก็ไม่อาจต้านกระแสของทุนนิยมไปได้ ในสมัยของมิคาอิล กอร์บาชอฟ เขาได้นำสหภาพโซเวียตออกจากม่านเหล็กสู่โลกภายนอก เริ่มมีการค้ากับโลกตะวันตก หยุดการแข่งขันทางด้านอาวุธกับสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันก็เริ่มถอนกำลังและการให้ความช่วยเหลือกับประเทศในยุโรปตะวันออก ซึ่งปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ แต่นโยบายการบริหารประเทศกลับไม่ประสบความสำเร็จ เศรษฐกิจตกต่ำ พร้อมกับก่อให้เกิดความไม่พอใจขึ้นกับกลุ่มคอมมิวนิสต์หัวเก่าที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงสู่โลกเสรี จนก่อให้เกิดการรัฐประหาร แต่บอริส เยลต์ซิน ผู้เป็นประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย สามารถกู้สถานการณ์ไว้ได้ การรัฐประหารจึงไม่สำเร็จ
หลังจากการรัฐประหาร บอริส เยลต์ซิน ได้ประกาศให้สหพันธรัฐรัสเซียแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต พร้อมกับรัฐต่างๆตามชายขอบทั้งในทวีปยุโรปและเอเชียกลางก็ได้ประกาศแยกตัวเป็นอิสระเช่นกัน บอริส เยลต์ซิน ได้ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย มิคาอิล กอร์บาชอฟ ลาอกจากตำแหน่งพร้อมยุบพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้สหภาพโซเวียตถึงกาลล้มสลาย ในวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ.1991
แม้ว่าปัจจุบันดินแดนที่เป็นสหภาพโซเวียต ได้แยกตัวออกเป็นประเทศทั้งหมด 15 ประเทศ แต่ 11 ประเทศเดิมที่เคยอยู่ร่วมเป็นสหภาพโซเวียตได้รวมกันเป็นกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช โดยมีสหพันธรัฐรัสเซียเป็นแกนนำ และยังคงเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดในโลก โดยมีพื้นที่มากถึง 17,075,400 ตารางกิโลเมตร
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เวลา 21.23 น.