ผมเดินย้อนกลับทางเดิมเพื่อไปยังจุดหมายที่ตั้งใจไว้ นั่นคือสถานกงสุลไทย ในเขตวาซิลเยฟสกี้ (Vasileostrovsky) ซึ่งมีสภาพเหมือนเกาะ เพราะเป็นปากแม่น้ำที่แม่น้ำเนวาไหลแยกออกเป็น 2 สายก่อนที่จะไหลสู่อ่าวฟินแลนด์
สะพาน Blagoveshchenskiy ทอดยาวข้ามแม่น้ำเนวาที่ไหลแผ่ตัวกว้าง ชายชาวรัสเซียหลายคนกำลังยืนตกปลาอย่างมีความสุข ในขณะที่ผมก็มีความสุขจากการเดินทอดน่องบนสะพาน พร้อมทอดสายตาไปยังเหล่าสิ่งก่อสร้างที่สวยงามริมสองฝั่งน้ำ
ผมเดินมาถึงสถานกงสุลไทย ประจำเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แต่ไม่สามารถเข้าไปภายในเพื่อร้องเรียนการถูกโจรกรรมได้ เนื่องจากวันนี้เป็นวันเสาร์ สถานกงสุลปิด เฮ่อ...ทำไหมถึงโชคร้ายซ้ำสองได้ขนาดนี้ จึงทำได้เพื่อแค่ยืนมองธงชาติไทยโบกสบัดที่หน้าอาคารหมายเลข 9 ซึ่งคงเป็นความตั้งใจของรัฐบาลไทย ที่เลือกเช่าอาคารหมายเลข 9 นี้เป็นสถานกงสุล ในใจเวลานั้นจึงคิดถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ขึ้นมาอย่างจับใจ
ผมเดินทอดน่องเลียบไปตามถนนริมแม่น้ำเนวา บริเวณนี้มีสวนสาธารณะพอให้นั่งพักขาและทอดสายตามองทิวทัศน์ของตัวเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้าม แต่นั่งพักขาได้ไม่นานเท่าไหร่ ผมก็ออกเดินก้าวต่อไปยังตำแหน่งหัวมุมริมฝั่งน้ำ ซึ่งแม่น้ำเนวาได้แยกออกเป็น 2 สาย บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของเสาหินรอสทรัล (Rostral Columns) ซึ่งเป็นเสาสีแดง ขนาดใหญ่สูง 32 เมตร 2 ต้น สร้างขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ.1810 ในอดีตเคยเป็นสัญลักษณ์ของการเดินเรือมาถึงเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เพราะเป็นเคยเป็นหอประภาคารสำหรับการเดินเรือ รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบโรมัน ประดับด้วยหัวเรือจำนวนหลายอัน ในระดับความสูงที่ต่างกัน ตรงฐานเป็นรูปปั้นเทพเจ้าเนปจูน (Neptune) กับ เมอร์คิวรี (Merkury) เชื่อกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งท้องทะเล ซึ่งจะนำความโชคดีมาสู่ผู้เดินเรือ
ปัจจุบันบริเวณนี้ได้รับการปรับปรุงให้เป็นลานกว้าง จนกลายเป็นจุดชมวิวที่เห็นเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบร์กได้กว้างไกลสุดสายตา โดยสามารถเห็นสถานที่สำคัญทั้งวิหารเซนต์ไอแซค อาคารบัญชาการฐานทัพเรือ ป้อมปีเตอน์แอนด์ปอล รวมถึงพระราชวังฤดูหนาว
ผมยืนชมทิวทัศน์ได้ไม่นาน ก็เปลี่ยนใจไปเดินหาเบอร์เกอร์ทาน เพราะตั้งแต่เช้ายังไม่มีอาหารตกถึงท้องเลย อย่างไงอาหารตาก็ไม่อาจทดแทนอาหารจริงๆได้ การได้กินเบอร์เกอร์พร้อมทิวทัศน์ที่สวยงามเช่นนี้ ก็ทำให้เบอร์เกอร์เนื้อหยาบๆนี้ อร่อยนุ่มลิ้นขึ้นเยอะ
เมื่อท้องอิ่มก็มีแรงเดินต่อ สองขาพาผมข้ามแม่น้ำสาขาของแม่น้ำเนวา สู่เกาะ Zayachy อันเป็นที่ตั้งของป้อมปีเตอร์แอนด์ปอล (Peter and Paul Fortress) ป้อมนี้แม้สร้างขึ้นโดยพระเจ้าปีเตอร์มหาราช แต่ที่มาของชื่อป้อมไม่ได้มาจากชื่อของพระองค์ตามที่หลายๆคน รวมทั้งผมเคยเข้าใจ เพราะจริงๆแล้วมาจากชื่อนักบุญปีเตอร์ กับนักบุญปอล
แม้ไม่มี GPS ในมือถือ แต่ไม่ว่าใครเมื่อข้ามมาถึงเกาะ Zayachy ก็ไม่มีทางหลงที่จะหาป้อมปีเตอร์แห่งปอลไม่พบ เพราะสามารถมองเห็นหอระฆังยอดแหลมสีทองอร่ามได้แต่ไกล ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นป้อมปราการเฉกเช่นในอดีตอีกแล้ว แต่ได้กลายสภาพเป็นวิหารในคริสต์ศาสนา แต่หากย้อนหลังไปเมื่อกว่า 3 ร้อยปีก่อน สถานที่แห่งนี้มีเรื่องราวในหน้าประวัติศาสตร์ให้เรียนรู้มากมาย
ป้อมแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในปีค.ศ.1703 เดิมก่อสร้างด้วยไม้เพื่อป้องกันการรุกรานจากสวีเดน แต่เอาเข้าจริงๆเมื่อป้อมแห่งนี้สร้างเสร็จ กลับไม่มีทหารสวีเดนเข้ามารุกราน จึงมีการสร้างใหม่อีกครั้งโดยใช้หิน เพื่อใช้คุมขังนักโทษทางการเมือง นักโทษคนสำคัญที่เคยถูกคุมขังคือ ซาร์เรวิช อเล็กซิส ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน แต่กลับเป็นโอรสองค์โตของพระเจ้าปีเตอร์มหาราช ซึ่งมีความคิดไม่ลงรอยกับพระบิดา จนถูกคุมขังจนสิ้นพระชนม์ที่นี่ และสุดท้ายป้อมปราการแห่งนี้ก็กลายสภาพเป็นสุสานที่ใช้ฝั่งพระศพของกษัตริย์รัสเซียหลายพระองค์ เริ่มจากพระเจ้าปีเตอร์มหาราช จนถึงพระเจ้านิโคลัสที่ 2 กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์โรมานอฟ
วันที่ผมไปเยือนตรงกับวันที่ 16 กันยายนพอดี ซึ่งเป็นวันที่รัสเซียมีชัยชนะเหนือมองโกล บนลานกว้างหน้าป้อมปีเตอร์แอนด์ปอลจึงมีทหารมาเดินสวนสนาม จากการเดินชมความยิ่งใหญ่ของป้อมปราการที่กลายสภาพเป็นวิหาร ผมจึงเปลี่ยนมาชมความเข้มแข็งของเหล่าทหารที่เดินพาเหรด ประกอบการบรรเลงวงดุริยางค์ได้อย่างน่าชม
ผมออกจากป้อมทางประตูเซนต์ปีเตอร์ เหนือซุ้มประตูมีตราสัญลักษณ์ในสมัยจักรวรรดิรัสเซียขนาดใหญ่ เป็นรูปนกอินทรีย์สีดำสองหัวสวมมงกุฎ เหนือขึ้นไปเป็นมงกุฎแบบเดียวกันแต่มีขนาดใหญ่กว่า และยังปรากฏทางเดินสมัยโบราณที่สร้างจากหินขนาดใหญ่ให้ได้เห็น โดยหินแต่ละก้อนมีลักษณะกลมเกลี้ยง ปราศจากเหลี่ยมมุมใดๆ อันเกิดจากการเคลื่อนผ่าน ทั้งจากม้าศึก ทหาร และกาลเวลา
ในเวลานี้แม่น้ำเนวาสายกว้างปรากฏอยู่เบื้องหน้าผมอีกครั้ง แต่ก่อนที่สองขาจะพาร่างกายไปยังสะพานที่ทอดข้ามสายน้ำ หัวใจผมในเวลานี้สั่งให้สองขาก้าวเดินไปยังสวนสาธารณะริมสายน้ำ ที่แม้จะมีพื้นที่ไม่มากนัก แต่ก็มากพอให้ร่างกายได้ผ่อนคลายจากความเมื่อยล้าในการก้าวเดิน
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันพฤหัสที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 11.01 น.