ดูจากเวลาแล้วยังหัวค่ำเกินไปที่จะกลับที่พัก จึงชวนกันเดินเล่นและย่อยอาหารไปในตัว ด้วยการเดินไปชมความงามของเจดีย์ชเวซันดอว์ ระหว่างทางผ่านรถเรี่ยไรเงินทำบุญ โดยนำพระพุทธรูปตั้งไปบนรถเข็น ที่ประดับด้วยดอกไม้ จากนั้นก็เข็นผ่านบ้านเรือน พร้อมประกาศเชิญชวนทำบุญออกทางลำโพง ดูแล้วแปลกดี ที่มืดค่ำเช่นนี้ยังมีการเรี่ยไรเงินทำบุญถึงหน้าบ้าน

ทำบุญกันแล้ว ก็ต้องมีการลุ้นโชคกันบ้าง แม้การลุ้นโชคจะเป็นการซื้อหวย หรือ ล็อตเตอรี่ เหมือนเมืองไทย แต่ร้านขายล็อตตารี่ของพม่าไม่ใช่ตั้งแผงเล็กๆขายอยู่ริมถนนแบบบ้านเรา แต่จะเป็นร้านขายขนาดใหญ่ ซึ่งมีการชักจูงใจให้ซื้อด้วยการนำรูปถ่ายขนาดใหญ่ของผู้ที่ได้รับรางวัลที่หนึ่ง ตั้งเด่นอยู่หน้าร้าน ในภาพนอกจากมีเงินรางวัลที่ได้รับตั้งเป็นกองๆให้เห็นกันจะๆแล้ว ผู้โชคดียังสวมสายสะพายดั่งกับเป็นนางงาม โดยผู้โชคดีรายล่าสุดนี้เป็นผู้ชาย จึงดูแล้วแปลกพิลึก


เราผ่านร้านชากาแฟ ที่มีลูกค้านั่งอยู่เกือบเต็มร้าน น่าสังเกตว่าส่วนใหญ่ของลูกค้าไม่ใช่คนธรรมดา หากแต่เป็นพระสงฆ์ที่ยังไม่กลับไปจำวัด ซึ่งไม่แน่ใจนักว่าผิดศีลหรือเปล่า ผมจึงได้แต่บอกตัวเองว่า ต่างบ้าน ต่างเมือง จึงอาจต่างขนบธรรมเนียมประเพณี

ระหว่างทางผ่านเกสท์เฮ้าส์ 2-3 แห่ง ผมจึงลองเดินเข้าไปสอบถามราคาที่พัก แต่แทนที่จะได้ราคา กลับได้รับคำถามด้วยประโยคเดียวกัน คือ เป็นคนต่างชาติใช่ไหม ถ้าใช่ ให้ไปพักที่ Smile Motel จึงพอสรุปได้ว่า แม้ที่พักในเมืองแปรมีหลายแห่ง แต่ที่ได้รับอนุญาตให้ชาวต่างชาติพัก มีเพียงไม่กี่แห่ง แล้วแสงสีทองอร่ามของชเวซันดอว์ ก็ทำให้เราเลิกสนใจในทุกสิ่ง จึงเดินมุ่งหน้าสู่แหล่งกำเนิดของแสงสีทองที่ส่องแสงตัดกับท้องฟ้าเบื้องบนที่มืดมิด

ความตั้งใจแรก แค่จะชื่นชมความงามยามค่ำของชเวซันดอว์ (Shwesandaw) จากด้านนอกเท่านั้น แล้วพรุ่งนี้เช้าค่อยกลับมานมัสการองค์เจดีย์อีกครั้ง แต่มืดค่ำขนาดนี้ยังเห็นชาวพม่าซื้อดอกไม้ที่วางขาย แล้วต่อแถวรอขึ้นลิฟต์เพื่อไปยังองค์เจดีย์ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขา เราจึงเข้าไปต่อแถวบ้าง แล้วลิฟต์ก็พาให้เราขึ้นไปบนระดับความสูงอันเป็นที่ตั้งของชเวซันดอว์

เราเดินไปตามทางทอดยาวที่เชื่อมจากลิฟต์ไปยังองค์เจดีย์ แม้ในยามมืดค่ำเช่นนี้ แต่สิ่งที่เราพบเห็นคือ ภาพพุทธศาสนิกชนชาวพม่านับร้อยที่บ้างก็กำลังเจริญสมาธิ บ้างก็นับลูกประคำ หรือกราบไหว้องค์เจดีย์และเหล่าพระพุทธรูปที่ประดิษฐานโดยรอบ ช่างเป็นภาพที่สะท้อนจากแรงศรัทธาอันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

คำว่า ชเว แปลว่า ทอง ฉะนั้นภาพของชเวซันดอว์ที่ปรากฏต่อสายตาเราขณะนี้ จึงงามอร่ามไปด้วยแสงของทองที่หุ้มองค์เจดีย์ ที่กำลังสะท้อนแสงของไฟที่สาดส่อง รูปทรงของชเวซันดอว์นั้นแปลกจากเจดีย์ศิลปะพม่าทั่วไป เพราะองค์เจดีย์นั้นรูปร่างเหมือนขวด ที่ใส่กรวยแหลมไว้บนยอด หากแต่ในอดีตเมื่อครั้งแรกสร้างในปีพ.ศ.589 รูปร่างขององค์เจดีย์ไม่ได้เป็นเช่นนี้ โดยมีรูปร่างคล้ายกองข้าว ตามประวัติแล้ว ชเวซันดอว์สร้างโดยสองพ่อค้าที่เป็นพี่น้องกัน เพื่อประดิษฐานพระเกศาธาตุ จนถึงสมัยพระเจ้าดัตตาบอง (Duttabaung) แห่งอาณาจักรศรีเกษตร ได้บูรณะ และสร้างชเวซันดอว์ให้มีขนาดและรูปร่างเหมือนที่เห็นในปัจจุบัน แต่ชเวซันดอว์ที่เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวเมืองแปรในทุกวันนี้ ได้ถูกสร้างขึ้นใหม่โดยพระเจ้ามินดง (Mindon) เพื่อแทนองค์เดิมที่พังทลายลงจากเหตุแผ่นดินไหว ในปีพ.ศ.2402

ท่ามกลางความมืดมิดของท้องฟ้าเบื้องบน หากสังเกตให้ดีจะพบว่า ยอดเจดีย์ที่ส่องแสงทองอร่ามนั้นประดับด้วยเศวตฉัตร 2 อัน ซึ่งต่างจากเจดีย์ทั่วไปที่มีเพียง 1 อัน โดยอันที่ใหญ่แต่อยู่ต่ำกว่าเป็นของกษัตริย์มอญ ในยุคที่เมืองแปรตกเป็นของมอญ ในขณะที่อันเล็กแต่อยู่สูงกว่า เป็นของพระเจ้าอลองพญา (Alaungpaya) กษัตริย์พม่า ซึ่งมีชัยเหนือมอญ และยึดเอาเมืองแปรเป็นของพม่า เมื่อปีพ.ศ.2297 โดยพระองค์มิทรงให้ย้ายเศวตฉัตรของกษัตริย์มอญลง แต่ให้สร้างเศวตฉัตรอีก 1 อัน เพื่อแสดงถึง มิตรภาพ ความรัก และความเป็นหนึ่งเดียวของแผ่นดินพม่าที่จะคงอยู่ตลอดไป

Advertisement

นอกจากชเวซันดอว์ที่สูงใหญ่แล้ว ยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะพม่าขนาดใหญ่ นามว่า เซทัตจี พยา (Sehtatgyi Paya) ที่มีความสูงไล่เลี่ยกับองค์เจดีย์ โดยมีบันไดที่เชื่อมต่อจากชเวซันดอว์ไปยังพระพุทธรูปขนาดยักษ์องค์นั้น ซึ่งลานหน้าพระพุทธรูป ยังคงมากไปด้วยพุทธศาสนิกชนชาวพม่า ที่มานมัสการและนั่งสมาธิ ไม่ต่างจากลานรอบองค์เจดีย์ที่อยู่เบื้องบน

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 14.01 น.