เพราะเป็นเวลาใกล้เที่ยง อีกทั้งยังปีนขึ้นปีนลงเจดีย์อีกหลายแห่ง ทำให้แท่งหาเหตุผลที่จะเพิ่มน้ำตาลให้กับร่างกายด้วยการซื้อไอศกรีมสีสด ที่ตักวางลงบนกรวยสีชมพู ดูแล้วหวานแหวว แถมน่ากลัวกว่าน่ากิน หลังจากกินเสร็จ แท่งก็เดินมาบ่นว่าไอศกรีมอะไรไม่รู้ไม่อร่อยเลย เหมือนกินน้ำแข็งใส่สี แต่ก็กินจนหมด
เห็นแท่งกินไอศกรีม โกเล็งจึงถามว่าหิวข้าวกันหรือยัง ไม่ต้องคิดมากเลยที่จะตอบพร้อมกันว่า หิวแล้ว โกเล็งจึงควบซันดา พาเราออกนอกกำแพงเมืองเก่าพุกาม มายังร้าน Sarabha ร้านหรูซึ่งตั้งอยู่หน้าประตูเมือง เห็นร้านหรูขนาดนี้ จึงเริ่มกังวลกับราคาอาหาร แต่เมื่อหยิบเมนูมาดู ปรากฏว่าอาหารแต่ละรายการราคาไม่แพงอย่างที่คิด แท่งเลือกข้าวผัด ส่วนผมเลือกก๋วยเตี๋ยวผัดใส่ปลาทอด ราคาจานละ 1,800 จ๊าต ซึ่งเมื่อเทียบกับรสชาติและปริมาณแล้วถือว่าไม่แพง แถมยังมีผลไม้ให้กินหลังอาหารอีก
หลังเสร็จจากอาหารมื้อเที่ยง โกเล็งบอกให้เราเดินผ่านตลาดที่อยู่ฝั่งตรงข้ามร้านอาหาร เพื่อไปชมอนันดาพยา เพราะรถม้าไม่สามารถผ่านไปได้ ตลาดที่ว่านี้เหมือนตลาดในเทศกาลงานวัด แต่โกเล็งบอกว่ามีขึ้นปกติทุกวัน เราจึงได้มีโอกาสเดินชมตลาดที่มีทั้งอาหาร ของทานเล่น ภาพดาราพม่า (ที่แท่งยังอดไม่ได้ที่จะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบ ว่าตัวเองหล่อกว่าเป็นไหนๆ) และโสร่ง หลากสีสัน
สุดตลาดเป็นที่ตั้งของวัด หรือ เจดีย์วิหาร นามว่า อนันดาพยา (Ananda Phaya) ซึ่งไม่ใช่เพียงด้านหน้าจะเป็นตลาดที่มากไปด้วยร้านค้า ที่บริเวณทางเข้าวัดยังมากไปด้วยร้านขายของที่ระลึก แน่นอนว่าของที่ระลึกที่มีมากที่สุดหนีไม่พ้นบรรดาเครื่องเขินที่ทำอย่างประณีต จนผมต้องห้ามใจตัวเอง เพื่อไม่ให้สัมภาระต้องเพิ่มน้ำหนักมากไปกว่านี้ เพราะวันนี้เพิ่งวันที่ 3 ของการเดินทาง ซึ่งเราต้องแบกสัมภาระนี้ไปอีก 9 วัน นี่แหละน้า ชีวิตของแบ็กแพ็กเกอร์ อยากซื้อ แต่ไม่อยากแบก
อนันดาพยาสร้างขึ้นโดยพระเจ้าจันสิตตา (Kyanzittha) รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงษ์พุกาม ในปีพ.ศ.1633 แม้รากฐานจะสร้างตามเจดีย์ลักษณะถ้ำ (Cave Pagoda) ของอาณาจักรศรีเกษตร แต่ก็มีการพัฒนาในเรื่องโครงสร้างที่ใหญ่โต ให้สามารถเดินวนรอบภายในได้ จนถือเป็นต้นแบบของเจดีย์วิหารศิลปะพุกามที่สร้างในยุคต่อๆมา รวมถึงตะบินยูพยา เจดีย์วิหารที่สูงที่สุดในอาณาจักรพุกาม ก็สร้างตามแบบอนันดาพยา เพียงแต่ ตะบินยูพยามีมุขยื่นออกมาเพียงทิศเดียว แต่อนันดาพยานั้นมีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ทิศ ภายในมุขทั้งสี่ทิศนี้เอง เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูป 4 องค์ที่แสนงดงาม
เราเดินไปตามมุขทางทิศตะวันตก ที่ทอดตัวสู่วิหารที่สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม หลังจากผ่านซุ้มประตู ผมก็ถึงกับตะลึงเมื่อสายตาได้ปะทะกับความงามของพระพุทธรูปพระสมณะโคดม พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน โดยเป็นพระพุทธรูปยืนสูงถึง 9.5 เมตร สีทองทั้งองค์ มือขวายกขึ้นมาในลักษณะปางห้ามญาติ แต่มือซ้ายก็ยกขึ้นด้วย โดยอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับข้อศอก ซึ่งปางของพระพุทธรูปพม่า มีหลายปางที่ไม่มีในเมืองไทย โดยพระพุทธรูปยืนประจำมุขทั้ง 4 ทิศ ของอนันดาพยาล้วนเป็นปางที่ไม่มีในไทยทั้งสิ้น
ซึ่งแม้อนันดาพยาจะสร้างในสมัยพุกาม แต่พระพุทธรูปองค์นี้ และพระโกนาคมน์พุทธเจ้า ที่ประดิษฐานในมุขด้านทิศตะวันออกนั้นเป็นพระพุทธรูปที่เพิ่งสร้างในสมัยมัณฑะเลย์ แทนองค์เดิมที่ถูกไฟไหม้ ทำให้เป็นศิลปะยุคมัณฑะเลย์ ไม่ใช่ศิลปะพุกามเหมือนเช่นองค์เดิม แต่เชื่อว่าความงามคงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และแม้ภายในวิหารจะมีแสงสว่างค่อนข้างน้อย แต่องค์พระพุทธรูปนั้นกลับสุกปลั่งด้วยสีของทองที่หุ้มองค์พระ ซึ่งในเวลานี้ แท่งเดินหายลับไปแล้ว ปล่อยให้ผมนั่งตะลึงกับความงามของพระพุทธรูปอยู่คนเดียว
ผมเดินเวียนขวาไปตามช่องทางเดิน ซึ่งแกนกลางนั้นตัน เนื่องจากเป็นฐานที่รองรับเจดีย์สีทองขนาดใหญ่ที่สูงถึง 51 เมตร แต่ความสูงนี้ยังน้อยกว่าความกว้างในแต่ละด้านของวิหาร ซึ่งกว้างด้านละ 53 เมตร จากพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันทางทิศตะวันตก ผมเดินมาสู่พระกกุสันโธพุทธเจ้า ซึ่งประดิษฐานในมุขด้านทิศเหนือ โดยเป็นพระพุทธรูปยืนเช่นเดียวกัน แต่พระพุทธรูปองค์นี้ กับ พระกัสสปพุทธเจ้า ที่ประดิษฐานในมุขด้านทิศใต้นั้น เป็นพระพุทธรูปดั้งเดิมตั้งแต่ครั้นสร้างอนันดาพยา โดยสร้างจากไม้ลงลักปิดทองอย่างงดงาม โดยมีพระพักตร์ยิ้ม ดูมีเมตตายิ่งนัก
การมีพระพุทธรูปประดิษฐานตามทิศทั้ง 4 เป็นความเชื่อทางศาสนาพุทธ เรื่อง ภัทรกัปป์ ที่เชื่อว่าในอดีตมีพระพุทธเจ้ามาแล้ว 4 พระองค์ คือ พระกกุสันโธ พระโกนาคมน์ พระกัสสปะ และ พระสมณะโคดม ซึ่งถือว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์ล่าสุด แต่นั่นก็กว่า 2500 ปีล่วงมาแล้ว ในขณะนี้ ทั้งชาวพม่า และชาวพุทธทั่วโลกต่างรอคอยการมาของ พระศรีอารยเมตไตรย พระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 ซึ่งคงมีเพียงแรงศรัทธาเท่านั้น ที่จะค้ำจุนให้พระพุทธศาสนายังคงดำรงอยู่ จนถึงวันนั้น
แล้วผมก็เดินจนครบทั้ง 4 มุข ชมความงดงามของพระพุทธเจ้าทั้ง 4 ซึ่งยากเหลือเกินที่จะตัดสินว่าองค์ใดงดงามกว่ากัน แต่ที่แน่ๆ อนันดาพยานั้นถูกยกให้เป็นวัดที่งดงามที่สุดในอาณาจักรพุกาม
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 09.26 น.