จากมวลหมู่เจดีย์และวิหารทางทิศเหนือของเขตเมืองเก่าพุกาม ซันดากำลังวิ่งส่งเสียงกุบกับพาเรามาชมกลุ่มเจดีย์และวิหารทางทิศใต้ ซึ่งระยะทางนั้นไกลพอดู จึงมีเวลานานพอควรที่ผมจะได้สนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลกับโกเล็ง เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวชาวไทยมาเที่ยวพุกามมากพอควร โกเล็งจึงอยากเรียนรู้ภาษาไทย โดยให้ผมช่วยสอนในระหว่างนั่งรถม้า แน่นอนว่าภาษาไทยคำแรกที่โกเล็งควรรู้คือ คำว่า สวัสดี ที่มีความหมายตรงกับภาษาพม่าว่า มิงกะลาบา จากนั้นจึงสอนนับเลข จาก 1 ถึง 10 ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่าโกเล็งสามารถท่องจำได้ ด้วยการให้ผมทวนเพียงแค่ 2 รอบ ผมจึงให้โกเล็งสอนการนับเลขแบบพม่าบ้าง โกเล็งเริ่มสอนจาก ติท (1) หนิท (2) โตง(3) จนกระทั่งถึง ติทเซ(10) แต่ผมท่องได้เพียง ติท หนิท โตง ก็ถอดใจที่จะท่องต่อ จึงเปลี่ยนมาคุยเรื่องวิถีชีวิตของชาวพม่า ทำให้รู้ว่า ราคารถยนต์และโทรศัพท์มือถือในพม่านั้นสูงกว่าเมืองไทยถึง 3 เท่า ฉะนั้นหากพม่าคนไหนขับรถยนต์ หรือใช้โทรศัพท์มือถือ จะเป็นคนที่รวยมากๆ โดยเฉพาะค่าโทรสำหรับโทรศัพท์มือถือนั้นแพงสุดๆ ซึ่งเช้าวันรุ่งขึ้น ผมจึงได้รู้ซึ้งถึงค่าโทรที่โกเล็งบอกว่าแพงนักแพงหนา


เสียงกุบกับจากฝ่าเท้าของซันดาหยุดลงที่หน้าวัดมนูหะ (Manuha) ทุกสิ่งภายในวัดล้วนมีขนาดใหญ่กว่าปกติ เริ่มตั้งแต่ บาตรทองที่ตั้งอยู่หน้าวัด มีไว้เพื่อให้ทำบุญ แต่การจะทำบุญได้นั้นต้องขึ้นบันได ที่สูงเกือบ 3 เมตร จึงจะสามารถบริจาคเงินลงในบาตรได้


บาตรที่ว่าใหญ่นั้น เทียบไม่ได้เลยกับพระพุทธรูปองค์ใหญ่ 3 องค์ ที่ใหญ่โตจนคับวิหาร ดูแล้วชวนให้อึดอัดยิ่งนัก แต่ความอึดอัดที่เราเห็นนั้นเทียบไม่ได้เลยกับความอึดอัดของพระเจ้ามนูหะ กษัตริย์มอญที่พระเจ้าอโนรธาจับเป็นเชลย จนพระเจ้ามหูหะต้องสร้างพระพุทธรูปให้ใหญ่จนแน่นคับวิหาร เพื่อระบายความอึดอัดของพระองค์ ซึ่งนั่นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานร่วม 700 ปีระหว่างพม่า กับ มอญ ซึ่งคนที่อึดอัดที่แน่จริง เห็นจะเป็นประชาชนของทั้งสองเชื้อชาติ ที่ต้องได้รับผลกระทบจากไฟสงคราม ที่ไม่รู้จะมอดเสียที



เราคลายความอึดอัดด้วยการออกจากวิหารวัดมนูหะ เพื่อไปชมภาพสลักอันงดงามที่วัดนันพยา (Nanpaya) ซึ่งอยู่ติดกัน ภายในวิหารนันพยาค่อนข้างมืด แต่สำหรับวัดในพุกาม ที่ใดมีความมืด ที่นั้นจะมีแสงสว่าง ที่วัดนันพยานี้ก็เช่นกัน มีแสงสว่างจากไฟฉายที่แม่เฒ่าคอยส่องไปที่เสาขนาดใหญ่ 4 ต้นกลางวิหาร แต่ละด้านของเสามีภาพสลักอันงดงามของเทพ 4 หน้า นั่งบนฐานดอกบัว บ้างก็ว่าเป็นพระพรหม บ้างก็ว่าเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร แต่ไม่ว่าผู้สร้างในอดีตต้องการให้เป็นสิ่งใดก็ตาม ในวันนี้ภาพสลักภายในวัดแห่งนี้ คือ สิ่งที่สร้างรายได้เล็กๆน้อยๆให้กับชาวพม่ายุคปัจจุบัน และผมก็ไม่ลืมที่จะตอบแทนแสงไฟของแม่เฒ่าก่อนที่จะออกจากวิหารวัดนันพยา



แม้ภาพสลักที่วัดนันพยาจะงดงาม แต่ก็มีเพียงไม่กี่ภาพ ซึ่งหากจะชมภาพสลักของพระพุทธรูปที่มีมากจนเต็มผนังต้องมาที่ วัดกูบยัคจี (Gubyaukgyi) วัดนี้เป็นอีกวัดที่มากไปด้วยร้านค้าขายของที่ระลึก ทำให้แท่งเลือกที่จะเดินดูของที่ระลึก แล้วกลับไปนอนรอที่รถม้า เพราะวันนี้แท่งคงซึมซับวัดและเจดีย์ต่างๆในพุกามมากจนเกินที่จะจำ ส่วนผมยังคงเหลือเนื้อที่ความจำอีกเยอะ จึงเดินเข้าไปภายในมวลหมู่ของเหล่าเจดีย์และวิหารของวัดกูบยัคจี โดยเลือกเข้าไปชมภายในวิหารหลังใหญ่ ซึ่งหลังจากผ่านพระพุทธรูปปูนห่มจีวรแดงองค์ใหญ่ด้านหน้าวิหารที่แสงพอส่องถึงแล้ว โดยรอบทางเดินภายในวิหารนั้นค่อนข้างจะมืดมิด ทำให้ผมคิดจะเดินออกจากวิหาร ซึ่งถ้าทำเช่นนั้นจริงๆ คงต้องมาเสียใจในภายหลัง แต่โชคดีที่แม่เฒ่าคนหนึ่งเดินมาห้าม พร้อมบอกให้ผมเดินกลับไปทางเดิม และเมื่อแม่เฒ่าฉายไฟไปที่ผนัง สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาคือภาพสลักของพระพุทธเจ้าที่มากมายจนเต็มผนัง ทำเอาผมตลึงไปชั่วขณะ และทั้งๆที่รู้ว่าภายในนี้ห้ามถ่ายรูป แต่ด้วยความตื่นตาตื่นใจ ผมจึงยกกล้องขึ้นมา แต่ก่อนที่หน้ากล้องจะถูกเปิด แม่เฒ่ารีบยกมือมาห้าม พร้อมกับตีที่มือผมอย่างแรง


แม้ในวันนี้ เหล่าเจดีย์ วิหาร และพระพุทธรูปภายในอาณาจักรพุกามจะไม่ได้เป็นมรดกโลก ทั้งๆที่ความยิ่งใหญ่และความเก่าแก่นั้น เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งนั่นเป็นเพราะการปิดประเทศของรัฐบาลพม่า แต่ไม่ว่าอาณาจักรพุกามจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกหรือไม่ คงไม่สำคัญเท่าการที่คนในยุคปัจจุบัน รู้คุณค่าที่แท้จริงของเหล่าโบราณสถานและโบราณวัตถุนั้น ไม่ใช่คุณค่าจากรายได้ของการเป็นมรดกโลก ซึ่งนั่นทำให้ผมไม่โกรธแม่เฒ่าที่ตีมือผม แต่กลับรู้สึกดีเสียอีก ที่มรดกอันล้ำค่านี้ จะยังคงถูกดูแลและรักษาไว้โดยคนท้องถิ่น

หลังออกจากวิหาร แม่เฒ่าเดินไปหาพ่อเฒ่าคนหนึ่ง ที่กำลังนั่งขายภาพวาด ซึ่งผมไม่แน่ใจนัก ว่าเป็นสามีของแม่เฒ่าหรือเปล่า แต่เพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจของแม่เฒ่าที่พาผมชมภาพสลักที่งดงามจนรอบวิหาร โดยไม่เรียกร้องขอเงิน ผมจึงตอบแทนด้วยการซื้อภาพวาดแบบใช้ทรายพ่น เหมือนที่แท่งซื้อ ซึ่งเมื่อกลับถึงรถม้า แท่งถามผมทันทีว่าภาพพ่นด้วยทรายรูปจักรราศีที่ซื้อมาราคาเท่าไหร่ ใช่ภาพละ 6 เหรียญสหรัฐเท่ากันหรือเปล่า ผมได้แต่ยิ้ม เพราะไม่อยากบอกแท่งเลยว่า ผมซื้อมา 2 ภาพ ในราคา 6 เหรียญสหรัฐ!
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 17.14 น.