เสียงนาฬิกาปลุกจากโทรศัพท์มือถือดังขึ้นพร้อมๆกันทั้ง 2 เครื่อง เราไม่เกี่ยงกันว่าใครจะตื่นก่อน เพราะต่างไม่อยากพลาดชมการล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี และด้วยเวลาไม่นาน เราก็ลงมายังชั้นล่างของโรงแรม ซึ่งมิวมิวจอดรถรออยู่แล้ว
ท่ามกลางความมืดและการหลับใหลของตัวเมืองมัณฑะเลย์ มิวมิวพาเราสู่วัดมหามัยมุนี(Mahamuni) ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระมหามัยมุนี 1 ใน 5 มหาบูชาสถานที่ชาวพม่าต้องหาโอกาสไปนมัสการ หรือให้สำคัญกว่านั้น พระมหามัยมุนี นั้นถือ เป็น 1 ใน 3 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของพุทธศาสนิกชนชาวพม่า จึงเป็นดั่งศูนย์รวมจิตใจที่สูงส่งทัดเทียม พระธาตุอินทร์แขวนในรัฐมอญ และ มหาเจดีย์ชเวดากองในกรุงย่างกุ้ง แต่แปลกตรงที่ วัดแห่งนี้กลับมีชื่อเล่นที่ชาวพม่าเรียกกันว่า วัดยะไข่ อันเป็นชนชาติที่ชาวพม่าตราหน้าว่าเป็นพวกป่าเถื่อน อีกทั้งยังเป็นศัตรูตัวสำคัญ ที่เผากรุงหงสาวดีจนวอดวาย
ในเวลาตี 4 ประตูทางเข้าวิหารยังคงปิดอยู่ แต่มีพุทธศาสนิกชนชาวพม่าทั้งชายหญิงจำนวนมากยืนรอการเปิดของประตู การล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนีไม่ได้เกิดแค่บางโอกาส หรือแค่เทศกาลประเพณี หากแต่เกิดขึ้นในทุกเช้าก่อนที่พระอาทิตย์ขึ้น จนคนที่เข้าวัดเฉพาะช่วงเทศกาลอย่างผม แทบไม่อยากเชื่อว่า ในทุกเช้าจะมีเหล่าพุทธศาสนิกชนชาวพม่ามายืนรอการเปิดของประตู จนกลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกวัน และเป็นเช่นนี้มานานนับร้อยปี ซึ่งอีกไม่กี่นาทีต่อมาเมื่อบานประตูถูกเปิดออก ชาวพม่าจึงต่างเดินเรียงแถวผ่านประตูบานนั้น
ในเวลานั้น ผมได้แต่ครุ่นคิดว่า อะไรนะ ที่ทำให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน นานนับร้อยปี
เราเดินตามชาวพม่าเข้าไปสู่กลางวิหาร ยิ่งเดินลึกเข้าไปความวิจิตรอลังการของวิหารก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น แล้วเหล่าผู้หญิงที่เดินมาพร้อมๆกัน ก็ถูกกั้นให้นั่งอยู่เฉพาะพื้นที่ด้านนอก มีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่อนุญาตให้เข้าไปใกล้พระมหามัยมุนีจนสามารถสัมผัสองค์พระได้ แท่งจึงเปรยให้ผมฟังว่า น่าสงสารผู้หญิงเหล่านั้น ที่ไม่สามารถเข้าใกล้พระมหามัยมุนีได้ ทั้งๆที่เป็นชาวพม่าแท้ๆ แต่เราสองคนเป็นใครก็ไม่รู้ มาพม่าเพียงแค่ไม่กี่วัน แต่กลับมีโอกาสได้นั่งอยู่เบื้องหน้าพระมหามัยมุนี ที่มีพระพักตร์อันงดงามอย่างใกล้ชิด
ใช่ จริงอย่าที่แท่งเปรยให้ฟัง เพราะเราไม่สามารถเอาขนบธรรมเนียมที่ต่างกันมาเทียบกันได้ วัฒนธรรมพม่าไม่ต่างจากวัฒนธรรมล้านนา ที่ไม่อนุญาตผู้หญิงขึ้นไปบนเจดีย์ หรือติดทองคำเปลวที่องค์พระ ต่างจากผู้ชายที่สามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้ แต่ข้อห้ามเหล่านั้นก็ถูกยอมรับและไม่ได้ทำให้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาของหญิงชาวพม่าลดน้อยลง เพราะแม้เธอจะไม่สามารถเข้าใกล้พระมหามัยมุนีได้ แต่เธอก็สามารถนำไม้ตะนาคามาฝน ผสมน้ำเพื่อทำเป็นน้ำหอม ซึ่งเป็นดั่งตัวแทนแห่งศรัทธาในการใช้ล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี ซึ่งแน่นอนว่า เวลาตื่นนอนของพวกเธอ เร็วกว่าเวลาที่เราตื่นจากเสียงนาฬิกาปลุกนานร่วมชั่วโมง
ในเวลานี้เรานั่งอยู่เบื้องหน้าพระมหามัยมุนี พระพุทธรูปปางมารวิชัย ทรงเครื่องกษัตริย์ ที่มีความสูงถึง 3.8 เมตร อีกทั้งยังงามอร่ามเป็นสีทองทั้งองค์ และในเวลานั้น เสียงสวดมนต์ก็ดังมาจากพุทธศาสนิกชนชาวพม่าทั้งชายหญิง ที่ต่างสวดประสานกัน เหมือนบทสวดเป็นดั่งตัวแทนแห่งความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากจิตวิญญาณของชาวพม่า ตั้งแต่ครั้งตั้งอาณาจักรแห่งแรกนามว่าพุกาม จวบจนปัจจุบัน
เสียงสวดมนต์ค่อยๆเงียบลง เมื่อเหล่าพราหมณ์นำเครื่องสักการะมาตั้งอยู่เบื้องหน้าพระมหามัยมุนี และเจ้าอาวาสเดินขึ้นบันไดไปยืนบนฐานที่ต่อไว้ ซึ่งมีความสูงเพียงพอต่อการล้างพระพักตร์ โดยชาวพม่าเชื่อกันว่า พระพุทธเจ้าทรงประทานลมหายใจจำนวน 7 ครั้ง เข้าไปในพระวรกายพระพุทธรูป ทำให้พระมหามัยมุนีเป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิต จึงเป็นที่มาของพิธีการล้างพระพักตร์ในทุกรุ่งเช้า แล้วช่วงเวลาที่เรารอคอยก็กำลังจะเริ่มขึ้น
พิธีการล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี เริ่มขึ้นจากการที่เจ้าอาวาสนำจีวรสีเหลืองขนาดใหญ่มาห่มคลุมพระวรกายของพระมหามัยมุนี จากนั้นนำน้ำหอมจากไม้ตะนาคา ที่ชาวบ้านนำมาถวาย พรมจนทั่วพระพักตร์ แต่เนื่องจากแรงศรัทธาที่มีมาก เจ้าอาวาสจึงต้องพรมน้ำหอมนับสิบๆผอบ จนน้ำหอมไหลชุ่มพระพักตร์ จากนั้นจึงนำผ้าผืนแล้วผืนเล่ามาซับน้ำหอมเหล่านั้นแล้วเช็ดจนทั่วพระพักตร์ ซึ่งผ้าเหล่านั้นเป็นผ้าที่ชาวบ้านนำมาถวาย เพื่อที่จะเก็บไว้บูชา
กิจวัตรที่เกิดขึ้นทุกเช้าของเจ้าอาวาสยังไม่จบสิ้น เจ้าอาวาสนำผ้าแห้งมาเช็ดพระพักตร์อีกครั้ง แล้วจึงใช้พัด พัดจนหยดน้ำหอมที่ยังเกาะอยู่แห้งหายไป จนทำให้พระพักตร์ของพระมหามัยมุนีที่งดงามอยู่แล้ว กลับงามอร่ามผุดผ่องมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม จึงไม่แปลกเลย ที่พระมหามัยมุนีถูกจัดให้เป็นพระพุทธรูปที่งามที่สุดองค์หนึ่ง จนเป็นที่หมายปองและแย่งชิงของชนชาติต่างๆ ซึ่งนั่นเองเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมชาวพม่าจึงเรียกวัดแห่งนี้ ว่า วัดยะไข่
ย้อนหลังกลับไปเมื่อเกือบสองพันปีที่แล้ว ในปีพ.ศ.689 พระเจ้าจันทสุริยะ (Candasuriya) เจ้าครองอาณาจักรโบราณนามว่าธัญญวดี (Dhanyawadi) ได้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งขึ้นมา ซึ่งเป็นที่เลื่องลือกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้งดงามยิ่งนัก จนเป็นที่หมายปองของอาณาจักรข้างเคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากชนชาติพม่าที่ยกทัพมาเพื่อช่วงชิงพระพุทธรูปองค์นี้ หลายครั้งหลายคราว ตั้งแต่สมัยอาณาจักรพุกาม เรื่อยมาถึงอาณาจักรหงสาวดีของพระเจ้าบุเรงนอง จนมาถึงพระเจ้าอลองพญา ก็ไม่สามารถนำพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐานยังอาณาจักรของตนได้
จนปีพ.ศ.2327 พระเจ้าปดุง หรือ โบดอพญา (Bodawpaya) สามารถตีอาณาจักรยะไข่สำเร็จ และชะลอพระพุทธรูปองค์นี้มายังเมืองมัณฑะเลย์ แห่งราชธานีอังวะสำเร็จ พระพุทธรูปองค์นี้ คือพระมหามัยมุนี และอาณาจักรโบราณนามว่าธัญญวดี ก็คืออาณาจักรยะไข่ หรือ อาระกัน (Arakan) ที่ชาวพม่าตราหน้าว่าเป็นพวกป่าเถื่อน เพราะเป็นศัตรูคู่แค้น ซึ่งนั่นเป็นเหตุที่ทำให้ ชาวพม่าเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดยะไข่ แต่พระเจ้าปดุงจะรู้ไหมว่า การนำพระพุทธรูปที่เป็นดั่งศูนย์รวมจิตใจไปจากชาวยะไข่ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากบรรพชนผู้สร้าง จะนำมาซึ่งความโกรธแค้นจนเป็นแรงเสริมให้ชาวยะไข่ เข้าร่วมกับกองกำลังอังกฤษ จนนำมาซึ่งการเสียเมืองของชาวพม่า และเป็นการสิ้นสุดระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ที่สืบเนื่องมาร่วมพันปี
เราเดินขึ้นบันไดไปยังองค์พระพุทธรูป ซึ่งในเวลานี้ พื้นที่อันน้อยนิดนั้นเนื่องแน่นด้วยชายชาวพม่าตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวัยชรา ที่บ้างก็มานั่งสวดมนต์ บ้างก็นำทองคำเปลวมาติดบนพระวรกาย จนพระมหามัยมุนีนั้นมีพระวรกายนิ่มไปทั้งองค์ แต่สำหรับเราในเวลานี้ไม่มีทองคำเปลวสักแผ่น แท่งจึงขอทองคำเปลวจากชายคนหนึ่งเพื่อได้มีโอกาสสักครั้งในชีวิต ที่ได้ติดทองพระมหามัยมุนี ส่วนผมเลือกที่จะสัมผัสพระวรกายด้วยหน้าผาก และฝ่ามือทั้งสองข้าง ซึ่งในเวลานั้นเหมือนมีความสงบเย็นแผ่เข้าไปในจิตใจ
ในขณะเราเดินสวนกับชาวพม่า สายลมเย็นก็พัดมาให้กายเราได้สัมผัส ซึ่งบางที สายลมที่พัดมานี้ อาจเป็นลมหายใจแห่งศรัทธา ของชาวพม่าที่ต่างทยอยมานมัสการพระมหามัยมุนีอย่างไม่ขาดสาย
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 09.50 น.