เวลา 2 ทุ่ม ผู้โดยสารทุกคนเดินลงจากรถ เพื่อผ่านด่านตรวจที่เมืองตาตกอน (Tatkon) ซึ่งเป็นเมืองแรกของเขตมัณฑะเลย์ หลังจากที่รถเคลื่อนตัวออกจากแผ่นดินรัฐฉาน จึงดูเป็นเรื่องแปลก ที่คนพม่าต้องถูกตรวจบัตรประชาชน จนเหมือนถูกตรวจ passport ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ทั้งๆที่เดินทางในประเทศของตัวเอง
หลังกลับขึ้นรถ เราก็กลับเข้าสู่ภวังค์อีกครั้งจนเวลาตี 3 ครึ่ง คุณลุงแขกที่นั่งข้างๆผมจึงสะกิดให้ผมตื่น พร้อมบอกว่าเข้าสู่เขตเมืองพะโคแล้ว และเพียงไม่นานก็มีเพียงเราสองคนเท่านั้นที่แบกเป้เดินลงจากรถมายืนอยู่ท่ามกลางความมืดมิดของเมืองพะโค (Bago) หรือกรุงหงสาวดีในอดีต
ท่ามกลางความมืดมิด เราเห็นแสงไฟจากป้ายชื่อโรงแรม Mya Nan Da ซึ่งตั้งอยู่ในซอย บริเวณที่เราลงรถ แต่เมื่อเราเดินขึ้นบันไดไปยังโรงแรมที่อยู่ชั้นบน ภายในนั้นกลับมีเพียงเทียนไขแค่ 1 เล่มที่ให้แสงสลัวๆอยู่กลางห้องโถง ทำให้บรรยากาศในขณะนั้นเหมือนอยู่ในโรงแรมผีสิง เราจึงตั้งท่าจะถอยกลับ แต่เด็กโรงแรมรั้งเราไว้ โดยบอกว่า พม่าก็เป็นอย่างนี้แหละ ไฟมาเป็นช่วงเวลา อีกไม่นานไฟก็จะมาแล้ว จากนั้นจึงพาเราไปดูห้องพัก โดยอาศัยแสงจากเทียนไข เพื่อส่องนำทางในการเดินขึ้นไปตามบันไดวนสู่ชั้น 3 ซึ่งแม้ห้องพักจะดูสะอาดน่าพัก อีกทั้งราคาก็ไม่ถูกไม่แพง คือ คืนละ 10 เหรียญสหรัฐ แต่ด้วยการที่โรงแรมปราศจากแสงไฟ จึงทำให้เรายังไม่เลือกที่จะพักที่นี่
ท่ามกลางความมืด เราเดินแบกเป้ข้ามแม่น้ำพะโคไปอีกฟากหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของตลาด โดยหวังว่า ภายในชุมชนตลาดน่าจะมีที่พักให้เลือกมากกว่าฝั่งที่เราจากมา แต่เมื่อเราเดินวนจนรอบตลาดที่ร้านรวงยังคงปิดเงียบ ก็ไม่พบที่พักสักแห่ง สุดท้ายจึงมานั่งตั้งหลักดื่มชาที่ร้านข้างทาง ก่อนตัดสินใจเดินข้ามแม่น้ำพะโคกลับมาโรงแรม Mya Nan Da อย่างไม่มีที่ไป ซึ่งเวลาที่ล่วงเลยไปนี้ ทำให้ห้องพักของโรงแรมแสงไสวด้วยแสงไฟ ที่รัฐบาลเพิ่งส่งกระแสไฟมาในเวลาใกล้รุ่ง
เรานอนพักรอให้ความสว่างคืนกลับมาสู่เมืองพะโคในเวลาที่เช้าวันใหม่เคลื่อนตัวมาถึง จากนั้นจึงลงมาพูดคุยกับผู้จัดการโรงแรมที่มาทำงานตั้งแต่รุ่งเช้า เพื่อสอบถามรายละเอียดในการเดินทางไปพระธาตุอินทร์แขวน หรือที่ชาวพม่าเรียกว่า ไจก์ทิโย
ผู้จัดการซึ่งมีเชื้อสายแขกเขียนแผนที่ให้เรา พร้อมระบุเวลารถออกและระยะเวลาที่ต้องใช้ในแต่ละช่วงการเดินทาง โดยเราต้องไปรถบัสเที่ยวเช้าสุดที่มาจากย่างกุ้ง ซึ่งจะมาถึงพะโคในเวลาประมาณ 7.30 น. เพราะจะใช้เวลาเดินทางไปถึงคิมปุน ซึ่งเป็นจุดต่อรถขึ้นไปไจก์ทิโย เพียง 2.5 ชม. ซึ่งเร็วกว่าการนั่งรถสองแถว ที่อาจใช้เวลาเดินทางยาวนานถึง 4 ชั่วโมง เพราะจอดรับผู้โดยสารไปตลอดทาง
เมื่อถึงคิมปุนแล้วให้นั่งรถบรรทุกขึ้นเขา แล้วเดินเท้าขึ้นเขาต่ออีก 1 ชม. จึงจะถึงพระธาตุอินแขวน และที่สำคัญต้องกลับลงมาให้ทันรถบรรทุกเที่ยวสุดท้าย ที่จะออกเวลา 5 โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับรถบัสเที่ยวสุดท้ายที่ออกจากคิมปุนกลับสู่ย่างกุ้ง ฉะนั้นทางที่ดีต้องกลับมาถึงคิมปุนก่อน 5 โมงเย็น มิเช่นนั้นคืนนี้เราอาจต้องนอนค้างที่คิมปุน แทนกลับมานอนที่พะโค ซึ่งเราจ่ายค่าห้องพักไปแล้ว
ฟังดูแล้วเหมือนเป็นการทำงานแข่งกับเวลา เราจึงไม่รอช้าที่จะออกจากโรงแรม แล้วตรงไปซื้อตั๋วรถบัส โดยมีโต๊ะขายตั๋วตั้งอยู่หน้าร้านอาหารจีนร้านใหญ่ ในราคา 6000 จ๊าต ซึ่งแพงกว่าการไปซื้อที่สถานีขนส่ง 1000 จ๊าต แต่ก็น่าจะดีกว่าการที่ต้องเดินไปสถานีขนส่ง ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 1 กม. แต่สำหรับคนพม่าด้วยกันเองแล้ว จ่ายค่าโดยสารถูกกว่าเราถึง 3 เท่า คือเพียงคนละ 2000 จ๊าตเท่านั้น !
ผมนั่งรอรถที่บริเวณโต๊ะขายตั๋ว โดยมีอาหารเช้าเป็นขนมเค้กก้อนโต ที่ซื้อมาจากร้าน KSO ซุปเปอร์มาเก็ตที่ใหญ่ที่สุดในพะโค จนเป็นเหมือนห้างสรรพสินค้าย่อมๆของเมืองนี้ ส่วนแท่งเลือกไปลิ้มลองหมี่ผัดในร้านอาหารจีน ที่ทั้งเถ้าแก่และลูกน้องกำลังสารวนกับการไหว้เจ้า เนื่องจากวันนี้เป็นวันตรุษจีน หมี่ผัดจานน้อยของแท่งจึงเทียบไม่ได้เลยกับเหล่าอาหารไหว้เจ้าจานโตที่วางอยู่เต็มโต๊ะ
เลยเวลา 7 โมงครึ่งไปเล็กน้อย ชายผู้ขายตั๋วบอกว่ารถบัสมาแล้ว โดยให้เราซ้อนมอเตอร์ไซค์เขาเพื่อไปดักขึ้นที่บริเวณทางเข้าสถานีขนส่ง แต่นั่งซ้อนสามไปได้ไม่ไกล รถบัสก็แล่นสวนมาพอดี ชายผู้ขายตั๋วโบกให้รถจอด เพื่อให้เราขึ้นระหว่างทาง แน่นอนว่าภายในรถปรับอากาศคันนี้เต็มไปด้วยผู้โดยสาร แต่ก็ยังดีที่ยังเหลือที่นั่งเสริมตรงทางเดินให้เรานั่ง
รถแล่นออกจากตัวเมืองพะโคได้ไม่นานก็จอดพักให้ผู้โดยสารลงไปกินข้าวเช้า ส่วนเราที่กินกันอิ่มแล้ว จึงยืนคุยกับผู้โดยสารชาวพม่าที่ดูสนใจคนต่างถิ่นเช่นเรา ยิ่งพอบอกว่าเราเป็นโยเดีย ความสนใจจึงยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นอีกเท่าตัว แต่สำหรับเราแล้ว เราสนใจแม่น้ำกว้างเบื้องหน้าที่รถจะข้ามผ่านมากกว่า เพราะแม่น้ำนี้เป็นที่รู้จักของคนไทยทั้งประเทศ แม้ว่าจะไม่ได้ไหลผ่านประเทศไทยเลยก็ตาม
แม่น้ำสะโตง (Sittaung) คือแม่น้ำที่ผมพูดถึง สายน้ำที่กว้างใหญ่ดูไกลเกินไปที่สายตาจะมองเห็นอีกฟากหนึ่ง หากแต่ในปีพ.ศ.2127 สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงปืนต้น ยิงสุรกรรมาแม่ทัพพม่าที่อยู่อีกฟากหนึ่งของสายน้ำจนเสียชีวิต เป็นเหตุให้ทัพของพม่าแตกพ่าย จนถอยหนีไป การไล่ล่ามิให้พระองค์เสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาหลังจากที่ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแคลงจึงยุติลง แม่น้ำสายนี้จึงเป็นแม่น้ำที่กั้นระหว่างการเป็นเชลยกับอิสรภาพของคนไทย แต่สำหรับเวลานี้ แม่น้ำกว้างสายนี้นำเราข้ามจากเขตพะโค สู่รัฐมอญ แผ่นดินที่เหลือพื้นที่อันน้อยนิด ของชาวมอญหรือชาวรามัญ ชนชาติที่เคยเกรียงไกรที่สุดชนชาติหนึ่ง ของแผ่นดินพม่าในอดีต
เวลาผ่านไปกว่า 2 ชั่วโมง เราผ่านเมืองทางแยกนามว่า ไจก์โถ่ (Kyaikhto) ซึ่งชาวพม่าที่นั่งติดกับผมบอกว่า หากพลาดรถกลับพะโค ให้นั่งรถมาลงที่นี่ เพราะที่แยกนี้มีรถไปย่างกุ้งจนถึงดึก
แล้วเวลาของการเดินทาง 3 ชั่วโมงก็ยุติลง รถบัสจอดอย่างสงบนิ่งที่ คิมปุน (Kinpun) ซึ่งเป็น base camp สำหรับทางการนั่งรถบรรทุกหรือการเดินขึ้นสู่พระธาตุอินทร์แขวน ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1100 เมตร
รถบรรทุก 6 ล้อนับสิบคันจอดเรียงรายจนเต็มพื้นที่ เราเดินตามคนพม่าขึ้นบันไดที่ทำไว้ เพื่อขึ้นไปยังกระบะหลังของรถบรรทุก ภายในกระบะมีแผ่นไม้ที่กว้างประมาณครึ่งฟุตวางพาดเพื่อเป็นที่นั่งจำนวน 5 แถว และตอนท้ายกระบะยังทำเป็นคอกสำหรับการยืน
ผมนั่งอย่างทรมาน เพราะที่นั่งที่สุดแคบนี้ทำให้เข่าผมไปเกยแผ่นไม้เบื้องหน้า จนทำให้ผมต้องนั่งชันเข่าไปตลอดทาง ส่วนแท่งนั้นก็ไม่ได้สบายไปกว่าผมสักเท่าไหร่ เพราะที่นั่งสุดแคบนี้ต้องนั่งเบียดกัน ถึงแถวละ 5-6 คน แต่นั่นก็คงดีกว่าการเดินตากแดดขึ้นเขา
รถบรรทุกแล่นขึ้นเขาได้ไม่นานก็จอดพัก โดยมีชายคนหนึ่งเดินขึ้นมายืนในตำแหน่งที่สูงเท่ากับกระบะรถ เพื่อเก็บค่าโดยสาร เราเสียเงินค่าโดยสารไปคนละ 1800 จ๊าต แน่นอนว่าราคานี้สูงกว่าที่คนพม่าจ่าย จากนั้นรถบรรทุกจึงเร่งเครื่องแล่นขึ้นเขาที่สูงชันต่อ ความหวาดเสียวก็เกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อรถเลี้ยวโค้ง แต่ความหวาดเสียวนี้เทียบไม่ได้เลยกับเวลาที่รถบรรทุกด้วยกันสวนทางลงมา ซึ่งต้องลุ้นทุกครั้งว่ารถคันใหญ่ๆสองคันนี้จะแล่นสวนกันบนถนนแคบๆพ้นไหม
บรรยากาศป่าไม้สองข้างทางที่มีธารน้ำใสไหลผ่าน ทำให้ผมหวนนึกถึงเรื่องเจ้าจันท์ผมหอมที่เคยอ่าน ในเรื่องเป็นการเดินทางของเจ้าจันท์กับพ่อเลี้ยง เพื่อไปยังพระธาตุอินทร์แขวน โดยต่างคนต่างมีความปรารถนาที่ต่างกัน สำหรับจันท์นั้นมีความมุ่งหวังที่จะนำผมหอมที่อุตส่าห์เลี้ยงไว้ยาวลอดก้อนหินยักษ์ที่เหมือนถูกแขวนไว้อยู่กลางอากาศ โดยมีสิ่งมุ่งหวังจากผลของการลอดผ่านของเส้นผม ซึ่งเหมือนเอาชีวิตทั้งชีวิตหลังจากนี้เป็นเดิมพัน แต่สำหรับพ่อเลี้ยงหมายเพียงพาเจ้าจันท์ให้เดินทางไปถึง ซึ่งแม้ปลายทางจะอยู่ที่เดียวกัน หากแต่จุดหมายในการไปถึงนั้นต่างกัน โดยในเรื่องบรรยายถึงสภาพป่าที่แสนรกชัฏ และขุนเขาที่สูงชันในการเดินทางรอนแรมหลายวันหลายคืนเพื่อไปถึง ไม่ใช่การเดินทางด้วยรถยนต์ที่ถนนตัดไปถึงเหมือนเช่นในปัจจุบัน การเดินทางสู่พระธาตุอินทร์แขวนในอดีต จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่งนัก
แล้วอะไรกัน ที่ทำให้ทั้งคนมอญ คนพม่า และคนล้านนาในอดีต ต่างมุ่งมั่นที่จะไปนมัสการพระธาตุ ที่ตั้งอยู่บนก้อนหินขนาดใหญ่ ในขุนเขาที่สูงชันและรกชัฏแห่งนี้
ระยะทางประมาณ 9 กม.สิ้นสุดลง รถบรรทุกเข้าจอดที่ลานกว้าง โดยรอบนั้นมากมายไปด้วยร้านอาหาร ซึ่งจุดนี้มีบันไดทอดยาวสู่ขุนเขาที่อยู่เบื้องบน จนทำให้เราเกือบเดินขึ้นไป ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นทางขึ้นสู่พระธาตุอินทร์แขวน แต่แท้จริงแล้วทางขึ้นสู่พระธาตุอินทร์แขวนนั้นเป็นถนนปูน ซึ่งเชื่อมต่อกับเส้นทางเราขึ้นมา โดยทางยังคงทอดยาวสู่ขุนเขาที่สูงชัน แท่งจึงเดินไปตามทางเส้นนั้น แต่สำหรับผมแล้ว ขอกินข้าวผัดเพื่อให้มีพลังงานก่อนที่จะต้องเดินขึ้นเขา เพราะขนมเค้กที่กินมาถูกรถบรรทุกเขย่าจนย่อยไปหมดแล้ว
เวลาผ่านไปเกือบครึ่งชั่วโมง ผมจึงจัดการกับข้าวผัดจานใหญ่เสร็จ จากนั้นจึงตั้งหน้าตั้งตาเดินไปตามถนนปูนท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนแรง ระหว่างทางมีไม้เท้าจำหน่าย และเหล่าเสลี่ยงคอยให้บริการสำหรับผู้ที่คิดว่าการเดินขึ้นสู่พระธาตุอินทร์แขวนนั้นยากเกินกว่าที่สองขานี้จะเดินไปถึง แล้วก็มีเด็กน้อยอายุ 7-8 ขวบ 2 คนกำลังเล่นกันอยู่ เมื่อเห็นผมเดินมาจึงหยุดเล่น แล้วแบกเสลี่ยงตรงมายังผม พร้อมเชิญชวนให้ผมขึ้นเสลี่ยงของเขา เออ...ถ้าน้าขึ้น แล้วหนูจะแบกน้าไหวไหมหนอ ?
เมื่อเช้าอาการไข้ของผมเริ่มทุเลาลง จนมีความหวังว่าวันนี้ผมน่าจะหายเป็นปกติ แต่เพราะความร้อนของแสงแดดบนเส้นทางสู่พระธาตุอินทร์แขวน ทำให้อาการไข้ที่ถูกกดไว้ด้วยฤทธิ์ยาก่อตัวรุนแรงขึ้น แต่ภาพของพระธาตุอินทร์แขวนที่เริ่มปรากฏให้เห็นในตำแหน่งที่ห่างไกล ก็เป็นสิ่งกระตุ้นให้ผมก้าวเท้าเดินขึ้นไปตามทางที่สูงชัน จนเลิกคิดถึงอาการไข้ แล้วรถบรรทุกที่แน่นไปด้วยผู้โดยสารก็แล่นสวนมา 1 คัน อีกไม่นานรถบรรทุกอีกคันก็แล่นสวนมา และไม่กี่นาทีถัดไปรถบรรทุกอีกคันก็แล่นขึ้นเขาโดยผ่านหน้าผมไป ผมจึงได้แต่ยืนอึ้งอยู่ตรงนั้น ... นี่มีรถขึ้นถึงพระธาตุอินทร์แขวนเลยหรือ แล้วเรามาเดินตากแดดทำไม ?
ตลอดทางที่เดินมาเพียงลำพัง ในที่สุดผมก็เห็นชายคนหนึ่งเดินเหงื่อท่วมหลังอยู่เบื้องหน้าที่ไกลออกไป ไชโย อย่างน้อยในวันนี้ก็ไม่ได้มีผมเพียงคนเดียว ที่ศรัทธาแรงกล้า สู้เดินตากแดดขึ้นพระธาตุ แต่แล้วเมื่อระยะห่างเหลือน้อยลง ผมจึงประจักษ์แก่ความจริงว่า ชายผู้เดินเหงื่อท่วมหลังนี้ คือ แท่ง นั่นเอง!
เราเดินเหงื่อออกแล้วออกอีกกันสองคน เพื่อไปยังพระธาตุอินทร์แขวนที่อยู่ใกล้เราเข้ามาทุกที ในใจก็ได้แต่คิดว่า ผู้จัดการโรงแรมคงไม่ได้มาพระธาตุเสียหลายปี จึงไม่รู้ว่าในวันนี้มีถนนตัดถึงพระธาตุแล้ว แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่า การได้เดินขึ้นแทนการนั่งรถ น่าจะทำให้ได้ผลบุญอยู่บ้าง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณค่าและความสำคัญให้กับพระธาตุอินทร์แขวน ที่ตั้งอยู่ปลายทางให้สูงมากขึ้น แล้วในที่สุด ภาพรถบรรทุกที่จอดเรียงรายก็ปรากฏให้เราเห็นอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้สิ่งที่อยู่เบื้องหลังเหล่ารถบรรทุกเหล่านั้น คือซุ้มประตูทางเข้าสู่พระธาตุอินทร์แขวน
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 11.25 น.