เวลาตี 3 เราเริ่มทยอยตื่นทีละคน พร้อมจัดแจงล้างหน้าล้างตา แล้วลงมารวมตัวกันที่ล็อบบี้ ซึ่งเมื่อคืนเรายังคุยกันเลยว่าราคาห้องพักของโรงแรมที่เราพักนี้รวมอาหารเช้าด้วย แต่ถ้าต้องออกตั้งแต่ตี 4 คงไม่ได้กิน แต่ทีไหร่ได้ ทางโรงแรมได้จัดอาหารเช้าจำพวกขนมปังใส่กล่องให้เราถือติดมือไปกินระหว่างทางเรียบร้อยแล้ว เห็นเช่นนั้นทำใหรู้สึกดีขึ้นมาทันที
เวลาตี 4 เศษ รถบัสคันโตมาจอดหน้าทางเข้าโรงแรมเพื่อรับพวกเราเป็นกลุ่มแรก นั่นหมายความว่าเราต้องนั่งรถบัสเพื่อตระเวนไปรับนักท่องเที่ยวอีกหลายจุดจนเต็มทุกที่นั่ง กว่าจะได้ออกจากตัวเมืองอัสวานจริงๆก็เป็นเวลาเกือบตี 5
หลับ หลับ แล้วก็หลับ ผู้โดยสารทุกคนบนรถพากับหลับใหลกันหมดเพื่อเก็บแรงไว้สำหรับเที่ยววิหารอาบูซิมเบล เวลาประมาณ 6 โมงครึ่ง รถก็จอดที่ร้านค้าข้างทาง ซึ่งเป็นร้านค้าเพียงร้านเดียวที่ตั้งอยู่กลางทะเลทราย ฉะนั้นที่นี่จึงเป็นจุดรวมตัวของรถบัสทุกคันที่มุ่งหน้าไปอบูซิมเบล หลายคนซื้อกาแฟหรืออาหารรองท้องกิน แต่สำหรับเราแล้วไม่จำเป็น เพราะเรามีเสบียงมาเต็มกระเป๋า
8 โมงเศษ รถบัสจึงจอดสงบนิ่งอีกครั้งที่หน้าทางเข้าวิหารอบูซิมเบล (Abu Simbel) โดยมีเวลาให้เราเที่ยวชมวิหารแค่เพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งไม่ว่าจะมาเองหรือมากับทัวร์ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็จะประดังมาเที่ยวชมวิหารในเวลานี้ทั้งนั้น แล้วก็จะกลับไปในเวลาสายๆ ในเวลาเที่ยงเป็นต้นไปวิหารอบูซิมเบลก็แทบจะเป็นวิหารร้าง ปราศจากผู้คน เพราะในเวลานั้นอากาศของพื้นที่ทะเลทรายแห่งนี้ร้อนจนไม่มีใครอยากมาเยือน
ในเมื่อออกเดินทางพร้อมกัน รถบัสนับสิบๆคันจึงมาถึงวิหารอบูซิมเบลในเวลาไล่เลี่ยกัน ไม่ใช่ช่องจำหน่ายบัตรเข้าชม แต่หากเป็นห้องน้ำที่เป็นจุดหมายแรกของทุกคนในเวลานี้ สำหรับผู้ชายนั้นก็เร็วหน่อย ไม่ต้องต่อคิวอะไรกันมากนัก แต่สำหรับสาวๆแล้ว คิวยาวเป็นงูเลื้อย เราจึงต้องรอน้องเนน้องหมีอยู่นาน กว่าจะออกมาก็เป็นเวลาที่ช่องจำหน่ายบัตรโล่งพอดี
วิหารอบูซิมเบลที่เห็นในวันนี้เป็นอีกผลงานหนึ่งที่ยูเนสโกร่วมกับนานาชาติที่ช่วยระดมสมองและพลกำลังในการย้ายหนีก่อนถูกจมอยู่ใต้น้ำจากการสร้างเขื่อนอัสวาน โดยเป็นผลงานชิ้นสำคัญสุด เพราะนอกจากตัววิหารจะมีขนาดใหญ่โตสุดแสนอลังการแล้ว วิหารนี้ไม่ได้เกิดจากการสร้างขึ้นบนพื้นดินเหมือนวิหารทั่วไป หากแต่เกิดจากการสกัดภูเขาทั้งลูกให้กลายเป็นวิหาร ยูเนสโกจึงต้องสร้างภูเขาจำลองขึ้นมา จากนั้นจึงนำวิหารที่ถูกแยกออกเป็นส่วนๆรวมแล้วกว่าพันชิ้นนำมาประกอบขึ้นใหม่ที่ภูเขาจำลองเพื่อให้ภูมิสถาปัตย์ของวิหารอบูซิมเบลเหมือนเดิมให้มากที่สุด
จากห้องจำหน่ายบัตร เราเดินตามเส้นทาง จนเมื่อเส้นทางเปลี่ยนเป็นทางโค้งนั้นแหละ สองสายตาจึงได้เห็นความยิ่งใหญ่อลังการของวิหารอบูซิมเบล ซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก รับแสงอาทิตย์อยู่บนหน้าผาเหนือทะเลสาบนัสเซอร์
วิหารอบูซิมเบลประกอบด้วยวิหารขนาดใหญ่ 2 วิหาร วิหารที่อยู่ใกล้เราคือวิหารรามเสสที่ 2 ถัดออกไปเป็นวิหารฮาเธอร์ ซึ่งเกิดจากการสกัดภูเขาคนละลูก
เราเที่ยวชมวิหารรามเสสที่ 2 กันก่อน ด้านหน้าวิหารนี้เกิดจากการสกัดแผ่นผาเป็นรูปของฟาโรห์ขนาดใหญ่ในท่านั่ง ด้วยความสูงราว 20 เมตรถึง 4 องค์ แต่ไม่ใช่ 4 ฟาโรห์ เพราะทั้ง 4 องค์นั้นคือฟาโรห์รามเสสที่ 2 พระองค์เดียว ซึ่งเราได้เห็นรูปสลักของพระองค์แล้วครั้งหนึ่งที่เมมฟิส มาวันนี้ได้เห็นอีกครั้งพร้อมกันทีเดียวถึง 4 องค์ แต่ก็น่าเสียดายที่รูปสลักองค์ที่ 2 จากซ้ายมือ ส่วนบนได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว แต่เท่านี้ก็เป็นภาพที่อลังการและยิ่งใหญ่ต่อทุกสายตาที่มาเห็น
ย้อนกลับไปเมื่อราว 1270 ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยอียิปต์โบราณ ช่วงราชอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) ฟาโรห์รามเสสที่ 2 ซึ่งเป็นฟาโรห์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์อียิปต์ ได้มีพระราชโองการให้สร้างวิหารอบูซิมเบลขึ้น ณ ชายแดนทางทิศใต้ของอาณาจักรอียิปต์ เพื่อหมายให้วิหารที่ยิ่งใหญ่อลังการนี้ข่มขวัญชาวนูเบีย ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองให้เกิดความยำเกรง โดยมีรูปสลักของพระองค์ถึง 4 องค์ตั้งตระหง่านอยู่ที่ประตูทางเข้าวิหาร โดยไม่ใช้การก่อฐานวิหารแล้วสร้างขึ้นไปเป็นชั้นๆแบบวิหารทั่วไป แต่ใช้การสกัดภูเขาทั้งลูกให้กลายเป็นวิหาร ซึ่งหากชาวอียิปต์สามารถทำได้ขนาดนี้ ย่อมเป็นที่ยำเกรงของชนพื้นเมืองที่มีกำลังและความรู้วิทยาการที่ด้อยกว่า
แม้อาณาจักรอียิปต์ในสมัยฟาโรห์รามเสสที่ 2 จะยิ่งใหญ่เพียงใด แต่เมื่อพระองค์สวรรคตด้วยวัย 92 พรรษา ฟาโรห์องค์ต่อๆมาไม่ได้มีความเข้มแข็งเหมือนพระองค์ อาณาจักรอียิปต์จึงอ่อนแอลงตามลำดับ ยิ่งวิหารอบูซิมเบลนั้นอยู่ไกลถึงชายแดน อีกแค่เพียง 40 กิโลเมตรก็เข้าเขตประเทศซุดานแล้ว ห่างไกลจากเมืองธีบส์ ศูนย์กลางการปกครองในสมัยนั้นมากโข วิหารแห่งนี้จึงถูกปล่อยทิ้งร้าง แม้ว่าตัววิหารจะเกิดจากการสกัดหน้าผาซึ่งมีความสูงเกือบ 40 เมตรก็ตาม แต่ก็ไม่วายที่จะถูกโคลนตมและทรายทับถมจนวิหารจมหายไปจากความทรงจำของชาวอียิปต์ จนเมื่อปีค.ศ.1813 นักสำรวจนามว่า โยฮันน์ ลุดวิก เบิร์กฮาร์ดต์ ได้มาค้นพบ ทำให้วิหารที่ยิ่งใหญ่อลังการนี้ปรากฎต่อสายตาชาวโลกอีกครั้ง
เราเดินเข้าไปชมรูปสลักของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ใกล้ๆ พบว่ามีรูปสลักขนาดเล็กของมเหสีจำนวนมาก ที่ยืนอยู่ระหว่างเท้าแต่ละข้าง ซึ่งว่ากันว่าพระองค์มีมเหสีและเหล่านางสนมมากถึง 60 คน และมีพระโอรสกับพระธิดารวมแล้วถึง 150 คน พระองค์จึงเป็นทั้งนักรบและนักรักที่ยิ่งใหญ่ แต่เห็นตัวเลขแล้วอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าพระองค์จะจำชื่อพระโอรสกับพระธิดาได้หมดทุกคนไหม นอกจากนี้ด้านบนยังมีรูปสลักของลิงบาบูน นั่งเรียงยาวเป็นแถวถึง 22 ตัว ซึ่งหากจะนับว่าครบ 22 ตัวจริงไหมเห็นทีจะลำบาก เพราะภาพสลักลิงบางส่วนได้เลือนหายไปตามกาลเวลา
ทำไมต้องสลักเป็นรูปลิงบาบูน สาเหตุเพราะลิงบาบูนนั้นเป็นผู้ช่วยของเทพเจ้ารา ซึ่งเป็นเทพแห่งพระอาทิตย์ แต่ทำไมต้องมีลิงบาบูนถึง 22 ตัว เมื่อเข้าไปภายในวิหารเราจะได้รู้กันถึงที่มาของเลข 22
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2566 เวลา 16.47 น.