เมื่อก้าวเท้าเข้าไปภายในวิหารรามเสสที่ 2 สิ่งที่ผมสัมผัสได้คือความอลังการที่ผสมไปด้วยความลึกลับ ท่ามกลางแสงสลัวๆ อันเกิดจากแสงอาทิตย์จากภายนอกที่สาดส่องผ่านช่องประตูเข้ามา รูปสลักฟาโรห์รามเสสที่ 2 ยังคงทายทักผู้มาเยือนอีกครั้ง โดยภายในวิหารนี้รูปสลักของพระองค์อยู่ในท่ายืน แขนทั้ง 2 ข้างไขว้กันแนบอก มีความสูงราว 10 เมตร ยืนอยู่หน้าเสา ฝั่งละ 4 ต้น รวมกันเป็น 8 องค์

ลึกเข้าไปด้านหลังเสาแต่ละต้น เป็นผนังของวิหารที่มากไปด้วยภาพสลัก หากแต่ภาพที่ปรากฏนี้ไม่ได้เป็นภาพฟาโรห์กำลังถวายเครื่องสักการะให้กับเทพเจ้าองค์ไหนเหมือนกับวิหารส่วนใหญ่ในอียิปต์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะวิหารแห่งนี้ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อถวายให้กับเทพเจ้าองค์ไหน หากแต่สร้างขึ้นเพื่อตัวพระองค์เอง ภาพสลักจึงเป็นภาพฉากการต่อสู้ของฟาโรห์รามเสสที่ 2 กับพวกฮิตไทต์ ซึ่งปกครองดินแดนอนาโตเลีย (ปัจจุบันคือประเทศตุรกี ฝั่งทวีปเอเชีย) การต่อสู้ของ 2 อาณาจักรยักษ์ใหญ่ในอดีตนี้ ไม่มีใครแพ้หรือชนะอย่างชัดเจน จนนำไปสู่สนธิสัญญาสงบศึก แต่ทั้ง 2 อาณาจักรก็อวดอ้างว่าตนเป็นผู้มีชัยเหนือกว่า เหมือนเช่นภาพสลักภายในวิหารรามเสสที่ 2 แห่งนี้ก็ล้วนเป็นภาพที่ฟาโรห์รามเสสที่ 2 อยู่ในท่วงท่าที่กำลังจัดการกับทหารฮิตไทต์ที่เพลี่ยงพล้ำ

อย่างไรก็ตามในเมื่อเป็นวิหาร ห้องที่อยู่ลึกสุดก็ยังเป็นห้องที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า แต่ไม่ได้บูชาแค่องค์เดียวหรือ 2 องค์ ในเมื่อด้านหน้าวิหารมีรูปสลักของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ถึง 4 องค์ ห้องที่อยู่ลึกสุดนี้จึงสร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าถึง 4 องค์เช่นกัน ซึ่งห้องนี้เองที่เป็นตัวเฉลยในความลับของเลข 22 เริ่มจากเทพพทาห์ เราเคยได้ยินชื่อเทพองค์นี้ครั้งหนึ่งแล้วที่เมืองเมมฟิส เพราะพระองค์เป็นเทพเจ้าประจำเมือง เหล่าโบราณวัตถุที่ขุดพบในเมืองเมมฟิส ก็ล้วนมาจากวิหารเทพพทาห์ทั้งสิ้น

เทพองค์ที่ 2 คือ เทพอะมอนรา เทพเจ้าประจำเมืองธีบส์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงสมัยฟาโรห์รามเสสที่ 2 (ปัจจุบันคือเมืองลักซอร์) เทพองค์ที่ 3 ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ ตัวพระองค์เอง เพราะฟาโรห์รามเสสที่ 2 ได้ยกตัวเองให้สูงทัดเทียมเทพเจ้า และเทพองค์สุดท้ายซึ่งเป็นที่มาของเลข 22 นั่นคือ เทพรา เทพประจำเมืองเฮลิโอโปลิส (อยู่ใกล้กับกรุงไคโร ในปัจจุบัน) โดยเทพทั้ง 4 นี้อยู่ในท่านั่ง ในห้องที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ที่สำคัญห้องนี้มืดมาก เพราะแสงแดดส่องไปไม่ถึง หนึ่งปีจะมีแค่ 2 วันเท่านั้น ที่แสงอาทิตย์จะสาดส่องเข้ามาที่ห้องนี้ คือวันที่ 22 กุมภาพันธ์ กับ 22 ตุลาคม

ปรากฎการณ์ธรรมชาติเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ซึ่งเขาพระวิหารในเมืองไทยก็มีปรากฎการที่ว่านี้เช่นกัน เพราะในแต่ละวันพระอาทิตย์ก็จะขึ้นในองศาที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ที่น่าสนใจคือตัวเลข 22 ซึ่งไม่น่าจะใช่เรื่องบังเอิญที่รูปสลักลิงบาบูนจะถูกสลักขึ้น 22 ตัวเช่นกัน การนับวันในปฏิทินของชาวอียิปต์โบราณจึงน่าจะสอดคล้องกับปฏิทินในยุคปัจจุบันได้อย่างน่าอัศจรรย์


แม้ฟาโรห์รามเสสที่ 2 จะเป็นนักรักที่มีนางสนมมากถึง 60 คน แต่สำหรับพระมเหสีที่มีเพียง 1 เดียว คือ เนเฟอร์ตารี พระองค์ทรงยกย่องและให้เกียรติพระมเหสีมากกว่าฟาโรห์องค์ไหนๆ เพราะปกติจะไม่มีการสร้างรูปสลักของพระมเหสี หรือหากจะมีก็มีขนาดเล็กมาก ยืนอยู่ที่เท้าของฟาโรห์ แต่สำหรับฟาโรห์รามเสสที่ 2 แล้ว พระองค์ลงทุนสร้างวิหารฮาเธอร์ซึ่งอยู่ถัดไป อันเกิดจากการสกัดภูเขาอีกลูก


นอกจากเพื่อถวายแด่เทพีฮาเธอร์ เทพแห่งความรัก ธิดาของเทพราแล้ว วิหารแห่งนี้ยังสร้างขึ้นเพื่อความรักของพระองค์ที่มีต่อพระมเหสี โดยหน้าผาด้านหน้าวิหารสลักเป็นรูปราชินีเนเฟอร์ตารีในท่ายืน ขาซ้ายก้าวออกมาด้านหน้าเล็กน้อย ความสูงประมาณ 10 เมตร ขนาบด้วยรูปสลักของพระองค์ รวมรูปสลักมากถึง 6 รูป สมมาตรกันทั้งฝั่งซ้ายและขวาของประตูทางเข้าวิหาร ซึ่งไม่เคยมีฟาโรห์องค์ไหนสลักรูปพระเมสีที่มีขนาดความสูงเท่ารูปสลักของฟาโรห์เช่นนี้


ภายในวิหารฮาเธอร์ แม้จะไม่ยิ่งใหญ่อลังการเมื่อเทียบกับวิหารรามเสสที่ 2 แต่ก็ทำให้ผู้มาเยือนทุกคนต้องมนต์สะกดกับบรรดารูปสลักของเทพีอาเธอร์ที่อยู่ตามเสาทั้ง 6 และรูปสลักของฟาโรห์รามเสสที่ 2 กับราชินีเนเฟอร์ตารีที่กำลังถวายเครื่องสักการะแด่เทพีฮาเธอร์ ซึ่งเป็นเทพแห่งความรัก ซึ่งหากจะตีความแล้ว ก็คงสื่อความหมายถึง ทั้ง 2 พระองค์กำลังบูชาความรักที่มีต่อกัน


เวลา 2 ชั่วโมงที่คนขับรถให้สำหรับการชมวิหารอาบูซิมเบลนั้น ทีแรกดูเหมือนไม่น่าพอ แต่เอาเข้าจริงๆเวลานี้ก็เพียงพอจนผมสามารถกลับเข้าไปชมความอลังการภายในวิหารรามเสสที่ 2 ได้อีกรอบ แล้วจึงเดินตรงดิ่งไม่สนใจร้านรวงที่จำหน่ายของที่ระลึก เพื่อกลับไปบริเวณลานจอดรถตามเวลาที่กำหนด ในขณะที่เพื่อนๆเดินนำออกไปรอก่อนหน้านี้แล้ว แต่เอาเข้าจริงๆรถบัสของเรานั้นหายไปจากลานจอดรถ แต่ยังมีผู้ร่วมเดินทางที่มากับรถบัสคันเดียวกันยืนรออยู่อีกหลายคน จึงมั่นใจว่าเราไม่ได้มาช้ากว่าเวลาที่กำหนด จนทำให้รถบัสออกไปเสียก่อน รอๆๆอีกร่วมครึ่งชั่วโมง รถบัสจึงเข้ามาที่ลานจอดรถ ที่ในเวลานี้ลานจอดนั้นโล่งมาก เพราะรถบัสคันอื่นๆที่มาพร้อมๆกันต่างออกไปกันหมดแล้ว



กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันพฤหัสที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เวลา 16.27 น.