จากหุบเขากษัตริย์ เราเดินทางไปวิหารเดียร์เอลบาห์รี (Deir el – Bahari) หรือที่รู้จักกันในชื่อ วิหารฮัตเชปซุต (Temple of Hatshepsut) แล้วฮัตเชปซุต คือใคร

ฮัตเชปซุต คือ หนึ่งในฟาโรห์ที่ที่ยิ่งใหญ่ ในหน้าประวัติศาสตร์อียิปต์ อีกทั้งยังเป็นผู้หญิง ผู้ก้าวขึ้นจากราชินี มาเป็นฟาโรห์ จนได้ฉายานามว่า ราชินีมีเครา

เล่าถึงประวัติของฟาโรห์ฮัตเชปซุตกันก่อนดีกว่าว่าเหตุใดราชินีผู้นี้จึงก้าวขึ้นมาเป็นฟาโรห์ได้ พระนางฮัตเชปซุตเป็นราชินีของฟาโรห์ธุตโมซีสที่ 2 แห่งราชวงศ์ที่ 18 เมื่อฟาโรห์ธุตโมซีสที่ 2 สวรรคต ผู้สืบราชบัลลังก์คือ ธุตโมซีสที่ 3 พระโอรสที่เกิดกับนางสนม แต่เนื่องจากธุตโมซีสที่ 3 ยังทรงพระเยาว์ พระนางฮัตเชปซุตจึงขึ้นนั่งว่าราชการแทน ว่าราชการไปว่าราชการมาจึงเป็นฟาโรห์เสียเอง ซึ่งนอกจากการแต่งตัวเป็นชาย อีกทั้งยังสวมเคราปลอมให้เหมือนกับผู้ชาย จนได้ฉายาว่าราชินีมีเคราแล้ว พระนางยังอ้างว่าพระมารดาของพระนางนั้นมีสัมพันธ์กับสุริยเทพอมุน ทำให้พระนางคือธิดาแห่งเทพอมุน เพื่อทำให้ประชาชนเกรงกลัว หากมองในมุมนี้ไม่ว่าใครก็ต้องรู้สึกว่าพระนางนั้นมากในอำนาจ แต่ถ้ามองกันที่ผลงานก็ต้องยอมรับในผลงานการบริหารบ้านเมืองในยุคสมัยของพระนาง โดยเฉพาะการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน จนเป็นอีกยุคหนึ่งที่อียิปต์เจริญรุ่งเรืองมาก

ในช่วงสมัยการปกครองของพระนางนี้เอง ที่พระนางได้สั่งให้มีการสร้างวิหารฮัตเชปซุตขึ้นด้วยจุดประสงค์ 2 อย่าง คือเพื่อบูชาเทพอมุน และเพื่อเป็นที่ฝังพระศพของตนเอง แต่เมื่อธุตโมซีสที่ 3 เติบใหญ่ ก็เริ่มทวงคืนอำนาจในฐานะฟาโรห์ตัวจริง ฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุตก็ได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย พร้อมกับรูปปั้นของพระนางที่วิหารแห่งนี้ก็ถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ

วิหารฮัตเชปซุตเป็นวิหารขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนหน้าผาแห่งภูเขาเดียร์เอลบาห์รี ตัววิหารแบ่งเป็น 3 ชั้น หลังจากลงจากรถลากที่พานักท่องเที่ยวเดินทางจากทางเข้าด้านหน้า นักท่องเที่ยวแต่ละคนก็มุ่งตรงไปสู่ตัววิหาร เพราะแสงแดดในขณะนี้ร้อนแรงเหลือเกิน แต่ส่วนใหญ่ก็ยอมร้อนที่จะขอถ่ายรูปกับด้านหน้าวิหารที่สุดแสนอลังการ ก่อนที่จะไต่บันไดหินที่ทอดยาวสู่ตัววิหารชั้น 2 และ 3

ชั้นบนสุดของบันไดมีรูปปั้นของฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุตในท่าแขนไขว้ประสานกันที่หน้าอก อันเป็นท่าของเทพโอซิริส ตั้งเรียงรายอยู่ด้านหน้าเสาแต่ละต้น แต่เนื่องจากรูปปั้นที่สูงร่วม 4 เมตรนี้ถูกทำลาย ทำให้ปัจจุบันเหลือรูปปั้นเพียงแค่ 8 อัน จากที่เคยมีทั้งหมด 26 อัน นอกจากนี้บรรดารูปสลักก็ถูกทำลายลงอย่างน่าเสียดายเช่นกัน แต่ก็พอจะมองเห็นโครงร่างของความงดงามแห่งภาพสลักในอดีต โดยเฉพาะภาพของพระนางที่กำลังให้อาหารวัว ที่ดูแล้วให้ความรู้สึกอ่อนโยนยิ่งนัก

สำหรับภาพสลักที่ถูกว่ามีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ คือภาพที่แสดงเรื่องราวการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้ากับอาณาจักรปุนต์ ซึ่งทุกวันนี้ยังคงปริศนาว่าอาณาจักรปุนต์นี้คือที่ใด ซึ่งนักประวัติศาสตร์สัณนิษฐานว่า อาณาจักรที่ลึกลับนี้ น่าจะตั้งอยู่ในแผ่นดินที่ปัจจุบันคือประเทศโซมาเลีย

หลังจากออกจากวิหารฮัตเชปซุต คนขับรถแท็กซี่ก็จะพาเราไปกินอาหารที่ร้านอาหารข้างทาง โดยบอกว่าถึงเวลาเที่ยงแล้ว แต่เราปฏิเสธ เพราะดูสภาพร้านแล้วไม่ใช่ร้านท้องถิ่นแน่ แต่น่าจะเป็นร้านที่เปิดไว้สำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ และราคาอาหารน่าจะสูงกว่าปกติ เพราะคงต้องแบ่งรายได้ให้กับคนขับ และเมื่อเราปฏิเสธโดยยืนยันว่าให้พาไปเมมนอนก่อน ส่วนอาหารเที่ยงไว้ค่อยข้ามไปกินฝั่งตัวเมืองลักซอร์ ก็ทำให้คนขับเกิดอาการหัวเสีย และหน้าซึ่งไม่ค่อยเป็นมิตรก็เริ่มไม่เป็นมิตรมากยิ่งขึ้น ทำให้ระหว่างทางซึ่งผ่านวิหารหลายหลัง เราบอกให้คนขับจอด แต่เขาก็ไม่ยอมจอดให้เราแวะชม โดยบอกว่า ไหนบอกว่าจะไปเมมนอนไม่ใช่หรือ

หากเทียบกับมหาพีระมิดแห่งกีซ่า หุบเขากษัตริย์นี้ก็มีความเหมือนกัน นั้นคือ ด้านหน้าพีระมิดจะเป็นวิหารที่ใช้สำหรับการประกอบพระราชพิธีศพ หุบเขากษัตริย์ก็มีการสร้างวิหารเพื่อใช้ประกอบพิธีศพเช่นกัน โดยปัจจุบันเหลือให้เห็นเพียงแค่ 3 หลังเท่านั้น คือ ราเมสเซียม วิหารที่ใช้ประกอบพระราชพิธีศพของฟาโรห์รามเสสที่ 2 เมดิเนต ฮาบู วิหารที่ใช้ประกอบพระราชพิธีศพของฟาโรห์รามเสสที่ 3 และวิหารที่ใช้ประกอบพระราชพิธีศพของฟาโรห์อเมน โฮเทปที่ 3 เมื่อประมาณ 1400 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งอยูในสภาพปรักหักพังมากที่สุด โดยเหลือเพียงรูปสลักหินที่ตั้งอยู่หน้าวิหารแค่ 2 อัน แต่กลายเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันมากที่สุด ในนามว่า ยักษ์แห่งเมมนอน (Colossi of Memnon)

ด้วยเหตุที่วิหารที่ใช้ประกอบพระราชพิธีศพของฟาโรห์อเมน โฮเทปที่ 3 ตั้งอยู่บนพื้นที่น้ำท่วมถึง เพื่อให้สอดคล้องกับตำนานการสร้างโลกที่พื้นแผ่นดินผุดขึ้นจากท้องน้ำ ในฤดูน้ำหลาก แม่น้ำไนล์จึงไหลท่วมพื้นที่วิหาร ทำให้วิหารแห่งนี้ค่อยๆพังทลายทีละน้อย จนเหลือเพียงรูปปั้นหิน 2 อัน ในท่านั่ง ขนาดความสูงราว 20 เมตร ซึ่งเป็นตัวแทนของฟาโรห์อเมน โฮเทปที่ 3 ตั้งโดดเด่นอยู่กลางท้องทะเลทราย 

ความใหญ่โตท่าเกรงขามนี้เอง ทำให้ชาวกรีกโรมันที่มาพบในอดีต คิดว่าเป็นรูปปั้นของยักษ์เมมนอนในตำนาน โดยปัจจุบันนักโบราณคดีได้ขุดพบซากของรูปปั้นของฟาโรห์อเมน โฮเทปที่ 3 เพิ่มขึ้นอีก โดยน่าจะเป็นรูปปั้นที่อยู่ที่ประตูของวิหารทางทิศเหนือ ซึ่งเมื่อนำชิ้นส่วนมาประกอบกันแล้วได้รูปปั้นในท่ายืน มีความสูงใกล้เคียงกับรูปปั้นเมมนอน แต่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์กว่า โดยเฉพาะที่ใบหน้า ทำให้สามารถคาดเดาพระพักตร์ของฟาโรห์อเมน โฮเทปที่ 3 ได้จากรูปปั้นคู่นี้ และบางทีหากขุดลึกลงไปใต้ดินอาจจะพบซากวิหารในการประกอบพระราชพิธีศพของฟาโรห์อเมน โฮเทปที่ 3 ซึ่งว่ากันว่าน่าจะเป็นหนึ่งในวิหารที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในอียิปต์

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันอังคารที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.21 น.

ความคิดเห็น