จากที่คิดว่าคืนนี้คงได้เอนเบาะหลับสบายจนถึงกรุงไคโร เอาเข้าจริงๆกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะผมนอนแทบไม่หลับเลยตลอดทั้งคืน ไม่รู้ว่าการรถไฟอียิปต์ผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงแดดที่ร้อนแรงหรืออย่างไร ภายในตู้โดยสารจึงเปิดไฟสว่างทั้งคืน เมื่อถึงกรุงไคโรในเวลาประมาณตี 5 ครึ่ง ผมจึงอยู่ในอาการสลึมสลือ แต่พอบอกตัวเองว่า วันนี้จะได้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์ไคโร ศูนย์รวมทุกสรรพสิ่งของอาณาจักรอียิปต์โบราณ สมองและหัวใจก็กลับมากระชุ่มกระช่วยทันที

เรากลับมาที่สถานีรถไฟกรุงไคโรอีกครั้งหลังจากผ่านไป 6 วัน ซึ่งเป็น 6 วันแห่งการเดินทางตะลุยประเทศอียิปต์ตั้งแต่เหนือจรดใต้ อีกทั้งยังฉีกออกไปไกลถึงทะเลแดง การกลับมาอีกครั้งในช่วงเวลาที่ต่างกันทำให้ได้เห็นว่า ในยามที่พระอาทิตย์ยังไม่โผล่พ้นขอบฟ้านั้น ภายในสถานีรถไฟกรุงไคโรช่างสวยงามจากแสงไฟสีทองที่เรืองรองดุจอยู่ในวิหารของเทพเจ้า

ผมสลัดความง่วงแล้วเดินลากกระเป๋าออกจากสถานีพร้อมกับเพื่อนๆ เพื่อเรียกแท็กซี่พาไปส่งยัง ไมอามี แต่ไม่ใช่หาดไมอามี ในสหรัฐอเมริกา หากแต่เป็น ไมอามี ไคโร โฮสเทล ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองในย่านตลาดเฮร์บ (Talaat Harb) ซึ่งคำว่า “ตลาด” นี่ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่คนไทยน่าจะรับมาจากดินแดนอาหรับ

โปรแกรมหลักของวันนี้คือการไปชมอภิมหาโบราณวัตถุของอียิปต์โบราณที่ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ไคโร แต่เวลานี้ยังเช้าอยู่เราจึงควรไปเยือนอีก 1 สถานที่ก่อน เมื่อ 5 วันก่อน เราไปเยือนมัสยิดโมฮัมหมัดอาลี หนึ่งในมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในอียิปต์มาแล้ว เช้านี้เราจึงเลือกไปโบสถ์ในศาสนาคริสต์กันบ้าง ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ในประเทศอียิปต์จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่หากย้อนเวลากลับไปในสมัยที่ถูกปกครองโดยโรมัน ดินแดนแห่งนี้เคยนับถือศาสนาคริสต์มาก่อน ซึ่งสถานที่ที่เราเลือกไปนี้คือ โบสถ์เซนต์ไซมอน (Saint Simon the Tanner Monastery) โบสถ์ที่ตั้งอยู่ในชุมชนชาวคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงไคโร

หลังจากเก็บกระเป๋าเดินทางไว้ในห้องพักเรียบร้อย เราก็ไม่รอช้าที่จะเรียกแท็กซี่ไปโบสถ์เซนต์ซามาน ดูจากแผนที่แล้วที่ตั้งของโบสถ์นี้อยู่ในซอยที่ซับซ้อน และเมื่อเดินทางจริงๆยิ่งดูซับซ้อน สับสน วุ่นวายมากขึ้นไปอีก เพราะเราต้องวิ่งผ่านกองขยะ ซึ่งไม่ใช่แค่มีขยะถูกทิ้งเกลื่อนกราดบนถนนเท่านั้น แต่บริเวณนี้ยังเป็นที่ทิ้งขยะกองมหึมา จนได้รับฉายาว่าเมืองขยะแห่งกรุงไคโร

เมืองขยะแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อปีค.ศ.1969 เมื่ออียิปต์ได้ออกกฎหมายไล่คนเก็บขยะทั้งหมดในกรุงไคโรไปยังเนินเขา Mokattam โดยเริ่มแรกมีคนเก็บขยะประมาณ 15,000 คนถูกไล่ให้มาอยู่ที่นี่ แต่ปัจจุบันนี้เมืองขยะแห่งนี้มีประชากรเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว ในเมื่ออาชีพของพวกเขาคือการเก็บขยะ รวมถึงการคุ้ยเขี่ยกองขยะเพื่อหาขยะที่พอขายได้ไปขาย ขยะจึงค่อยๆสะสมมากขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นกองภูเขาเลากา ดูแล้วคุณภาพชีวิตไม่ดีเอาเสียเลย แต่ทุกชีวิตใช่ว่าจะมีทางเลือกที่ดีเสมอไป

นอกจากซอยที่แสนแคบ แถมยังขวักไขว้ไปด้วยรถรา โดยเฉพาะรถตุ๊กตุ๊กแล้ว คนขับรถแท็กซี่ยังต้องวิ่งหลบกองขยะ และเผชิญกับถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ จนพูดว่าเขาไม่ไปต่อแล้ว ให้พวกเราลงกลางทางที่เมืองขยะนี้แล้วเดินต่อไปเอง แต่เราไม่ยอม ยังคงนั่งไม่ไหวติง จนเขาต้องยอมขับรถไปถึงโบสถ์เซนต์ซามาน ซึ่งเมื่อถึงสภาพแวดล้อมที่เราเห็นนั้นเหมือนกับโลกคนละใบ เพราะถนนหนทางนั้นกว้างขวาง และสะอาดสะอ้านยิ่งนัก

โบสถ์เซนต์ไซมอน หรือชื่อในภาษาอารบิกคือ โบสถ์เซนต์ซามาน (Saint Samaan the Tanner Monastery) สร้างขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ.979 ทีแรกเราคิดว่าโบสถ์ที่ต้องผ่านเมืองขยะแบบนี้คงไม่ค่อยมีใครมา แต่ที่ไหนได้ในเวลานี้มีชาวคริสต์จำนวนมากนับร้อยนับพันคนกำลังมาโบสถ์แห่งนี้ บ้างก็เดินมา บ้างก็ขับรถส่วนตัว บ้างก็มาด้วยรถตุ๊กตุ๊ก จนถึงการเหมารถบัสมาก็มี แค่เห็นก็เชื่อแล้วว่า โบสถ์อายุกว่าพันปีแห่งนี้เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวคริสต์ในกรุงไคโรมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานจริงๆ

เห็นโบสถ์คริสต์แปลกๆมาบ้างแล้ว ทั้งแบบอยู่ใต้ดิน อยู่ในถ้ำ แต่ที่นี่น่าจะแปลกสุด เพราะที่นั่งสวดมนต์นั้นสร้างเป็นอัฒจรรย์ ขนาดมหึมา สูงประมาณ 50 ชั้น จุคนได้ราว 2 พันคน หากไม่รู้ว่านี่เป็นโบสถ์คริสต์ ผมอาจคิดว่ากำลังยืนอยู่ในสนามกีฬาขนาดยักษ์ เท่านั้นยังไม่พอ อัฒจรรย์เพื่อสวดมนต์นี้ยังสร้างโอบล้อมหน้าผาหินของเขา Mokattam ตรงบริเวณที่เป็นโพรงถ้ำขนาดใหญ่ ส่วนตัวโบสถ์ซึ่งเชื่อมกับอัฒจรรย์ชั้นล่างสุดยังเจาะเข้าไปในเขา ดูแล้วอเมซิ่งยิ่งนัก

ในเวลาที่เราไปเยือนเป็นช่วงเวลาที่ชาวคริสต์กำลังสวดมนต์พอดี เราจึงได้มีโอกาสร่วมสัมผัสถึงความศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่ แม้จะเป็นคนต่างถิ่นที่เพิ่งมาที่นี่เป็นครั้งแรก ซึ่งไม่ควรใช่ความคิดจากสิ่งที่เห็นเพียงแค่ครั้งเดียวมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในเวลานั้นผมก็อดคิดไม่ได้ว่า ชาวคริสต์ที่อยู่อาศัยในกรุงไคโรนั้นเหมือนถูกแกล้ง ด้วยการย้ายคนเก็บขยะพร้อมกองขยะที่สูงเป็นภูเขาเลากามาตั้งไว้ที่ปากทางเข้าโบสถ์ เหมือนหมายจะให้โบสถ์อันเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของคริสต์ศาสนิกชนนั้นต้องร้างรา ซึ่งนั่นอาจเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการพิสูจน์แรงแห่งศรัทธาว่าแข็งแกร่งเพียงใด แต่ภาพที่ผมเห็น ความรู้สึกที่สัมผัสได้ ทำให้ผมเชื่อว่า โบสถ์เซนต์ไซมอน ที่มีอายุกว่าพันปีแห่งนี้ จะยังคงอยู่ในฐานะศูนย์กลางความศรัทธาของชาวคริสต์ในกรุงไคโรไปอีกนานแสนนาน

ดูแล้วเป็นเรื่องยากมากที่จะเราจะหารถแท็กซี่พาเรากลับไปยังตัวเมือง เราจึงตัดสินใจใช้บริการรถตุ๊กตุ๊กที่วิ่งกันอย่างพลุกพล่านพาเราออกไปสู่ถนนใหญ่ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าคน 5 คนจะนั่งอัดกันในรถตุ๊กตุ๊กได้ แต่เราก็สามารถทำได้ ในราคาที่แสนถูกเพียงแต่ 10 ปอนด์เท่านั้น แน่นอนว่าขากลับเรายังคงต้องผ่านเมืองขยะ แต่ครั้งนี้เราสัมผัสได้เต็มๆมากกว่าขามา เพราะขามาเรานั่งรถแท็กซี่ที่ปิดกระจกมิด แต่ขากลับนั้นนั่งรถตุ๊กตุ๊กที่เปิดโล่งรับอากาศและกลิ่นจากภายนอกมาอย่างเต็มๆโดยไม่มีอะไรกั้น ยิ่งเห็น ยิ่งสัมผัส ยิ่งให้เกิดความรู้สึกเห็นใจผู้คนที่ถูกขับไสไล่ส่งให้มารวมอยู่กันที่นี่

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพุธที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เวลา 16.44 น.

ความคิดเห็น