ตอนนี้บรรยากาศในช่วงปีใหม่ยังคงอยู่ เราจะพาทุกคนไปไหว้พระขอพร เนื่องในเทศกาลปีใหม่ ด้วยการไหว้พระ 9 วัดครับ

ในการไหว้พระ 9 วัดครั้งนี้ เราเลือกวัดที่มีความหมายดีจะได้เป็นมงคลตลอดปี 2566 ครับ

เนื่องจากในการเดินทางไปไหว้พระ 9 วัด ซึ่งแต่ละวัดอยู่ใกล้กันมาก การเดินทางไปจะสะดวกที่สุด คือ รถโดยสารสาธารณะ หรือ MRT สถานีสนามไชยครับ  หากท่านไหนที่สะดวกนำรถส่วนตัวมาสามารถนำไปจอดได้ที่ ลานจอดรถราชนาวีสโมสร ค่าจอดรถ ชั่วโมงแรก 30 บาท ชั่วโมงต่อไป ชั่วโมงละ 20 บาท

หลังจากเราได้ที่จอดแล้วไปเริ่มวัดแรกกันเลยครับ ในครั้งนี้เราต้องเริ่มจาก สิ่งศักดิ์ประจำกรุงเทพก่อนครับ นั้นคือ ศาลหลักเมืองกรุงเทพ

ศาลหลักเมือง สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๒๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธียกเสาหลักเมืองขึ้น เป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์มีไม้แก่นจันทน์ประกับนอก ยอดเสารูปบัวตูม เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๓๒๕ ณ ชัยภูมิใจกลางพระนครใหม่ที่พระราชทานนามว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” หรือเรียกต่อกันมาว่า “กรุงเทพมหานคร” สถิตสถาพรเป็นมิ่งขวัญประชาชนชาวไทย จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่แทนต้นเดิมที่ชำรุดไปตามกาลเวลา เป็นเสาไม้สักเป็นแกนอยู่ภายในประกับด้วยไม้ชัยพฤกษ์ยอดเม็ดทรงมัณฑ์ และผูกดวงชาตาพระนครขึ้นใหม่ เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารประสบความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรยิ่งขึ้น

  • คติความเชื่อ : จะได้มีหลักในการใช้ชีวิตที่ดีเป็นใงคลของชีวิต

เดินมาต่อวัดที่ 2  วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว

เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงในสมัยอยุธยา และมีพระราชประสงค์ให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เพราะมีแต่ส่วนพุทธาวาสไม่มีส่วนสังฆาวาส
ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามมีอาคารสำคัญและอาคารประกอบเป็นจำนวนมาก จึงแบ่งกลุ่มอาคารออกเป็น 3 กลุ่ม ตามตำแหน่งและความสำคัญ ดังนี้ กลุ่มพระอุโบสถ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุด มีพระอุโบสถเป็นอาคารประธานซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ล้อมรอบด้วยศาลาราย พระโพธิ์ธาตุพิมาน หอราชพงศานุสรณ์ หอราชกรมานุสรณ์ หอระฆัง และหอพระคันธารราษฎร์

  • คติความเชื่อ : จะได้มีแก้วแหวนเงินทองเจริญรุ่งเรือง

ข้ามเรือที่ท่าช้างมา วัดที่ 3 วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร หรือ วัดระฆัง 

เป็นอีกวัดที่เก่าแก่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่นี่เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต (โต พรหมรังสี) ซึ่งเป็นพระมหาเถระที่ได้รับความนับถืออย่างมากในประเทศไทยและยังเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่สำคัญในการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งอัญเชิญมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราชด้วย สำหรับที่มาของวัดระฆัง มาจากการขุดพบระฆังในสมัยรัชกาลที่ 1 และโปรดเกล้าฯ ให้นำระฆังนี้ไปไว้ที่วัดพระแก้ว จึงโปรดเกล้าให้สร้างหอระฆัง พร้อมทั้งสร้างระฆัง 5 ลูกขึ้นมาทดแทน นี่จึงเป็นที่มาของวัดระฆัง อีกทั้งยังมีความเชื่อที่ว่า การมาไหว้พระวัดระฆังจะทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังอีกด้วย

คติความเชื่อ : มีคนนิยมชมชื่น ชื่อเสียงโด่งดังตลอดทั้งปี

วัดที่ 4 วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร หรือที่รู้จักกันว่า วัดแจ้ง 

เป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ดังนั้นวัดอรุณฯ จึงเป็นวัดที่ได้รับการเคารพมากที่สุดแห่งหนึ่ง เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของวัด คือ ยักษ์กายสีขาวและยักษ์กายสีเขียว ที่ยืนเฝ้าประตูซุ้มยอดมงกุฎทางเข้าพระอุโบสถ ซึ่งตามความเชื่อสมัยก่อน ยักษ์ทั้งสองตนนี้ทำหน้าที่ปกปักรักษาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีค่าที่อยู่ด้านใน และอีกหนึ่งอย่างก็คือความสวยงามของพระปรางค์ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตัวพระปรางค์มีการประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ ถ้วยชามเบญจรงค์และเปลือกหอย เรียกได้ว่าเป็นความงดงามที่เคียงคู่ไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา 

คติความเชื่อ : “อยากให้ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน”

วัดที่ 5 วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร 

เป็นหนึ่งในวัดศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเทพฯ ที่ใครมาก็ต้องขอพร ชื่อวัดได้รับพระราชทานนามจากรัชกาลที่ 3 และยังทรงสร้างพระวิหารหลวง รวมถึงได้พระราชทานพระประธาน คือ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยองค์ใหญ่ ซึ่งหลวงพ่อโตก็ได้รับการสักการะอย่างมากจากหมู่ชาวจีน จนมีชื่อเรียกแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกง นอกจากนั้นยังมีหอมณเฑียรธรรมเถลิงพระเกียรติเป็นที่เก็บพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ 4 และหน้าวิหารยังมีระฆังที่ใบใหญ่ที่สุดในประเทศอีกด้วย

ติความเชื่อ : “ให้เดินทางแคล้วคลาดปลอดภัย มีมิตรไมตรีที่ดี”

ในการไปวัดที่ 3 ถึงวัดที่ 5  มีบริการเรือรับจ้างนำไปไหว้ทั้ง 3 วัดในราคา 30 บาท ประหยัดดีครับ เราสามารถนั้นเรือกลับมาที่ท่าน้ำวัดอรุณเพื่อนั่งเรือข้ามฝากไปท่าเตียนครับ

วัดที่ 7 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ในอดีตวัดโพธิ์เป็นที่เก็บรวบรวมตำราจารึกสรรพวิชาหลายแขนง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชน วัดโพธิ์จึงได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย และยังได้ขึ้นทะเบียนจากทางยูเนสโกให้เป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้วัดโพธิ์ถือว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีพระเจดีย์ที่สำคัญ คือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล และมีพระพุทธไสยาสน์ที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของวัดโพธิ์ ก็คือรูปปั้นฤๅษีดัดตน ในอิริยาบถต่างๆ ทั้งหมด 24 ท่า ทุกวันนี้วัดโพธิ์จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนา ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากและมีความเชื่อในเรื่อง

คติความเชื่อ :“ขอพรให้มีชีวิตที่ร่มเย็นเหมือนอยู่ใต้ร่มโพธิ์ร่มไทร”

ต่อจากนี้เดินคงไม่ไหวห่างกัน 1 กม ได้ เรานั่งรถสามล้อไปครับ 60 บาทไปวัดที่7 กันครับ

วัดที่ 7  วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร หรือ วัดสุทัศน์ 

เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 ตั้งอยู่ในเขตพระนครใน โดยมีเสาชิงช้า ที่เป็นเอกลักษณ์อยู่หน้าวัด ใครที่มาวัดสุทัศน์ต้องไปสักการะพระศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นพระประธานสำริดขนาดใหญ่ในพระวิหารหลวง และเยี่ยมชมพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย โดยภายในพระอุโบสถมีพระประธาน คือ พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย และพระอสีติมหาสาวก 80 องค์ ที่นั่งพนมมือฟังพระบรมพุทโธวาทเบื้องพระพักตร์องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า บริเวณรอบๆ พระวิหารและพระอุโบสถมีเครื่องศิลาจีนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเก๋งจีน ตุ๊กตาจีน สัตว์ในหิมพานต์ และสัตว์ในเทพนิยายจีน ไหว้พระเสร็จก็มาเดินชมความสวยงามรอบๆ วัดได้เลย

คติความเชื่อ : “ไหว้พระวัดสุทัศน์ วิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์แก่บุคคลทั่วไป” 

เดินต่อมา วัดที่ 8 ศาลเจ้าพ่อเสือ (เสาชิงช้า)หรือที่เรียกว่า ศาลเจ้าพ่อเสือ  

เป็นศาลเจ้าจีนเก่าแก่ซึ่งตั้งอยู่บนถนนตะนาว ใกล้เสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ชาวจีนเรียกศาลเจ้านี้ว่า "ตั่วเหล่าเอี้ย" (เทพเจ้าใหญ่) โดยเป็นที่ประดิษฐานรูปเอี่ยนเทียนส่งเต้, รูปเจ้าพ่อเสือ, รูปเจ้าพ่อกวนอู และรูปเจ้าแม่ทับทิม
ว่ากันว่าศาลเจ้าพ่อเสือตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เดิมตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมือง ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดให้ขยายถนนบำรุงเมือง ได้โปรดให้ย้ายศาลมาไว้ที่ทางสามแพร่งถนนตะนาว จนถึงปัจจุบัน

คติความเชื่อ : “ไหว้ศาลเจ้าพ่อเสือ จะทำให้มีคนเกรงกลัว” 

วัดที่ 9 ต้องนั่งสามล้อมาต่อครับ นั้นคือวัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร 

เป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา แต่เดิมชื่อวัดตองปุ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น วัดชนะสงคราม เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ที่ทรงมีชัยชนะต่อพม่าในการรบทั้ง 3 ครั้ง จึงมีความเชื่อว่า ถ้าใครมีอุปสรรคและต้องการชัยชนะต่อปัญหาต่างๆ ให้มาไหว้พระที่วัดชนะสงคราม ภายในวัดมีพระอุโบสถเป็นอาคารหลัก และเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์หรือหลวงพ่อปู่ โดยมีพระพุทธรูป 16 องค์อยู่รายล้อมพระประธาน เพื่อสื่อถึงพุทธคุณชนะศัตรู 7 อีกทั้งหน้าทางเข้าอุโบสถ ก็มีศาลาพระรูปหล่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ใครที่มาก็อย่าลืมไปกราบไหว้สักการะบูชาด้วย

คติความเชื่อ  “ขอพรให้มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง”

หวังว่าคงจะมีประโยชน์ในการชมนะครับว่างๆไปกราบไหว้พระขอพรกันครับ

B e L L a G i O ..... Studio

 วันพฤหัสที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2566 เวลา 17.10 น.

ความคิดเห็น