ดินแดนอนาโตเลียซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศตุรกีในปัจุบัน เป็นดินแดนที่มีการตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องมายาวนานนับแต่อดีต เพราะอยู่ในตำแหน่งที่เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียกับยุโรป โดยมีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ตอนต้นของยุคหินใหม่
อาณาจักรแห่งแรกที่ก่อตั้งขึ้นในบริเวณนี้คืออาณาจักรของชาวฮิตไตต์ ซึ่งรุ่งเรืองประมาณศตวรรษที่ 18 ถึง 13 ก่อนคริสตกาล จนเมื่อประมาณ 1200 ปีก่อนคริสตกาล ชายฝั่งตะวันตกของอนาโตเลียถูกครอบครองโดยชาวกรีก กับชาวเปอร์เซียสลับกันไป จนเมื่ออาณาจักรโรมันได้แผ่อิทธิพลมาถึง จึงตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมัน ในกลางศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล
อาณาจักรโรมันในยุคนั้นมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่กรุงโรม (ปัจจุบันคือเมืองหลวงของประเทศอิตาลี) นับเป็นอาณาจักรที่เกรียงไกรที่สุดอาณาจักรหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เพราะครอบคลุมดินแดนรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไว้ทั้งหมด อันประกอบด้วยดินแดนชายฝั่งของทั้ง 3 ทวีป ในทวีปยุโรปได้แก่ดินแดนที่ปัจจุบันเป็นประเทศ อิตาลี กรีซ โปรตุเกส สเปน ฝรั่งเศส แอลเบเนีย ตุรกี เยอรมนี จนถึงเกาะอังกฤษ ฝั่งทวีปเอเชียครอบคลุมดินแดนตะวันออกกลางบางส่วน คือ ตุรกี ซีเรีย เลบานอน อิสราเอล จอร์แดน รวมถึงทวีปอัฟริกาตอนเหนือ อันประกอบด้วย ลิเบีย ตูนิเซีย และอียิปต์โบราณทั้งอาณาจักร
ในช่วงปีค.ศ.284 อาณาจักรโรมันต้องเผชิญกับศึกรอบด้านจากดินแดนที่โรมันเข้าไปยึดครอง ทำให้อาณาจักรโรมันถูกแบ่งออกเป็น 2 อาณาจักรเพื่อให้สามารถดูแลอาณาจักรที่กว้างใหญ่ได้ทั่วถึง คือ โรมันตะวันตก กับ โรมันตะวันออก ทั้ง 2 อาณาจักรมีจักรพรรดิปกครอง แต่อย่างไรเสียจักรพรรดิต้องมีเพียงหนึ่ง ในปีค.ศ.305 จึงเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างจักรพรรดิของโรมันทั้ง 2 พระองค์ คือ ลีซีนีอุส (Licinius) กับ คอนสแตนติน (Constantin) สงครามครั้งนี้คอนสแตนตินได้รับชัยชนะ จึงรวมอาณาจักรโรมันให้เป็นหนึ่งเดียว พร้อมสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิของอาณาจักรของโรมัน นามว่า จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1
จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 ทรงฟื้นฟูอาณาจักรโรมันทั้งหมดที่เสื่อมโทรมจากสงครามกลางเมือง จนปีค.ศ.330 ทรงย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรโรมันจากกรุงโรม มายังเมืองไบแซนทีอุม (Byzantium) ซึ่งเป็นเมืองสำคัญตั้งแต่สมัยกรีก ด้วยเหตุผลในการเลี่ยงการเข้าโจมตีจากชนเผ่าต่างๆ ไบแซนทีอุมอยู่ห่างไกลจากกรุงโรมระยะทางจึงน่าจะช่วยขวางกั้นได้ และนั้นคือจุดเริ่มต้นของการเกิดอาณาจักรไบแซนไทน์ในเวลาต่อมา
เมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 สวรรคต อาณาจักรโรมันก็แยกออกเป็น 2 อาณาจักรอีกครั้ง กรุงโรมกลับมาเป็นเมืองหลวงของโรมันตะวันตก ในขณะที่ไบแซนทีอุมได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) เพื่อเป็นเกียรติแก่จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 พร้อมดำรงตำแหน่งเป็นเมืองหลวงของโรมันตะวันออก
เวลาผ่านไปกรุงโรมของโรมันตะวันตกเริ่มเสื่อมโทรมลง จากการรุกรานของชนเผ่าเร่ร่อนต่างๆ ในขณะที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลกลับเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการค้าในทวีปยุโรป อันเป็นปลายทางของเส้นทางสายไหม จนกล่าวได้ว่า ในยุคนั้นหากฉางอานคือนครที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย คอนสแตนติโนเปิลก็มีฐานะเป็นนครที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรปเช่นกัน
ล่วงเข้าสู่ปีค.ศ.379 ศาสนาคริสต์เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อศรัทธาความเชื่อของประชาชนแทนการบูชาเหล่าเทพเจ้า กรุงคอนสแตนติโนเปิลได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของคริสตจักร นิกายออร์โธดอกซ์ พร้อมการเกิดขึ้นของวิหารเซนต์โซเฟีย โดยเป็นจุดเชื่อมต่อที่นักประวัติศาสตร์ถือว่าได้เกิดอาณาจักรไบแซนไทน์ (Byzantine) ขึ้นอย่างเป็นทางการ ในขณะที่อาณาจักรโรมันะวันตกก็ถึงกาลล่มสลายในช่วงศตวรรษที่ 5
อาณาจักรไบแซนไทน์เจริญถึงขีดสุดในรัชสมัยจักรพรรดิจัสติเนียน (Justinian) (ครองราชย์ ค.ศ.527 - 565) นอกจากบูรณะวิหารเซนต์โซเฟียให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม จนกลายเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลางแล้ว ยังทรงขยายดินแดนให้กว้างใหญ่ไพศาล ไม่ใช่แค่เพียงดินแดนตอนเหนือของทวีปอัฟริกาที่ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่ยังสามารถรวบรวมอาณาจักรโรมันตะวันตกที่ล่มสลายให้กลับคืนมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรไบแซนไทน์ได้สำเร็จ
แต่เมื่อสิ้นรัชกาลของพระองค์ อาณาจักรไบเซนไทน์ก็ค่อยๆ เสื่อมอำนาจลงตามลำดับ ในปีค.ศ.1204 อาณาจักรไบแซนไทน์ถูกโจมตีอย่างหนักจากกองกำลังชาวเติร์กอิสลามที่อพยพมาจากเทือกเขาอัลไต แล้วค่อยๆแผ่อาณาบริเวณมายังดินแดนอนาโตเลีย ส่งผลให้อาณาจักรไบเซนไทน์เสื่อมอำนาจลงอย่างรวดเร็ว การต่อสู้ระหว่างผู้นับถือศาสนาต่างกันนี่เอง ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามครูเสด สงครามระหว่างศาสนา จนกลายเป็นสงครามระดับตำนานของโลกใบนี้
สงครามครูเสดมีจุดเริ่มต้นมาจากการขอความช่วยเหลือของจักรพรรดิอเล็กซิอุสที่ 1 แห่งอาณาจักรไบแซนไทน์ต่อชาติในยุโรป เพื่อร่วมกันต่อต้านการคุกคามของกองทัพเติร์กที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งกำลังแผ่ขยายอำนาจสู่ดินแดนของอาณาจักรไบแซนไทน์ และได้ยึดครองนครเยรูซาเลม ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์ แม้ที่ผ่านมาคริสตจักรฝ่ายตะวันตก นิกายโรมันคาทอลิค กับ คริสตจักรฝ่ายตะวันออก นิกายออร์โธดอกซ์ จะไม่ลงรอยกันนัก แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างดีจากพระสันตปาปาเออร์บันที่ 2 (Urban II) เพราะหากไบแซนไทน์อันเป็นศูนย์กลางของนิกายออร์โธดอกซ์สูญสิ้นไป สถานะของศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกก็จะล่อแหลมต่อการสิ้นสูญไปด้วยเช่นกัน
พระองค์จึงได้ทรงเรียกร้องให้ผู้นำยุโรปในขณะนั้นร่วมมือกันขับไล่เติร์กมุสลิมออกจากนครเยรูซาเลมและไบแซนไทน์ โดยจักรพรรดิอเล็กซิอุสที่ 1 หารู้ไม่ว่า การเรียกร้องของพระองค์จะเป็นจุดเริ่มต้นในการล่มสลายของอาณาจักรไบแซนไทน์ในเวลาต่อมา
สงครามครูเสด อันหมายถึง สงครามเพื่อขับไล่ศัตรู ครั้งที่ 1 จึงเริ่มต้นขึ้นในปีค.ศ.1095 โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อขับไล่ชาวเติร์กออกจากนครเยรูซาเลม สงครามนี้ยืดเยื้อต่อมาอีก 8 ครั้ง ก่อนที่จะยุติลงในปีค.ศ.1272 แต่สงครามครูเสดครั้งที่ 4 ในปีค.ศ.1204 กลับไม่ได้มีจุดประสงค์เช่นนั้น เพราะแทนที่กองทหารครูเสดจะบุกยึดนครเยรูซาเลมคืนจากเติร์กมุสลิม กลับบุกนครคอนสแตนติโนเปิล ด้วยเหตุผลว่า อาณาจักรไบแซนไทน์นั้นเป็นศูนย์กลางของศาสนาคริสต์ นิกายออโธดอกซ์ ซึ่งเป็นภัยต่อนิกายโรมันคาทอลิก เพื่อรวมศาสนาคริสต์ให้เป็นหนึ่งเดียว จึงจำเป็นต้องยึดไบแซนไทน์ แต่แท้จริงแล้วนั่นเป็นข้ออ้างเพื่อได้มาซึ่งอำนาจ
หลังสงครามครูเสดครั้งที่ 4 อาณาจักรไบเซนไทน์ถูกแยกดินแดนออกเป็นหลายส่วน เพื่อแบ่งกันเองระหว่างอาณาจักรต่างๆในยุโรป แม้ว่า 60 ปีให้หลังจักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์จะสามารถยึดนครคอนสแตนติโนเปิลกลับคืนมาได้ แต่นั่นก็ทำให้อาณาจักรจักรไบเซนไทน์ตกอยู่ในสภาวะที่เสื่อมโทรมอย่างหนัก
ในช่วงเวลานั้นอาณาจักรไบแซนไทน์ เหลือฐานที่มั่นเพียงนครคอนสแตนติโนเปิลเท่านั้น สำหรับดินแดนอนาโตเลียได้ตกเป็นของกองทัพเติร์กมุสลิมไปเรียบร้อยแล้ว แล้วในที่สุดก็ถึงคราวที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลถูกปิดล้อมโดยกองกำลังชาวเติร์ก การต่อสู้บนคุ้งน้ำโกลเดนฮอร์นระหว่างชาวเติร์กที่นับถือศาสนาอิสาม กับชาวคริสต์แห่งไบแซนไทน์กินเวลานานหลายสิบปีตั้งแต่ปีค.ศ.1390
แม้กองกำลังเติร์กจะแข็งแกร่งเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถทำลายกำแพงเมืองกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จ จนเมื่อวันอังคารที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ.1453 สุลต่านเมห์เมตที่ 2 นำกองทัพเรือบุกทะลวงกำแพงได้สำเร็จ กรุงคอนสแตนติโนเปิลจึงถูกยึดและถือเป็นการสิ้นสุดของอาณาจักรไบแซนไทน์ที่รุ่งเรืองมากว่าพันปี กรุงคอนสแตนติโนเปิลได้ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอิสลามบูล (Islambul) ในฐานะของเมืองหลวงแห่งอาณาจักรออตโตมัน (Ottoman)
การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางศาสนา ศาสนาคริสต์ถูกแทนที่ด้วยศาสนาอิสลาม พร้อมการเกิดขึ้นของมัสยิดสุลต่านอาห์เมต สิ่งก่อสร้างอลังการที่ชาวเติร์กหมายให้มาสยบความสง่างามของวิหารเซนต์โซเฟีย ศูนย์กลางของคริสตศาสนา ที่ภายหลังถูกเปลี่ยนให้เป็นมัสยิดในศาสนาอิสลาม
อาณาจักรออตโตมันได้แผ่ขยายดินแดนออกไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสมัยสุลต่านสุไลมาน (ปีค.ศ.1520– 1566) อาณาจักรออตโตมันได้ขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ทิศตะวันตกจรดดินแดนออสเตรีย ทิศตะวันออกจรดคาบสมุทรอาเรเบีย ทิศเหนือจรดคาบสมุทรไครเมีย ทิศใต้จรดซูดานในอัฟริกาเหนือ จนถือได้ว่าในยุคนั้นออตโตมันเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวมุสลิม
แต่เมื่อสิ้นยุคของพระองค์อาณาจักรออตโตมันก็เข้าสู่ยุคเสื่อม เป็นเวลายาวนานถึง 300 ปี ก่อนที่จะล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิงจากการเป็นผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปีค.ศ.1923 ทำให้ต้องเสียดินแดนส่วนใหญ่ในทวีปยุโรปให้กับชาติตะวันตก จนเหลือเพียงเมืองอิสลามบูลกับพื้นที่โดยรอบเพียงน้อยนิด ในขณะนี้ดินแดนอนาโตเลียหรือพื้นที่ฝั่งเอเชียยังคงถูกรักษาไว้อย่างเหนียวแน่นโดยการนำของมุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก ส่งผลให้เขาได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐตุรกี (Republic of Turkey) ประเทศน้องใหม่ที่เกิดขึ้นแทนอาณาจักรออตโตมัน โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงอังการา (Ankara) บนฝั่งเอเชีย ในขณะที่อิสลามบูลได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น อิสตันบูล (Istanbul) อันรวยรุ่มด้วยมรดกทางวัฒนธรรม จากการเคยเป็นเมืองหลวงของ 3 อาณาจักรติดต่อกันยาวนานถึง 1,610 ปี
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เวลา 15.55 น.