"ขุนเขาแห่งความศรัทธา"
ทริป 2 วัน 1 คืน | 14-15 มกราคม 2566


"มุลาอิ" หรือ "มอละอิ" หรือ "เมาะเลาะอิ" เป็นขุนเขาแห่งความศรัทธา ตั้งอยู่ทางใต้สุดของเทือกเขาในเขตปกครองของรัฐกระเหรี่ยง ประเทศเมียนมาร์ ระดับความสูงอยู่ที่ประมาณ 2,005 เมตร เป็นสถานที่ที่ชาวพม่านับถือและศรัทธา เป็นเขตอภัยทานที่นักบุญหรือคนที่มีความศรัทธาขึ้นมาสักการะบูชา ในทุกวันพระชาวพม่าจะเดินเท้าขึ้นไปแสวงบุญและฟังเทศนากัน ที่นี่ถือว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์อีกหนึ่งแห่งที่ควรเดินทางไปกราบสักการะขอพรกับเจดีย์พระธาตุมุลาอิ ซึ่งขอพรได้หนึ่งข้อ แค่ขอพรก็พอไม่ต้องถึงขั้นบนบานศาลกล่าว

เจดีย์พระธาตุมุลาอิ (สำหรับผู้หญิง)

ก่อนไปพิชิตยอดเขามุลาอิที่นั้นมีอะไรบ้าง?

  • มีศาลพ่อปู่ศิลา (พือเล่อบา) ณ บริเวณลาดวัด นักท่องเที่ยวควรไปสักการะบูชา เพราะท่านเป็นผู้ปกปักรักษาสถานที่แห่งนั้น
  • มีห้องน้ำให้บริการอยู่ที่จุดจอดรถบริเวณลานวัด เป็นจุดศูนย์รวมจอดรถของทุกกรุ๊ปเมื่อมาถึงและเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเท้าขึ้นยอดมุลาอิ (จุดจอดรถห่างจากแคมป์ประมาณ 1.5 กิโล)
  • มีร้านค้าหนึ่งร้านขายขนมและเครื่องดื่มที่บริเวณ ณ จุดจอดรถลานหน้าวัด
  • มีเส้นทางที่สามารถเดินเท้าขึ้นไปกราบไหว้พระธาตุได้อีกหนึ่งเส้นทาง เป็นเส้นทางถนนเดินง่ายกว่าเส้นทางลัดแต่ต้องเดินย้อนขึ้นมาที่จุดจอดรถซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่งของวัด
  • มีสัญณาณโทรศัพท์ AIS สัญญาณมีเป็นบางจุดก็แรงบ้างไม่แรงบ้างบางจุดไม่มีสัญญาณเลย (ค่ายอื่นไม่แน่ใจพอดีใช้ AIS)


การเดินทาง

  • การเดินทางด้วยรถ : ช่วงแรกเป็นการเดินทางด้วยรถยนต์โฟวิล ใช้เส้นทางข้ามแดนของ จ.ตาก ข้ามไปยังเขตปกครองตนเองของรัฐกะเหรี่ยง (DKBA) เพื่อไปยังวัดที่อยู่บนเขามุลาอิแต่ยังไม่ถึงยอดนะ ไม่ต้องใช้หนังสือเดินทางแต่ควรพวกบัตรชาชนติดตัวไว้ด้วย การเดินทางใช้เวลาประมาณเกือบ 4 ชั่วโมง ถ้าหยุดพักระหว่างทาง เส้นทางรถอย่างโหดต้องขับรถขึ้นเขาลงเขา พูดง่ายๆ คนขับต้องมีความชำนาญและเชี่ยวชาญในเส้นทาง แนะนำให้ใส่เสื้อกันแดดและกันฝุ่นได้ พร้อมผ้าบัฟหรือแมสสำหับกันฝุ่น ด้วยที่เป็นถนนดินส่วนใหญ่ฝุ่นเยอะมากๆ
  • การเดินทางด้วยเท้า : หลังจากอยู่บนรถมายาวนาน มายืดเส้นยืดสายด้วยการเดินเท้าต่อซึ่งเริ่มเดินจากวัดไปยังจุดกางเต็นท์ ระยะทางประมาณ 1.5 กิโล ใช้เวลาเดินประมาณ 30-45 นาที เป็นการเดินเท้าเพื่อขึ้นยอดเขา ณ จุดลานกางเต็นท์ แต่ยังไม่ใช่จุดที่เป็นยอดเขาพระธาตุมุลาอิ

Go Go ไปออกเดินทางกัน

>> พวกเราเดินทางโดยรถตู้จากกรุงเทพมหานคร ไป ต.แม่กลอง อ.อุ้มผาง จ.ตาก เพื่อแวะกินข้าวเช้า เตรียมตัวเปลี่ยนเสื้อผ้า และเตรียมเสบียงในการเดินทาง ที่นี่มีตลาดตอนเช้าและมี 7-11 ซื้อของให้ครบก่อนออกเดินทาง และแนะนำร้านกาแฟร้านอาโม-อาชา มีทั้งอาหารและกาแฟ แถมบรรยากาศภายในร้านคือดี

>> เดินทางจากตัวอำเภอไปยังจุดนัดพบในหมู่บ้าน ต.แม่จันใช้เวลาประมาณ 40 นาที เพื่อเปลี่ยนเป็นรถยนต์โฟวิล 4X4 เข้าสู่ชายแดนรัฐกระเหรี่ยง ประเทศเมียนมาร์ ระยะทางไม่รู้ว่ากี่กิโล รู้แค่ว่าใช้เวลาอยู่บนรถยาวนานถึง 4 ชั่วโมง ยืนสลับนั่งแบบจุกๆ กับเส้นทางสุดโหด

>> เริ่มแรกของการเดินทางคือนั่ง... นานเข้านั่งไม่ไหวยอมซื้อตั๋วยืนยิ่งยาวขึ้นและลงเขา

>> เส้นทางจากด่านบ้านมอเกอไทย-มุลาอิ รถจะหยุดจอด 2 จุด ซึ่งจุดแรกจะมีร้านค้าให้บริการร้านค้าที่นั้นรับเงินไทย และจุดที่สอง ทีโพมู เป็นจุดที่ทุกคนต้องล้างหน้าล้างมือทำความสะอาดร่างกายให้พร้อมก่อนขึ้น ที่นี่มีห้องน้ำให้บริการ สามารถอาบน้ำได้แต่ไม่เห็นมีใครอาบกันนะ

>> จุดพักรถจุดที่ 2 ทีโพมู เพื่อให้นักท่องเที่ยวชำระร่างกาย ล้างหน้า เข้าห้องน้ำ อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าแต่งกายให้สุภาพ แต่ไม่เห็นมีใครอาบน้ำกันเพราะต้องเดินทางต่อ...

>> ถามว่าเส้นทางการเดินเท้ายากไหม? ไม่โหดมากมือใหม่เดินได้ ด้วยระยะทางที่ไม่ไกลมากแต่ก็จะมีช่วงที่ต้องไต่เขาขึ้นยอดช่วงนั้นก็จะเหนื่อยๆ หน่อย ต้องเดินขึ้นเดินลงเพราะขึ้นยอดไปกางเต็นท์เสร็จก็ต้องเดินทางลงมาที่วัดเพื่อเดินไปอีกเส้นหนึ่งเพื่อขึ้นยอดสุดของมุลาอิ 

จุดบริเวณลานวัดและจุดจอดรถ

>> ออกเดินเท้ากันต่อระยะทางประมาณ 1.5 กิโลแม้ว ชิลๆ เรื่อยๆ ไปเดินกันต่อ...

เจอปลาฉลามนักล่าแห่งเทือกเขามุลาอิ

>> วันที่ไปคนค่อนข้างเยอะขึ้นไปถึงจุดกางเต็นท์แถบไม่เหลือพื้นที่ให้กลางเต็นท์แล้วอ่ะ ที่นี่ใครไปเร็วได้เลือกจุดกางเต็นท์ตำแหน่งดีๆ ก่อน

>> สำหรับการไปกราบไหว้สักการะพระธาตุที่ประดิษฐานอยู่ด้านบนนั้น ซึ่งก็จะมีกฏข้อห้ามให้ปฏิบัติตามก่อนขึ้น ดังนี้

กฏข้อห้ามสำหรับการไปมุลาอิ ประเทศเมียนมาร์

  1. ห้ามทานเนื้อสัตว์ สามารถทานได้แค่อาหารเจเท่านั้น
  2. ห้ามผู้หญิงและผู้ชายนอนด้วยกัน และห้ามเดินชิดใกล้กันควรเว้นระยะห่าง
  3. ห้ามผู้หญิงมีประจำเดือนเข้าเขตพระธาตุ
  4. ห้ามพูดคำหยาบ
  5. ห้ามดื่มสุรา
  6. ห้ามผู้หญิงขึ้นยอดบนสุดของพระธาตุชาย สามารถเข้าสักการะพระธาตุหญิงบริเวณล่างเท่านั้น และต้องใส่ผ้าถุงก่อนขึ้นมาด้านบน ส่วนผู้ชายใส่กางเกงได้ปกติ
  7. ห้ามใส่รองเท้าขึ้นไปสักการะพระธาตุ ซึ่งทุกคนจะถอดรองเท้ากันที่บริเวณทางขึ้นซึ่งเป็นจุดเดินขึ้นบันได
  8. ห้ามผู้หญิงตักน้ำในบ่อศักดิ์สิทธิ์ต้องให้ผู้ชายตักให้เท่านั้น (ไปรอบนี้เหมือนไม่มีน้ำในบ่อแล้วน่าจะเพราะสถานการณ์โควิด)
  9. และข้อห้ามอื่นๆ อีกหลายข้อควรเคารพและปฏิบัติตาม

ปล. ให้ทุกคนช่วยกันรักษาความสะอาดไม่ควรทิ้งขยะในสถานที่ต่างๆ

>> ไปสักการะพระธาตุเถอะเพื่อนๆ ระหว่างเดินเท้าย้อนไปจุดจอดรถก็สามารถถ่ายภาพเก็บบรรกาศกันได้นะ ให้ภาพเล่าเรื่อง...

>> สาวๆ อย่างพวกเราก็ต้องแปลงร่างเตรียมสวยเพื่อขึ้นยอดเขาไปสักการะพระธาตุซะหน่อย

"ยอดเขามุลาอิ" มีเจดีย์พระธาตุให้สักการะอยู่ 2 เจดีย์ สำหรับผู้หญิงสามารถขึ้นไปสักการะได้แค่เจดีย์แรก ซึ่งประดิษฐานอยู่จุดแรกก่อนถึงพระธาตุชายที่ตั้งอยู่บนยอดสูงสุด ส่วนผู้ชายสามารถเดินผ่านขึ้นไปสักการะพระธาตุมุลาอิ ที่ตั้งอยู่บนยอดสูงสุดได้เลย ระดับความสูงน่าจะประมาณ 2,070 เมตรจากระดับน้ำทะเล

สำหรับท่านที่มีความเชื่อและความศรัทธาแนะนำให้เดินเวียนเทียนรอบพระธาตุ 3 รอบ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ และเพื่อเป็นการระลึกถึงพระรัตนตรัยทั้ง 3 ประการ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ และเป็นบุญกุศลแก่ตัวเราเองด้วย เพราะสถานที่ที่มีพระธาตุประดิษฐานอยู่ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ กว่าเราจะเดินทางขึ้นไปถึงที่นั้นได้ลำบากมาก เมื่อเราได้มีโอกาสขึ้นไปกราบไหว้ถือเป็นบุญ... เราเชื่อเช่นนั้น

>> ส่วนพระธาตุที่อยู่บนยอดเขาสูงสุดอนุญาตให้แค่ผู้ชายขึ้นเท่านั้น ส่วนพวกเรานั้นก็ดูบรรยากาศผ่านภาพถ่ายแทน

>> บรรยากาศบนยอดค่อนข้างเย็น วันที่เดินทางไปอากาศเย็นและลมแรงมาก แต่วิวด้านบนสวยมากๆ เช่นกัน สามารถมองเห็นยอดเขาตรงจุดกางเต็นท์ได้ และสามารถมองวิวได้ 360 องศา พูดง่ายๆ สวยทุกมุม

ลักษณะยอดเขามุลาอิ

  • บนยอดเขาเป็นพื้นที่โล่งกว้างไม่มีต้นไม้ใหญ่ ไม่มีร่มไม้ ถ้ายังไม่กางเต็นท์หรือตั้งแคมป์คือนั่งร้อน
  • บนยอดเขาบางจุดลมค่อนข้างแรง ถ้าหาจุดกางเต็นท์ควรหามุมดีๆ ที่ไม่โดนลมแต่บอกเลยหาอยาก พื้นที่เรียบๆ สำหรับกางเต็นท์นอนมีจำกัดด้วยเช่นกัน
  • บนยอดเขามุลาอิสามารถมองเห็นทิวทันศ์และสันเขาได้ 360 องศา สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้นได้ทุกมุมบนยอดเขา
  • บนยอดเขามุมถ่ายภาพสวยๆ มีหลายจุดเลย บอกได้เลยว่าที่นี่สวยคุ้มค่าเหนื่อย (เหนื่อยจากการนั่งรถ)


>> ป่ะ! กลับไปดูพระอาทิตย์ตกกัน

Good morning! Mulayit


>> บรรยากาศยามเช้าช่วงพระอาทิตย์ขึ้นสวยไม่แพ้ช่วงอาทิตย์ตกดิน ซึ่งบริเวณจุดกางเต็นท์สามารถหามุมเด็ดๆ ถ่ายภาพได้หลายมุมเลย เป็นช่วงเวลาที่แสงสีส้มมาเต็มคาราเบล ไปดูรูปกันต่อเถอะ...

อากาศเช้าๆ เย็นสบายจับหัวใจ

>> หลังจากบรรยาศแสงสีส้มกำลังหายไป แสงสีเหลืองอ่อนที่ตามมา บรรยากาศเปลี่ยนแต่ความรู้สึกไม่เปลี่ยน โดยเฉพาะความตื่นตาตื่นใจกับสถานทที่ยืนอยู่มันมีความสวยงามมากๆ เกินจะบรรยากาศความรู้สึกเหล่านั้นออกมา...

>> ประมาณ 8 โมงกว่าๆ เดินกลับมาอีกทีเต็นท์ที่กางกันไว้หายไปเกือบหมด เก็บกลับกันไวมาก ดีตรงที่ระยะทางกลับไม่ไกลมากถึงเก็บเต็นท์ช้ากว่าคนอื่นๆ ก็ยังเดินกลับไปทัน 555++

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
- เตรียมผ้าถุงไปด้วยสำหรับผู้หญิง เพราะต้องใส่ก่อนขึ้นไปไหว้พระธาตุ
- เตรียมเสื้อกันหนาว ถุงเท้าหนาๆ (ช่วงที่ไปอากาศหนาวและลงแรง)
- เตรียมรองเท้าที่เหมาะสำหรับการเดินเท้าประมาณ 1.5 กิโลเมตร เส้นทางอาจไม่ไกลแต่มีช่วงที่ต้องเดินไต่ขึ้นเขา
- เตรียมเต็นท์ ถุงนอน แผ่นรองนอน ไฟฉายหรือไฟคาดหัว รองเท้าลำลอง
- เตรียมแมส ผ้าบัพ หมวก ปลอกแขน เสื้อกันแดดหรือเสื้อกันฝน เพราะเส้นทางรถส่วนมากเป็นถนนฝุ่น ฝุ่นอย่างเยอะ
- เตรียมแก้วน้ำ ถ้วย จาน ช้อน และของใช้ส่วนตัวต่างๆ
- เตรียมขนมของกินเล่นส่วนตัว เน้นเป็นขนมเจ (ที่นั้นให้ละเว้นเนื้อสัตว์)
- เตรียมยาไปด้วย สำหรับคนที่โรคประจำตัว
- เตรียมทิชชูเปียกสำหรับเช็ดตัว (ไม่มีน้ำให้อาบนะจ๊ะ)
- เตรียมชุดเปลี่ยนวันกลับซึ่งฝากไว้บนรถตู้ได้

ค่าใช้จ่าย 3,400 บาท
[อัตราค่าบริการนี้รวม]
- ค่ารถตู้ปรับอากาศ VIP
- ค่าอาหาร 3 มื้อ
- ค่ารถโฟรวิลรับและส่ง
- ค่าธรรมเนียมผ่านแดน
- ค่าประกันอุบัติเหตุ
- ค่าลูกหาบของส่วนกลาง
ปล.
ราคาไม่รวมค่าจ้างลูกหาบส่วนตัว ให้บริการกิโลละ 70 บาท (ราคารวมขึ้น-ลง)

By : Namee Be Bear
Fanpage : www.facebook.com/KanXengStudio

NaMee Be Bear

 วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2566 เวลา 16.46 น.

ความคิดเห็น