พระอาทิตย์ยังไม่ลับขอบฟ้า คนอย่างเราจึงไม่ยอมหยุดเดิน จากจัตุรัสสุลต่านอาห์เมตเราเดินเลียบไปตามถนน Muradiye ที่มีรางของรถราง (Tram) ทอดตัวอยู่กลางถนน ดูแล้วเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนต่างถิ่นอย่างเรา ที่รถรางกับรถยนต์ใช้ถนนร่วมกัน บางครั้งรถยนต์ก็วิ่งตามหลังรถราง แต่หลายครั้งก็มีรถรางวิ่งตามหลังชวนให้กังวัลว่าจะเกิดอุบัติเหตุ แต่ชาวเตอร์กีสก็สามารถขับรถยนต์หลบหลีกรถรางได้อย่างปลอดภัย


ตลอดเส้นทางที่มีรางของรถรางพาดผ่าน เรียงรายไปด้วยร้านค้าที่เจริญรุ่งเรืองมาจากธุรกิจการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นร้านทัวร์ ที่พาไปยังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทุกที่ในตุรกี ร้านจำหน่ายของที่ระลึกทั้งแบบที่พบเห็นได้ทั่วไปในทุกประเทศคือเหล่าพวงกุญแจ และ Magnet เพียงแค่ต่างกันที่รูปสถานที่ที่ปรากฏอยู่บนนั้น


แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์คือ ดวงตาปีศาจ มีลักษณะเป็นวงกลมสีฟ้าซ้อนกันในลักษณะดวงตา เชื่อกันว่าเป็นเครื่องรางที่ใช้ในการขับไล่ความชั่วร้าย ความเชื่อนี้สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยเมโสโปเตเมีย เดิมทำจากดินเผาย้อมสี มีขนาดใหญ่นิยมแขวนไว้ที่ประตูทางเข้าบ้าน มาถึงยุคปัจจุบันดวงตาปีศาจได้กลายเป็นเครื่องรางเพื่อพกติดตัว ขนาดจึงเล็กลง พร้อมเปลี่ยนวัตถุดิบในการทำเป็นพลาสติกแทน อีกทั้งยังได้ดัดแปลงให้กลายเป็นของที่ระลึกหลากหลายแบบ ทั้งพวงกุญแจ กำไลข้อมือ และติดบนเครื่องประดับต่างๆ จนกลายเป็นของฝากอันดับหนึ่งที่ผู้มาเยือนตุรกีต้องซื้อกลับไปเป็นที่ระลึก

สำหรับของกินที่ขายบนทางเท้าที่นักท่องโลกย้ำผ่าน ที่มีมากคงไม่พ้น 4 อย่างนี้ คือ เกาลัด น้ำทับทิม ไอศกรีม และเตอร์กีสดีไลท์ โดยเกาลัดที่นี่จะไม่ใช่การคั่วในถ่านร้อนแบบบ้านเรา แต่จะใช้การย่างบนเตาไฟ ทำให้ได้เกาลัดที่ผิวค่อนข้างไหม้ ส่งกลิ่นหอมน่าลิ้มลอง บางร้านจะมีการนำข้าวโพดมาปิ้งขายร่วมด้วย โดยข้าวโพดนั้นมีอาการหนักกว่าเกาลัดเสียอีก เพราะจะปิ้งจนไหม้เกรียม สำหรับน้ำทับทิมจะคั้นกันแบบสดๆ ทั้งแบบทับทิม 100% และแบบผสมผลไม้อื่น โดยทับทิมที่นี่สีแดงกร่ำจริงๆ


เนื่องจากช่วงที่เรามาเยือนเป็นฤดูร้อน ไอศครีมจึงขายดิบขายดี นอกจากไอศครีมยี่ห้อสากลอย่าง Wall ซึ่งมีหลายรสชาติที่บ้านเราไม่มีแล้ว ยังมีไอศครีมแบบเตอร์กีสที่เนื้อจะเหนียวค้นกว่าไอศครีมทั่วไป คนขายจึงแสดงลีลาการตักไอศครีมด้วยการยืดเนื้อไอศครีมก่อนใส่ลงถ้วยหรือโคน เพื่อแสดงให้เห็นว่าเนื้อไอศครีมของประเทศนี้เหนียวจริง

แล้วเคน หนึ่งในเพื่อนร่วมทางก็ตรงเข้าไปซื้อเตอร์กีสดีไลท์ (Turkish Delight) ขนมอันเป็นเอกลักษณ์ของตุรกี ถือกำเนิดตั้งแต่สมัยอาณาจักรออตโตมันเมื่อกว่า 300 ปีก่อน เป็นขนมหวานมีรูปร่างคล้ายลูกเต๋าคลุกอยู่ในแป้งสีขาว เนื้อของขนมมีลักษณะเหนียวใส ภายในมีส่วนผสมของธัญญาพืชตระกูลถั่ว เช่น อัลมอนต์ วอลนัท แมคคาดาเมีย พิตาชิโอ และผลไม้ตากแห้ง มีหน้าตาหลากหลายนับสิบๆแบบ รสชาติมีความแตกต่างกันบ้างตามประเภทของธัญญาพืชและผลไม้ตากแห้งที่ใส่ลงไป


แต่ไม่ว่าจะหน้าตาแบบไหน ทุกแบบล้วนมีรสชาติหนึ่งที่เหมือนกัน นั้นคือความหวาน เพียงแต่จะต่างกันที่หวานน้อย หวานมาก ถึงหวานมากที่สุดเท่านั้น นิยมทานคู่กับชา ซึ่งการกินขนมหวานๆในเมืองที่อากาศค่อนข้างร้อนแบบตุรกีก็มีส่วนช่วยในการปรับสภาพอารมณ์และร่างกายให้สดชื่นขึ้นเยอะ


พวกเราช่วยเคนจัดการเตอร์กีสดีไลท์ไป หลบรถรางไปจนถึงย่านเอมิโนนุ ย่านนี้เป็นอะไรหลายอย่างของอิสตันบูล ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางทางการค้าทางทะเลตั้งแต่สมัยอาณาจักรไบแซนไทน์ จนถึงยุคปัจจุบัน, เป็นท่าเรือ สำหรับเรือเฟอร์รีข้ามอ่าวโกลเดนฮอร์น (Golden Horn) ไปยังฝั่งกาลาตา และข้ามช่องแคบบอสฟอรัสไปยังฝั่งเอเชีย, เป็นที่ตั้งของตลาดเครื่องเทศ ที่มากไปด้วยสีสันของทั้งสารพันสินค้า จนเป็นหนึ่งใน The must ที่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนตุรกีต้องไม่พลาด และยังเป็นแหล่งแฮงค์เอ้าท์สุดชิลล์ ที่ชาวเติร์กนิยมมานั่งรับลม ตกปลา และหาของอร่อยๆทาน


ดูๆแล้วนอกจากเบอเกอร์ปลาที่มีจำหน่ายหลายร้านแล้ว ชาวเตอร์กีสยังนิยมกินหอย มีลักษณะคล้ายหอยแมลงภู่ โดยจะกินกันแบบดิบๆ เพียงแค่บีบมะนาวเท่านั้น ดูแล้วอยากลิ้มลองว่ารสชาติจะอร่อยขนาดไหน จึงมีคนกินกันเยอะขนาดนี้ แต่ก็ไม่กล้า เพราะคงไม่สนุกแน่หากท้องไส้ปั่นป่วนตั้งแต่วันแรกของการเดินทาง


สำหรับเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเห็นจะหนีไม่พ้นน้ำทับทิมที่คั้นกันแบบสดๆ ย่านเอมิโนนุจึงเป็นแหล่งรวมสีสันและวิถีชีวิตของผู้คนไว้ได้อย่างลงตัว แถมฟากตรงข้ามยังมีทิวทัศน์ของบ้านเรือนฝั่งกาลาตา ที่มีหอคอยกาลาตาตั้งโดดเด่น พร้อมสายน้ำแห่งโกลเดนฮอร์นที่ทอดตัวอยู่เบื้องหน้า


กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เวลา 16.30 น.