ช่องเขาขาด อนุสรณ์สถานแด่เชลยศึก เรื่องราวประวัติการสร้างทางรถไฟสายไทย – พม่า ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
ช่องเขาขาด ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี อยู่ห่างจากสี่แยกแก่งเสี้ยน ประมาณ 75 กิโลเมตร มุ่งหน้าไปทางอำเภอไทรโยค ตั้งอยู่ภายในกองการเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา
(Google Map >> https://goo.gl/maps/YjpMsADUTzAYVA5S8)
ช่องเขาขาดแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของพิพิธภัณฑ์ และ ส่วนของเส้นทางเดินธรรมชาติชมช่องเขาขาดในสถานที่จริง
ส่วนของพิพิธภัณฑ์ เป็นตึกสีขาว ด้านในรวบรวมเรื่องราวและภาพประวัติศาสตร์ของการก่อสร้างทางรถไฟ
มีการจัดแสดงข้าวของ เครื่องใช้ต่างๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ยังมีมินิเธียเตอร์ที่พาเราย้อนเวลา ถ่ายทำจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะสายนี้ ผ่านภาพยนตร์แบบขาว-ดำ
ด้านในเปิดแอร์เย็นฉ่ำ ในพิพิธภัณฑ์จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความรู้ หากเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะมีอุปกรณ์ช่วยบรรยายให้ด้วย
ด้านหลังของพิพิธภัณฑ์ เป็นจุดชมวิวภูเขา
ในส่วนของเส้นทางเดินชมธรรมชาติ ส่วนแรกเป็นทางเดินบันไดลดหลั่นไปตามไหล่เขา
ตลอดทางเดินปกคลุมไปด้วยกอไผ่ ร่มรื่นมาก
เดินลงบันไดมาได้ 1 หอบ ก็เป็นเส้นทางราบลัดเลาะริมเขา เพื่อเดินไปยังบริเวณช่องเขาขาด
เส้นทางตรงนี้เป็นทางราบ ไม่ชัน เดินชมธรรมชาติได้เรื่อยๆ ลุยกันต่อค่ะ
ริมแนวเขา มีของใช้ในสมัยก่อน อุปกรณ์สำหรับขุดเจาะภูเขา วางไว้ให้ดู
ถึงแม้ช่วงที่ไปจะเป็นหน้าแล้ง แต่ก็ได้เห็นถึงความเอาตัวรอดของต้นไม้ใบหญ้า ที่พยายามเติมโตขึ้นบนแนวหิน เหมือนกันกับคนเรา ที่ต้องต่อสู้เพื่อการมีชีวิตที่ดีขึ้น
ใกล้ถึงช่องเขาขาดแล้ว มีป้ายเตือนด้วยให้ระวังหินถล่มด้วย
ถึงแล้วค่ะ บริเวณช่องเขา ที่เกิดจากจากขุดเจาะด้วยสองมือของเฉลยศึกกับอุปกรณ์เพียงชิ้นเล็กๆ เห็นแล้วก็แอบรู้สึกถึงบรรยากาศของความทุกข์ยาก ความเจ็บปวดของเหล่าเชลยศึก
มีนักท่องเที่ยวเอาธงมาวางไว้เพื่อแสดงความไว้อาลัยแก่เชลยศึกชาติต่างๆ
ช่องเขาขาด มีความยาว 73 เมตร ลึกสูง 25 เมตร เกิดจากการตัดเจาะภูเขาหินด้วยมือของทหารเชลยศึกทั้งทหารอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย ฮอลันดา และนิวซีแลนด์ ประมาณ 61,700 คน โดยเริ่มก่อสร้างและตัดช่องเขาเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1943 การก่อสร้างใช้เวลา 3 เดือน เชลยศึกต้องทำงานถึง18 ชั่วโมงต่อวัน
ว่ากันว่าชีวิตทหารเชลยศึกเหล่านั้นล้มตายกันเป็นเบือ เพราะทำงานหนักและโรคภัยไข้เจ็บที่ชุกชุม โดยเฉพาะไข้ป่า รวมทั้งความยากลำบาก และความอดอยากในภาวะสงคราม ทำให้เชลยนับหมื่นคนต้องล้มตายลง เส้นทางรถไฟสายนี้จึงถูกเปรียบเปรยว่าเป็นเส้นทางที่ต้องใช้ หนึ่งไม้หมอนต่อหนึ่งชีวิต ‘A life for every sleeper’
ช่องเขาขาด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ช่องไฟนรก” (Hellfire Pass) เนื่องจากเชลยที่ทำงานในเวลากลางคืน ต้องจุดคบไฟและก่อกองไฟเวลาทำงาน เมื่อแสงไฟสะท้อนเงาผู้คน ทำให้เห็นเป็นแสงเงาวูบวาบราวกับเปลวเพลิงแห่งนรกนั่นเอง
ต้นไม้แห่งช่องเขาขาด หนูก็ไม่พลาดต้องเข้าไป Check-in
ขอยืนพักเหนื่อยซักหน่อยค่ะ
มีธงชาติประเทศต่างๆ ตังไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความทรงจำ
ขึ้นไปด้านบน เป็นจุดชมวิวช่องเขาในมุมสูง มีรถเข็นเศษดินหินตั้งแสดงไว้ให้ดูด้วย
เดินดูเที่ยวชม จนรู้สึกหิว ก็เดินกลับไปที่พิพิธภัณฑ์กันดีกว่า ขอตากแอร์คลายร้อนซักหน่อย
มีร้านค้า ร้านอาหาร ชากาแฟ ไว้คอยบริการด้วย มีโต๊ะม้าหินอ่อนไว้ให้นั่งทานอาหารใต้ร่มไม้เยอะเลย ห้องน้ำก็สะอาดสะอ้าน
เปิดทุกวัน จันทร์ – อาทิตย์ 9.00 น. -16.00 น. ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการเข้าชมค่ะ
ปิดทำการเทศกาลสงกรานต์ 13-15 เมษายน , 5 ธันวาคม, 24-27 ธันวาคม ช่วงวันคริสต์มาส, 31 ธันวาคม - 1 มกราคม วันขึ้นปีใหม่
--- ที่นี่ก็ดีนะ ---
ที่นี่ก็ดีนะ 5365
วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2566 เวลา 16.44 น.