
ผมมีโอกาสมาอำเภอหาดใหญ่ หลายรอบมาก ทั้งมาเที่ยว และใช้หาดใหญ่เป็นจุดเดินทางต่อไปยังจุดหมายอื่น ๆ จนหลายครั้งเผลอคิดไปว่า อำเภอหาดใหญ่ มีฐานะเป็นจังหวัดแทนสงขลาไปเสียแล้ว เอาจริง ๆ ถึงแม้ผมจะเดินทางมาที่หาดใหญ่บ่อยครั้ง แต่น้อยครั้งมากที่ย่างกรายไปเที่ยวในอำเภออื่น ๆ ของจังหวัดสงขลา แต่ครั้งนี้ผมได้หาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลา ก็ทำให้ผมได้เปิดโลกทัศน์มากขึ้น ได้รู้ว่าในสงขลามีอะไรดี ๆ ซ่อนตัวอยู่อีกมาก และที่สำคัญในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ ระโนด สทิงพระ สิงหนคร และอำเภอเมือง เป็นแหล่งรวมเมืองโบราณหลายแห่ง ถึงขนาดที่กำลังเตรียมเสนอให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา ภายใต้ชื่อ Songkhla and its Associated Lagoon Settlements เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก โดยเป็นการรวบรวมแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม 4 พื้นที่ ได้แก่
1. เมืองโบราณพังยาง เมืองโบราณพะโคะ และเมืองโบราณสีหยัง
2. เมืองโบราณสทิงพระ
3. เมืองป้อมค่ายซิงกอร่า ณ เขาแดง และแหลมสน
4. เมืองเก่าสงขลา บ่อยาง
โดยพื้นที่ดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมด้านสถาปัตยกรรมที่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับอารยธรรมอื่น ๆ ตามเส้นทางการค้าทางทะเลเลียบแนวชายฝั่ง หลักฐานทางโบราณคดีชองชุมชนในอดีต เป็นพื้นที่ที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการความรู้และวิทยาการในการเดินเรือในยุครุ่งเรืองของการค้าทางทะเลในสมัยต่าง ๆ รวมถึงเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการตั้งถิ่นฐานที่มีวิวัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติครับ
ทริปนี้ผมจึงวางแผนตะเวนขับรถชมสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับเมืองเก่าในเขต 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยเริ่มที่อำเภอสทิงพระเป็นอำเภอแรกครับ
วัดพะโคะ หรือวัดราชประดิษฐาน (พิกัด https://maps.app.goo.gl/mhcMb5UFBwhyQd4VA ) มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่บนเขาพะโคะหรือเขาพัทธสิงค์ ถือเป็นวัดที่เก่าแก่และมีความสำคัญยิ่งวัดหนึ่งในคาบสมุทรสทิงพระ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีศาสนา เป็นที่ประดิษฐานพระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ สูง 1 เส้น 5 วา ภายในยอดองค์เจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ รูปแบบเจดีย์เป็นศิลปกรรมทางใต้ สมัยอยุธยาแบบลังกา จากหลักฐานที่ปรากฏทำให้ทราบว่าเจดีย์สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2057 ตรงกับสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ช่วงสมัยอยุธยาตอนต้นและได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2148- พ.ศ.2153) และได้รับการบูรณะซ่อมแซมเรื่อยมา ลักษณะขององค์เจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆัง รองรับด้วยลานประทักษิณ 3 ชั้น ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ 3 ชั้น มุงกระเบื้องเกล็ดเต่า บัลลังก์รูปแปดเหลี่ยม เหนือบัลลังก์เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งอยู่ภายในซุ้ม ปล้องไฉน (ฉัตรวลี) หนาและสั้นรองรับปลียอดที่มีรูปร่างเพรียวยาว เจดีย์องค์นี้ได้รับการบูรณะเมื่อปี 2525 โดยเปลี่ยนแปลงรูปแบบบางประการ และเสริมความมั่นคงของเจดีย์โดยการฉาบผิวเจดีย์ด้วยปูนซีเมนต์ ตั้งแต่ปลียอดลงถึงลานประทักษิณชั้น 1


พระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุเป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลทั้งพุทธศาสนานิกายหินยานและนิกายมหายาน โดยพระเจดีย์เป็นทรงกรวยซ้อนกันบนฐานสี่เหลี่ยม เป็นการผสมผสานกันโดยนำเอาสถาปัตยกรรมแบบมณฑปมาสร้างเป็นฐานแล้วเอาเจดีย์สร้างซ้อนอยู่บน ซึ่งเจดีย์ลักษณะนี้ปรากฏมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย (พ.ศ.1200 – พ.ศ.1800) รูปทรงสัณฐานขององค์เจดีย์ทรงแบบนี้ฐานเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยม มีฐานเป็นระเบียงรับตัวเจดีย์ที่ทำเป็นแบบมณฑป มีมุขสี่ด้านเรียกว่า “จัตุรมุข” ในมุขทำเป็นซุ้มหน้าบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำทุกด้าน ส่วนหลังคามณฑปจะก่อเป็นเจดีย์ทรงกลมมีฐานเชิงบาตรขึ้นรองรับตัวเจดีย์และยอดแบบต่าง ๆ ตรงมุมหลังคาเจดีย์แต่ละมุมนิยมสร้างเจดีย์จำลองขนาดเล็กที่เรียกว่า “เจดีย์บริวาร” หรือเจดีย์น้อย ไว้แต่ละมุมประดับองค์เจดีย์ทั้ง 4 ด้านและเป็นลักษณะเจดีย์ห้ายอด เป็นอิทธิพลของศิลปะศรีวิชัย ซึ่งรับเอาคติธรรมทางพุทธศาสนามหายาน ส่วนรูปทรงองค์เจดีย์ในสมัยอยุธยาที่สร้างในคาบสมุทรสทิงพระ นิยมสร้างเจดีย์ทรงลังกาหรือแบบกรวยกลม ซึ่งจะมีรูปทรงสัณฐานเป็นระฆังคว่ำ หรือกระทะคว่ำอยู่บนฐานเขียงและฐานเชิงบาตรที่ซ้อนกัน 2-3 ชั้น และบนคอระฆังที่เป็นกระทะคว่ำก็จะทำเป็นปล้องกลม ๆ ติดต่อกันไปเป็นแนวตั้งเป็นส่วนยอดเรียกว่า “ปล้องไฉน” หรือ "ฉัตรวลี"


ผมเดินขึ้นมาด้านบนของพระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ (ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงขึ้นด้านบน) มองออกไปจะเห็นเจดีย์เก่า ทรงระฆังฐานย่อมุมไม้สิบสอง องค์เล็ก ๆ ประดิษฐานอยู่ด้านหลังของวิหารพระพุทธไสยาสน์ โดยองค์เจดีย์เริ่มจะเอียงไปตามกาลเวลาครับ

พระอุโบสถหลังปัจจุบัน ถูกสร้างเป็นทรงไทย มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ทางขึ้นพระอุโบสถมีรูปปั้นของท้าวเวสสุวรรณ ตั้งอยู่ตรงบันได หลังคาพระอุโบสถลดชั้นไต่ระดับสองชั้น มีพาไลหน้าหลัง สำหรับตัวอาคารพระอุโบสถมีขนาดไม่ใหญ่มาก บันไดและระเบียงประดับด้วยหินแกรนิตหลากสี เสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง หน้าบันปูนปั้นปิดทองเป็นรูปพระอาทิตย์ชักรถเทียมสิงห์ ซึ่งจะแตกต่างจากอุโบสถอื่นที่พระอาทิตย์เทียมม้า ซุ้มประตูพระอุโบสถเป็นรูปมงกุฎซึ่งบานประตูด้านหนึ่งแกะสลักเป็นยักษ์แบกทวารบาลที่เป็นยักษ์ อีกด้านเป็นวานร (ลิง) แบกทวารบาลที่เป็นเทวดา สำหรับฝาผนังพระอุโบสถทำเป็นลายนูนต่ำพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ บานหน้าต่างไม้แกะสลักปิดทองเป็นรูปทวารบาลแบบต่าง ๆ ไม่ซ้ำกัน มีคันทวยที่หัวเสาทุกต้น



ในวันที่ผมไป มีการบรรพชาพระใหม่อยู่พอดี เลยได้ชื่นชมความงดงามของพระอุโบสถอยู่เพียงด้านนอกเท่านั้น
วัดพะโคะเคยเป็นที่จำพรรษาของสมเด็จพะโคะหรือหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เมื่อประมาณ 400 กว่าปีมาแล้ว จึงมีการนำสิ่งของเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับหลวงปู่ทวดมาให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชาพร้อมนำเสนอประวัติความเป็นมาของหลวงปู่ทวดด้วยครับ

มีรอยพระพุทธบาทด้วยครับ แต่เดิมเชื่อกันว่าเป็นรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า แต่ในสมัยต่อมากล่าวกันว่าเป็นรอยเท้าของหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดครับ

การมาวัดพะโคะของผมในครั้งนี้ ผมพลาดชมจุดสำคัญ 2 จุด คือพระพุทธไสยาสน์ (พระโคตรมะหรือพะโคะ) พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองฝีมือช่างท้องถิ่นภาคใต้ปางปรินิพพาน ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ และอีกหนึ่งสิ่งคือ ลูกแก้วคู่บารมีของหลวงปู่ทวด ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ครับ
วัดพะโคะมีบทบาทสำคัญมากในสมัยอยุธยาเพราะเป็นศูนย์กลางการปกครองของคณะสงฆ์ บริเวณฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่ใช้ดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาของเจ้าเมืองพัทลุงในสมัยก่อนด้วยครับ
จากวัดพะโคะ ไปต่อที่วัดจะทิ้งพระครับ (พิกัด https://maps.app.goo.gl/Y3YYqnNgQkgh2bC48 )
วัดจะทิ้งพระเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสทิงพระ หรือสทิงปุระ เมืองเก่าแก่ของเมืองพัทลุงมาแต่โบราณ เดิมเรียกว่า “วัดสทิงพระ” ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น “วัดจะทิ้งพระ“ สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย ต่อมาได้รับการบูรณะขี้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรส แห่งกรุงศรีอยุธยา ตามหลักฐานหนังสือกัลปนาหัวเมืองพัทลุงสมัยอยุธยา ระบุว่าวัดจะทิ้งพระแยกออกเป็นสองวัด โดยมีกำแพงกั้นกลางเป็น 2 วัด วัดแรกคือวัดสทิงพระ อีกวัดคือวัดพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่ วัดทั้งสองแห่งนี้มีชื่อเรียกร่วมกันว่าวัดเจ้าพี่วัดเจ้าน้อง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงรวมเป็นวัดเดียวกัน ชื่อวัดจะทิ้งพระ ไม่ได้หมายความว่ากำลังจะทอดทิ้งพระ หรือไม่เอาพระแล้ว แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “สทิงปุระ” ซึ่งมีความหมายว่าเมืองที่มีน้ำล้อม เมืองสทิงปุระเป็นเมืองเดียวกับสทิงพาราณสี ซึ่งเป็นเมืองที่เก่าแก่ ตั้งอยู่ทางเหนือของวัดจะทิ้งพระนั่นเอง
จุดเด่นของวัดจะทิ้งพระคือพระธาตุองค์ใหญ่เรียกว่าเจดีย์พระมหาธาตุ หรือเจดีย์พระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐดินและอิฐปะการังสอด้วยดิน บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เจดีย์เป็นรูประฆังคว่ำหรือรูปโอ่งคว่ำแบบลังกา มีปลียอดแหลมเช่นเดียวกับพระบรมธาตุเจดีย์ที่นครศรีธรรมราช แต่ต่างกันที่ไม่มีรัตนบัลลังก์ ฐานเดิมของเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ต่อมาในสมัยอยุธยาได้มีการบูรณะเพิ่มเติมฐานเป็นแบบย่อมุมไม้ยี่สิบ ทั้ง 4 ทิศจะมีซุ้มพระประดับทิศละ 1 ซุ้ม โดยประสมประสานสถาปัตยกรรมสมัยศรีวิชัยเข้ามา เช่น ทำเป็นมณฑปสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนยอดทำเป็นสถูป มีเจดีย์บริวาร 4 มุม ตามตำนานกล่าวว่าองค์เจดีย์สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1542 ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2477 เจดีย์พระมหาธาตุชำรุดทรุดโทรมมาก ได้มีการบูรณะองค์เจดีย์ขึ้นใหม่แต่ก็ยังคงลักษณะเดิมไว้ และในวันเพ็ญเดือน 3 ของทุกปีจะมีประเพณีแห่ผ้าขึ้นห่มพระมหาธาตุเจดีย์ครับ


ติดกับเจดีย์พระมหาธาตุ เป็นที่ตั้งของวิหารพระพุทธไสยาสน์ หรือที่ชาวบ้านที่นี่เรียกกันว่า วิหารพ่อเฒ่านอน สร้างโดยการก่ออิฐถือปูน สันนิฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 หน้าบันวิหารบริเวณด้านหน้าประดับด้วยปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ตอนล่างมีรูปยักษ์แบกเทวดาและลายไท


ภายในวิหารประดิษฐานองค์พระเชตุพนพุทธไสยาสน์ ก่อด้วยอิฐถือปูนยาว 14 เมตร สูง 2 เมตร ชาวบ้านเรียกว่า “พ่อเฒ่านอน” ลักษณะนอนตะแคงขวา พระหัตถ์ขวาหนุนพระเศียร สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะศรีวิชัย ที่สร้างเลียนแบบศิลปะคุปตะ ผมว่าพระพักตร์รวมถึงรูปทรงของพ่อเฒ่านอน ดูแปลกตาจากที่ผมเคยเห็นตามวัดต่างๆ เป็นอย่างมาก


ผนังภายในวิหารบริเวณด้านข้างพระเศียรของพ่อเฒ่านอน มีภาพจิตรกรรมที่มีอายุประมาณ 100 ปี เขียนเป็นเรื่องพุทธประวัติตอนเสด็จไปโปรดพุทธมารดา และตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เขียนโดยช่างท้องถิ่นถึงสามคน โดยเขียนภาพโทนสีทองลายเส้นงดงาม แสดงถึงอัตลักษณ์ของช่างท้องถิ่นปักษ์ใต้ ภาพเขียนบนพื้นสีเหลืองอ่อน แล้วเขียนภาพลงด้วยสีขาว สีเทา สีฟ้าและสีเขียว เขียนระบายสีบางๆ ตัดเส้นด้วยสีอ่อน สภาพปัจจุบันยังคงสมบูรณ์อยู่เลยครับ


ทางวัดจะปิดประตูวิหารไว้นะครับ แต่เราสามารถแง้มประตูและเข้าไปชมด้านในวิหารได้ ตอนแรกผมก็คิดว่าวิหารปิด แต่พอเดินเข้าไปตรงประตูวิหาร ไม่พบการล็อคกุญแจ จึงลองแง้มเปิดประตูวิหารเข้าไปสักการะพ่อเฒ่านอน เมื่อเราออกจากวิหารแล้ว ก็ขอให้ปิดประตูวิหารไว้เช่นเดิมนะครับ
อีกหนึ่งสิ่งที่ดูเก่าแก่ เห็นจะเป็นหอระฆัง ซึ่งเป็นหอสำหรับแขวนระฆังใบใหญ่ ก่อสร้างโดยการก่ออิฐถือปูน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส บริเวณฐานหอระฆังประดับลวดลายปูนปั้นหนังตะลุงอันแสดงถึงศิลปะพื้นบ้านของอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลาครับ


สำหรับพระอุโบสถวัดจะทิ้งพระ เป็นพระอุโบสถที่ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ ตัวอาคารเป็นเสาหินอ่อนทั้งหลัง มีความสวยงามมาก รอบ ๆ พระอุโบสถมีศาลาจัตุรมุขหินอ่อนล้อมรอบทั้ง 4 ทิศ


ความเจริญของพระพุทธศาสนาที่เผยแผ่มายังคาบสมุทรสทิงพระยังคงสืบทอดต่อเนื่องมายาวนาน ดังเช่นที่วัดจะทิ้งพระซึ่งมีโบราณสถาน ตลอดจนสถาปัตยกรรมแห่งพระพุทธศาสนามากมายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นที่เคารพศรัทธานับถือและเป็นที่พึ่งทางใจไปทั่วแว่นแคว้นของคนรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา-พัทลุง ในแต่ละปีผู้เลื่อมใสศรัทธาจะมาแห่ผ้าขึ้นห่มพระธาตุเจดีย์ซึ่งเป็นตัวแทนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นการแสดงออกถึงความศรัทธาอย่างยิ่งต่อพ่อเฒ่านอนพระพุทธรูปปางไสยาสน์
จากอำเภอสทิงพระ ไปต่อที่อำเภอสิงหนคร โดยขอเริ่มที่เขาแดงครับ
เขาแดงนับเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของสงขลา ด้วยดินแดนแถบนี้เคยเป็นที่ตั้งของเมืองสงขลาในยุคเริ่มแรก ผ่านวันเวลาและเรื่องราวการค้า การพาณิชย์ การศึกสงครามมาในห้วยระยะเวลาหนึ่ง จนมาถึงวันนี้เขาแดงก็ยังคงคุณค่าในด้านการเรียนรู้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวในสมัยอดีต โดยหลักฐานทางโบราณคดีที่ยังคงหลงเหลืออยู่ นอกจากวัดวาอารามแล้ว สิ่งที่น่าสนใจก็คือป้อมปราการต่าง ๆ ทั้งที่อยู่บนเขาแดงและที่ยังเหลือซากที่สมบูรณ์ไว้ให้เห็น รวมถึงเจดีย์สองพี่น้องบนยอดเขาแดงครับ
ผมเริ่มต้นที่เจดีย์สองพี่น้องบนยอดเขาแดงเป็นจุดแรก การจะชมเจดีย์สองพี่น้อง เราจะต้องเดินเท้าขึ้นไปบนยอดเขาแดง ซึ่งบันไดทางขึ้นน่าจะมีหลายจุด ผมตั้ง GPS ไปแล้วสรุปว่าหาบันไดทางขึ้นไม่เจอครับ เลยสอบถามชาวบ้านแถวนั้นจึงได้พิกัดใหม่มา ตามนี้ https://maps.app.goo.gl/aQTC4urFwgS29BoQA บริเวณทางขึ้นมีที่จอดรถให้พร้อมครับ

ใช้เวลาเดินขึ้นกว่าครึ่งชั่วโมง ถามว่าเหนื่อยไหม ตอบเลยว่า “มากกก...” ทั้งยาดมและน้ำดื่มที่แบกติดตัวไปด้วย ได้ใช้สมใจครับ ดีหน่อยที่ระหว่างเส้นทางเดินขึ้นไปด้านบนค่อนข้างร่มจากกิ่งไม้ใบไม้ ทำให้สามารถนั่งพักเหนื่อยได้ตลอดระหว่างทางก็จะมีป้อมโบราณให้ได้ออกไปชมวิว อย่างป้อมนี้คือป้อมสังเกตการณ์ฝั่งตะวันตกครับ


ไม่เกินความพยายาม ก็เดินขึ้นมาถึงด้านบน พบซากป้อมโบราณ แอบนึกดีใจเพราะคิดว่าถึงเจดีย์สองพี่น้องแล้ว แต่ที่ไหนได้ ป้อมนั้นคือป้อมเมืองโบราณหมายเลข 6 ครับ จุดนี้มองออกไปเห็นสะพานติณสูลานนท์ด้วยครับ


ส่วนเจดีย์สองพี่น้อง ต้องเดินต่ออีกครับ ดีหน่อยที่ไม่ต้องเดินขึ้นบันไดแล้ว
ไม่นานก็มาถึงเจดีย์สองพี่น้อง ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขาแดงครับ

องค์แรกเป็นเจดีย์องค์พี่ ลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ก่อด้วยหินฉาบปูน ยอดปรักหักพัง มีสีดำ คนทั่วไปเรียก “เจดีย์องค์ดำ” สร้างเมื่อปี พ.ศ.2375 โดยเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุญนาค)

เจดีย์องค์ที่สองเป็นเจดีย์องค์น้อง ลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมเช่นกัน องค์เจดีย์ก่อด้วยอิฐฉาบปูน มีสีขาว คนทั่วไปเรียก "เจดีย์องค์ขาว" สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.2382- พ.ศ.2384 โดยพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัด บุนนาค) ผู้เป็นน้องร่วมมารดากับเจ้าพระยาพระคลัง ชาวบ้านเรียกเจดีย์สององค์นี้ว่า "เจดีย์สองพี่น้อง"

ระหว่างองค์เจดีย์ทั้งสอง เดิมจะมีศาลาเก๋งจีน ปัจจุบันเหลือแต่พื้นที่ผนังที่เจาะช่องหน้าต่างเป็นวงกลม เจดีย์ทั้งสององค์ได้รับการขุดแต่งบูรณะขึ้นใหม่ และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ.2525 ครับ
บริเวณเจดีย์สองพี่น้อง เราสามารถชมวิวเมืองสงขลา ทะเลสาบสงขลา และทะเลอ่าวไทย ได้แบบสุดลูกหูลูกตาเลยครับ มองดี ๆ จะเห็นนางเงือกที่หาดสมิหลาด้วย




จากเจดีย์สองพี่น้อง ขับรถต่ออีกนิดก็มาถึงป้อมเมืองเก่าหมายเลข 9 (พิกัด https://maps.app.goo.gl/ZfiXEXXUtqvGxDjW6 ) ป้อมปราการเมืองสงขลาเก่าที่ตั้งอยู่บริเวณเขาหัวแดง ปรากฏชื่ออยู่ในเอกสารโบราณว่า Singora เป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยอยุธยา ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 22-23 มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยมีคูเมืองและกำแพงเมืองเป็นปราการด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ส่วนทางด้านทิศใต้มีเขาแดงและเขาค่ายม่วงเป็นปราการ สำหรับป้อมหมายเลข 9 เป็นป้อมที่ก่อด้วยหิน ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบเชิงเขาน้อย ลักษณะผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 9.60 เมตร ยาว 10.20 เมตร สูง 5 เมตร มีใบบังทั้งสี่ด้าน ระหว่างใบบังจะมีช่องมองซึ่งจะต้องมองเฉียงจึงจะมองเห็นภายนอกได้ มีส่วนค้ำยันฐานผนังป้อมทางด้านตะวันออก ตะวันตกและทิศเหนือ ทำหน้าที่เป็นป้อมตรวจการณ์ด้านทิศใต้และด้านตะวันตกของเมืองสงขลาเก่าครับ


มีข้อสันนิษฐานว่า พื้นที่ตั้งป้อมเดิมนี้ มีทะเลทรายล้อมรอบ เพราะจากการขุดชั้นดินทรายสำรวจก็เจอทรายทะเล และมีทางเดินด้านหลังป้อมไปพระเจดีย์เขาน้อย ที่อยู่ด้านหลัง ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับหัวเขาแดง
ปัจจุบันเราสามารถพบเห็นร่องรอยของป้อมเมืองสงขลาเก่าที่ก่อด้วยหินสอปูนอย่างน้อย 14 ป้อม ตั้งกระจายทั่วเมืองสงขลา สาเหตุที่ต้องสร้างป้อมเป็นจำนวนมากเพราะเมืองสงขลามีที่ตั้งห่างจากกรุงศรีอยุธยามาก หากเกิดสงครามจะขอความช่วยเหลือจากเมืองหลวงไม่ทัน
ด้านหลังของป้อมเมืองเก่าหมายเลข 9 จะมีเส้นทางเดินเท้าเล็ก ๆ เพื่อไปยังเจดีย์วัดเขาน้อย (พิกัด https://maps.app.goo.gl/A4azT4sa4xp5X4GW6 ) ระยะทางประมาณ 400 เมตร เส้นทางเดินง่าย ๆ มีขึ้นเนินเตี้ย ๆ บ้างเล็กน้อย เดินเล่นชิลล์ ๆ แป๊บเดียวก็ถึงครับ
วัดเขาน้อยเป็นวัดแต่โบราณยุคพุทธศาสนามหายานแห่งศรีวิชัย หลังจากที่สงขลาได้ตั้งขึ้นที่เขาค่ายม่วง หรือที่เรียกว่าเมืองสงขลาหัวเขาแดง ซึ่งเป็นเมืองท่าค้าขายที่เจริญขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง วัดเขาน้อยได้กลายสภาพเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์อยู่อาศัย จนกระทั่งเมืองสงขลาหัวเขาแดงหมดสภาพจากการเมือง วัดเขาน้อยจึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วัดเขาน้อยมีปูชนียสถานที่สำคัญคือ เจดีย์เขาน้อย เป็นเจดีย์ที่ไม่เจือปูน การเรียงอิฐเป็นแบบไม่มีระบบ เป็นแบบช่างสมัยศรีวิชัย ฐานเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมกว้างยาวประมาณ 20 เมตร ปัจจุบันองค์เจดีย์มีสภาพหักพัง เหลือเพียงฐานซึ่งมีซุ้มประตูคูหาแบบรูปโค้งแหลม ภายในมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยอยุธยาอยู่ที่มุมทั้ง 4 ของฐาน นอกจากนี้ยังพบหินแกะสลักเป็นลวดลายและใบหน้าของบุคคล โดยรูปแกะสลักเหล่านี้มีรูปแบบศิลปะที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบคุปตะของอินเดีย จึงคาดการณ์ว่าสถูปเจดีย์องค์นี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยทวารวดีและศรีวิชัย แล้วชิ้นส่วนของภาพแกะสลักเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้ประกอบเป็นภาพประดับสถูปเจดีย์อีกครั้งหนึ่งในคราวต่อเติมระยะหลังช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น ครั้งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมสถูปเจดีย์องค์นี้อีก ตามหลักฐานที่ปรากฏทำให้เข้าใจได้ว่าเจดีย์วัดเขาน้อยองค์นี้ได้รับการบูรณะต่อเติมซับซ้อนกันมาหลายยุคหลายสมัยเป็นเวลานานหลายร้อยปีปัจจุบันยังเหลือไว้เพียงส่วนฐานเป็นพยานให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีตครับ



จากเจดีย์วัดเขาน้อย ไปต่อที่ซุ้มประตูบ่อเก๋ง (พิกัด https://maps.app.goo.gl/VykLDVQQ8XG7C4Ls9 ) หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า "บ่อเก๋ง" เป็นอีกหนึ่งโบราณสถานที่สำคัญของเมืองสงขลา เป็นหลักฐานแสดงถึงสาธารณูปการของเมืองสงขลา บ่อเก๋ง คือปราการรักษาด้านหน้าของเมืองสงขลาเก่าที่ตั้งอยู่ฝั่งแหลมสน สร้างขึ้นประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ประกอบด้วยเชิงเทิน ที่ตั้งปืนใหญ่ อาคารที่พักของผู้รักษาป้อม บ่อน้ำ และซุ้มประตู เมื่อมีการย้ายเมืองสงขลามายังฝั่งบ่อยาง (ตัวเมืองสงขลาในปัจจุบัน) ได้มีการสร้างป้อมปากแม่น้ำแหลมทราย เพื่อคอยป้องกันเมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง ปราการบ่อเก๋งจึงถูกปล่อยร้างไป แต่ชาวบ้านละแวกนี้ยังคงใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำจืดบริเวณบ่อเก๋งอยู่ระยะหนึ่ง ปัจจุบันภายในบริเวณบ่อเก๋งยังมีซากโบราณสถานสิ่งหนึ่งที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ นั่นคือ "ซุ้มประตู" ซุ้มประตูดังกล่าวสร้างด้วยอิฐถือปูน มีสันหลังคาโค้งงอน ซึ่งขัดกับลักษณะอาคารแบบไทยประเพณี แต่ลักษณะดังกล่าวปรากฏในกลุ่มอาคารทางตอนใต้ของจีนหลายแห่ง ลักษณะของปลายสันหลังคาที่ค่อนข้างเหลี่ยมหักมุม ทำให้พอสันนิษฐานได้ว่า ซุ้มประตูดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับงานสถาปัตยกรรมแถบหมิ่นหนาน แสดงให้เห็นว่ามีชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณหัวเขาแดงด้วย โบราณสถานบ่อเก๋ง มีอายุราว 100 กว่าปี สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน ผ่านการสร้างป้อมปราการขนาดใหญ่ และการสร้างท่าเทียบเรือในบริเวณนี้ ที่ทำให้พออนุมานได้ว่า สงขลาคือหนึ่งในเมืองท่าที่สำคัญต่อโลกแห่งหนึ่งก็ว่าได้ครับ



จากบ่อเก๋ง ไปต่อที่วัดสุวรรณคีรี (พิกัด https://maps.app.goo.gl/zo1tA1pbiL4cyVME8 ) ครับ
วัดสุวรรณคีรี หรือวัดหัวเขา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีตอนปลายหรือกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็ก ๆ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่ปากอ่าวทะเลสาบสงขลาและเมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง ด้านหน้าวัดมีบ่อน้ำและศาลาแสดงถึงความเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ก่ออิฐฉาบปูน ฐานเจดีย์เป็นรูปทรงกระบอก และมีก้อนหินใหญ่ประดับฐานทั้ง 4 ทิศ องค์เจดีย์ทรงระฆังแบบโอคว่ำ มีลวดลายเป็นปูนปั้นรูปพวงดอกไม้ประดับรอบองค์ ซึ่งเป็นอิทธิพลจากศิลปะจีนสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นที่ล่ำลือกันว่าหินที่ล้อมรอบเจดีย์องค์นี้งอกขึ้นมาเอง ต่อมาพระและชาวบ้านได้ช่วยกันบูรณะใหม่ รอบ ๆ ฐานพระเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ มีรูปพระสาวกปูนปั้นนูนต่ำประนมมืออยู่ภายในวงกลม ในอดีตวัดสุวรรณคีรีเคยเป็นวัดร้างมาก่อน ต่อมาได้รับการบูรณะให้เป็นวัดสำคัญประจำเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน และถูกใช้เป็นสถานที่เพื่อประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของเหล่าข้าราชการเมืองสงขลา นับเป็นวัดโบราณคู่บ้านคู่เมืองสงขลาอีกวัดหนึ่งครับ



ภายในวัดสุวรรณคีรีมีโบราณสถานที่สำคัญ คือพระอุโบสถ และยังมีหอระฆังที่ก่อด้วยปูน มีทั้งหมด 2 ชั้น ชั้นล่างก่อทึบ ชั้นบนก่อโปร่ง มีการเจาะช่องหน้าต่างเป็นรูปวงรีทั้งสี่ด้าน ภายในแขวนระฆัง รูปทรงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงศิลปะที่รับอิทธิพลจากตะวันตก นอกจากนี้ยังมีเจดีย์หินแบบจีนหรือถะศิลา ที่ด้านล่างเป็นฐานเขียง รองรับส่วนกลางซึ่งมีรูปทรงเหมือนอาคาร 6 ชั้น และอยู่ในผังแปดเหลี่ยม ด้านบนสุดประดับปล้องไฉนครับ



มีซุ้มใบเสมาสร้างด้วยหินแกรนิตลักษณะศิลปะจีน ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้สวยงาม ภายในเป็นเสมาหินแกรนิตแบบเสมาคู่ปักอยู่ ซุ้มใบเสมาทั้งแปดทิศเป็นพุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

พระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทั้งส่วนผนังและหน้าบัน หน้าบันลดรูปไม่มีการประดับช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ กลางหน้าบันเป็นงานปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาสลับดอกไม้ โดยเกสรของดอกไม้แต่ละดอกแทนด้วยภาชนะเครื่องเคลือบประตูและหน้าต่างของอุโบสถสร้างแบบเรียบง่ายไม่มีการประดับสิ่งใด ๆ ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองปางมารวิชัยขนาดใหญ่จำนวน 3 องค์ มีองค์พระสาวกพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ประดิษฐานด้านซ้ายขวา ตามลำดับ


ฝาผนังอุโบสถทั้ง 4 ด้าน สมัยก่อนมีจิตรกรรมฝาผนัง ตอนล่างเป็นเรื่องทศชาติ ตอนบนเป็นเรื่องพุทธประวัติ แต่น่าเสียดายว่าปัจจุบันจิตกรรมฝาผนังถูกน้ำฝนลบเลือนไปเกือบหมดแล้ว แต่ทางวัดได้เขียนจำลองภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้บนผืนผ้าใบ ตั้งเคียงคู่กับภาพจริง ให้เราได้จินตนาการตามภาพจำลองครับ

ส่วนด้านหลังพระประธาน ภาพจิตรกรรมยังไม่เสียหายมากนัก โดยช่างได้เขียนเป็นภาพสวรรค์ชั้นต่าง ๆ วิมานปราสาท นางฟ้า เทพบุตร ลอยอยู่ตามหมู่เมฆ เรียงเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป จนชั้นสูงสุดเป็นภาพปราสาทใหญ่


ส่วนผนังด้านข้างทั้ง 2 ด้าน เป็นภาพทศชาติชาดก ตอนบนเหนือกรอบหน้าต่างเขียนภาพพุทธประวัติครับ


วัดสุวรรณคีรีนับเป็นอีกหนึ่งวัดในทริปนี้ที่ผมประทับใจมาก เพราะงานประติมากรรมและงานจิตรกรรมที่มีให้เห็นในวัดนี้ หาดูไม่ได้ง่าย ๆ เลยครับ
ไม่ไกลจากวัดสุวรรณคีรี เป็นที่ตั้งของวัดบ่อทรัพย์ (พิกัด https://maps.app.goo.gl/7rFcidW2uxLhnw139 ) วัดสำคัญอีกหนึ่งวัดในสมัยที่เมืองสงขลาตั้งเมืองอยู่บริเวณฝั่งแหลมสน คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ด้านหน้าวัดมีบ่อน้ำพื้นเมือง กรุอิฐขนาดใหญ่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7 เมตร เรียกว่า บ่อซับ เป็นบ่อน้ำที่ซึมซับลงมาจากภูเขาอันเป็นที่มาของชื่อ “วัดบ่อทรัพย์” ในอดีตบ่อซับนี้เป็นที่เลื่องลือในการรักษาโรค ชาวบ้านมักจะนำน้ำไปดื่มกินและอาบเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อได้ดื่มได้อาบ ก็จะหายจากโรคร้ายครับ

จากบ่อน้ำซับด้านหน้าวัด เดินขึ้นไปตามบันได ด้านซ้ายมือจะพบกุฏิไม้โบราณพื้นถิ่นภาคใต้ หลังคามุงกระเบื้องเกาะยอครับ


เดินผ่านกุฏิ ขึ้นไปตามบันไดอีก 1 ช่วง จะพบอุโบสถสีขาว รูปแบบเรียบง่าย ล้อมรอบด้วยพาไลเป็นซุ้มโค้งกลม หน้าบันดูเรียบ หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นผสมตะวันตกครับ


ใกล้กันพบบัวเก็บอัฐิครับ

ที่วัดบ่อทรัพย์นี้ยังมี องค์ท้าวเวสสุวรรณ หรือ จ้าวเขา ที่คนในท้องถิ่นนิยมมากราบไหว้ขอโชคลาภกันอย่างไม่ขาดสาย โดยท้าวเวสสุวรรณองค์นี้มีความแตกต่างจากที่อื่นๆ ด้วยลักษณะรูปปั้นที่มีรูปลักษณ์ดุดัน มีกระบองประจำตัว ที่ปลายด้ามเป็นหัวกะโหลก ไม่มีเครื่องประดับชฎาใด ๆ รูปร่างผอมสูง คาดว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2483 เชื่อกันว่าองค์ท้าวเวสสุวรรณองค์นี้ปั้นขึ้นจากดินเปลว หรือดินจากป่าช้าของวัดบ่อทรัพย์ ผู้ที่มีความเชื่อความศรัทธา มักจะมาบนบานต่อท่านอยู่เป็นประจำ ในวันที่ผมไปเยือนก็ยังมีผู้เลื่อมใสศรัทธามากราบไหว้และแก้บนอยู่หลายคณะเลยครับ ของแก้บนส่วนใหญ่จะเป็นเหล้าขาว เนื้อวัวสด ผ้านุ่งแดง ดอกกุหลาบแดง ยาสูบ น้ำแดง และมีการจุดประทัดร่วมด้วยครับ

อีกหนึ่งสิ่งที่นับเป็นเรื่องแปลก นั่นคือบริเวณข้อศอกทั้งสองข้างของท้าวเวสสุวรรณจะมีน้ำหยดออกมาตลอดเวลา ราวๆ 10 นาทีก็จะมีน้ำหยดลงมาที ชาวบ้านจะมารองน้ำที่หยดเพื่อไปทำเป็นน้ำมนต์ และล้างบริเวณใบหน้า ซึ่งผมเองก็ได้นำมาพรมหัวตัวเองเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วยครับ
พื้นที่โดยรอบวัดบ่อทรัพย์ เต็มไปด้วยต้นซาหวา หรือต้นละมุดนับร้อยๆ ต้น ที่อยู่คู่กับวัดมายาวนานไม่ต่ำกว่า 70 ปี ทุกต้นยังคงออกลูกเต็มต้น ให้ความร่มรื่นกับวัดเป็นอย่างมากครับ
วัดบ่อทรัพย์จะมีทางเดินเชื่อมไปยังวัดศิริวรรณาวาส (พิกัด https://maps.app.goo.gl/kAUTu6FtAoWM5qV77 ) ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ติดกันเลยครับ
วัดศิริวรรณาวาส เป็นวัดโบราณแห่งหนึ่งที่เจ้าเมืองสงขลาต้นตระกูล ณ สงขลา สมัยตั้งเมืองอยู่ที่ฝั่งแหลมสนเป็นผู้สร้าง เดิมวัดศิริวรรณาวาสมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่าวัดตก และเคยเป็นวัดร้างมาก่อน แต่ปัจจุบันได้มีพระสงฆ์เข้ามาจำพรรษาแล้ว
โบราณสถานในวัดประกอบด้วย พระอุโบสถ สถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีนแบบพระราชนิยมรัชกาลที่ 3 มีลักษณะสำคัญคือ หน้าบันฉาบปูนเรียบ ไม่มีเครื่องลำยอง พาไลมีกำแพงรับ เว้นช่องมีทางเท้า ไม่มีเสา หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเกาะยอปลายแหลม มีประตูทางเข้าด้านหน้า 1 ช่อง มีเสมาหินอยู่โดยรอบ กำแพงแก้วก่ออิฐฉาบปูน ประตูทางเข้าด้านตะวันออกเป็นซุ้มแบบจีน ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปปั้นศิลปะพื้นบ้าน ไม่มีจิตรกรรมฝาผนังครับ



นอกจากนี้ยังมีซากหอระฆังชำรุดเหลือแค่ฐานและบันได ชาวบ้านนิยมมาขอพรในเรื่องชื่อเสียงและธุรกิจที่เปิดใหม่ ให้มีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนเสียงระฆังครับ

บัวที่เก็บอัฐิครับ

ติดกับวัดศิริวรรณาวาสเป็นที่ตั้งของวัดภูผาเบิก (พิกัด https://maps.app.goo.gl/uH7r1TuBQH4CZE5B7 ) ครับ
วัดภูผาเบิก มีศาลาการเปรียญแบบพื้นถิ่นภาคใต้ มีปูนปั้นประดับหน้าบัน เขียนสีสดใส ผนังรอบศาลาเป็นปูนปั้น ตกแต่งด้วยกระเบื้องปรุแบบจีนและมีพาไลรอบ มุงสังกะสี รับด้วยเสาไม้ต้นเล็กๆ เห็นว่าด้านในมีการตกแต่งเพดานเป็นภาพพระพุทธเจ้าและเขียนลวดลายด้วยสีสดใสแบบพื้นบ้านด้วย เสียดายตอนที่ผมไปถึง ผมไม่เจอใครเลย ในวัดเงียบกริบ แถมยังมีฝูงสุนัขมาเห่าเต็มไปหมด เอาจริงๆ รู้สึกหลอนกับบรรยากาศเก่าๆ และวังเวงที่วัดนี้ครับ เลยรีบถ่ายภาพ รีบกลับครับ

อุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมแบบผสมกับวัฒนธรรมตะวันตกหรือแบบเปอร์เซีย รอบอุโบสถเหลือใบเสมาอยู่เพียงใบเดียว มีหอระฆังตั้งเคียงคู่อยู่กับพระอุโบสถครับ

นอกจากนี้ ในบริเวณวัดยังมีกุฏิเป็นเรือนไทยพื้นถิ่นภาคใต้ กุฏิเรือนขนมปังขิงครับ

กลุ่มวัดสุวรรณคีรี วัดบ่อทรัพย์ วัดศิริวรรณาวาส และวัดภูผาเบิก มีความต่อเนื่องกันในด้านการวางผัง และภูมิสถาปัตยกรรม มีการทำกำแพงกันดินด้วยหินภูเขา ใน 3 ระดับ มีทางเดินและบันไดเชื่อมต่อกันระหว่างวัด ปูด้วยกระเบื้องหน้าวัวโบราณซึ่งมีลวดลายในเนื้อกระเบื้องอันเป็นเอกลักษณ์กระเบื้องดินเผาเกาะยอ นับเป็นตัวอย่างที่สำคัญทั้งในด้านสถาปัตยกรรม และภูมิสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจครับ
จากอำเภอสิงหนคร ไปต่อที่อำเภอเมือง โดยขอเริ่มที่วัดท้ายยอครับ (พิกัด https://maps.app.goo.gl/ty1mMSXXwNBEt4m97 )
วัดท้ายยอ สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ต้นกรุงธนบุรี ชื่อเดิมคือ วัดคงคาวดี แต่ชาวบ้านมักจะเรียกกันติดปากว่า วัดท้ายเสาะ ตามชื่อของหมู่บ้านเก่าแก่ของเกาะยอ ต่อมาชาวบ้านได้เรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดท้ายยอ ตามชื่อของเกาะ และคาดว่าน่าจะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
วัดท้ายยอมีโบราณวัตถุที่ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมอันงดงาม อาทิ กุฏิเจ้าอาวาสที่เป็นกุฏิแบบเรือนไทยปั้นหยา อายุประมาณ 200 ปี สร้างขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยเรือน 3 หลัง เรียกตามลักษณะมงคลสูตรว่าแบบพ่อแม่พาลูก สร้างด้วยสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นภาคใต้ผสมผสานอิทธิพลจีน ที่ถึงพร้อมด้วยมงคลสูตร และมาตราสูตรคือด้านหน้าหันออกสู่ทะเลสาบสงขลามีลานกว้าง ส่วนด้านหลังเป็นเขาเรียกว่าเขาเพหาร ซึ่งหมายถึงวิหารนั่นเอง ลักษณะเด่นของกุฏิคือเสาเรือนของกุฏิจะไม่ฝังลงในดิน แต่จะตั้งอยู่บนตีนเสาซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสร้างบ้านเรือนในภาคใต้ อีกทั้งการมุงหลังคาด้วยกระเบื้องเกาะยอและกระเบื้องลอนแบบเก่า นับว่างดงามและหาดูยากแล้วในสมัยปัจจุบันนี้



ติดกับกุฏิเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ ที่ก่อด้วยอิฐถือปูนแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งอยู่ในเขตกำแพงแก้ว หันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามความเชื่อในเรื่องทิศที่เป็นมงคล อุโบสถมีช่วงฐานเตี้ย ผนังทึบ หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา เป็นหลังคาชั้นเดียวต่อด้วยปีกนก รอบอาคารไม่มีเสาพาไล บริเวณตอนล่างของฐานกรุด้วยเซรามิคลายดอกสี่กลีบ ตัวอุโบสถมีบันไดทางเข้าด้านข้าง 2 ช่อง ตรงผนังใต้หน้าต่างทำเป็นช่องระบายอากาศรอบอาคาร โดยทำเป็นช่องประดับกระเบื้องปรุ หน้าบันมีไขราหน้าจั่ว มีใบเสมาตั้งอยู่บนฐานปัทม์มน 2 ชั้นเตี้ย ๆ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย เสียดายวันที่ผมไป พระอุโบสถปิด เลยไม่มีโอกาสได้เข้าชมด้านในครับ

ใกล้กันเป็นที่ตั้งของหอระฆังที่เก่าแก่ ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมมือร่วมแรงและร่วมใจสร้างกันขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและใช้ประกอบพิธีการงานบุญต่าง ๆ ครับ

ด้านหลังของวัดท้ายยอเป็นที่ตั้งของเขาพิหารหรือเขาวิหาร ซึ่งด้านบนยอดเขาวิหารเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์ทรงลังกา หรือทรงระฆัง อายุประมาณ 240 ปี คาดว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 สันนิษฐานกันว่าบนยอดเขาเดิมเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถเก่า ต่อมาพระอุโบสถมีสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงได้มีการรื้อถอนอุโบสถและทำการก่อสร้างพระเจดีย์ครอบหลวงพ่อดำ ซึ่งเป็นพระประธานของอุโบสถเดิมเอาไว้ เจดีย์มีลักษณะทรงระฆังหรือทรงลังกา โดยก่ออิฐถือปูนมีลวดลายปูนปั้นประดับ อันเป็นฝีมือช่างท้องถิ่นภาคใต้ และมีทางเข้าสู่คูหาที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ตอนล่างเป็นฐานสี่เหลี่ยม มีลานประทักษิณ ระเบียงลูกกรงกรุด้วยเซรามิคสีเขียวลายดอกสี่กลีบโปร่ง และมีการตกแต่งด้วยลายปูนปั้นที่สวยงาม ด้านนอกมียักษ์ 2 ตน เฝ้าองค์เจดีย์ ตามความเชื่อของชาวบ้านยักษ์ 2 ตนนั้นเรียกว่าพ่อแก่ยักษ์ นอกจากเฝ้าองค์เจดีย์และพระพุทธองค์แล้ว ยังคอยดูแลช่วยเหลือความเป็นอยู่ของชาวเกาะยอให้มีความสุขสบาย ตลอดจนการประกอบอาชีพให้สำเร็จผลครับ



ด้านข้างวัด จะมีศาลาริมน้ำ สามารถมายืนชมวิวทะเลสาบสงขลา และวิถีชีวิตของชาวเกาะยอได้ครับ

ไม่ไกลจากวัดท้ายยอ เป็นที่ตั้งของวัดแหลมพ้อ (พิกัด https://maps.app.goo.gl/oVbNGUkdfxqS4x9W9 ) ซึ่งตั้งอยู่เชิงสะพานติณสูลานนท์ครับ สันนิษฐานว่าวัดแหลมพ้อสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ราวช่วงรัชกาลที่ 2 เนื่องจากพื้นที่บริเวณวัดเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเลสาบสงขลา อีกทั้งยังมีต้นพ้ออยู่เป็นจำนวนมาก จึงเรียกชื่อวัดกันต่อ ๆ มาว่า วัดแหลมพ้อ สิ่งที่โดดเด่นของวัดแหลมพ้อ เห็นจะเป็นพระพุทธรูปปางปรินิพานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งองค์พระสร้างขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2537 องค์พระนอนแหลมพ้อ เป็นชื่อเรียกของพระพุทธลักษณะบรรทมตะแคงเบื้องขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย (หมอน) พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ข้างพระเขนย พระบาทซ้ายทับซ้อนพระบาทขวา ส่วนของพระบาทจะมีลวดลายภาพศิลปะของภาพมงคล 108 ประการครับ


จริง ๆ แล้ววัดแหลมพ้อยังมีโบราณสถานที่น่าสนใจอีกหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถ หอระฆัง เจดีย์ แต่เนื่องจากแสงแดดที่แรงกล้าบวกกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว ผมจึงขอยกธงขาวยอมแพ้ ทำได้แค่ชื่นชมความงดงามของวัดแหลมพ้อแค่องค์พระนอนครับ
จากวัดแหลมพ้อ ผมขับรถขึ้นเขาเพื่อไปชมวิวของทะเลสาบสงขลามุมสูง ที่สำนักสงฆ์เขากุฏิ (พิกัด https://maps.app.goo.gl/XK6KYgZiUBx5KDQi8 ) สำนักสงฆ์แห่งนี้ตั้งอยู่บนยอดสูงสุดของเกาะยอเลยครับ ด้านบนเป็นที่ประดิษฐานของเจดีย์โบราณ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า “เขากุฏิ” นั่นเอง

องค์เจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังสีขาว ทุก ๆ ปีชาวเกาะยอจะจัดบุญประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฏิเพื่อห่มองค์เจดีย์ นับเป็นประเพณีดี ๆ ที่ชาวเกาะยอร่วมกันสืบสานมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันครับ


ด้วยที่เจดีย์โบราณตั้งอยู่บนยอดสูงสุดของเกาะยอ เวลาที่เรามองออกไปจะมองเห็นตึกรามบ้านช่องในตัวเมืองสงขลา เรียงรายไปบนแหลมที่ยื่นออกปิดกั้นทะเลไว้ ทำให้สงขลาเป็นเมืองสองทะเล คือมีอ่าวไทยเป็นทะเลนอก และทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลในครับ
จากเขากุฏิ ไปต่อกันที่พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา (พิกัด https://maps.app.goo.gl/Ei1cVKhWSZ1eWrEN9 ) ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน การเข้าชมที่นี่มีค่าเข้าชม ผู้ใหญ่คนละ 50 บาท ครับ
พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ศิลปหัตถกรรม ตลอดจนประวัติศาสตร์ โบราณคดี อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ โดยมีการใช้วัตถุของจริงร่วม 50,000 ชิ้นเลยครับ


ภายในพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยามีพื้นที่ค่อนข้างกว้าง แถมยังมีอาคารจัดแสดงหลายจุดเลยทีเดียว เช่น อาคารนวมภูมินทร์ อาคารกลุ่มบ้านหลังคาบลานอ อาคารกลุ่มบ้านหลังคาปั้นหยา อาคารกลุ่มบ้านหลังคาจั่ว ลานบนอาคารนวมภูมินทร์ โดยแต่ละอาคารก็จะมีการจัดแสดงที่แตกต่างกันออกไปครับ
เนื่องจากผมมีเวลาน้อย เลยเลือกเข้าชมเพียงอาคารเดียว คือ อาคารนวมภูมินทร์ครับ






ภายในอาคารนวมภูมินทร์ จัดแสดงข้อมูลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมากมาย เช่นโบราณวัตถุที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น รวมถึงโบราณวัตถุที่แสดงว่ามีการติดต่อระหว่างคนพื้นเมืองภาคใต้กับกลุ่มชนภายนอก เช่น จีน อินเดีย มลายู อาหรับ และกลุ่มประเทศทางตะวันตก ครับ
สิ่งที่น่าสนใจ ไม่ได้มีเพียงอาคารพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ เท่านั้น แต่วิวที่เรามองออกไปด้านนอกนี่ซิ มันสวยงามจริง ๆ ครับ
จุดแรก มองออกไปเห็นสะพานติณสูลานนท์ สะพานคอนกรีตที่ยาวที่สุดในประเทศไทย โดยเชื่อมเกาะยอ 2 ด้าน ระหว่างอำเภอเมืองสงขลา และอำเภอสิงหนคร โดยสะพานแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก 940 เมตร และช่วงที่สอง 1,700 เมตร รวมเป็น 2,640 เมตร สะพานแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครับ




ต้องบอกเลยว่าสะพานแห่งนี้มีประโยชน์มาก เพราะช่วยเชื่อมต่อระหว่างตัวอำเภอสิงหนครและอำเภอเมืองสงขลาให้ไปมาหาสู่กันสะดวกมากยิ่งขึ้น ก่อนหน้าที่จะมีสะพาน การเดินทางจากอำเภอสิงหนครไปยังเมืองสงขลา เส้นทางที่ใกล้สุดคือการนำรถขึ้นบนแพขนานยนต์ ถึงแม้จะใช้เวลาอยู่บนแพขนานยนต์ไม่นาน แต่ถ้าหากช่วงเวลาใดมีผู้คนสัญจรมาก ก็จะเสียเวลาในการต่อคิวเพื่อขึ้นแพขนานยนต์เป็นเวลานาน สำหรับรถใหญ่ เช่นรถบัสโดยสาร รถบรรทุกใหญ่ จะไม่สามารถใช้บริการแพขนานยนต์ได้ จึงจำเป็นต้องใช้เส้นทางอื่นที่ไกลมาก ทำให้เสียเวลาในการเดินทางครับ
จุดที่สอง เราจะมองเห็นวิถีชีวิตของชาวเกาะยอ ซึ่งประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก มีทั้งการออกเรือไปจับปลา จับกุ้งตามธรรมชาติในทะเลสาบสงขลา รวมถึงการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง เป็นอีกหนึ่งวิถีชีวิตที่หาดูได้ยากแล้วครับ





ยามที่แสงอาทิตย์ย้อนแสงมา ทำให้ผิวน้ำดูระยิบระยับเหมือนมีคนเอากากเพชรไปโรยไว้ในทะเลสาบสงขลา ภาพกระชังปลาที่มองออกไป สวยงามราวดังกับภาพวาดเลยครับ
เที่ยววัดมาเยอะแล้ว ขอเบรกไปเดินเล่นหามุมเก๋ ๆ ถ่ายรูป หาร้านอาหารอร่อย ๆ ทานบ้างดีกว่า ผมเลือกปักพิกัดที่ย่านเมืองเก่าสงขลาครับ (พิกัด https://maps.app.goo.gl/D9xs3Tf8JWrZaNCV8 ) ย่านเมืองเก่านี้มีประวัติความเป็นมาและมีอายุยืนยาวกว่า 200 ปี โดยมีถนนที่สำคัญ 3 สาย คือ ถนนนครนอก เป็นถนนที่ติดกับฝั่งทะเลสาบ ว่ากันว่าในอดีตบริเวณนี้เป็นท่าเทียบเรือเพื่อการค้าขายและขนส่งสินค้าจากต่างประเทศ ถนนนครใน เป็นถนนที่อยู่ตรงกลางระหว่างถนนนครนอกและถนนนางงาม และถนนนางงาม เดิมชื่อถนนเก้าห้อง หรือเรียกว่าย่านเก้าห้อง ถนนเส้นนี้เกิดจากการตัดถนนเพื่อเป็นเส้นทางในการประกอบพิธีสมโภชเสาหลักเมือง ซึ่งตลอดสองฝั่งฟากถนนทั้ง 3 สาย เราจะได้พบกับบ้านเรือนที่ก่อสร้างตามสถาปัตยกรรมผสมผสานกันระหว่างตึกแถวแบบจีนดั้งเดิม ตึกแถวแบบจีนพาณิชย์ ตึกแถวแบบจีนสมัยใหม่ และตึกแถวแบบสงขลาดั้งเดิม ที่เรียกว่า ชิโน-ยูโรเปียนครับ



ไฮไลต์ของถนนนครนอกคือโรงสีแดง “หับ โห้ หิ้น” เป็นอาคารโรงสีข้าวที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำขนาดใหญ่ ที่ถูกทาด้วยสีแดงสดใส มีปล่องไฟสูง 34 เมตร ตั้งอยู่ตรงเกือบสุดถนนนครนอก เริ่มดำเนินกิจการในปี พ.ศ.2470 เป็นยุคที่การค้าข้าวในลุ่มทะเลสาบสงขลารุ่งเรืองที่สุด ในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา โรงสีแดงแห่งนี้ถูกยึดเป็นคลังเก็บเวชภัณฑ์และศูนย์บัญชาการตลอดช่วงสงคราม หลังสงครามยุติลง โรงสีได้ปรับปรุงเป็นท่าเทียบเรือระหว่างสงขลากับระโนด และแปรสภาพเป็นโกดังเก็บยางพารา ท่าเทียบเรือขนาดเล็ก และท่าโม่น้ำแข็ง ก่อนเลิกกิจการไป คำว่า “หับ โห้ หิ้น” มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลว่า “สามัคคี กลมเกลียว เจริญรุ่งเรือง” ปัจจุบันด้านในหับ โห้ หิ้น จัดพื้นที่เป็นนิทรรศการขนาดเล็ก ย้อนตำนานตั้งแต่ยุคซิงกอราสงขลาเขาแดง ยุคสงขลาแหลมสน ทะเลสาบสงขลา รวมทั้งความเป็นมาของโรงสีแดง ส่วนด้านหลังโรงสีแดงเป็นท่าเทียบเรือประมงขนาดเล็ก ที่สามารถมองเห็นบรรยากาศของทะเลสาบสงขลาครับ


บ้านนครใน ตั้งอยู่บนถนนนครใน จะเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการอนุรักษ์ เสริมสร้างคุณค่า บ้านนครในเป็นบ้านไม้จีนแบบโบราณ และบ้านตึกสีขาว ภายในจะเป็นการจัดแสดงของเก่าให้นักท่องเที่ยวได้ชมกันแบบฟรี ๆ ครับ









ถนนอีกสายคือถนนนางงาม มีสถานที่สำคัญคือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา ศาลเจ้าพ่อกวนอู ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้าน คู่เมืองของชาวสงขลา และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยเชื้อสายจีนครับ



ผมมาฝากท้องที่ร้านข้าวสตู เกียดฟั่ง เจ้าแรกต้นตำรับในสงขลา บอกเลยว่าลูกค้าเยอะมาก ทั้งคนไทยและคนมาเลเซีย ร้านตั้งอยู่ใกล้ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เปิดบริการมาตั้งแต่ พ.ศ.2480 ครับ

ร้านเปิดขายตั้งแต่ 07.00 – 13.00 น. แต่ถ้าวันไหนของหมด ก็จะปิดก่อนเวลาครับ มาร้านสตู ก็ต้องสั่งหมูสตู ทานคู่กับข้าวหมูแดงครับ

อีกหนึ่งสิ่งที่อยากให้ลอง เพราะเตะตาตั้งแต่เดินเข้ามาในร้านแล้ว กับซาลาเปาลูกใหญ่เบิ้ม ที่มีทั้งไส้หมูสับ ไส้หวาน ไส้งาดำ


จบของคาว ไปต่อที่ของหวาน ผมเลือกชิมไอติมถั่วเขียวโบราณที่ร้านบันหลีเฮง เมนูไอติมมีให้เลือกหลากหลาย แต่อยากบอกเลยว่า เมนูไอติมถั่วเขียว กลิ่นถั่วเขียวมาแบบเต็มๆ อร่อยมากครับ


ลองไอติมถั่วเขียวมาแล้ว ขอลองชิมไอติมโอ่งดูบ้าง พอดีเห็นคนแน่นร้าน นอกจากไอติมแล้ว ร้านยังมีขายลูกชิ้นทอดด้วย ผมสั่งไอติมทรงเครื่องใส่ไข่ครับ

ตรงข้ามกับร้านไอติมโอ่ง มีร้านรถเข็น ติดป้ายกะลอจี๊ เลยไม่รอช้า สั่งมาชิมสักกระทงครับ กะลอจี๊เป็นขนมสัญชาติจีน ทำจากแป้งข้าวเหนียวกวนกับน้ำ แล้วนำไปนึ่งให้สุก จากนั้นจะนำมาทอดน้ำมันจนกรอบ นำมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วคลุกด้วยงาและน้ำตาลครับ

บนถนนนางงาม มีร้านขายขนมไทยหลายร้านเลย แต่ที่เตะตา เห็นจะเป็นร้านบ้านขนมไทย สอง-แสน ร้านใหญ่โต ติดแอร์ ตกแต่งสวยงาม มีขนมไทยให้เลือกมากมาย ทำกันใหม่ๆ เหมาะกับการซื้อทานและซื้อเป็นของฝากเพราะรูปลักษณ์ของขนมและแพคเกจดูสวยงาม นอกจากขนมไทยแล้ว ยังมีเครื่องดื่มเย็นๆ ไว้ให้บริการด้วย ผมมานั่งพักเอาแรงอยู่ในร้านอยู่นานพอสมควรครับ




ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม ล้วนมีเอกลักษณ์ทางด้านสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย ทำให้ย่านเมืองเก่าสงขลาแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ได้เป็นอย่างดี โดยมีการเล่าเรื่องราวผ่านภาพเขียนสีตามฝาผนังของอาคารและบ้านเรือน เพื่อสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรม การดำเนินชีวิตของคนในท้องถิ่นครับ











จากอำเภอเมือง ไปต่อที่อำเภอหาดใหญ่ ขอเริ่มที่มัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลาครับ (พิกัด https://maps.app.goo.gl/mRNgZsAYek6cz8gP7 )
มัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา หรือ มัสยิดกลางดิย์นุลอิสลาม เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดสงขลา เป็นมัสยิดที่ดูสวยงามมากครับ ด้านหน้ามีสระน้ำที่ทอดตัวยาวกว่า 200 เมตร โครงสร้างของอาคารมีขนาดใหญ่ตามสถาปัตยกรรมแบบอิสลาม ภายในตกแต่งด้วยความพิถีพิถัน ทางเดินปูด้วยหินอ่อนทุกตารางนิ้ว ผมไปถึงตอนบ่ายแล้ว ด้านนอกอากาศร้อนมาก ๆ แต่เมื่อได้ก้าวเข้ามาด้านในมัสยิด ให้ความรู้สึกถึงความเย็น ความสงบ จนไม่อยากไปไหนต่อเลยครับ





ช่วงเย็น ๆ ที่นี่จะสวยงามเป็นพิเศษ ยิ่งในวันที่ฟ้าเปิด พระอาทิตย์จะตกด้านหลังมัสยิด แสงสีต่าง ๆ จะแข่งกันอวดโฉม ได้เห็นเงาสะท้อนน้ำของมัสยิด จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมที่นี่จึงได้รับฉายาว่าทัชมาฮาลเมืองไทยครับ
ส่วนใหญ่เราจะเห็นตลาดน้ำในแถบภาคกลางใช่ไหมครับ แต่อยากจะบอกว่าที่สงขลาก็มีตลาดน้ำด้วยนะครับ และอยู่ไม่ไกลจากมัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลาด้วย ถ้าหากใครมาเที่ยวสงขลาในวันศุกร์-อาทิตย์ ลองมาเที่ยวตลาดน้ำคลองแห (พิกัด https://maps.app.goo.gl/vc4Pb1tpNqjWcNqo6 )ซึ่งเป็นตลาดน้ำเชิงวัฒนธรรมแห่งแรกของภาคใต้ ที่มีการผสมผสานระหว่างตลาดน้ำ โดยจำหน่ายสินค้าในเรือ และตลาดโบราณ ที่จำหน่ายสินค้าบนบก สินค้าที่นำมาจำหน่ายมีทั้งอาหารพื้นบ้านคาว-หวาน รวมถึงสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นและผลผลิตทางการเกษตรของคนในพื้นที่ มีให้เลือกมากมายเลยครับ หลายเมนูผมก็เพิ่งจะเคยเห็นที่นี่ อย่างเต้าคั่ว ก๋วยจั๊บพลก ขนมมด ขนมด้วง ขนมโค ขนมปำ ขนมต้มย่าง ขนมบอก น้ำมะเน็ต แต่ที่โดนใจผมมากๆ ขอยกให้ไข่ปลาทะเลน้อยทอดครับ ใครอยากรู้ว่าอร่อยยังไง ไปลองหาชิมที่ตลาดน้ำคลองแหดูนะครับ





ตลาดน้ำคลองแหเปิดทุกวันศุกร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 13.00 – 21.00 น. ตลาดน้ำแห่งนี้เป็นที่นิยมของชาวจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงชาวมาเลเซียเป็นอย่างมาก วันที่ผมไปเที่ยว ผู้คนล้นหลามเลยทีเดียว ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวที่ข้ามมาจากมาเลเซียที่มาเที่ยวกันนับสิบรถบัสเลยทีเดียว
ไปชมวิวเมืองหาดใหญ่มุมสูงบนยอดเขาคอหงส์กันครับ (พิกัด https://maps.app.goo.gl/GDPQDT9fb24WHYnp9 )
เขาคอหงส์เป็นผืนป่าของหาดใหญ่ ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ ที่ดัดแปลงพื้นที่จากภูเขาทั้งลูกให้เป็นสวนสาธารณะ มีเนื้อที่กว่า 900 ไร่ บนเขาคอหงส์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมงคลมหาราช พระพุทธรูปปางห้ามญาติที่มีความสูงถึง 19.90 เมตร เป็นพระพุทธรูปประจำเมืองหาดใหญ่ ที่ตั้งโดดเด่นอยู่บนเขาคอหงส์ครับ

และตรงจุดที่ประดิษฐานพระพุทธมงคลมหาราช ยังเป็นจุดชมวิวตัวเมืองหาดใหญ่มุมสูงที่สวยมาก ๆ ครับ มองไปได้ไกลสุดลูกหูลูกตาเลย รวมถึงมองเห็นมัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลาด้วยครับ



อีกหนึ่งจุดที่อยากให้แวะสักการะ คือพระโพธิสัตว์กวนอิมเขาคอหงส์ ซึ่งเป็นรูปสลักปางประทานพร สูง 9.9 เมตร แกะสลักจากหินหยกขาว จำนวน 8 ท่อน โดยช่างชาวจีนครับ


จากเขาคอหงส์ ไปต่อที่วัดฉื่อฉาง (พิกัด https://maps.app.goo.gl/zg8goQteTEUNi2sS6 ) วัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย เป็นวัดในศาสนาพุทธนิกายมหายาน ก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ.2479 สร้างโดยชาวจีนที่เข้ามาทำการค้าขายในเมืองหาดใหญ่ ก่อนหน้านั้นเป็นเพียงศาลเจ้าเล็ก ๆ มาก่อน โดยมีองค์เทพหลื่อโจ้ว ทำให้คนทั่วไปเรียกที่นี่ว่า ศาลเจ้าหลื่อโจ้ว ต่อมาในปี พ.ศ.2480 ได้ทำการมอบถวายศาลเจ้าแห่งนี้ให้แก่พระภิกษุจีนที่เดินทางมาจากประเทศจีน เพื่อทำการยกฐานะจากศาลเจ้าเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ต่อมาจึงได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดจีนแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ จนเมื่อปี พ.ศ.2531 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเมืองหาดใหญ่ ทางวัดเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก จนไม่สามารถซ่อมแซมได้ จึงได้ทำการรื้อวิหารหลังเก่าและสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นมาตั้งแต่บัดนั้น ตัววัดเป็นอาคารขนาดใหญ่ 4 ชั้น โดยเป็นการออกแบบศิลปะร่วมกันไม่ว่าจะเป็นไทย จีน และธิเบต ตัวอาคารตกแต่งด้วยกระเบื้องทั้งหลัง ทั้งข้างนอกและข้างใน ซุ้มประตู กำแพง โดยที่กำแพงจะเป็นภาพเล่าเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญของหาดใหญ่ เช่นเหตุการณ์น้ำท่วม หรือสถานที่ที่เขารื้อไปแล้ว อย่างโรงภาพยนตร์ ที่ว่าการหลังเก่า ทำให้ใครผ่านไปผ่านมาต้องสะดุดกับความสวยงามแปลกตาของวัดแห่งนี้



ภายในตัววิหารชั้นที่หนึ่งมีทั้งองค์พระพุทธรูป และองค์เทพต่าง ๆ มากมาย มีพระประธานคือองค์หลื่อโจ้ว และจะมีองค์เทพไฉ่ซิงเอี๊ย กวนอู และด้านข้างมีพระโพธิสัตว์กวนอิมพันกร พระกษิติครรภโพธิสัตว์ครับ





วัดฉื่อฉาง อยู่ใกล้ตลาดกิมหยง ใครช้อปปิ้งของฝากเสร็จแล้ว สามารถแวะมาสักการะขอพรองค์พระพุทธรูป รวมถึงองค์เทพต่าง ๆ ได้ โดยทางวัดจะเปิดให้สักการะทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 07.00-18.00 น. ครับ
ผมขอปิดท้ายที่วัดมหัตตมังคลาราม (พิกัด https://maps.app.goo.gl/Z4FwDcR6sKnUTtREA ) หรือที่ชาวหาดใหญ่รู้จักกันดีในชื่อ วัดหาดใหญ่ใน สิ่งที่ดึงดูดให้ผมมาที่วัดหาดใหญ่ใน คือพระพุทธมหัตตมงคล หรือพระนอน ซึ่งมีความยาวถึง 35 เมตร สูง 15 เมตร มีการเคลมว่าองค์พระนอนองค์นี้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมีสถาปัตยกรรมและศิลปะอันงดงาม เด่นสง่า เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวหาดใหญ่เป็นอย่างมาก องค์พระนอนสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2515 ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารขนาดใหญ่ครับ



หวังว่ารีวิวนี้จะเปิดมุมมองใหม่ในการท่องเที่ยวสงขลาของเพื่อนๆ ไม่มากก็น้อยนะครับ การมาเที่ยวสงขลาครั้งนี้ของผม ต้องบอกเลยว่าร้อยละ 90 ของสถานที่ที่ผมไป เป็นสถานที่ที่ผมยังไม่เคยไปมาก่อน รู้สึกทึ่ง อึ้ง และประทับใจในหลายๆ แห่ง และถ้าหากเพื่อนๆ ได้ตามรอยรีวิวนี้แล้ว ผมคิดว่าเพื่อนๆ คงจะได้รับความประทับใจเหมือนกับผมเช่นกัน มาเที่ยวสงขลาแล้ว อย่าลืมส่งแรงใจให้สงขลาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมกันด้วยนะครับ
ลุงเสื้อเขียว
วันพฤหัสที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เวลา 09.56 น.