ในเมื่อตั้งประจันหน้าอย่างท้าทายกันขนาดนี้ หลังจากชมความอลังการของมัสยิดสุลต่านอาห์เมต เราก็ไม่รอช้าที่จะเดินข้ามถนนไปฝั่งตรงข้ามเพื่อชมความวิจิตรของวิหารเซนต์โซเฟียกันต่อ

0bor3y2a3cku

หากมัสยิดสุลต่านอาห์เมตคือสัญลักษณ์แห่งความเกรียงไกรแห่งอาณาจักรออตโตมัน วิหารเซนต์โซเฟียที่ตั้งประจันหน้าอยู่ในขณะนี้ก็คือ สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรไบแซนไทน์ และเป็นจุดเริ่มต้นของความท้าทายที่ทำให้สุลต่านหลายพระองค์แห่งอาณาจักรออตโตมันอยากจะโค่นล้มความยิ่งใหญ่นี้ลงให้จงได้

cy48nviogfbm

ย้อนเข็มนาฬิกากลับไปยังคริสต์ศตวรรษที่ 6 จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรไบแซนไทน์ได้สร้างวิหารแห่งนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็นจุดศูนย์กลางแห่งคริสตจักร นิกายออร์โธดอกซ์ แต่เพียงไม่นานก็ถูกทำลายจากไฟสงคราม ต่อมาในสมัยจักรพรรดิจัสติเนียน ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรไบแซนไทน์เจริญถึงขีดสุด ได้มีการบูรณะวิหารเซนต์โซเฟียขึ้นใหม่ การบูรณะครั้งนี้ได้ระดมช่างฝีมือระดับแนวหน้า และเลือกใช้วัสดุก่อสร้างชั้นดีมาจากทั้งในและนอกอาณาจักร ทำให้วิหารเซนต์โซเฟีย ฟื้นกลับขึ้นมาใหม่ แถมยังยิ่งใหญ่และสวยงามมากขึ้นกว่าเดิม จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลาง

m2grxpusqny3

แม้อดีตวิหารแห่งนี้จะถูกสร้างขึ้นเพื่อศาสนาคริสต์ แต่หลังจากจักรพรรดิจัสติเนียนสวรรคต อาณาจักรไบแซนไทน์ก็เริ่มเสื่อมอำนาจลงตามลำดับ ประกอบกับเกิดสงครามครูเสด ซึ่งเป็นสงครามระหว่างศาสนาคริสต์กับศาสนาอิสลาม รวมถึงการทำสงครามระหว่างศาสนาคริสต์ด้วยกันเอง แต่คนละนิกาย ทำให้อิสตันบูลหรือกรุงคอนสแตนติโนเปิลในอดีตได้รับความบอบช้ำเป็นอันมาก จนสุดท้ายแล้วในปลายเดือนพฤษภาคม ปีค.ศ.1453 จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 11 ได้นำทหารเข้าไปสวดมนต์ในวิหารเซนต์โซเฟีย โดยไม่มีใครรู้ล่วงหน้าเลยว่า นั้นเป็นครั้งสุดท้ายที่วิหารแห่งนี้ถูกใช้ประกอบศาสนกิจของศาสนาคริสต์ เพราะเช้าวันรุ่งขึ้น กองทัพเติร์กก็ยกทัพบุกยึดกรุงคอนสแตนติโนเปิลอย่างเฉียบขาด แบบไม่ให้ชาวไบแซนไทน์ได้ทันตั้งตัว 

5j2klh2clrot

ผลจากเหตุการณ์ครั้งนั้น นอกจากอาณาจักรไบแซนไทน์จะสูญสิ้นแล้ว กรุงคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งตามชื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินผู้ก่อตั้งอาณาจักรไบแซนไทน์ ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น อิสลามบูล อันหมายถึง นครแห่งศาสนาอิสลาม พร้อมกับวิหารเซนต์โซเฟียก็ถูกดัดแปลงจากที่เคยเป็นวิหารแห่งศาสนาคริสต์เป็นเวลายาวนานกว่า 900 ปี ให้กลายเป็นมัสยิดแห่งศาสนาอิสลาม พร้อมเปลี่ยนชื่อจากเซนต์โซเฟีย เป็นอยา โซเฟีย (Aya Sofya) แต่แล้วเมื่ออาณาจักรออตโตมันล้มสลายลง เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างศาสนา อยา โซเฟียจึงถูกเปลี่ยนสถานะอีกครั้ง โดยกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดต้อนรับนักเดินทางจากทุกศาสนาทั่วทุกมุมโลก

idqa71wgpoue

แรกเห็นวิหารเซนต์โซเฟีย สิ่งที่ผมรู้สึกนั้นไม่ใช่ความทึ่งในความใหญ่โตของวิหารแห่งนี้ แต่กลับเป็นความรู้สึกงุนงงกับสถาปัตยกรรมในการสร้าง เพราะรูปลักษณ์ภายนอกของวิหารเซนต์โซเฟียที่เห็นนั้น แทบไม่ต่างจากมัสยิดสุลต่านอาห์เมต ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมการสร้างมัสยิดในปัจจุบันสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะหลังคารูปโดมที่ตั้งเด่นกลางวิหารนั้น เหมือนกับหลังคารูปโดมของมัสยิดเป็นยิ่งนัก สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะครั้งหนึ่งวิหารแห่งนี้เคยถูกแปรสภาพเป็นมัสยิด หากเพราะช่วงแรกๆที่ชาวเติร์กยึดไบแซนไทน์ได้ ไม่ใช่เฉพาะวิหารเซนต์โซเฟีย แต่เหล่าวิหารต่างๆก็ถูกแปลงสภาพเป็นมัสยิด จนทำให้ภายหลังการสร้างมัสยิดก็จะสร้างด้วยสถาปัตยกรรมการสร้างวิหาร อันเป็นศิลปะแบบไบแซนไทน์ขนานแท้ นั่นจึงเป็นความสัจจริงของโลกใบนี้ ที่ผู้แพ้สงคราม มักเป็นผู้ชนะในศิลปวัฒนธรรมเสมอมา

vsmfy5i8jrcx
1xga7ucolpc8

มองจากภายนอกแล้ววิหารเซนต์โซเฟียสร้างด้วยการฉาบปูนสีส้มไว้อย่างเรียบง่าย จนน่าประหลาดใจว่าเหตุใดสิ่งก่อสร้างนี้จึงได้รับยกย่องให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลาง แต่เมื่อเข้าสู่ภายใน สิ่งที่สายตาประจักษ์นั้นแตกต่างจากภายนอกจนเหมือนเป็นคนละที่ เพราะโครงสร้างภายในนั้นสร้างจากหินอ่อนเนื้อดี ที่บรรจงสลักเสลาลวดลายไว้อย่างงดงาม พร้อมประดับด้วยกระจกสีที่สะท้อนความงดงามยามแสงแดดส่องกระทบ อีกทั้งยังเสริมส่งความงามด้วยโคมไฟที่ห้อยระย้ามาจากเพดานเบื้องบน และเมื่อเข้าไปสู่ใจกลางวิหารที่หลังคาทำเป็นรูปโดมซ้อนกันหลายชั้น ก็ยิ่งให้ความรู้สึกถึงความอลังการในงานสถาปัตยกรรมขั้นเทพ เพราะโถงกลางที่กว้างใหญ่นี้ ไม่มีเสาค้ำยันเลยสักต้น เพราะใช้เทคนิคให้ผนังของวิหารเป็นตัวรับน้ำหนักของหลังคารูปโดมขนาดใหญ่หลายต่อหลายโดม ซึ่งถือว่าเป็นเทคนิคการก่อสร้างที่ล้ำยุคมากเมื่อกว่าพันปีก่อน จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้วิหารแห่งนี้ถูกยกย่องและจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลาง

e8wwatq2ft0x

แล้วความยิ่งใหญ่ตระการตาก็ทำให้เราแต่ละคนพลัดหลงกัน หลังจากชมความงดงามจนทั่วทุกมุมแล้ว ผมก็เตรียมที่จะออกจากวิหาร ทำให้เกือบพลาดที่จะได้ชมของดี ดีที่เหลือบไปเห็นว่าที่ประตูทางเข้ามีรูปถ่ายของจิตรกรรมฝาผนังปรากฏอยู่ ทำให้รู้ว่า นอกจากความยิ่งใหญ่ของการก่อสร้างแล้ว วิหารแห่งนี้ยังมีดีที่งานจิตรกรรมฝาผนังที่สร้างด้วยโมเสก จึงกลับเข้าไปในวิหารใหม่ เพื่อตามหาภาพจิตรกรรมเหล่านั้น

7pmxchtmbpav

ที่มุมด้านข้างของวิหารชั้นล่าง มีทางเดินแคบๆที่พาขึ้นสู่ระเบียงชั้น 2 ฝาผนังของระเบียงนี้เองที่มีงานศิลปะล้ำค่าซ่อนอยู่ โดยในช่วงที่วิหารแห่งนี้ถูกยึดครองโดยชาวเติร์กและถูกดัดแปลงให้เป็นมัสยิดนั้น บรรดาภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สร้างจากโมเสกเพื่อสื่อเรื่องราวของศาสนาคริสต์ โดยส่วนใหญ่เป็นภาพของพระเยซูคริสต์และสาวก ได้ถูกปูนโบกทับไว้เพื่อลบภาพการเป็นโบสถ์ในศาสนาคริสต์ ซึ่งจุดนี้เองที่ชาวโลกยุคปัจจุบันต้องขอบคุณชาวเติร์กในอดีต เพราะแม้จะต่างศาสนา ต่างความเชื่อความศรัทธา แต่ชาวเติร์กก็ไม่คิดที่จะทำลายงานศิลปะที่ล้ำค่านี้ลงเสีย

ewygasyqb91p

ไม่มีสิ่งใดปิดความจริงได้ฉันใด ความงดงามที่ถูกปกปิดไว้ก็ถึงเวลาถูกเปิดเผยฉันนั้น แล้วก็ถึงเวลาที่งานศิลป์อันล้ำค่าของยุคไบแซนไทน์จะอวดโฉมอีกครั้ง เพราะในระหว่างการบูรณะวิหารเซนต์โซเฟียในปีค.ศ.1847 ภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านั้นก็ถูกค้นพบโดยบังเอิญ แม้ว่าภาพส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นภาพนักบุญจะไม่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์นัก แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงวิทยาการของงานศิลป์ในยุคอดีตได้อย่างดี แต่สำหรับภาพพระแม่มาเรียทรงอุ้มพระเยซูในขณะเป็นทารกที่ปรากฏบนผนังโดมด้านบนสุดนั้น อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อย่างน่าประหลาดใจ และนั่นคืออีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วิหารแห่งนี้ไม่ใช่เป็นแค่เพชรเม็ดงามแห่งยุคไบแซนไทน์ หากแต่ยังดำรงฐานะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลาง ที่เดินทางผ่านกาลเวลาสู่โลกยุคปัจจุบันได้อย่างเต็มภาคภูมิ

p01rfarn7wda
Weerasak Thiantanawat

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2567 เวลา 08.36 น.

ความคิดเห็น