86jmr5yey1ie

โครงการหลวง (Royal Project Shop) สถานที่จำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่มาจากเกษตรกรที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่สูงของจังหวัดต่างๆมากกว่า 25,000 ครัวเรือน เช่น ผัก ผลไม้ ดอกไม้ประดับ สมุนไพร ชา กาแฟอราบิก้า เห็ด พืชไร่ชนิดต่างๆ และผลิตภัณฑ์แปรรูป รวมถึงสินค้าหัตถกรรมที่เกิดจากฝีมือของแม่บ้านชาวเขาชนเผ่าต่างๆในโครงการหลวง

nsaafgr8o66q

ร้านที่เปรียบเสมือนซุปเปอร์มาเก็ตขนาดย่อมที่ใครหลายคนต่างคุ้นเคยและเชื่อมั่นในคุณภาพ ความสด สะอาด และปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรชาวเขามีรายได้ที่มั่นคงและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

fvcbagaqlxr8

ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของโครงการหลวงที่ช่วยแนะนำ ส่งเสริม และพัฒนามาตรฐานคุณภาพอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การผลิตจากบนดอยจนถึงการเป็นช่องทางจัดจำหน่ายผลผลิต ทั้งหมดนี้คือข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับร้านโครงการหลวงที่หลายคนอาจจะพอทราบดี แต่ที่มาและเหตุผลหลักของการก่อตั้งร้านโครงการหลวงแห่งนี้ยังมีน้อยคนนักที่จะทราบ เราเองก็เช่นกัน

re8eejsh8v1z

จุดเริ่มต้นของโครงการหลวงนั้นมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ผลผลิตเหล่านี้มาจากไหน มันดีต่อใจและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวเขาแค่ไหน เราจะพาออกเดินทางไปค้นหาคำตอบเหล่านั้น ออกเดินทางตามรอยพ่อหลวง

0imefwyaz65n

โดยจุดหมายปลายทางในการออกเดินทางตามรอยพ่อหลวงในครั้งนี้ เราเลือกเดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดที่เป็นที่ตั้งของโครงการหลวงแห่งแรก ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง

uq6vki48jqe3

สถาพอากาศที่เชียงใหม่ในวันนั้นมีเมฆฝนปกคลุมอยู่ทั่วพื้นที่และมีฝนโปร่ยปรายลงมาเป็นระยะ ประกอบกับมีลมหนาวของเดือนธันวาพัดผ่านมา ทำให้ตลอดการเดินทางรู้สึกหนาวและชื้นมาก

a9kyl3mp0mo3

หลังจากลงจากเครื่องและรับกระเป๋าเรียบร้อยแล้ว จึงเดินไปที่เคาร์เตอร์บริการรถเช่าของบริษัท Avis Rent A Car ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดรับกระเป๋าและประตูทางออก โดยสามารถจองล่วงหน้าและจ่ายค่าเช่าทันทีหรือจะจ่ายในวันเดินทางก็ได้เช่นกัน แต่แนะนำให้จ่ายก่อนเพราะราคาจะถูกกว่า

gy4tw02ofo5i

จากนั้นก็เพียงแค่แจ้งชื่อและยื่นใบขับขี่พร้อมด้วยบัตรเครดิต ให้พนักงานตรวจสอบและล็อกวงเงินในบัตรเครติด เพื่อเป็นการประกันการเช่ารถ โดยจะคืนวงเงินให้หลังคืนรถประมาณ 15 วัน เสร็จแล้วก็ถือเอกสารเดินออกมารอรับรถที่ลาดจอดรถใกล้กับประตูทางออก

p2y2ux4ztq6v

เนื่องจากทริปนี้เราจองกระชั้นชิดไปหน่อยเลยเหลือแค่รถกระบะ แต่ก็ไม่ใช้ปัญหาเพราะคันนี้เครื่องแรงขับขึ้นเขาสบายมาก

llpnufnux0gt

เมื่อพร้อมแล้วจึงเริ่มออกเดินทาง โดยมีจุดหมายแรกคือการแวะทานข้าวกลางวันที่ร้านเสน่ห์ดอยหลวง ร้านอาหารที่ตั้งอยู่ริมถนนเส้นเลี่ยงเมือง อ.เชียงดาว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ช.ม 30 นาที หากมาร้านนี้ในช่วงที่ท้องฟ้าเปิดจะสามารถเห็นวิวของดอยหลวงเชียงดาว

uic9n25ak3nb

ทานเสร็จก็ออกเดินทางต่อท่ามกลางสายฝนที่โปร่ยปราย จากอ.เชียงดาวสามารถเดินทางต่อไปยังดอยอ่างขางได้ 2 เส้นทาง โดยเส้นทางแรก (เส้นสีเทา) คือ อ.เชียงดาว - อ.ฝาง ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร มีเส้นทางขึ้นเขาช่วงสุดท้ายประมาณ 5 กิโลเมตรที่ค่อนข้างชันถึงชันมาก ไม่เหมาะกับคนที่ขับรถไม่แข็งและไม่ชำนาญเส้นทาง โดยเฉพาะใช้ช่วงที่ฝนตกหรือมีหมอกหนา

22jv072ceu3h

เส้นทางที่ 2 (เส้นสีฟ้า) คือ อ.เชียงดาว - บ้านอรุโณทัย ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร เส้นทางนี้ไม่ชันแต่โค้งค่อนข้างเยอะ สำหรับเราเลือกเส้นทางที่สองเพราะเส้นทางนี้ขับง่ายและวิวสองข้างทางก็สวยมาก

qpc6six7ax0d

ประมาณช่วง 20 กิโลเมตรสุดท้ายจะเป็นทางขึ้นเขา ซึ่งวันนั้นหมอกลงหนามาก ยิ่งขึ้นสูงหมอกก็ยิ่งหนา บางช่วงสามารถมองเห็นทางข้างหน้าได้แค่ระยะประมาณ 3 เมตร ค่อนข้างอันตรายมาก ใช้ความเร็วได้แค่ประมาณ 20-40 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่านั้น

m849k16fkxlp

ปกติจากเชียงดาวมาอ่างขางใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง แต่วันนั้นเราใช้ไป 2 ชั่วโมงครึ่ง สุดท้ายก็มาถึงที่พักได้อย่างปลอดภัย

h9e7nq3eu44f

หลังจากเช็คอินเข้าที่พักและเก็บของเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราขับรถออกไปหาข้าวเย็นกินแถวหน้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขางซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พัก โดยเลือกร้านถิง ถิง โภชนา ที่มีเมนูแนะนำอย่างขาหมู หมั่นโถวยูนนาน

fub0sgx0dlzn

และเห็ดหอมอบซีอิ้ว

ga105i8a20r4

ตบท้ายด้วยนมสดร้อนๆ เพื่อเพิ่มอุณหภูมิในร่างกายก่อนเข้านอน

4pwigucbt30b

เช้าวันต่อมาเราตื่นประมาณตี 5 เพื่อขับออกมารอดูพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกที่จุดชมวิวม่อนสน แต่หมอกก็ยังคงฟุ้งกระจายไปทั่วเหมือนกับเมื่อวานตอนเย็น

pctibwae4a0n

เราจึงไปนั่งรอที่ร้านอาหารริมถนน โดยคาดหวังว่าหมอกสงบลงกว่านี้ ซึ่งอุณภูมิตอนนั้นประมาณสัก 15 องศา หนาวและชื้นมาก จึงไปนั่งผิงไฟอยู่ใกล้ๆเตาถ่านและสั่งนมร้อนมาดื่มรอ

ze5749kbe0eu

ผ่านไปเกือบ 1 ชั่วโมงก็ยังไม่มีท่าทีว่าหมอกจะสงบลงจนรู้สึกเริ่มถอดใจ จึงขับกลับลงมาเพื่อไปต่อยังไร่สตอเบอรี่บ้านนอแล

yzpqm7v2s0ms

เมื่อมาถึงหมอกยิ่งหนากว่าเดิม แถมลมก็แรงพัดละอองหมอกมาโดนจนตัวเปียก จึงขอเข้ามาหลบในบ้านของชาวบ้าน เจ้าของแปลงปลูกสตอเบอรี่ที่อยู่ใกล้ๆ

ueei8oe24s8d

ทุกคนในบ้านกำลังขะมักเขม้นกับการคัดเลือกสตอเบอรรี่ที่เหลือจากการส่งให้โครงการหลวงมาแพคใส่กล่องขายให้กับนักท่องเที่ยว

p13pljohbs0p

ทุกเช้าเด็กๆจะมาช่วยตาและยายเก็บสตอเบอรี่ส่งให้กับโครงการหลวง โดยสามารถเก็บผลผลิตได้ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ส่วนเดือนอื่นๆที่ไม่ได้ปลูกสตอเบอรรี่จะปลูกพืชตระกูลถั่วทดแทนเพื่อบำรุงดิน

fc1n4zx5btvk

แม่อุ้ยและป้ออุ้ยเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนพื้นที่แถวนี้ปลูกฝิ่นเพื่อส่งไปขายที่ประเทศจีน โดยมีพ่อค้าชาวจีนมารับซื้อถึงที่ ชาวบ้านจะถางป่าในช่วงฤดูแล้ง เพื่อเตรียมพื้นที่ในการปลูกฝิ่นช่วงฤดูฝน และเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูหนาว

5j3vqr8ey5h0

เมื่อต้นฝิ่นออกดอกก็จะใช้มีดกรีดให้น้ำยางไหลออกมา หนึ่งดอกจะได้น้ำยางเพียงแค่เล็กน้อย จากนั้นก็เก็บน้ำยางที่ได้รวมให้เป็นก้อนแล้วชั่งกิโลขาย ขายครั้งนึงก็ได้แค่ไม่กี่บาท บางครั้งผลผลิตไม่ดีก็แทบจะไม่ได้อะไรเลย ส่วนถ้ามีผลผลิตมากเกินไปผู้ชายในหมู่บ้านก็จะเอามาสูบจนติดกันงอมแงม แต่ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าจะปลูกอะไรทดแทนดีเพื่อให้มีรายได้

jfqknth3q2hw

"จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านผักไผ่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และได้เสด็จผ่านบริเวณดอยอ่างขาง ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าชาวเขาส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ทำการปลูกฝิ่นแต่ยังยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำลำธารที่เป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศน์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนอื่นของประเทศได้"

eyi2vvrvq74w

"จึงทรงมีพระราชดำริว่าพื้นที่นี้มีภูมิอากาศหนาวเย็น มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลยและสภาพพื้นที่ไม่ลาดชันนัก ประกอบกับพระองค์ทรงทราบว่าชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่ากับที่ได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง และทรงทราบว่าที่สถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทดลองวิธีติดตา ต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่จากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง"

l9rz3teue1gh

"จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยทรงแต่งตั้งให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งประธานมูลนิธิโครงการหลวง ใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอก เมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานนามว่า สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง"

dj1p8q1ky10o

หลังจากวันนั้นชาวบ้านก็เริ่มหันมาปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนการปลูกฝิ่น โดยในช่วงแรกที่ดินของแม่อุ้ยและป้ออุ้ยปลูกดอกกุหลาบส่งให้โครงการหลวง และเปลี่ยนมาปลูกสตอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80 ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภค

g02pyd7rkbmi

รายได้จากการจำหน่ายผลผลิตช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น มีชีวิตที่พอเพียง และได้รับโอกาสทางการศึกษาและการรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น จากผืนดินที่เต็มไปด้วยฝิ่นจึงค่อยๆถูกเปลี่ยนมาเป็นถิ่นเกษตรกรรม เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มิได้ทรงใช้พระราชอำนาจ แต่ทรงเปลี่ยนแปลงด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่มีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าอย่างเท่าเทียม

0z8r60tfowty

ระหว่างที่กำลังนั่งคุยอยู่กับแม่อุ้ยและป้ออุ้ย ก็หันไปเห็นน้องพงษ์ หรือ ด.ช.พงษ์ นายมัน เด็กชายวัย 12 ปี หลานชายของแม่อุ้ยและป้ออุ้ยกำลังนั่งดูรูปภาพบางอย่างที่แปะอยู่ในสมุดบันทึกเก่าๆเล่มหนึ่ง

ypg4yzbnlyz9

เราจึงขยับเข้าไปใกล้ๆและขอดูรูปภาพเหล่านั้น ซึ่งด้านในของสมุดเต็มไปด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและพระบรมวงศานุวงศ์ ที่น้องเริ่มเก็บสะสมมาตั้งแต่อายุ 9 ขวบ จนตอนนี้มีทั้งหมด 3 เล่ม เป็นสมุด 1 เล่ม และแฟ้มอีก 2 เล่ม เราจึงถามน้องไปว่าทำไมถึงชอบสะสมรูปภาพเหล่านี้

k34d2f6idg80

น้องบอกว่า รู้จักในหลวงมาตั้งแต่เริ่มจำความได้ เพราะตาของน้องผู้เคยรับเสร็จเมื่อครั้งอดีตเล่าให้ฟังถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อชาวบ้าน ทำให้น้องรู้สึกรักและประทับใจในพระองค์ท่าน และเริ่มสะสมพระบรมฉายาลักษณ์นับตั้งแต่นั้นมา เป็นอีกหนึ่งความประทับใจที่เราได้พบเจอในการเดินทางครั้งนี้

k77z5112w3sf

เราออกเดินทางต่อไปยังหมู่บ้านขอบด้งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากไร่สตอเบอรรี่ เพื่อตามหาบ้านของ "จะหมอ" อดีตผู้นำของชนเผ่าลาหู่นะ ผู้เคยรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

2djlzxc2e8f7

เราขับรถมาจอดที่โรงเรียนบ้านขอบด้ง ใกล้กับร้านเส้นศิลป์ ศูนย์หัตธกรรมชนเผ่าของนักเรียน ด้านในมีของฝากฝีมือนักเรียนให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่ทำมาจากหญ้าอิบุแค หญ้าศักสิทธิ์ของชนเผ่าลาหู่นะ

gt5nbo2nt72s

เราได้พบกับครูนัน ครูประจำโรงเรียนบ้านขอบด้ง ที่มาช่วยนักเรียนดูแลร้าน เราจึงสอบถามข้อมูลของบ้านจะหมอ จนได้ข้อมูลว่าจะหมอเพิ่งจะเสียชีวิตไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยครูจะพาเดินไปลงไปที่หมู่บ้าน เพื่อไปเยี่ยมบ้านของจะหมอ

red1s6ufr61e

บ้านหลังนี้เป็นหลังใหม่ที่ปลูกแทนหลังเก่าที่ถูกรื้อไปหลังจากจะหมอเสียชีวิต

vpu5fozqkke6

เราได้พบกับอุ้ยนาลอ เมียของจะหมอ และเคยรับเสด็จด้วยเช่นกัน

t0qeof9c4qec

ที่หน้าบ้านของอุ้ยมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งที่เสร็จมาเยี่ยมราษฎรหมู่บ้านขอบด้งในปี พ.ศ 2512 และรูปของจะหมอแขวนอยู่

57fxnwrl7yhe

คุณครูบอกว่าก่อนหน้าปี พ.ศ 2512 พระองค์ท่านเคยเสด็จมาครั้งแรกในปี พ.ศ 2509 และอีกหลายครั้งหลังจากนั้น เพื่อมาศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านและหาแนวทางช่วยเหลือให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้นอย่างเหมาะสม

dmf6nms9c4ut

รูปที่อุ้ยถืออยู่เป็นรูปที่เรานำมาจากเว็บไซด์ของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นรูปภาพของผู้ชายคนหนึ่งในชุดพื้นเมืองที่คาดว่าน่าจะเป็นจะหมอ กำลังถวายสิ่งของบางอย่างแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีบรรยากาศและองค์ประกอบของรูปคล้ายกับรูปที่แขวนอยู่ที่ฝาผนัง

vq8guspyydbq

พื้นที่ว่างที่ถูกล้อมด้วยไม้ไผ่เป็นวงกลมใกล้ๆกับบ้านของอุ้ยคือลานเต้นจะคึ ประเพณีการเต้นของชนเผ่าลาหู่นะ ที่เคยใช้เต้นถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ckp2hi14253e

จากนั้นเราก็เดินกลับขึ้นมาจากหมู่บ้าน เพื่อไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวการดำรงชีวิตของชนเผ่าละหู่นะที่ด้านบน

iyk4kne9a2xq

อาคารพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่บนเนินเขาใกล้กับโรงเรียน

7a51tvbeu1z2

ด้านในจัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งที่เสร็จมาเยี่ยมราษฎร ณ หมู่บ้านขอบด้ง

4z9y89p5npvu

และจัดแสดงอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการดำรงชีวิต รวมทั้งงานหัตธกรรมพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าลาหู่นะ

p73b6j5k92j1

จากนั้นก็ออกเดินทางต่อไปยังไร่ชา 2000 แหล่งผลิตชาชั้นดีของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

cn0oex15v2lq

นอกจากความสวยงามของสถานที่ ที่นี่ยังช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพอีกด้วย

0qp4yb6te2ba

จากไร่ชา 2000 เราเดินทางต่อไปยังสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

1lae715szewy

โดยจุดแรกที่เราแวะคือลานจอดเฮลิคอปเตอร์

zhd2o67bctux

เพื่อตามหาตำแหน่งของลานจอดเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเหมือนอย่างในรูปด้านล่างนี้ โดยต้นไม้พุ่มใหญ่ทางด้านขวามือยังคงเจริญเติบโตอยู่คู่ลานจอดจนถึงปัจจุบัน

zwcyzgzwock7

จุดต่อมาคือ สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา หรือ สวน 80 สวนดอกไม้ขนาดใหญ่ที่มีดอกไม้หลากหลายสายพันธุ์กำลังเบ่งบานอวดความสวยงาม

lmnkyjmwbzml

โดยเฉพาะต้นซากุระที่นำต้นพันธุ์มาจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ.2540 และจากประเทศไต้หวัน เมื่อปี พ.ศ.2551 กว่า 700 ต้น กำลังเริ่มทยอยออกดอกเบ่งบานมาตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมและบานไปจนถึงเดือนมกราคม

5mj1c2lm39e1

ด้านตรงข้ามของสวนจะมีร้านค้าโครงการหลวง ซึ่งเป็นจุดจำหน่ายของฝากและผลผลิตที่รับมาจากชาวบ้าน

rtrsbw5pixku
lq1lxh9joiq7
wfguqlx46eb7

จุดต่อมาคือแปลงรวบรวมพันธุ์บ๊วย หนึ่งในแปลงสาธิตของโครงการหลวงที่ทำให้ดูเป็นตัวอย่างและเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มาเรียนรู้ และนำกลับไปทดลองปลูกด้วยตนเอง

9uy1279pglpx

พอชาวบ้านทำแล้วดีมีรายได้ก็เลิกปลูกฝิ่น ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดหลักในการเปลี่ยนแปลงจากผืนฝิ่นสู่ถิ่นเกษตรกรรม

40yw1vee8bxg

ช่วงระหว่างเดือน ธ.ค - ม.ค เป็นช่วงที่บ๊วยกำลังออกดอกเหมาะแก่การมาถ่ายรูป และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเดือน มี.ค - เม.ย

oiw1gpwm4hdc

และจุดสุดท้ายที่เราตามหาก็คือจุดที่พ่อหลวงเสด็จมาเยี่ยมชาวบ้านที่หมู่บ้านปางม้า ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับแปลงรวบรวมพันธุ์บ๊วย

heffrhw4qo9y

การเดินทางตามรอยพ่อหลวงในครั้งนี้ช่วยทำให้เราเข้าใจวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งโครงการหลวงเพิ่มมากขึ้น ได้เรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาผ่านสถานที่จริง ได้พบปะพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้รับรู้และรู้สึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงของพระองค์ที่มีต่อชาวบ้าน

พระองค์ท่านเปรียบดั่งนักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ ออกเดินทางไปทั่วทุกสารทิศ เพื่อพระราชทานพระบรมราชวโรกาสและพระราชทานพระมหากรุณาแก่พสกนิกรของพระองค์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าสถานที่แห่งนั้นจะอยู่ไกลและเดินทางลำบากสักแค่ไหนก็ตาม

"ร่วมสนับสนุนการทำความดี ตามรอยพระยุคลบาท เพื่อพ่อหลวงของเรา โดย "Jetradar.co.th" และ "Readme.me"

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.royalprojectthailand.com และ www.angkhangstation.com

หมายเหตุ : หากมีคำอธิบายหรือการใช้คำราชาศัพท์ส่วนใดที่ไม่ถูกต้อง สามารถแนะนำเพิ่มเติมได้นะครับ เพื่อจะได้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง เหมาะสม และสมบูรณ์มากที่สุด

ความคิดเห็น