ถ้าเอ่ยถึงจังหวัดน่าน หลายๆคงคิดถึงวัดที่เป็น Landmark ของจังหวัดน่าน นั้นคือ " วัดภูมินทร์ "
วัดภูมินทร์ ตั้งอยู่ที่บ้านภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ใกล้กับพิพิธภัณฑสถาน-แห่งชาติน่าน เดิมชื่อ "วัดพรหมมินทร์" เป็นวัดที่แปลกกว่าวัดอื่น ๆ คือ โบสถ์และวิหารสร้างเป็นอาคารหลังเดียวกันประตูไม้ทั้งสี่ทิศ แกะสลักลวดลายโดยช่างฝีมือล้านนาสวยงามมาก นอกจากนี้ฝาผนังยังแสดงถึงชีวิตและ วัฒนธรรมของยุคสมัยที่ผ่านมาตามพงศาวดารของเมืองน่าน วัดภูมินทร์สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2139 โดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครอง เมืองน่านได้สร้างขึ้นหลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี มีปรากฏในคัมภีร์เมือง เหนือว่าเดิมชื่อ "วัดพรหมมินทร์" ซึ่งเป็นชื่อของเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ ผู้สร้างวัด แต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็น วัดภูมินทร์
พระอุโบสถจตุรมุข
ความสวยแปลกของวัดภูมินทร์ที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน เป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทยก็คือ เป็นพระอุโบสถทรงจตุรมุข พระประธานจตุรพักตร์ นาคสะดุ้งขนาดใหญ่แห่แหนพระอุโบสถเทินไว้กลางลำตัวนาค พระอุโบสถจตุรมุขนี้กรมศิลปากรได้สันนิษฐานว่า เป็นพระอุโบสถจตุรมุขหลังแรกของ ประเทศไทยพระอุโบสถ ตรงใจกลางประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 4 องค์ หันพระพักตร์ออก ด้านประตูทั้งสี่ทิศ หันเบื้องพระปฤษฏางค์ ชนกันประทับ นั่งบนฐานชุกชี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ผู้ที่ไปชมความงามของ พระอุโบสถนี้ไม่ว่าจะเดินขึ้นบันไดทิศใด จะพบพระพักตร์ของพระพุทธรูปทุกด้าน
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ปู่ม่าน ย่าม่าน
ภายในพระอุโบสถเราจะพบกับภาพวัดจิตรกรรมอันลือชื่อของที่นี่ ภาพจิตรกรรมหรือ “ฮูบแต้ม” ในวัดภูมินทร์เป็นชาดกในพุทธศาสนา แต่ถ้าพิจารณารายละเอียดของวิถีชีวิตของคนเมืองในสมัยนั้น มีภาพที่น่าสนใจอยู่หลายภาพ ภาพเด่น คือ ภาพปู่ม่านย่าม่าน ซึ่งเป็นคำเรียกผู้ชายผู้หญิงชาวไทลื้อในสมัยโบราณกระซิบสนทนากัน ผู้ชายสักหมึก ผู้หญิงแต่งกายไทลื้ออย่างเต็มยศ ภาพวาดของหนุ่มสาวคู่นี้มีความประณีตมาก ภาพนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่งามเป็นเยี่ยมของวัดภูมินทร์
เลยจากวัดภูมินทร์ เราจะพบ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เดิมเป็นที่ประทับของ เจ้าผู้ครองนครน่าน เรียกว่า "หอคำ" ภายในจัดแสดง ศิลปะ โบราณวัตถุ ต่างๆ ประวัติศาสตร์ และชีวิตความเป็นอยู่ ของชาวพื้นเมืองภาคเหนือ และชาวเขาเผ่าต่าง ๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือ "งาช้างดำ" ซึ่งไม่ทราบประวัติความเป็นมา สันนิษฐานว่า เป็นงาข้างซ้าย มีสีน้ำตาลเข้มไปทางดำ มีรูปลักษณะเป็นงาปลียาว 94 เซนติเมตร หนัก 48 กิโลกรัม งาช้างดำนี้ ถือเป็นของคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดน่าน ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ มี ซุ้มต้นลีลาวดี ที่ขึ้นเป็นแถวเรียงรายแผ่ขยายกิ่งก้านโค้งโน้มเอียงเข้าหากันกลายเป็นอุโมงค์ต้นไม้ยิ่งใหญ่สวยงาม เรียกได้ว่า เป็นซิกเนอเจอร์อีก 1 จุดของ จังหวัดน่านที่เมื่อมาถึงแล้วต้องมาถ่ายภาพ
ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานจังหวัดน่าน เราจะพบีก 1 วัด นั้นคือ
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน นับเป็น ปูชนียสถานสำคัญ เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะสุโขทัย ภายในวัดประดิษฐาน เจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งเป็นศิลปสมัยสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 รอบเจดีย์มีรูปปั้นช้างปูนปั้นเพียงครึ่งตัว ประดับอยู่โดยรอบ พระธาตุเจดีย์สร้าง ด้วยอิฐถือปูน มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกัน 3 ชั้น กว้างด้านละ 9 วา ฐานจากชั้นแรกสูงถึงชั้นสองมีรูปช้างค้ำอยู่ในลักษณะ เหมือนฐาน รองรับไว้ด้านละ 6 เชือก รวมทั้งหมด 24 เชือก ช้างแต่ละตัวโผล่ส่วนหัวลอย ออกมาครึ่งตัวขาหน้าทั้งคู่ยื่นพ้นออกมาจาก เหลี่ยมฐาน เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ (ฐานบัว) ซ้อนกัน 3 ชั้น และเป็น องค์ระฆังแบบลังกา ต่อจากองค์ระฆังทำเป็นฐานเขียงรองรับ มาลัยลูกแก้ว ลดหลั่นกันไปเป็นส่วนยอด ปัจจุบันพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำได้รับการบูรณะซ่อมแซม และหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองทั้งองค์มีความสวยงาม มาก
ถัดมาข้างวัดภูมินทร์ จะพบ " วัดมิ่งเมือง " หรือ เสาหลักเมืองจังหวัดน่าน
วัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่ที่ถนนสุริยพงศ์ เป็น เป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองของจังหวัดน่าน ประวัติของวัดมิ่งเมือง คือ เดิมเป็นวัดร้าง มีเสาหลักเมืองที่เป็นท่อนซุงขนาดใหญ่สองคนโอบ พบที่ซากวิหาร ในราวปี 2400 เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าครองนครน่านสถาปนาวัด ใหม่ ตั้งชื่อว่า วัดมิ่งเมือง ตามชื่อที่เรียกเสาหลักเมืองว่า เสามิ่งเมือง ต่อมาปี 2527ได้มีการรื้อถอนและสร้างอุโบสถหลังใหม่เป็น แบบล้านนาร่วมสมัยแบบในปัจจุบัน
วัดสุดท้ายคือ วัดศรีพันต้น ตั้งอยู่ที่ ถนนเจ้าฟ้า ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของเขตเทศบาลเมืองน่าน สร้างโดยพญาพันต้น เจ้าผู้ครองนครน่าน แห่งราชวงศ์ภูคา (ครองนครน่าน ระหว่าง พ.ศ. 1960 - 1969 ) ชื่อวัดตรงกับนามผู้สร้าง คือพญาพันต้น บางสมัยเรียกว่า วัดสลีพันต้น (คำว่า สลี หมายถึง ต้นโพธิ์) ซึ่งในอดีตมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ด้านทิศเหนือและทิศใต้ของวัด ปัจจุบันถูกโค่นเพื่อตัดเป็นถนนแล้ว วัดศรีพันต้นได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2505 ภายในวัดมีวิหารที่สวยงาม ตั้งเด่นเป็นสง่ามีสีทองระยิบระยับ เป็นอีกวัดหนึ่งในจังหวัดน่านที่มีจิตรกรรมปูนปั้นที่สวยงามโดยเฉพาะพญานาคเจ็ดเศียร เฝ้าบันได หน้าวิหารวัด สีทองเหลืองอร่ามสวยงามตระการตา มีความสวยงามมาก ดูอ่อนโยนมีชีวิตชีวา ซึ่งปั้นแต่งโดยช่าง ชาวน่านชื่อ นายอนุรักษ์ สมศักดิ์ หรือ "สล่ารง" และภายในวิหารได้มีการเขียนภาพลายเส้นประวัติของพระพุทธเจ้า และประวัติ การกำเนิด เมืองน่าน โดยช่างชาวน่าน เป็นภาพ เขียนลายเส้นลงสีธรรมชาติสวยงามและทรงคุณค่าอย่างยิ่ง
ฝากติดตามรีวิวอื่นๆด้วยนะครับที่ B e L L a G i O ..... Studio
B e L L a G i O ..... Studio
วันพฤหัสที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เวลา 17.47 น.