เจียนเซ่ วันที่แผ่นฟ้าอยู่ใกล้จนเกือบเอื้อมถึง
ปลายทางของการเดินทางครั้งนี้อยู่ที่เอเวอเรส์ตเบสท์แคมป์ จากลาซาใช้เวลาเดินทางทางรถนานถึง 2 วัน จึงจำเป็นต้องพักค้างแรมระหว่างทาง ครึ่งทางของการเดินทางที่ยาวไกลนี้อยู่ที่ชิกัทเซ่ เมืองที่มีความเจริญเป็นอันดับ 2 ของดินแดนทิเบต
จากลาซาไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้มีถนน 2 สายมุ่งสู่ชิกัทเซ่ ถนนสายแรกเป็นถนนมิตรภาพสายเหนือตัดตรงจากลาซาไปยังชิกัทเซ่ ด้วยระยะทาง 250 กิโลเมตร ในขณะที่ถนนอีกสาย คือถนนมิตรภาพสายใต้ แม้จะอ้อมกว่า แต่ก็มีสิ่งที่น่าสนใจให้แวะชมมากกว่า เพราะนอกจากจะผ่านเจียนเซ่ เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของทิเบตแล้ว ยังผ่านทะเลสาบยัมดร๊อก 1 ใน 3 ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ในดินแดนทิเบต โดยการเดินทางขาไปนี้ รินโตเลือกเส้นทางสายใต้นี้ให้กับพวกเรา และขากลับจึงค่อยใช้เส้นทางสายเหนือที่ใช้เวลาเดินทางน้อยกว่า ซึ่งน่าจะเหมาะสมกับสภาพร่างกายของพวกเราที่น่าจะอ่อนล้าจากการเดินทาง
ถนนมิตรภาพทั้งสองสายนี้ ทางการจีนตัดขึ้นเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากลาซาสู่ประเทศเนปาล โดยหวังประโยชน์ทางการค้า ทำให้ชาวทิเบตได้รับอนิสงฆ์ในการเดินทางไปมาหาสู่กันได้สะดวกขึ้น และอีกไม่นานเส้นทางรถไฟจากลาซาที่ทอดตรงมาสู่ชิกัทเซ่ก็จะแล้วเสร็จ ซึ่งในวันนั้นความเจริญก็จะหลั่งไหลมาที่เมืองนี้ ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตก็จะตามมาเช่นกัน
จากที่ราบสูงลาซาที่มากไปด้วยบ้านเรือน เส้นทางนำเราพาดผ่านไปตามแนวหุบเขา ที่มีเหล่ายอดเขาสูงเสียดฟ้าของเทือกเขาหิมาลัยทอดตัวโอบล้อม แม้หุบเหวที่อยู่ข้างทางมองลึกลงไปแทบไม่เห็นปลายทางจะดูน่ากลัว แต่เส้นทางนี้ก็ถูกสร้างไว้อย่างปลอดภัย จนเรารู้สึกเพลิดเพลินไปกับทิวทัศน์ของธรรมชาติที่แสนอลังการ
เส้นทางที่เหมือนงูตัวยักษ์ทอดตัวคดเคี้ยวไปตามแนวเทือกเขาที่สลับซับซ้อนพาเราเดินทางมาถึง ช่องเขาคัมบาลา (Kambala) ที่ความสูง 4,794 เมตรจากระดับน้ำทะเล ที่นี่เป็นจุดชมวิวชั้นดีในการชมทะเลสาบยัมดร๊อก (Yamdrok) ที่เกิดจากแม่น้ำยาลอง ทสางโป (Yarlong Tsangpo) ที่ไหลคดเคี้ยวไปตามช่องเขาคัมบาลา โดยมีความยาวถึง 130 กิโลเมตร กว้าง 70 กิโลเมตร ทำให้มีพื้นที่รวมมากถึง 638 ตารางกิโลเมตร จนกลายเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทิเบต อีกทั้งยังถือเป็น 1 ใน 3 ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวทิเบตต้องหาโอกาสสักครั้งในชีวิตเดินทางมายังทะเลสาบเหล่านี้ (อีก 2 แห่งคือ ทะเลสาบนัมโฉะ กับทะเลสาบมานัสโรวาร์)
ด้วยการเป็นทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ชาวทิเบตจึงมายังทะเลสาบแห่งนี้ด้วยการเดิน เพราะเชื่อว่า การเดินทางไกลเพื่อไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ถือเป็นการชำระบาปที่ก่อไว้ อีกทั้งการเดินของพวกเขาไม่ใช่เป็นการเดินแบบธรรมดา หากแต่เป็นการเดินที่เปี่ยมล้นไปด้วยแรงศรัทธา ด้วยการเดิน 3 ก้าว แล้วก้มกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ 1 ครั้ง ทำเช่นนี้วนซ้ำเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร ผู้มีแรงศรัทธาที่เปี่ยมล้นเท่านั้นจึงสามารถทำเช่นนี้ จนเดินทางมาถึงทะเลสาบ ณ ริมขอบฟ้าแห่งนี้ได้ การเดินทางของพวกเขาจึงสำคัญ เพราะแต่ละก้าวนั้นหมายถึงแรงแห่งศรัทธาที่พาไปสู่จุดหมาย ณ ขอบฟ้าอันแสนไกล
จากจุดชมวิว ในเวลานี้เราได้ลงไปสัมผัสความใสบริสุทธิ์ของทะเลสาบยัมดร๊อกอย่างชิดใกล้ ผิวน้ำสีเทอร์ควอยซ์ที่ใสสะอาดส่งประกายสะท้อนกับสีของแผ่นฟ้า ในขณะที่พื้นที่ริมทะเลสาบมากไปด้วยฝูงแกะขนปุยที่กำลังเล็มหญ้าอย่างมีความสุข ดูแล้วชวนให้อิจฉาคนเลี้ยงแกะที่นี่เสียจริง ที่แต่ละวันได้ทำงานใต้แผ่นฟ้ากว้าง และชิดใกล้กับทะเลสาบใสบริสุทธิ์ มีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ไม่ต้องวุ่นวายกับชีวิตในเมืองใหญ่อย่างที่เราเป็น แต่คิดอีกที หากไม่หลอกตัวเองจนเกินไปนัก พวกเราคงอยู่ในสถานที่แบบนี้ได้ไม่นานหรอก การเฝ้ามองแผ่นฟ้า ปล่อยอารมณ์ไปตามสายน้ำคงสร้างความสุขใจเพียงแค่ช่วงแรกที่ได้สัมผัส เพราะแต่ละคนเลือกแล้วที่จะให้การเดินทางเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิต เหมือนเช่นวันนี้ นาทีนี้ ที่การเดินทางเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนชีวิตของคนอย่างเราให้ก้าวเดินไปตามทางที่เราเป็น
ผิวน้ำสีเทอร์ควอยซ์ของทะเลสาบยัมดร๊อกยังคงเป็นเพื่อนร่วมทางบนเส้นทางไต่สู่ขอบฟ้าสายนี้ สองข้างทางเริ่มปรากฏธงมนตราหลากสีห้อยระโยงระยางจากหินก้อนหนึ่งไปยังอีกก้อน สายลมที่โบกพัด พาให้เหล่าธงมนตราพลิ้วไหว จนเสมือนหนึ่งบทสวดที่ถูกเขียนไว้บนผืนธง ได้ถูกพัดให้ลอยขึ้นไปยังสรวงสวรรค์
4 โมงเย็นตามเวลากรุงเป่ยจิง แต่ท้องฟ้าของทิเบตยังคงสว่างเหมือนเวลาบ่ายโมงที่พระอาทิตย์ยังอยู่กลางแผ่นฟ้า เราเดินทางมาถึงเจียนเซ่ (Gyantse) เมืองที่มีเจริญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 3 ของทิเบต ความเจริญนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในอดีต เพราะเป็นเมืองบนเส้นทางการค้าระหว่างทิเบตกับอินเดีย อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของการเผยแพร่ศาสนาและลัทธิต่างๆในดินแดนหิมาลัย โดยเฉพาะพุทธศาสนานิกายศากยะ ที่ได้รับการสนับสนุนจากมองโกลในช่วงที่อาณาจักรมองโกลเรืองอำนาจ
นอกจากนี้เจียนเซ่ยังเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวทิเบต โดยร่องรอยที่ยังปรากฏให้เห็นในทุกวันนี้คือป้อมปราการที่ตั้งอยู่บนภูเขาหิน ป้อมปราการนี้สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อราว 700 ปีก่อน แต่ถูกใช้งานอย่างหนักในการต่อสู้กับอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม เมื่อปีพ.ศ.2446 เนื่องด้วยอังกฤษต้องการเมืองเจียนเซ่ ซึ่งนอกจากเป็นการควบคุมการค้าระหว่างทิเบตกับอินเดียให้อยู่ในมือแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ในการคานอำนาจกับรัสเซียที่กำลังแผ่อิทธิพลมายังประเทศจีน ทิเบตในเวลานั้นจึงเป็นเหมือนรัฐกันชนระหว่างมหาอำนาจทั้งสองขั้ว
ทหารอังกฤษยกพลมาจากประเทศอินเดียผ่านสิขิม ซึ่งในเวลานั้นได้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษแล้ว และแน่นอนว่า เมืองพุทธศาสนาบนเทือกเขาหิมาลัยที่ปราศจากอาวุธที่ทันสมัยอย่างทิเบต ไม่อาจรับมือนักล่าอาณานิคมอย่างอังกฤษได้ เพราะทหารอังกฤษมีทั้งปืนใหญ่ ปืนกล และปืนไรเฟิล ในขณะที่ทหารทิเบตแม้จะมีจำนวนมากถึง 1,500 นาย แต่ก็มีอาวุธที่ล้าสมัยเป็นศตวรรษ การปะทะกันไม่ถึง 5 นาที จึงมีทหารทิเบตเสียชีวิตมากถึง 700 นาย เมืองเจียนเซ่จึงตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษภายในวันเดียว และหลังจากนั้นเพียงแค่ 1 ปี เมืองลาซาก็ตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษเช่นกัน
เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้องค์ดาไลลามะที่ 13 ต้องลี้ภัยไปยังมองโกล จนกระทั้งปีพ.ศ.2453 จึงได้เสด็จกลับมายังลาซาอีกครั้ง เพราะทหารจีนได้ช่วยขับไล่ทหารอังกฤษออกไปจนหมด แต่หลังจากนั้นไม่นาน กองทัพจีนก็เข้ายึดครองลาซาแทน องค์ดาไลลามะจึงต้องลี้ภัยอีกครั้ง โดยครั้งนี้ไปอยู่ที่อินเดีย แต่ก็กินเวลาแค่ราว 1 ปี เท่านั้น เพราะเกิดการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิง โดยดร.ซุนยัตเซ็น องค์ดาไลลามะจึงสามารถกลับสู่ดินแดนทิเบตได้อีกครั้ง แต่หลังจากนั้นอีกเพียงแค่ 40 ปี ในสมัยองค์ดาไลลามะที่ 14 ทิเบตก็สูญเสียเอกราชให้กับประเทศจีนอีกครั้ง จวบจนปัจจุบัน
แล้วอยู่ๆทางลาดยางอย่างดีก็เปลี่ยนเป็นทางลูกรังที่ตัดผ่านพื้นที่การเกษตร จนเราแปลกใจว่าเหตุใดทางไปชิกัทเซ่ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่อันดับ 2 ของทิเบตทำไมถึงรันทดขนาดนี้ แล้วความสงสัยก็ถูกเฉลยว่าเจนเซ็น คนขับรถขอแวะเยี่ยมครอบครัวที่บ้านสักครู่
บ้านของเจนเซ็นตั้งอยู่ในเขตชนบทของเมืองเจียนเซ่ โดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แม้ในเวลานี้จะดูแห้งแล้งเหลือเกิน แต่เจนเซ็นบอกว่าถัดจากนี้ไปอีกแค่ไม่กี่เดือน จะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ พื้นที่ที่ดูแห้งแล้งนี้จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวของแมกไม้และทุ่งนาอย่างไม่น่าเชื่อ
ครอบครัวของเจนเซ็นเป็นครอบครัวขยาย ที่ปู่ย่า และลูกหลานอยู่ในชายคาบ้านเดียวกัน ในเวลานี้คุณย่ากับลูกชายตัวน้อยของเจนเซ็นได้วางมือจากการทำนา เพื่อเอาชาร้อนๆมาให้เราดื่ม แม้จะเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆ แต่ก็ให้ความรู้สึกอบอุ่นที่มาจากน้ำใจท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น
เจนเซ็นพาเข้าไปชมบ้านของเขา แต่เรากลับสนใจที่กำแพงบ้านมากกว่า เพราะบนกำแพงบ้านนี้มากไปด้วยลวดลาย ไม่ใช่จิตรกรรมฝาผนังแต่อย่างใด แต่เป็นลวดลายจากมูลจามรีที่ถูกปั้นเป็นแผ่นกลมๆ แล้วนำไปแปะไว้บนกำแพงบ้าน ไม่ใช่เพื่อความสวยงาม แต่เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม เมื่อมูลจามรีที่แปะไว้ถูกตากจนแห้ง ก็จะนำมากองไว้รวมกัน แล้วนำมูลจามรีที่ยังสดชิ้นใหม่ไปแปะไว้บนกำแพงบ้านให้แห้งต่อไป คนที่นี่จึงไม่จำเป็นต้องตัดไม้มาทำเป็นเชื้อเพลิง เพราะแค่มูลจามรีก็มีมากจนใช้ไม่หมด นั่นคือหนึ่งในตัวอย่างชีวิตที่แสนเรียบง่ายและผูกพันกับธรรมชาติของชาวทิเบต ที่ดูแตกต่างจากชีวิตคนในเมืองอย่างเราเหลือเกิน
แม้ภายนอกจะเต็มไปด้วยกองมูลจามรี แต่ภายในบ้านนั้นสะอาดสะอ้าน อีกทั้งเฟอร์นิเจอร์แต่ละอย่างก็เต็มไปด้วยลวดลายและสีสันในสไตล์ทิเบต และแม้จะอยู่ในเขตชนบท แต่อย่าได้ดูถูกไป เพราะอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านหลังนี้ล้วนใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ โดยไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า วันๆหนึ่งพวกเขาจึงแทบไม่ต้องใช้เงิน หรือทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ชีวิตที่เพียงพอ เพื่อการดำรงชีพอย่างพอเพียงเป็นเช่นนี้นี่เอง
เจนเซ็นอำลาครอบครัวของเขา เพื่อพาพวกเราเดินทางต่อไปบนเส้นทางแห่งขุนเขา เวลาที่ผ่านเลยไป นำพาภูเขาลูกแล้วลูกเหล่าให้พ้นผ่าน เส้นทางค่อยๆไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนรู้สึกเสมือนว่าเรากำลังเคลื่อนตัวสูงขึ้นจนเกือบจะเอื้อมมือคว้าปุยเมฆที่ลอยล่องอยู่บนท้องฟ้านั้นได้
เวลา 1 ทุ่ม แต่ท้องฟ้ายังสว่าง เราเดินทางมาถึงชิกัทเซ่ (Shigatse) เมืองที่ตั้งอยู่บนระดับความสูงถึง 3,860 เมตรจากระดับน้ำทะเล เพราะเป็นเมืองในดินแดนทิเบตที่มีความเจริญเป็นอันดับ 2 รองจากลาซา เมืองซิกัทเซ่ที่เราสัมผัสในวันนี้จึงมากไปด้วยอาคารสมัยใหม่ที่กำลังถูกสร้างขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีน และอีกไม่กี่ปีหลังจากนี้ ทางรถไฟสายลาซา – ซิกัทเซ่ก็จะแล้วเสร็จ เมื่อนั้นความเจริญก็จะเดินทางมาตามรางเหล็กคู่ขนานนี้มากขึ้น ในขณะที่ภาพอดีตของเมืองเก่าก็จะค่อยๆซีดจางลง
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 16.28 น.