
Agra อดีตเมืองหลวงของอินเดียในสมัยที่ยังเรียกว่า “ฮินดูสถาน” ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมนา ในรัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของอินเดีย Agra มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ที่เมื่อเอ่ยถึงอินเดีย รับรองว่าร้อยละ 90 ต้องนึกถึง นั่นคือ ทัชมาฮาล นอกจากนี้ ใน Agra ยังมีอีกหลายสถานที่ที่ได้ถูกยกขึ้นเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกครับ ไปดูกันว่า 6 สถานที่ท่องเที่ยวใน Agra ที่เมื่อมาที่ Agra แล้วต้องห้ามพลาดมีที่ไหนบ้าง
1. Taj Mahal


Taj Mahal อนุสรณ์สถานแห่งความรักอมตะที่ถูกสร้างจากหินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์อันงามวิจิตร จนได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก พระเจ้าชาร์เจฮาน ทรงรับสั่งให้สร้างขึ้นเป็นที่บรรจุพระศพของพระนางมุมตัสมาฮาล พระมเหสีซึ่งสิ้นพระชนม์จากการมีพระประสูติกาลในปี ค.ศ.1631 สถานที่แห่งนี้ใช้เวลาสร้างถึง 22 ปี ด้วยแรงงานกว่า 20,000 คน ออกแบบและตกแต่งจากช่างฝีมือเอกของโลกในยุคนั้น ประดับประดาด้วยอัญมณีและหินสีนานาชนิดบนหินอ่อนสีขาว ภายในมีที่บรรจุพระศพของพระนางมุมตัสมาฮาล และพระเจ้าชาร์เจฮานไว้เคียงคู่กันกับทัชมาฮาลจนตราบชั่วนิรันดร์กาล ทัชมาฮาลได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในปี พ.ศ.2526 ทัชมาฮาลเปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 05.30-16.30 น. (เคาเตอร์ขายตั๋วปิด 16.30 น.แต่ยังสามารถเดินเที่ยวชมด้านในได้) ใครที่ไม่อยากเบียดเสียดยัดเยียดกับนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย แนะนำว่าให้เข้าชมทัชมาฮาลในวันจันทร์-พฤหัสบดี ในตั๋วเข้าชมเขียนไว้ว่า สามารถอยู่ในทัชมาฮาลได้ 3 ชั่วโมงนะครับ หากเราอยู่เกินแล้วเจ้าหน้าที่ตรวจพบ คงจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มครับ
2. Agra Fort

Agra Fort เป็นพระราชวังที่ยิ่งใหญ่ที่ใช้เวลาการสร้างยาวนานถึงสามยุคของกษัตริย์ คือยุคของสมเด็จพระจักรพรรดิอัคบาร์, สมเด็จพระจักรพรรดิชะฮันคีรี และสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน และในสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันนี้เองที่ได้พัฒนาให้ Agra Fort เป็นพระราชวังโดยสมบูรณ์และเป็นพระราชวังส่วนหนึ่งของกษัตริย์ในราชวงศ์โมกุล ลักษณะของ Agra Fort เป็นกำแพงสองชั้นและป้อมอาคารทางเข้าสี่ทิศ กำแพงล้อมรอบสูงกว่า 20 เมตร ยาวถึง 2.5 กิโลเมตร และมีคูน้ำที่กว้างถึง 10 เมตรล้อมรอบทุกด้าน ภายในบริเวณมหาราชวังประกอบด้วยท้องพระโรง ฮาเล็ม ห้องนางสนม สุเหร่า สระอาบน้ำ อุทยานดอกไม้

กัส มาฮาล (Khas Mahal) พระตำหนักทำด้วยหินอ่อนสีขาว ซึ่งเป็นตัวอย่างที่งามที่สุดแห่งหนึ่งของงานเขียนสีบนหินอ่อน ต้องบอกเลยครับว่าสวยงามจริงๆ เห็นแล้วอดที่จะยกกล้องมาเก็บภาพไว้ไม่ได้

ด้านหน้าของกัส มาฮาล จะเป็น สวนองุ่น (Anguri Bagh) ที่มีการตกแต่งเป็นรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งมาจากอิทธิพลที่ชาวโมกุลได้รับมาจากชาวเปอร์เชียอีกทอดหนึ่ง สวนนี้ใช้เป็นที่พักผ่อนของจักรวรรดิโมกุล ปัจจุบันไม่มีต้นองุ่นแล้วครับ มีแต่ไม้คลุมดินเท่านั้น

ด้านข้างของกัส มาฮาล เป็นที่ตั้งของ มูซัมมัน เบิร์จ (Musamman Burj) หรือ Jasmine Palace เป็นหอคอยขนาดใหญ่ทรงแปดเหลี่ยม ซึ่งมีระเบียงหินอ่อนเปิดออกไปยังฝั่งแม่น้ำยมุนา ใช้เป็นที่คุมขังสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน โดย ออรังเซพ พระโอรสของพระองค์เอง ด้วยเหตุที่ว่ากลัวพระบิดาจะก่อสร้างที่ฝังศพของพระองค์และจะใช้เงินจากคลังหลวงจนหมด สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตกว่า 8 ปี อยู่ในมูซัมมัน เบิร์จ และเฝ้ามองผ่านแม่น้ำยมุนาไปยังทัชมาฮาลที่ซึ่งมเหสีสุดที่รักของพระองค์ประทับอยู่อย่างนิรันดร ภายใน มูซัมมัน เบิร์จ ตกแต่งด้วยหินอ่อนสีขาวและประดับด้วยอัญมณีที่มีค่ามาตกแต่งเป็นลวดลายดอกไม้ต่างๆ ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของชื่อ Jasmine Palace ครับ
Agra Fort มีความสัมพันธ์กับทัชมาฮาลเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสถานที่ที่เกิดความคิดที่จะสร้างทัชมาฮาลขึ้น และคนที่คิดให้สร้างก็จบชีวิตลงที่นี่เช่นกัน Agra Fort ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจาก UNESCO ในปี พ.ศ.2526 Agra Fort เปิดให้เข้าชมตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นยันพระอาทิตย์ตกครับ
3. Baby Taj



Baby Taj หรือ สุสานอิตมัดอุดดุลลาห์เป็นสุสานที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายมีร์ซา กียาซ เบค (Mirza Ghiyas Beg) พ่อค้าที่ทำการค้าจนล้มละลาย แต่โชคชะตากลับพลิกผันหลังจากที่บุตรสาวของเขานามว่า นูร์ ชะฮัน (Nur Jahan) ได้ถือกำเนิดขึ้นมา ซึ่งต่อมานายกียาซ เบค ได้ก้าวขึ้นเป็นเสนาบดีฝ่ายการคลังของสมเด็จพระจักรพรรดิชะฮันคีร์ แห่งราชวงศ์โมกุล และได้รับฐานันดรอิตมัดอุดดุลลาห์ (เสาหลักแห่งจักรวรรดิโมกุล) ขณะที่บุตรีของเขาเป็นพระมเหสีของท่านจักรพรรดิ และพระจักรพรรดินีนูร์ ชะฮันนี่เองที่ทรงได้สร้างสุสานขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแก่นายมีร์ซา กียาซ เบคในช่วงทศวรรษที่ 1620 ครับ
Baby Taj สร้างจากหินอ่อนขาวชนิดเดียวกับที่นำไปใช้สร้างทัชมาฮาล มีการตกแต่งด้วยพลอยที่มีความประณีตสูงคู่กับกระเบื้องโมเสกที่มีสีสันสวยสะดุดตา จนเป็นที่เลื่องชื่อด้านงานเกะสลักที่อ่อนช้อยและละเอียดบรรจง บริเวณผนังด้านในและซุ้มประตูมีการตกแต่งด้วยภาพวาดและการแกะลวดลายดอกไม้ สัตว์ และรูปมนุษย์ต่างๆ ไว้อย่างงดงาม
ถ้าจะพูดถึงความยิ่งใหญ่คงต้องยกให้กับทัชมาฮาล แต่ถ้าพูดถึงความละเอียดอ่อนของงานแกะสลักตกแต่ง ผมขอยกให้กับ Baby Taj เลยครับ ถึงแม้ว่าขนาดความยิ่งใหญ่ของ Baby Taj จะเทียบไม่ได้กับทัชมาฮาลเลย แต่บอกเลยว่าความงามของ Baby Taj นี่เล็กพริกขี้หนูจริงๆ Baby Taj เปิดให้เข้าชมตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นยันพระอาทิตย์ตกครับ แต่เคาเตอร์ขายบัตรเข้าชมจะปิดก่อนพระอาทิตย์ตกประมาณครึ่งชั่วโมงครับ
4. Fatehpur Sikri


Fatehpur Sikri อดีตเมืองหลวงของจักรวรรดิโมกุล ระหว่างปี ค.ศ.1571-1585 เป็นเมืองที่พระเจ้าอัคบาร์มหาราชทรงสร้างขึ้นเพื่อหวังจะให้เป็นเมืองหลวงใหม่ แต่เนื่องจากเป็นเมืองที่ไม่มีแม่น้ำไหลผ่านทำให้ขาดแคลนแหล่งน้ำ และที่ตั้งของเมืองยังอยู่ใกล้กับอาณาเขตของอาณาจักรราชปุตนะทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่สงบอยู่บ่อยมาก พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ย้ายเมืองหลวงกลับไปยังอัคราในปี ค.ศ.1598 ที่ซึ่งพระองค์เริ่มปกครองสมัยแรกๆ แต่ถึงเมืองจะทิ้งร้างไว้นาน Fatehpur Sikri ก็ยังคงหลงเหลือความงดงามและได้เห็นแนวความคิดที่จะรวมทุกศาสนาเป็นหนึ่งเดียวของพระเจ้าอัคบาร์มหาราช
พระเจ้าอัคบาร์มหาราชได้ใช้เวลาออกแบบผังเมืองและสร้างเมืองถึง 15 ปี โดยได้ก่อสร้างกำแพงเมืองรอบด้าน พระราชวัง ตำหนัก ฮาเล็ม ศาล มัสยิด และอาคารสาธารณูปโภคต่างๆ นอกจากนี้พระองค์ยังมีส่วนร่วมในการออกแบบและก่อสร้าง Fatehpur Sikri เป็นอย่างมาก โดยตั้งใจที่จะชุบชีวิตอันหรูหราของราชสำนักเปอร์เซียโบราณ โดยการวางแผนนั้นรับรูปแบบตามราชสำนักเปอร์เซีย แต่มีการปรับโดยใส่รายละเอียดแบบอินเดียเข้าไปด้วย
Fatehpur Sikri สร้างจากหินทรายสีแดง สถาปัตยกรรมเป็นการผสมผสานงานศิลปะแบบเบงกอลและคุชราต นอกจากนี้ยังมีสถาปัตยกรรมฮินดูและเชน ผนวกเข้ากับองค์ประกอบแบบศิลปะอิสลามอย่างกลมกลืน บริเวณหมู่ราชมนเทียรประกอบด้วยตำหนักหลายหลังเรียงต่อกันอย่างเรียบร้อยและสมมาตรบนฐานเดียวกัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่นำมาจากการก่อสร้างแบบอาหรับและเอเชียกลาง Fatehpur Sikri ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจาก UNESCO ในปี พ.ศ.2529 ด้วยนะครับ
5. Sikandra

Sikandra เป็นสุสานของพระเจ้าอักบาร์มหาราช กษัตริย์ที่ทรงอิทธิพลของจักรวรรดิโมกุล จนได้สมญานามว่า “มหาราช” การออกแบบสุสานแห่งนี้ผสมผสานงานศิลปะและสถาปัตยกรรมของศาสนาพุทธ คริสต์ ฮินดู อิสลาม และเชนได้อย่างกลมกลืน ยิ่งใหญ่สมกับความยิ่งใหญ่ของผู้ปกครองอันเป็นที่เคารพนับถือพระองค์นี้ ตัวอาคารสร้างจากหินทรายแดงและหินอ่อน ภายในสุสานครอบคลุมพื้นที่กว่า 100 เอเคอร์ มีฝูงละมั่งแทะเล็มหญ้า ดูไม่ต่างกับซาฟารีกลางเมืองเลยครับ

อาคารหลังนี้เป็นสิ่งปลูกสร้าง 5 ชั้น มีลักษณะคล้ายรูปทรงพีระมิดย่อส่วน กำแพงด้านนอกประดับด้วยอิวานขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหอหลังคาโค้งที่ตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสกและพลอยเนื้ออ่อน มีฉัตรีและหอสูงจำนวนมาก

บริเวณซุ้มประตูด้านในตกแต่งด้วยงานลายปูนปั้น งานประดับกระเบื้องโมเสก ที่ตกแต่งเป็นลวดลายอาราบิกและลายตัวอักษรอย่างอ่อนช้อยและสวยงามมากๆ หลุดจากซุ้มประตูจะเป็นทางเดินลงไปยังห้องฝังพระบรมศพของจักรพรรดิอักบาร์มหาราช ซึ่งจะมีอนุสาวรีย์พระเจ้าอัคบาร์ตั้งอยู่บนยอดพีระมิดฐานสี่เหลี่ยม ภายในห้องนี้ไม่มีการประดับหรือตกแต่งใดๆ เลย เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ด้านในไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปครับ Sikandra เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นยันพระอาทิตย์ตกครับ
6. Soami Bagh Temple

Soami Bagh Temple เป็นอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมที่มีความงดงามและยิ่งใหญ่ น้องๆ ทัชมาฮาลครับ ที่นี่เป็นสถานที่แสวงบุญยอดนิยมสำหรับสาวกของหลายๆ ศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพุทธ ฮินดู อิสลาม และ ซิกซ์ สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับราธาสวามี องค์กรศาสนาที่รวมคำสอนของทุกความเชื่อเข้าด้วยกัน เริ่มก่อสร้างในช่วงต้น ค.ศ.1900 และงานสร้างก็ยังคงดำเนินต่อมากว่า 100 ปี ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีการก่อสร้างไปเรื่อยๆ ฮุซูร์ สวามีจิมหาราช ผู้ก่อตั้งราธาสวามี พยายามอย่างแรงกล้าที่จะก่อตั้งขบวนการเพื่อส่งเสริมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของมวลมนุษยชาติ เป็นผลทำให้อาคารหลังนี้เป็นที่ตั้งของทั้งโบสถ์ คุรุทวารา มัสยิดและวัดภายใต้หลังคาเดียวกัน เรียนรู้ความเชื่อของท้องถิ่นทั่วไปที่ว่าความสมานฉันท์ของศาสนาโดยสมบูรณ์นั้นไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้น วิหารนี้จึงไม่มีวันสร้างเสร็จ
Soami Bagh Temple สร้างขึ้นจากหินอ่อนสีขาว งานก่อสร้างฝีมือประณีต ด้านนอกว่างดงามแล้ว ด้านในก็งดงามไม่แพ้กัน หินอ่อนที่ดูแข็ง ถูกสลักเป็นกลีบดอกไม้ ดูอ่อนช้อยมากๆ ด้านในเป็นหลุมฝังศพของฮุซูร์ สวามีจิ มหาราชและภริยา Soami Bagh Temple เปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวัน ด้านในไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพครับ
คนไทยเมื่อมาเที่ยวที่ Agra จะได้สิทธิพิเศษเมื่อยื่น Passport ตอนซื้อบัตรเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพราะประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม BIMST-EC ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือของประเทศรอบๆ อ่าวเบงกอล (ประกอบด้วย 7 ประเทศ คือ บังคลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกา ไทย เนปาล และภูฎาน) ทำให้คนของประเทศกลุ่มนี้ได้รับการยกเว้นให้เสียค่าธรรมเนียมเข้าชมสถานที่สำคัญในราคาพิเศษ หรือบางสถานที่ก็จ่ายค่าเข้าชมในราคาคนอินเดียเลยครับ
ท้ายสุดนี้ เพื่อนๆ สามารถเข้าไปให้กำลังใจและติดตามผลงานของผมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/unclegreenshirt นะครับ
ลุงเสื้อเขียว
วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2563 เวลา 12.57 น.