ขึ้นถึงฝั่งก็เดินไปเอารถที่ฝากไว้ทันที พร้อมจ่ายเงิน 100 บาทสำหรับค่าฝาก แล้วก็เป็นหน้าที่ผมที่ขับรถย้อนกลับไปยัง อ.กันตัง อำเภอนี้ในอดีตสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นที่ตั้งของตัวเมืองตรัง หรือพูดง่ายๆคือ ในอดีตอำเภอเมืองตรังตั้งอยู่ที่นี่ก่อนที่จะมีการย้ายศูนย์ราชการต่างๆไปที่พื้นที่อันเป็นตัวเมืองตรังในปัจจุบัน ด้วยเหตุที่ตัวเมืองกันตังอยู่ติดทะเล จึงเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยหากเกิดการโจมตีทางทะเล
อย่างไรก็ตามด้วยการที่เคยเป็นที่ตังของตัวเมืองตรังมาก่อน อีกทั้งยังเป็นเมืองท่าสำคัญของฝั่งทะเลอันดามัน รวมถึงเป็นปลายทางของทางรถไฟสายอันดามัน แม้ปัจจุบันตัวเมืองจะถูกย้ายไปแล้วก็ตาม แต่ในเขตเมืองเก่ากันตังก็ยังคงกลิ่นหอมแห่งอดีตที่อบอวนอยู่ในสถานที่สำคัญหลายแห่ง
เราตั้งหลักการเที่ยวชมเมืองกันตังกันที่สถานีรถไฟกันตัง ที่เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2456 เป็นสถานีรถไฟสุดท้ายบนเส้นทางอันดามัน ซึ่งอดีตที่การค้าทางรถไฟและทางเรือยังรุ่งโรจน์ สถานีรถไฟแห่งนี้จึงเป็นเหมือนจิ๊กซอร์ตัวสำคัญสำหรับการลำเลียงสินค้าทางรถไฟ เชื่อมต่อไปยังท่าเรือเพื่อกระจายสินค้าไปยังประเทศต่างๆทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย การมายืนอยู่หน้าสถานีรถไฟแห่งนี้ผมจึงอดจินตนาการไม่ได้ว่าในอดีตพื้นที่บริเวณนี้จะมีความคึกคักมากขนาดไหน
แม้ปัจจุบันเส้นทางรถไฟสายนี้ยังคงใช้งานอยู่ แต่ความคึกคักก็ไม่เหมือนอดีต หากแต่ด้วยตัวอาคารสถานีรถไฟที่สร้างเป็นอาคารชั้นเดียวทรงปันหยา ทาสีเหลืองขอบน้ำตาลหลังนี้นี่เอง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ด้วยความเก่าแก่และความสวยงามของตัวอาคาร จึงกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำหรับนักเดินทางที่จะแวะเวียนมาที่นี่เพื่อซึบซับและสูดกลิ่นอันหอมหวานของอดีต หลายมุมของสถานีรถไฟแห่งนี้ จึงกลายเป็นมุมถ่ายรูปสวยๆเท่ๆได้เป็นอย่างดี
บริเวณสถานีรถไฟมีร้านกาแฟสถานีรัก แท่งเข้าไปซื้อเครื่องดื่ม ส่วนผมเข้าไปด้วยเพราะไม่อยากยืนรอด้านนอก แต่ไหนๆก็เข้าไปแล้วจึงคิดจะอุดหนุนขนม แล้วก็เห็นขนมชื่อคุ้น แต่หน้าตาไม่ใช่อย่างที่คิด นั่นคือ ขนมจีบ ไม่ใช่ขนมจีบกุ้ง หมู หรือปู แต่เป็นขนมจีบไส้สังขยา ไม่ใช่ห่อด้วยแป้งเกี้ยวชิ้นพอดีคำ แต่มีลักษณะคล้ายพั๊ฟ แต่ทรงสูงกว่า ข้างในไส้สังขยา ซึ่งสังขยาเมืองตรังนี้แตกต่างจากสังขยาที่คุ้นเคย เพราะมีความเป็นเนื้อสังขยาค่อนข้างมาก เมื่อลิ้มลองแล้วสิ่งที่ได้รับคือความอร่อย
เราไปกันต่อที่บ้านไม้ 2 ชั้น ที่สร้างอย่างเรียบง่ายขนาดไม่ใหญ่ ตั้งอยู่ท่ามกลางการโอบกอดของเหล่าแมกไม้ใจกลางตัวเมืองกันตัง บ้านหลังนี้เป็นบ้านพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) อดีตเจ้าเมืองตรัง เมื่อปีพ.ศ.2433
ท่านเป็นผู้พัฒนาเมืองตรังให้เจริญรุ่งเรืองหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจการเกษตร โดยเป็นผู้นำยางพาราต้นแรกมาปลูกในประเทศไทย จนกลายเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐิกิจที่สำคัญ ปัจจุบันบ้านหลังนี้ยังคงรักษาตัวบ้านไว้เฉกเช่นอดีต รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน จนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของท่าน รวมถึงความเป็นไปของเมืองตรังเมื่อครั้งร้อยกว่าปีก่อน ที่เป็นรากฐานความเป็นตรังในปัจจุบัน
ก่อนที่เราจะอำลาน้องการ์ตูน เธอบอกว่าหากมีโอกาสไปกันตังอย่าลือมแวะไปลงอุโมงค์ที่ตำหนักจันทน์ ตอนนั้นเราก็งงๆอยู่เหมือนกันว่านอกจากที่เบตงแล้ว ภาคใต้ยังมีอุโมงค์ที่มีการขุดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกหรอ ในเมื่อมาถึงกังตันแล้ว และดูจากแผนที่ตำหนักจันทร์ก็อยู่ในตัวเมือง เราจึงแวะเข้าไปชมเพื่อให้หายสงสัย แต่เมื่อเข้าไปกลับเพิ่มความงงงวยชวนสงสัยมากขึ้นไปอีก เพราะพื้นที่แห่งนี้ดูอย่างไงก็เป็นสวนสาธารณะ ไม่เห็นว่าจะมีวีแววว่าเป็นตำหนัก แล้วอุโมงค์ที่น้องการ์ตูนพูดถึงนั้นอยู่ตรงไหน ทีแรกว่าจะวนรถกลับเพราะฝนทำท่าว่าจะตก แต่ไหนๆก็เข้ามาแล้ว จึงขอขับรถวนให้รู้ว่าสถานที่นี้คืออะไร จนเมื่อไปถึงจุดสูงสุดของเส้นทางจึงได้พบคำตอบ
ผมลงจากรถเพื่อไปสำรวจและดูป้ายบอกข้อมูล ได้ความว่าสถานที่แห่งนี้อดีตเคยใช้เป็นที่สร้างตำหนักชั่วคราวเพื่อรับเสด็จรัชกาลที่ 6 เมื่อคราวประภาสเมืองกังตังในปีพ.ศ.2452 ปัจจุบันตำหนักจันทร์นั้นไม่มีแล้ว แต่พื้นที่นี้ได้ปรับเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะควนตำหนักจันทร์ (ควนแปลว่า เนินเขา) สำหรับอุโมงค์นั้นเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเหตุที่พื้นที่แห่งนี้เป็นฐานที่ตั้งของกองกำลังทหารญี่ปุ่น
ผมชวนแท่งเดินขึ้นควน ซึ่งทั้งบันไดที่ชันแถมยังฝนตกอีก แต่เพื่อนร่วมทางผมก็ใจสู้ไม่ใช่น้อย เดินกางร่มคันน้อยที่อยู่ในกระโปรงท้ายของรถเช่า แล้วค่อยๆพาน้ำหนักตัวขึ้นไปอย่างช้าๆ
ด้านบนควนเป็นปากทางลงอุโมงค์ เมื่อเราเดินถึงแทนที่จะตื่นเต้นที่จะได้เข้าอุโมงค์ เรากลับรู้สึกเซ็ง เพราะมองไปไม่ไกลนักเป็นลานจอดรถ นั่นหมายความว่าเราสามารถขับรถขึ้นมาจอดได้ในระยะที่เดินไม่กี่ก้าวก็ถึงจุดที่เรากำลังยืนอยู่
อุโมงค์กองทัพญี่ปุ่นสร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกใช้งานในช่วงปีพ.ศ.2482 – 2488 ด้านในมีแต่ความมืดมิดเพราะแม้จะมีหลอดไฟ แต่ไฟไม่ติดสักดวง ผมเปิดไฟจากมือถือเพื่อส่องนำทาง ในขณะที่แท่งไม่ได้พกมือถือมาด้วย เดินเข้าไปได้แค่ไม่เท่าไหร่ แท่งก็ตัดสินใจเดินกลับ ส่วนผมยังคงเดินต่อไปเพื่อที่จะพบเพียงว่า อุโมงค์นี้แทบไม่มีอะไรน่าสนใจเอาเสียเลย เส้นทางนั้นก็สั้น เพียงแค่เจาะทะลุจากด้านหนึ่งของเนินเขา ไปโผล่อีกด้านหนึ่งเท่านั้น
ผมเดินอ้อมเนินเขา มาเจอแท่งบริเวณลานจอดรถ ที่ตรงนี้เป็นลานชมวิวพะยูน ไม่ใช่เป็นลานเพื่อชมพะยูนนะครับ แต่เป็นชื่อว่าลานชมวิวพะยูน มีไว้เพื่อใช้ชมวิวเมืองกันตัง แต่เอาเข้าจริงๆก็มองไม่เห็นสักเท่าไหร่ เพราะมีเรือนยอดไม้ปกคลุมจนแทบมิด แต่ในเมื่อตั้งชื่อว่าลานชมวิวพะยูน จึงมีการสร้างรูปปั้นพะยูนน่ารักๆ 6 ตัวอยู่บนป้าย ไปถึงเกาะลิบงแหล่งพะยูนก็ยังไม่ได้เห็นสักตัว อย่างน้อยมาที่กังตันได้เห็นรูปปั้นพะยูนก็ยังดี
เรากลับลงพื้นราบอีกครั้งเพื่อไปยังจุดสำคัญสุดท้ายของเมืองกังตัน หากแต่เป็นจุดแรกก่อนที่จะแพร่ขยายไปจนทั่วประเทศ นั่นคือ ต้นยางพาราต้นแรกของประเทศไทย ที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีนำมาจากประเทศอินโดนีเซียมาปลูกไว้ที่นี่เมื่อปีพ.ศ.2444
ผมเปิด GPS จากมือถือเพื่อนำทาง แม้ GPS จะบอกว่ายังไม่ถึง แต่ในเมื่อมีป้ายเขียนว่า ต้นยางพาราต้นแรก ปรากฏให้เห็น ผมก็รีบจอดรถทันที แล้วชักชวนแท่งเดินกางร่มฝ่าสายฝนเพื่อไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ซึ่งก็งงๆเหมือนกันว่าต้นยางพาราต้นแรกทำไมถึงไม่ได้รับการดูแลสักเท่าไหร่ เพราะเป็นเพียงต้นไม้ขนาดสูงใหญ่ที่ตั้งอยู่ริมถนน หน้าร้านค้า แถมยังมีสายไฟระโยงระยางเต็มไปหมด ถ่ายรูปออกมาแล้วไม่สวยเอาเสียเลย จนเมื่อเดินกลับ จึงมองป้ายชัดๆอีกครั้ง ตัวหนังสือที่เขียนนั่นอ่านไม่ผิดแน่ แต่สิ่งที่เพิ่งสังเกตเห็นก็คือ ลูกศรลางๆที่อยู่ข้างๆตัวหนังสือ มีทั้งลูกศรชี้ตรงไป กับลูกศรชี้ไปทางซ้ายมือ เห็นแล้วงง ว่าตกลงจะให้ตรงไป หรือให้เลี้ยวซ้ายกันแน่ แต่ที่แน่ๆ ต้นนี่ไม่ใช่ต้นยางต้นแรกชัวร์ แล้วนี่เราเดินฝ่าสายฝนมาเพื่อ? คนแถวนั้นคงงงว่าไอ้สองคนนี้มันมาถ่ายรูปต้นไม้ข้างถนนทำไม
ผมขับรถตรงต่อไปอีกหน่อย แล้วหยุดตาม GPS ในขณะที่สายฝนเทกระหน่ำลงมา แท่งขอรออยู่ในรถ ไม่แน่ใจว่าเพราะสายฝนหรือเพราะกลัวลงมาแล้วถ่ายรูปผิดต้นอีก ปล่อยให้ผมเดินกางร่มฝ่าสายฝนไปคนเดียว ต้นยางต้นแรกนี้ยืนต้นอยู่หน้าสหกรณ์การเกษตรกันตัง โดยมีพื้นที่ว่างเหลือไว้ปลูกหญ้าให้ต้นยางตั้งโดดเด่นขึ้นมาบ้าง พร้อมป้ายบอกว่า ต้นยางต้นแรกของไทย ตั้งอยู่ตรงนี้ ซึ่งหากขับรถหรือเดินผ่านก็คงไม่ได้สักเกตเห็น จะว่าไป ต้นไม้ข้างทางที่เราหลงเข้าใจผิดว่าเป็นต้นยางต้นแรก ดูจะสูงใหญ่และโดดเด่นกว่าเสียอีก
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 10.31 น.