ภูกระดึงรอบ 2 ไม่ไปไม่ได้แล้ว
ความคิดแวบแรกที่เข้ามาในหัวตอนช่วงกลางปี 2023 คือ "อยากไปดูพระอาทิตย์ขึ้นในวันเกิดตัวเองจังเลย" ก็เลยเกิดทริปนี้ขึ้นมา ซึ่งตอนแรกตัวเราจะมาขึ้นภูกระดึงคนเดียว แต่ได้เล่าแผนการนี้ให้น้องที่ทำงานฟัง สรุปไปๆมาๆ ได้เพื่อนร่วมทางซะงั้น จึงกลายเป็นทริป สสส. (สองสาวโสด) ขึ้นมาอย่างทันทีทันใด สำหรับตัวเราเป็นการขึ้นภูกระดึงรอบที่ 2 (รอบแรก ปี 2560) แต่สำหรับตัวน้อง คือ การขึ้นภูกระดึงครั้งแรกค่ะ ก็ต้องมาลุ้นกันว่าจะเป็นยังไง
การจัดการทริปเที่ยว
เนื่องจากเราเคยไปมาแล้ว เราเลยเป็นคนอาสาจัดการทริปในครั้งนี้ โดยเริ่มจากการกำหนดวันเที่ยว คือ ออกเดินทางวันที่ 30 พ.ย. 2566 ขึ้นภูกระดึงวันที่ 1 ธ.ค. 2566 และลงจากภูกระดึงวันที่ 3 ธ.ค. 2566 หลังจากกำหนดวันได้แล้ว ทุกคนอย่าลืมไปจองคิวเข้าอุทยานด้วยนะคะ โดยทางเราจองผ่านแอป QueQ แต่ถ้าไม่จองก็ถือว่าเสี่ยงดวงเอานะคะ เนื่องจากอุทยานจะรับคิว Walk-in เพียงวันละ 600 คนค่ะ ถ้าไปช่วงคนไม่เยอะก็ถือว่าโชคดีไปค่ะ
สำหรับการจองรถทัวร์ เราจองกับบริษัทซันบัสค่ะ ผ่านช่องทางไลน์ (ID : @sunbus) โดยจองทั้งขาไปและขากลับ ราคาตั๋วเที่ยวละ 699 บาทค่ะ เวลาขาไป 21.00 น. ขึ้นที่หมอชิต 2 ส่วนขากลับเราจอง 20.00 น. ขึ้นที่ผานกเค้า (ร้านเจ้กิม) ขอแนะนำให้จองรถทัวร์ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือนนะคะ หรือถ้าสามารถจองได้มากกว่านั้นก็ดีค่ะ เพราะขนาดเราจองล่วงหน้า 1 เดือน แผนผังการเลือกตำแหน่งที่นั่งก็เกือบเต็มแล้วค่ะ
สำหรับที่พักบนภูกระดึง ก็จะมีด้วยกันสองแบบ คือ บ้านพัก และเต็นท์นอน สามารถทำการจองออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของอุทยานแห่งชาติได้เลยค่ะ (https://nps.dnp.go.th/index.ph...) ซึ่งถ้าใครจองไม่ทัน ไม่ต้องเป็นห่วงว่าเราจะไม่มีที่นอน สามารถไปจองหน้างาน หรือเช่าเต็นท์ผ่านร้านค้าข้างบนได้เลยค่ะ เพราะว่าเราก็ไปเช่าเต็นท์หน้างานเหมือนกันค่ะ โดยราคาของอุปกรณ์และเต็นท์ มีรายละเอียดดังนี้ค่ะ 1) ถุงนอน 30 บาท/คืน/หน่วย 2) ที่รองนอน 20บาท/คืน/หน่วย 3) หมอน 10 บาท/คืน/หน่วย 4) ผ้าห่มผืนเล็ก 30 บาท และผืนใหญ่ 50 บาท/คืน/หน่วย 5) เต็นท์เช่าอุทยาน 225 บาท/คืน (พักได้2-3คน) และ 5) ในกรณีแบกเต็นท์ไปเองหรือเช่าเต็นท์ของร้านค้า ต้องเสียค่าพื้นที่กางเต็นท์ 30บาท/คืน สำหรับบ้านพักก็มีหลายราคาค่ะ และพักได้หลายคน แล้วแต่จำนวนที่ทางอุทยานกำหนดค่ะ อันนี้อาจจะต้องให้ผู้ที่สนใจไปศึกษากันเองค่ะ
พกของอะไรไปด้วยดีละ...
สิ่งของที่เราเตรียมเป็นส่วนใหญ่เป็นของเล็ก ๆ ที่มีความจำเป็นและสามารถยัดเข้าไปในกระเป๋าได้อย่างไม่ล้นออกมา มีดังนี้ 1) ไฟฉายขนาดเล็ก เพราะที่ภูกระดึง ไฟฟ้าส่องทางจะให้แสงสว่างน้อย จนเกือบจะมองไม่เห็นทางเลยทีเดียว 2) ยากันยุงชนิดน้ำ พกพาสะดวกสบาย ใช้ไล่ยุงก็ได้ ใช้ไล่ทากก็ดี 3). ยาแก้ปวดเมื่อย ยา คลายกล้ามเนื้อ ยาพารา ยาโรคประจำตัว ยาสเปร์ยฉีดหรือแผ่นยาแก้อักเสบกล้ามเนื้อ ยาแก้แพ้ ยาระบายท้องผูกก็ดีนะ 4) เสื้อผ้ากันหนาว ผ้าพันคอ ถุงมือ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วจะหนาวเข้าไปถึงตับเลยทีเดียว โดยเฉพาะถุงมือ นี่สำคัญมาก ไม่อย่างงั้นแล้วมือจะบวมและชามาก 5) พาวเวอร์แบงค์ สำคัญที่สุด ไม่อย่างนั้นไม่มีแบตกล้องมือถือไว้เก็บภาพสวย ๆ นะ ซึ่งข้างบนส่วนที่พักก็จะมีศูนย์ให้บริการการชาร์ตมือถือ และพาวเวอร์แบงค์ด้วยค่ะ 6) เงิน เงิน เงิน นั้นสำคัญไฉน เพราะถ้าไม่พกไปจะไม่สามารถซื้ออะไรกินได้เลย และ 7) อื่น ๆ ตามที่ต้องการตามความเหมาะสมและความต้องการจ้า เช่น เสื้อกันฝน ร่ม อุปกรณ์กันทากต่าง ๆ (ซึ่งช่วงที่เราไปยังคงมีทากเล็กน้อยแต่ไม่มากค่ะ) ผ้าใบรองเต็นท์ หรือคลุมเต็นท์ รองเท้าแตะ เป็นต้น
Day 1 : 01/12/2566
ผานกเค้า...ร้านเจ๊กิมเจ้าดัง
ร้านเจ๊กิม คือ จุดมุ่งหมายสำหรับคนที่เดินทางด้วยรถบัส เพราะเป็นสถานที่รองรับของนักเดินทางที่ใคร ๆ ก็มาแล้วก็ประทับใจ เนื่องจากมีพื้นที่หลังร้านรองรับให้ทำภารกิจส่วนตัวทั้งขาไปและขากลับ มีห้องสุขา และห้องอาบน้ำที่ครบครัน รวมทั้งมีอาหารที่หลากหลายไว้รองรับ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่กะทะ ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว พิซซ่าเตาฟืน และสเต๊ก เป็นต้น
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูกระดึง
หลังจากเสร็จภารกิจที่ร้านเจ๊กิม ก็ได้เวลาออกเดินทางมุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงแล้วจ้า โดยบริเวณหน้าร้านเจ๊กิมจะมีรถสองแถวที่ให้บริการไปสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ราคาเหมาจะอยู่ที่ 300 - 360 บาทต่อเที่ยว โดยกำหนดให้นั่งได้ไม่เกิน 6 คน ซึ่งถ้าหารค่ารถกันก็ตกคนละ 50 - 60 บาทจ้า สำหรับค่าเข้าอุทยานคนละ 40 บาท ซึ่งรถสองแถวก็จะจอดเพื่อให้เราลงมาจ่ายค่าเข้าอุทยานค่ะ
พอเรามาถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เราต้องทำการเข้าไปบริเวณข้างไหนเพื่อลงทะเบียนในช่อง 1 ก่อนค่ะ ทั้งสำหรับคนที่มีใบเสร็จในการจอง และไม่มีใบเสร็จก็ต้องทำการลงทะเบียนเช่นกันค่ะ ช่องบริการที่ 2 ค่าพื้นที่กางเต็นท์สำหรับคนที่เอาเต็นท์มาเองหรือเช่าเต็นท์กับทางร้านค้า ช่องบริการที่ 3 และ 4 สำหรับการเช่าเต็นท์และบ้านพักสำหรับคนที่ไม่สามารถจองออนไลน์ได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเราเอง หลังจากที่เสร็จบริเวณนี้ อย่าลืมซื้อประกันด้วยนะคะเพียงคนละ 10 บาทเท่านั้นเองค่ะ สำหรับขั้นตอนในจุดนี้เราขอแนะนำให้มาแต่เช้านะคะ เพราะถ้ามาช่วงคนเยอะก็คือแถวยาวมาก ล้นอาคารกันเลยทีเดียว
สำหรับการเช่าลูกหาบ เราต้องเดินมาทางด้านหลังอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ก็คือ อาคารหมายเลข 4 จุดรับส่งสัมภาระ ทำการซื้อใบติดแทร็คกระเป๋า ใบละ 5 บาทค่ะ 1 ใบต่อ 1 ชิ้น เขียนข้อมูลตามที่ใบแทร็คให้มาให้ครบถ้วน แล้วนำกระเป๋าไปต่อคิวเพื่อชั่งน้ำหนักค่ะ เราจะได้ใบแทร็คมาส่วนหนึ่งจากเจ้าหน้าที่หลังจากชั่งน้ำหนักกระเป๋าเสร็จแล้ว ซึ่งเราต้องเก็บส่วนที่เจ้าหน้าที่ให้มานะคะ เพื่อนำไปยื่นเป็นหลักฐานในการจ่ายเงินให้ลูกหาบค่ะ โดยราคาน้ำหนักกระเป๋าจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท ส่วนการเสียค่าบริการ คือ หลังจากที่ลูกหาบแบกของ ๆ เราขึ้นไปบริเวณที่พัก สามารถเสียได้โดยตรงกับลูกหาบเลย ซึ่งส่วนนี้ไม่การโอนนะคะ ต้องเสียเป็นเงินสดให้ลูกหาบเท่านั้นค่ะ
อันนี้เราขอแนะนำเพิ่มเติมค่ะ ถ้าใครไปช่วงที่คนเยอะหรือหน้าเทศกาล แล้วมีเพื่อนหรือครอบครัวไปด้วย เราแนะนำให้แบ่งเป็นสองทีมค่ะ คือ 1) ทีมที่ทำหน้าที่บริเวณภายในอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูกระดึง และ 2) ทีมที่ทำหน้าที่ไปจ้างลูกหาบค่ะ ไม่งั้นอาจเสี่ยงต่อการที่ลูกหาบหมดได้ค่ะ แบกของเองขึ้นไปไม่รู้ด้วยหน่า
ไปเดินให้ปวดขา ปวดน่อง และกล้ามเนื้ออักเสบกันเถอะ
พอหลังจากจากลูกหาบเสร็จแล้ว ก็ได้เวลาเจอของจริงกันแล้วแหละ ก่อนขึ้นเขาก็อย่าลืมเข้าห้องน้ำ ห้องท่าให้เรียบร้อยก่อนนะคะ เพราะหนทางข้างหน้านั้นช่างยาวไกลเหลือเกิน ก่อนเข้าไปบริเวณที่เราจะเริ่มเดินขึ้นเขาอย่าลืมยื่นบัตรค่าเข้าบริการ 40 บาท ที่เราเสียไว้ตั้งแต่แรกให้เจ้าหน้าที่บริเวณทางเข้าดูด้วยนะคะ พร้อมกับลงชื่อ กับเวลาขาเข้าด้วยคะ
ตลอดเส้นทางเดินในช่วงแรกจะมีทั้งทางลาด ทางชัน และทางบันได โดยทางลาดกับทางชัน เส้นทางส่วนใหญ่จะเป็นทางดินที่ต็มไปด้วยทั้งรากไม้ หิน และทราย บวกกับความชันที่สูงเป็นระยะ ๆ ในบางพื้นที่ ก็เล่นทำเอาหอบไม่ใช่เล่น ๆ ที่สำคัญคือ ควรระมัดระวังในการเดินด้วยนะคะ ถ้าล้มลงไปก็คือได้กลิ้งลงมาเป็นลูกขนุนแน่นอน
จุดพักที่ 1 ปางกกค่า ระยะทาง 800 เมตร สภาพทางมีความลาดชันเล็กน้อยถึงปานกลาง มีทั้งเป็นทางดิน และทางขั้นบันไดหิน
จุดพักที่ 2 ซำแฮก ระยะทาง 1,000 เมตร เป็นจุดพักที่พร้อมไปด้วยร้านอาหาร และร้านค้ามากมายค่ะ สำหรับใครที่ยังไม่ได้กินข้าวเช้ามา ถือว่าเป็นจุดพักเติมพลังได้ดีที่เดียว แถมยังมีวิวสวย ๆ ให้เราได้หยุดมอง แค่เห็นก็คุ้มแล้วค่ะ
จุดพักที่ 3 ซำบอน ระยะทาง 1,700 เมตร สภาพทางมีความลาดชันปานกลาง ส่วนใหญ่เป็นทางเดินดิน บางช่วงผสมเศษใบไม้แห้งที่หล่นเหมือนปูพรมตลอดทาง รวมทั้งมีรากไม้ขนาดใหญ่ที่ทั้งขวางทางเดินและเป็นตัวช่วยพยุงในการปีนป่ายไปพร้อม ๆ กันค่ะ
จุดพักที่ 4 ซำกกกอก ระยะทาง 2,140 เมตร สภาพทางมีความคล้ายเกือบเหมือนกับซำบอน ยังคงเดินง่าย รับกินลมชมธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ค่ะ แค่เห็นสีเขียวของยอดต้นไม้ตัดกับสีของท้องฟ้า แค่นี้ก็ถือว่าคุ้มสำหรับเรามากแล้วค่ะ
จุดพักที่ 5 ซำกอซาง ระยะทาง 2,340 เมตร เป็นจุดพักที่มีร้านค้า และร้านขายของค่ะ แน่นอนเราก็พักเช่นเคย กินไอติมหลอด ลูกชิ้น กล้วย 1 ลูก แค่นี้ก็ฟินแล้วจ้า แนะนำว่าถ้าใครร้อนและมีเหงื่อออกเยอะ ผ้าเย็นนี่คือผู้ช่วยชีวิตเลย
จุดพักที่ 6 พร่านพรานแป ระยะทาง 2,480 เมตร เป็นจุดพักไม่มีร้านค้า เส้นทางยังคงมีความลาดชันเล้กน้อย บางช่วงเดินง่าย แต่บางช่วงก็เต็มไปด้วยรากไม้ และหิน
จุดพักที่ 7 ซำกกหว้า ระยะทาง 2,920 เมตร เป็นจุดพักที่มีร้านค้า และร้านขายของค่ะ
จุดพักที่ 8 ซำกกไผ่ ระยะทาง 3,380 เมตร สมกับชื่อค่ะ ต้นไผ่เยอะมาก ยังคงมีความลาดชันเล็กน้อย แต่ยังคงเดินได้สบาย ๆ
จุดพักที่ 9 ซำกกโดน ระยะทาง 3,680 เมตร เป็นจุดพักที่มีร้านค้า ร้านขายของ ร้านอาหาร พร้อมกับห้องสุขาที่ค่อนข้างโอเคเลยคะ
จุดพักที่ 10 ซำแคร่ ระยะทาง 4,130 เมตร ขอแนะนำว่าพักจุดนี้ให้นาน ๆ กินอาหารให้อิ่ม ๆ เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย เพราะหลังจากจุดนี้ไป อีก 1,300 ม. สำหรับเราคือโหดสุดแหละค่ะ เนื่องจากมีความลาดชัน มีโขดหินผสมกับเส้นทางบันไดที่ทั้งชัน ต้องใช้คำว่าบางจุดต้องปีนป่ายกันเลยทีเดียวคะ มีทั้งโขดหิน ทั้งต้นไม้ รากไม้ ที่เราจะต้องพึ่งพวกมันใช้ในการพยุงตัวและปีนขึ้นไป ซึ่งต้องเดินขึ้นไปด้วยความระมัดระวังอย่างมากคะ เพราะถ้าเกิดสะดุด หรือล้ม จะมีอันตรายอย่างมากเลย บางช่วงก็จะมีบันได ก็จะดูน่าหวาดเสียวหน่อยคะ
เวลาประมาณ 13.00 น. ในที่สุดเราก็สามารถพิชิต 5,430 ม. ได้ เรามาอยู่จุดที่เรียกว่า "หลังแป" อยากจะบอกว่าวิวสวยสุด ๆ คุ้มกับความเหนื่อยเลยทีเดียว ซึ่งจากหลังแปเดินไปจุดกางเต็นท์ (ศูนย์วังกวาง) ก็อีกประมาณ 3 กิโลเมตรได้คะ
พอเรามาถึงศูนย์วังกวาง เราต้องไปที่อาคารที่ทำการอุทยานก่อนนะคะ เพื่อไปติดต่อเรื่องที่นอนหมอนมุ้งสำหรับคนที่ไม่ได้พกมาเองค่ะ ในกรณีที่เราไม่ได้เช่าในเว้บไซต์มา ทางเจ้าหน้าที่ก็จะสอบถามว่าจะเช่าหมอน ผ้าห่ม จำนวนเท่าไหร่ ขนาดเท่าไหร่ค่ะ หลังจากนั้นเราก็จะเสียเงินและได้บิลใบเสร็จมาค่ะ ซึ่งเราต้องเก็บไว้เพื่อยืนยันสำหรับไปเอาหมอนและผ้าห่ม รวมทั้งเบาะรองนอน ซึ่งจะอยู่ด้านหลังอาคารค่ะ เราต้องเอาบิลใบเสร็จไปยื่นเพื่อขอรับอุปกรณ์การนอนของเรา แต่ถ้าใครจองมาในเว็บไซต์สามารถเอาบิลใบเสร็จไปเบิกอุปกรณ์การนอนได้เลยค่ะ สำหรับเต็นท์ก็สามารถติดต่อได้ที่อาคารเบิกอุปกรณ์การนอนเช่นกันค่ะ เจ้าหน้าที่จะบอกว่าเราได้เต็นท์หมายเลขที่เท่าไหร่ค่ะ
ซึ่งภายในอุทยานฯ นอกจากจะมีอาคารอุทยานที่ทำการแล้ว ก็จะพร้อมสรรพไปด้วยห้องน้ำ ห้องสุขาที่รองรับอย่างเพียงพอคะ (แต่ถ้าช่วงคนเยอะก็อาจจะเข้าแถวหน่อยนะคะ) ส่วนร้านอาหารก็จะมีให้เลือกสรรเยอะพอสมควร แต่อย่างที่บอกคะ ว่าราคาก็จะสูงกว่าปกติคะ อย่างเช่น หมูกะทะ ก็จะขายในราคาชุด 500 บาทคะ อาหารตามสั่ง ราคา 60 บาทขึ้นไป มาม่าคัพ 30 บาท น้ำเปล่าขวด 0.6 ลิตร 30 บาท น้ำเปล่า 1.5 ลิตร 50 บาท เป็นต้น สำหรับเรื่องสัมภาระ ลูกหาบมาช้ากว่าเราประมาณเกือบชั่วโมงค่ะ แต่เราไม่รีบ ก็เลยเดินสำรวจไปทั่ว ส่วนค่าสัมภาระของเราอยู่ที่ 240 บาท (8 กิโลกรัม)
ระหว่างที่รอจะไปดูพระอาทิตย์ตกที่ผาหมากดูด เราแนะนำให้ทุกคนลองเดินไปที่อ่างเก็บน้ำไพรัตน์ก่อนก็ได้นะคะ อยู่ห่างจากศูนย์วังกวางเพียงไม่กี่ร้อยเมตรเองค่ะ บรรยากาศสงบ ไม่ค่อยมีผู้คนค่ะ หลังจากนั้นเราจึงค่อยเดินไปที่ผาหมากดูดซึ่งมีระยะทาง 2 กิโลเมตรกว่า ๆ ค่ะ สามารถเช่าจักรยานหรือจะเดินไปก็ได้นะคะ แนะนำให้จำเวลาช่วงที่พระอาทิตย์ตกไว้ด้วยค่ะ จะได้กะเวลาในการไปถึงได้ถูก สำหรับขากลับจากการดูพระอาทิตย์ตก แนะนำให้พกไฟฉายไปด้วยนะคะ ทางค่อนมืดทีเดียว
Day 2 : 02/12/2566
ไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่นกันเถอะ
เวลา 04.15 น. เราและน้องที่ทำงานตื่นขึ้นมาล้างหน้า แปรงฟัน เพื่อที่จะเตรียมตัวไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ "ผานกแอ่น" ค่ะ โดยการไปดูพระอาทิตย์ขึ้น จะมีเจ้าหน้าที่นำทางให้ค่ะ ไม่สามารถที่จะไปโดยตามลำพังได้ เพราะเนื่องจากอาจเจอเจ้าสัตว์มีงวงออกมาเดินเล่นยามเช้าเหมือนกันค่ะ โดยเวลาที่เจ้าหน้าที่นัดหมายคือเวลา 05.00 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่จะประกาศเสียงตามสายค่ะของทุกคืนค่ะ และจากที่พักไปถึงผานกแอ่น เป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตรกว่า ๆ ค่ะ ใช้เวลาประมาณ 40 นาทีก็จะถึงที่หมาย แนะนำให้พกไปฉายไปด้วยค่ะ ทางค่อนข้างมืด และสภาพเส้นทางก็มีทั้งหลุมและรากไม้ อาจจะสะดุดได้ค่ะถ้าไม่มีแสงสว่างคอยนำทาง แล้วก็แนะนำอีกอย่างหนึ่งค่ะ พยายามไปเป็นคนแรก ๆ นะคะ เพราะจะสามารถเลือกที่นั่งบริเวณริมผาได้ เวลาถ่ายรูปจะไม่ค่อยติดคน แต่ถ้ามาท้าย ๆ รูปพระอาทิตย์ขึ้นของเราก็จะมีหัวคนโดเด่ไปหมดค่ะ โดยบริเวณผานกแอ่นจะมีเจ้าหน้าที่ขายเครื่องดื่มร้อน ๆ กับขนมปังด้วยค่ะ และอย่าลืมแต่งตัวกันความหนาวด้วยนะคะ ถึงแม้วันที่เราไปจะหนาวเพียง 17 องศา แต่หนาวก็คือหนาวค่ะ
หลังจากที่ดูพระอาทิตย์ขึ้นเสร็จ ทางที่เราเดินกลับจะเดินอีกเส้นทางหนึ่งค่ะ ซึ่งจะผ่านลานพระแก้ว อย่าลืมสักการะไหว้ พระตรงบริเวณนั้นด้วยนะคะ เสริมความเป็นสิริมงคลในตอนเช้าค่ะ
ใบเมเปิ้ลสีแดงอยู่ที่ไหนนะ
หลังจากที่ทำธุระส่วนตัวเสร็จแล้ว เราก็ต้องเติมพลังด้วยการกินข้าวเช้า โดยร้านที่เราฝากท้องคือ ร้าน ท.บริการ สิ่งที่เรากิน ได้แก่ โจ๊กใส่ไข่ ปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้ และน้ำเปล่าขวดใหญ่ ราคารวมอยู่ที่โดยประมาณ 170 บาท ซึ่งโจ๊กร้านนี้อร่อยมาก จนเราต้องฝากท้องไว้ตั้ง 2 มื้อเช้าเลยแหนะ สำหรับใครที่พกแบตสำรอง แบตกล้อง โน็ตบุค แล้วกลัวจะไม่มีที่ชาร์ต ไม่ต้องเป็นห่วงค่ะ ข้างบนมีบริการให้ชาร์ตจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของอุทยานค่ะ โดยการชาร์ตแต่ละประเภทราคาก็ไม่เท่ากันค่ะ โทรศัพท์มือถือและแบตกล้อง ราคา 20 บาท/เครื่อง แท็บเล็ต แบตสำรอง โน็ตบุค ราคา 40 บาท/เครื่อง โดยเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 05:00 น. - 22:00 น. ค่ะ
สำหรับวันนี้เรากับน้องวางแผนจะไปตามล่าหาใบเมเปิ้ลค่ะ โดยจะอยู่ในบริเวณโซนน้ำตก ซึ่งจะไม่สามารถเช่ารถจักรยานเข้าไปได้ ต้องเดินเท้าเท่านั้น โดยจุดเริ่มต้นจะต้องออกทางบริเวณด้านหลังศูนย์บริการนักทท่องเที่ยววังกวาง ซึ่งจะมีป้ายบอกทางโดยตลอด ไม่ต้องกลัวหลงค่ะ หลังจากนั้นก็จะต่อด้วยน้ำตกวังกวาง น้ำตกเพ็ญพบใหม่ น้ำตกโผนพบ น้ำตกเพ็ญพบ น้ำตกถ้ำใหญ่ และองค์พระพุทธรูปพระพุทธเมตตา ตั้งแต่เวลาโดยประมาณ 09.30 น. - 14.00 น. หรือประมาณ 4.30 ชั่วโมง โดยส่วนใหญ่ต้นเมเปิ้ลสามารถเห็นได้ตลอดเรื่อย ๆ ในบริเวณโซนน้ำตก แต่จะเห็นเยอะสุดในบริเวณน้ำตกเพ็ญพบใหม่ เราถือว่าโชคดีมากที่เลือกไปวันที่ต้นเมเปิ้ลแดงทั้งต้นแล้ว ดังนั้น ภารกิจครั้งนี้ถือว่าสำเร็จค่ะ
หลังจากกลับมาจากเดินโซนน้ำตก ช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. เรากับน้องก็ตรงดิ่งไปที่ร้านอาหารทันทีเลย อันเนื่องมาจากหิวข้าวมาก ดังนั้น เราขอแนะนำว่าให้พกน้ำ พกอาหารกลางวันไปด้วยนะคะ เผื่อเอาไว้กินระหว่างทาง เพราะโซนน้ำตกไม่มีร้านค้าใด ๆ เลยค่ะ และเส้นทางก็ค่อนข้างไกลเลยทีเดียว กว่าจะวนกลับมาที่บริเวณลานกางเต็นท์ ก็คือ หิวแล้วหิวอีก หิวจนลืมถ่ายรูปมื้ออาหารมื้อนี้ไปเลย แต่จำได้ว่าไปกินข้าวร้านเจ๊กิมค่ะ โดยสั่งข้าวผัดหมู (ที่เหมือนของเด็กมาก ไม่มีผักมาเลย555) ผัดผักรวมมิตร (เค็มแต่อร่อยดี555) น้ำอัดลม น้ำเปล่าขวดใหญ่ ส่วนน้องที่ทำงานสั่งข้าวขาหมูค่ะ น้องบอกว่ารสชาติข้าวขาหมูค่อนข้างโอเคเลยค่ะ
ถ้าใครไปภูกระดึงช่วงหยุดยาวอาจต้องทำใจหน่อยนะคะ ในเรื่องของห้องน้ำ ห้องสุขาที่อาจต่อคิวกันยาวนิดหน่อย รวมทั้งอาจเกิดสถานการณ์น้ำไหลช้าในห้องอาบน้ำ เนื่องจากคนเยอะ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเย็นถึงดึกค่ะ เรากับน้องที่ทำงานเลยตัดสินใจว่าจะอาบน้ำกันตั้งแต่บ่ายสาม บ่ายสี่กันเลย เพราะไม่อยากต่อคิวยาว และน้ำก็ไหลแรงดีมาก หลังจากทำภารกิจส่วนตัวเสร็จ ก็นอนเล่นกันในเต็นท์ เพื่อรอกินชาบูตอนเย็นค่ะ ซึ่งอย่างที่บอกค่ะ ช่วงหยุดยาวคนเยอะมาก ร้านหมูกระทะ ชาบูเต็มทุกร้าน ถ้าใครจองที่นั่งกับร้านได้ก่อน ควรจองนะคะ ไม่งั้นอดกินนะ
Day 3 : 03/12/2566
สำหรับวันที่ 3 ท้องฟ้ายังคงมีเมฆครึ้มอยู่ ไม่ค่อยสดใสมากนัก สำหรับการเช่าลูกหาบจะสามารถเช่าได้ตั้งแต่ 07.00 น. - 10.00 น. แต่ขอแนะนำให้มาจองแต่เช้าจะดีกว่า โดยเฉพาะคนที่ไปช่วงหยุดยาว เพราะอาจจะเกิดกรณีลูกหาบหมดได้ค่ะส่วนของที่เราเช่าไม่ว่าจะเป็นหมอน ถุงนอน ที่รองนอน เราต้องขนมาคืนบริเวณอาคารที่เราขนไปค่ะ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะนำมาตากแดดค่ะ สำหรับใครที่ห่วงเรื่องสุขภาวะของที่นอนหมอนมุ้ง ก็แนะนำให้พกหมอน ถุงนอน ที่รองนอนมาเองก็ได้ค่ะ จะได้หายห่วงเรื่องสุขภาวะและความสะอาดของที่นอนค่ะ หลังจากที่เสร็จภารกิจเรื่องลูกหาบและที่นอนหมอนมุ้ง เราก็ต้องเติมพลังด้วยอาหารเช้ากันหน่อยค่ะ ก่อนที่จะต้องเดินทางไกลกันอีกรอบหนึ่ง โดยในส่วนของขากลับเราขอไม่ลงดีเทลอะไรมากนะคะ เพราะสภาพแวดล้อมเหมือนกับขาขึ้น แต่สภาพของเราอาจจะหนักกว่าด้วยซ้ำ ทั้งเสียวจากความชัน ทั้งเมื่อย ทั้งปวดขาเพราะเกร็งขาเวลาเดินลงสุด ๆ ใช้เวลาเดินลงทั้งหมดประมาณ 5 ชั่วโมงค่ะ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. - 15.00 น. เวลาที่เหลือก่อนรอรถมารับ ก็จะอยู่ที่ร้านเจ๊กิมค่ะ ซึ่งร้านจะปิดช่วงเวลาประมาณ 20.30 น. สามารถรับประทานอาหาร อาบน้ำ พร้อมซื้อของฝากจบครบที่เดียวเลยค่ะ
และนี่ก็คือการเดินทางไปภูกระดึงปี 2566 สำหรับใครที่อยากไปดูใบเมเปิ้ล หรืออยากรู้ว่าภูกระดึงมีกิจกรรมอะไรให้ทำบ้าง เราแนะนำว่าให้ลองเข้ากลุ่มชมรมคนรักภูกระดึง ในเฟสบุคค่ะ จะมีเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ที่น่ารักมาคอยบอก คอยเล่า และตอบคำถาม หรือจะเข้ากลุ่มอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการไปเที่ยวภูกระดึงก็ได้นะคะ จะมีคนมารีวิวแบบเรียลไทม์เสมอ ซึ่งจะสามารถทำให้รู้ได้ค่ะว่าช่วงที่ใบเมเปิ้ลจะเป็นสีแดงคือช่วงไหน สภาพอากาศเป็นอย่างไร มีกิจกรรมอะไรบ้างที่ต้องอัปเดต สำหรับใครที่เป็นคนกินน้ำเยอะแบบเรา แนะนำให้ซื้อเป็นแพ็คแล้วจ้างลูกหาบจะประหยัดกว่าค่ะ แต่เนื่องจากเราเดินทางโดยรถสาธารณะอาจจะไม่สะดวกมากนัก ซึ่งหวังว่าการรีวิวของเราจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่กำลังจะไปเที่ยวภูกระดึงนะคะ สุดท้ายนี้อยากบอกทุกคนว่า "พวกเราไปพิชิตภูกระดึงกันเถอะค่ะ" สวัสดีปีใหม่ 2567 ค่ะทุกคน
สรุปค่าใช้จ่ายต่อคนโดยประมาณ
ค่ารถทัวร์เดินทางไป-กลับกทม. : 1,398 บาท
ค่ารถสองแถวไป-กลับภูกระดึง : 110 บาท
ค่าอุปกรณ์ที่นอนและเต็นท์ : 345 บาท
ค่ากินทั้งหลายแหล่ (ฉบับคนกินเยอะ) : 2,720 บาท
ค่าของใช้จิปาถะ : 250 บาท
ค่าลูกหาบไป-กลับ : 540 บาท
ค่าเข้าอุทยาน : 40 บาท
ค่าประกันอุบัติเหตุ : 10 บาท
ค่าแผนที่ : 10 บาท
ค่าชาร์จพาวเวอร์แบงค์และมือถือ : 60 บาท
ค่าของฝาก : 670 บาท
รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด : 6,153 บาท
Natchayada Kantasit
วันอังคารที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 16.42 น.