
สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ปรากฏบนแผนที่รถไฟฟ้า Metro ถูกผมจัดการด้วยการไปเยือนจนเหลือน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งหากตัดพวกสุสานต่างๆออกแล้ว ก็คงเหลือแต่ ควูทับ มินาร์ (Qutab Minar) ซึ่งไม่ใช่สถานที่เที่ยวแบบมีเวลาเหลือแล้วค่อยไปเยือน หากแต่เป็นหนึ่งในที่สุดสถานที่สำคัญของอินเดีย


ดูจากแผนที่ วัดดอกบัวกับควูทับ มินาร์นั้นอยู่ไม่ไกลกันนัก โดยอยู่ทางตอนใต้ของเดลีเหมือนกัน แต่หากเดินทางด้วยรถไฟฟ้าแล้ว ถือว่าค่อนข้างไกล เพราะอยู่คนละเส้นกัน ซึ่งต้องนั่งย้อนกลับเพื่อไปเปลี่ยนเส้นทางที่สถานี Central Sectt. บริเวณอินเดียเกท แต่ในเมื่อไม่สามารถนั่งรถเมล์ซอกแซกได้เช่นคนท้องถิ่น การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าจึงยังคงเป็นการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัยต่อการหลงทางมากที่สุด

จากรถไฟฟ้าสายสีม่วง ผมเปลี่ยนมาต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เพื่อนั่งลงใต้ไปจนถึงสถานี Saket จากนั้นต่อรถเมล์สาย 539 ที่ฝั่งตรงข้ามสถานีเพื่อไปยังควูทับ มินาร์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในถนนสายเล็กๆที่แยกจากถนนสายหลัก ซึ่งแม้เวลานี้จะเย็นมากแล้ว แต่ยังคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว ซึ่งจากการคาดคะเนด้วยสายตา ปริมาณนักท่องเที่ยวที่มาเยือนนั้นมีมากพอๆกับทัชมาฮาลเลยทีเดียว

สาเหตุที่ควูทับ มินาร์ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากขนาดนี้ เพราะนอกจากยูเนสโก้จะขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.1736 แล้ว หอคอย (minaret) ของควูทับ มินาร์ที่มีความสูงถึง 72.5 เมตร ยังครองตำแหน่งหอคอยโบราณที่มีความสูงมากที่สุดในโลกอีกตำแหน่ง

เมื่อเป็นหอคอยที่มีความสูงมากที่สุดในโลก ค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติจึงสูงตามไปด้วยถึงคนละ 250 รูปี แต่ผมไม่กลัวหรอก เพราะมั่นใจว่าพาสปอร์ตไทยช่วยผมได้ ว่าแล้วผมก็เดินไปต่อแถวในช่องจำหน่ายตั๋วสำหรับคนอินเดีย พร้อมโชว์พาสปอร์ตไทย จากนั้นจึงจ่ายค่าเข้าชมเพียง 10 รูปีเช่นเดียวกับคนอินเดีย เล่นเอานักท่องเที่ยวฝรั่งผมทองมองตาปริบๆ

ตำนานระบุไว้ว่าหอคอยที่สูงเสียดฟ้านี้สร้างขึ้นโดยขุนพลควูทับ บิดดินเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของชาวมุสลิมที่มีเหนือชาวฮินดู หากแต่เป็นการสร้างบนแผ่นดินของชาวฮินดู รูปแบบการสร้างจึงผสมผสานระหว่างศิลปะฮินดูที่สะท้อนออกมาด้วยรูปแบบของลวดลายที่ประดับประดาบนพื้นผิว กับศิลปะมุสลิมที่เด่นชัดด้วยตัวอักษรอาหรับแกะสลักรอบฐานของหอสูง ที่สร้างขึ้นในลักษณะเดียวกับหอสูงของมัสยิด

ควูทับ มินาร์มิได้ถูกสร้างครั้งเดียวจนเสร็จ แต่มีการสร้างต่อเติมให้มีความสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนแล้วเสร็จในปีพ.ศ.1911 โดยมีลักษณะเป็นหอคอยซ้อนกันถึง 5 ชั้น ทำให้ไม่ว่าจะเดินไปมุมไหนภายในพื้นที่อันกว้างใหญ่แห่งนี้ ภาพของหอคอยที่สูงเสียดฟ้าก็ยังคงปรากฏให้เห็น

ไม่ใช่เพียงหอคอยเท่านั้นที่ยังคงผ่านกาลเวลาจนมาถึงปัจจุบัน มัสยิดที่อยู่เคียงคู่นามว่ามัสยิดควูวัต อูล (Quwat - Ul Islam Mosque) ก็ยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ โดยงดงามด้วยลวดลายแกะสลักแบบละเอียดยิบ ยิ่งเวลาแดดร่มลมตกเช่นนี้ แสงเงาของแดดอ่อนละมุนที่สาดส่องยิ่งเพิ่มมิติของงานแกะสลักให้งดงามมากยิ่งขึ้น

เดินชมเหล่าโบราณสถานจนเพลิน ก็มาสะดุดเข้ากับสิ่งก่อสร้างรูปทรงประหลาด ทีแรกคิดว่าเป็นจอมปลวกยักษ์ แต่เมื่อเดินไปชมใกล้ๆพร้อมอ่านป้ายแสดงประวัติการก่อสร้างจึงได้ความกระจ่างว่า นี่คือว่าที่หอคอยยักษ์ที่จะกลายเป็นหอคอยที่สูงที่สุดในโลกแทนควูทับ มินาร์ โดยผู้สร้างคือ สุลต่าน Alau’d – Din Khalji มีความประสงค์ที่จะสร้างหอคอยแห่งนี้ให้มีความสูงใหญ่กว่าควูทับ มินาร์ถึง 2 เท่า แต่น่าเสียดายที่พระองค์สวรรคตเสียก่อน หอคอยแห่งนี้จึงถูกปล่อยทิ้งไว้ที่ความสูงเพียงแค่ 24.5 เมตร พร้อมกับร่องรอยของความทยานยากที่ไม่เป็นจริง


อยู่อินเดียเป็นเวลา 10 วัน อีกทั้งยังกลับมากรุงเดลีเป็นครั้งที่ 2 แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาผมยังไม่ได้ไปเยือนจุดศูนย์กลางด้านธุรกิจของนิวเดลีเลย เวลาที่เหลือประมาณชั่วโมงเศษ ก่อนที่จะพาตัวเองไปรอขึ้นเครื่องที่สนามบินเพื่อกลับเมืองไทย ผมจึงมาที่คอนนอจห์ เพลซ (Connaught Place) ซึ่งเพียงแค่เดินขึ้นจากรถไฟฟ้าสถานี Rajiv Chowk แสงไฟจากร้านค้าและผู้คนมากมายก็ปรากฏให้เห็น


แผนผังของคอนนอจห์ เพลซมีลักษณะเป็นวงกลม จุดศูนย์กลางสร้างเป็นสวนสาธารณะที่ถูกล้อมรอบด้วยถนน ถัดจากถนนเป็นเหล่าอาคารยุคล่าอาณานิคมที่สร้างขึ้นดั่งรัศมีที่แผ่ออก โดยแต่ละอาคารมีชื่อเรียกตามตัวอักษรภาษาอังกฤษตั้งแต่ A B C ไปจนถึง N

ทีแรกผมกะว่าจะหัดท่องภาษาอังกฤษใหม่ โดยเริ่มเดินจาก A B C ไปทีละอาคารจนครบ แต่เป็นเพราะสินค้าที่จำหน่ายล้วนเป็นสินค้าแบนด์เนม หรือไม่ก็พวกสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งไม่ถูกกับรสนิยมของผมเสียเลย ผมจึงเปลี่ยนใจเก็บเงินรูปีที่เหลือ แล้วกลับไปท่อง ก ข ค ที่เมืองไทยดีกว่า

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20.11 น.