ด้วยเหตุที่พื้นที่ตอนกลางของเกาะบาหลีนั้นมากไปด้วยภูเขาอันสูงใหญ่ พื้นที่ในหุบเขาจึงเกิดทะเลสาบขึ้นหลายแห่ง จากเบซากิห์คนขับจอดรถให้เราแวะชมทะเลสาบบาตูร์ (Batur Lake) ทะเลสาบสวยและยิ่งใหญ่ที่สุดบนเกาะบาหลี อันเกิดจากสายน้ำถึง 11 สายที่ไหลมาจากภูเขาไฟอากุง กับ ภูเขาไฟบาตูร์ที่โอบล้อม
พื้นที่ริมทะเลสาบเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านคินตามณี (Kintamani) อีกหมู่บ้านหนึ่งในเกาะบาหลีที่ธรรมชาติและชีวิตของผู้คนยังคงสงบงาม
ว่ากันว่าทะเลสาบบาตูร์นั้นไม่มีทางให้น้ำไหลออก แต่ปริมาณน้ำที่มากมายนั้นหาทางออกโดยการซึมผ่านชั้นหิน จนกลายเป็นเหล่าน้ำพุที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดิน ซึ่งไม่มีน้ำพุไหนที่ชาวบาหลีจะยกให้มีความสำคัญเท่ากับน้ำพุภายในวัดเตียร์ตาอัมปึม (Pura Tirta Empul) ที่เชื่อกันว่าเป็นน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ที่พระอินทร์เป็นผู้บันดาลให้เกิดขึ้น
เมื่อเข้าเขตวัดเตียร์ตาอัมปึล ผมต้องนำโสร่งขึ้นมาสวมอีกครั้ง แต่จริงๆแล้วอยากได้ผ้าขาวม้ามากกว่า เพราะหากไม่ถูกห้ามที่ไม่ได้นับถือศาสนาฮินดู ผมอยากลงไปแช่ในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้หายได้ เหมือนเช่นชาวบาหลีดูสักครั้ง
ชาวบาหลีที่มาแช่น้ำศักดิ์สิทธิ์ส่วนใหญ่จะมากันเป็นครอบครัว ถ้าไม่มาพร้อมกับคนเฒ่าคนแก่ หนุ่มสาวชาวบาหลีก็จะจูงลูกเล็กเด็กแดงมาด้วย เหล่าเด็กน้อยจึงสนุกสนานในการลงแช่ในบ่อน้ำ ในขณะที่พวกผู้ใหญ่ต่างนำกระทงดอกไม้มาบูชา ก่อนที่จะนำไปวางไว้บนปากทางไหลของน้ำศักดิ์สิทธิ์ แล้วจึงลงแช่อยู่ในบ่อน้ำเป็นเวลานาน โดยตำนานบันทึกไว้ว่า ชาวบาหลีได้ใช้บริการบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นเวลากว่าพันปี จึงเชื่อได้ว่าภาพของชาวบาหลีที่ศรัทธาในศาสนาฮินดูในวันนี้ คงไม่ต่างจากเมื่อพันปีที่แล้วเท่าไหร่นัก
แล้วเราก็เหมือนตกอยู่ภายในเขาวงกต เมื่อหลงเชื่อเดินตามป้ายที่ระบุว่าเป็นทางออก เพราะกว่าที่จะกลับไปยังลานจอดรถ เราต้องเดินวกไปวนมาอยู่บนทางที่เรียงรายไปด้วยร้านค้าขายของที่ระลึก ทีแรกก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับเหล่างานหัตถกรรม แต่เดินวกไปวนมาตั้งนานแล้วก็ยังไม่เจอทางออกเสียที ผมจึงเริ่มท้อใจกับกลยุทธการขายสินค้าฉบับชาวอินโด แต่สองสาวที่มียีนนักช็อปอยู่ในดีเอ็นเอ บอกว่าชอบ เพราะมีของให้เลือกเยอะดี แบบนี้สิ จึงสมกับเป็นนักช็อปสาวไทยแต่กำเนิด
เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของบาหลีเป็นภูเขา ที่ราบจึงมีน้อยเต็มที พื้นที่ไหนที่พอทำนาได้ ชาวบาหลีก็จะไม่ลังเลที่จะทำนาในพื้นที่ดังกล่าว หลายช่วงบนเส้นทางในเกาะบาหลีจึงได้เห็นภาพแปลกตาของผืนนาเขียวขจีบนแผ่นดินที่ประชิดติดชายทะเล แล้วนับประสาอะไรกับพื้นที่เชิงเขา ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งน้ำ มีหรือชาวบาหลีจะพลาดที่จะพัฒนาพื้นที่นั้นให้กลายเป็นผืนนาขั้นบันไดที่ลัดเลาะไปตามความสูงชันของเชิงเขา นักท่องโลกจึงได้พบเห็นภาพนาขั้นบันไดสีเขียวสดแทบจะทุกพื้นที่ที่ไปเยือน จนกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเกาะบาหลี
ชาวตะวันตกหลายคนกำลังตื่นตาตื่นใจกับภาพนาขั้นบันไดสีเขียวสดที่หมู่บ้านแทมปักซิริง (Tempak Siling) แม้แต่คนไทยอย่างผมที่เคยเห็นผืนนาขั้นบันไดในภาคเหนือมาบ้างก็ยังรู้สึกอยากพักสายตาไปกับสีเขียวสดที่อยู่เบื้องหน้า
นอกจากผืนนาขั้นบันไดแล้ว แทมปักซิริงยังโด่งดังเรื่องงานไม้แกะสลัก หลังจากปล่อยให้สายตาได้พักไปกับสีเขียวของผืนนา ผมจึงเปลี่ยนมาเป็นชมฝีไม้ลายมือในการแกะสลักของช่างชาวบาหลี ซึ่งหากไม่กลัวว่าไหล่จะหลุดและหลังจะพัง ผมคงเพิ่มความหนักให้กับเป้ด้วยการซื้องานไม้แกะสลักงามๆสักชิ้นกลับเมืองไทย
รถเช่าพาเราเคลื่อนตัวอีกครั้ง สองข้างทางนั้นเรียงรายไปด้วยเบนโจ (Bengo) หรือไม้ไผ่ลำสูงที่ยอดมีพู่ห้อยโน้มลงเบื้องล่าง อีกทั้งยังมากไปด้วยร้านขายสินค้าที่ระลึกประเภทงานหัตถกรรม อันเป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ดีกว่าป้ายบอกทางว่าขณะนี้เราเข้าเขตอุบุด หมู่บ้านแห่งศิลปวัฒนธรรมอันเป็นจุดศูนย์กลางของการท่องเที่ยวในเกาะบาหลี
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2565 เวลา 11.25 น.