ที่ยอกยาการ์ต้ามี Jogja วิ่งให้บริการ ที่จาการ์ต้าก็มีทรานส์จาการ์ต้า (Trans Jakrata) หรือเรียกสั้นๆแบบคนอินโดว่า บัสเวย์ (Busway) ให้บริการเช่นกัน จากโกตาผมจึงนั่งบัสเวย์สายสีแดง ย้อนกลับมาที่สถานี Mangga Besar ซึ่งมีสถานที่สำคัญคือ เกดุง อาร์ซิป (Gedung Arsip) สิ่งก่อสร้างที่ผ่านวันเวลาและการทุบทำลาย จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก
เกดุง อาร์ซิปถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ.1760 โดย Reyner de Klerk เศรษฐีชาวดัตช์ เขาเป็นผู้ออกแบบคฤหาสน์หลังนี้ด้วยตัวเอง แต่หลังจากการเสียชีวิตของเขา คฤหาสน์หลังนี้ก็ถูกเปลี่ยนมืออยู่หลายครั้ง จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้กลายเป็นสถานที่เลี้ยงเด็กกำพร้า จนถูกขายต่อเพื่อใช้ที่ดินนี้สร้างเป็นร้านค้า ซึ่งนั่นหมายถึง คฤหาสน์หลังนี้ต้องถูกทุบทำลาย แต่โชคดีที่สมาคมศิลปะและวิทยาศาสตร์แห่งบาตาเวีย ได้เจรจาต่อรัฐบาล Netherlands Indies (ชื่อเดิมของประเทศอินโดนีเซีย) เพื่อซื้อคฤหาสน์หลังงามนี้ จนในที่สุดเกดุง อาร์ซิปก็รอดพ้นจากการถูกทุบทำลาย และได้เปลี่ยนหน้าที่มาเป็นสำนักงานกระทรวงเหมืองแร่ จวบจนค.ศ.1925 จึงได้รับการบูรณะครั้งใหญ่
ด้วยประวัติการผ่านการถูกทุบทำลายมาได้อย่างหวุดหวิด อีกทั้งตัวคฤหาสน์ยังคงสภาพเหมือนเมื่อแรกสร้าง รัฐบาลอินโดนีเซียจึงขึ้นทะเบียนเป็นมรดกแห่งชาติ ในปีค.ศ.1993 และอีก 8 ปีให้หลัง เกดุง อาร์ซิป ก็ได้รับขึ้นทะเบียนจากองค์กรยูเนสโก้ให้เป็นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก รู้ประวัติอันน่าสนใจเช่นนี้ ผมก็ได้แต่อดเสียดายเหล่าอาคารโบราณในกรุงเทพและจังหวัดต่างๆในประเทศไทยที่ไม่สามารถผ่านกระแสของธุรกิจ จนถูกทุบทำลายไม่เหลือร่องรอยแห่งอดีตที่เคยรุ่งเรือง
จากบาตาเวีย จุดศูนย์กลางของจาการ์ต้ายุคอดีต ในเวลานี้ผมมายืนอยู่ที่พลาซ่าอินโดนีเซีย (Plaza Indonesia) จุดศูนย์กลางของจาการ์ต้ายุคปัจจุบัน ที่มากไปด้วยศูนย์กลางค้า โรงแรม และเหล่าสำนักงานที่อยู่ภายในอาคารสูง วิถีชีวิตอันเร่งรีบของผู้คนในย่านนี้จึงเป็นวิถีชีวิตของคนเมือง ที่ดูแตกต่างจากวิถีชีวิตของชาวอินโดนีเซียในช่วงหลายวันที่ผมได้สัมผัส แต่วิถีชีวิตนี้กลับเป็นสิ่งที่ผมคุ้นเคยจากประเทศที่ผมเดินทางจากมา
การเดินทางในประเทศอินโดนีเซียของผมใกล้จะหมดลงตามการเดินไปข้างหน้าของเข็มนาฬิกา แต่ในเวลานี้ผมกลับปล่อยความคิดให้เดินถอยหลัง ไปสู่การเดินทางในช่วงวันที่ผ่านมา จากเกาะบาหลี ข้ามทะเลมายังเกาะชวา จากภูเขาไฟโบโม่ทางฟากตะวันออก ผ่านเหล่าศาสนสถานไม่ว่าจะเป็นบุโรพุทโธ หรือ พรัมบานันที่เดินทางผ่านเวลามาหลายศตวรรษในดินแดนชวากลาง สู่ปลายทางที่เมืองหลวงจาการ์ต้าในฝั่งชวาตะวันตก และจากการเดินทางโดยมีเพื่อนร่วมทาง สู่การเดินทางเพียงลำพัง ที่บางครั้งมีคำว่า “เหงา” แวะเวียนมาเป็นเพื่อน
ในเวลานี้ผมตั้งคำถามกลับตัวเองว่า ช่วงเวลาไหนที่ใจผมมีความสุขมากกว่ากัน ระหว่างการมีเพื่อนร่วมทาง กับการเดินทางเพียงคนเดียว
แม้การมีเพื่อนร่วมทางจะทำให้เราอุ่นใจมากกว่า แต่จังหวะเวลาในหัวใจของเราคงไม่อาจเหมือนใครคนใดคนหนึ่งได้ตลอดไป เราจึงไม่อาจมีเพื่อนร่วมทางไปได้ทุกที่ แต่ตราบใดที่เรายังคงหลงรักในการเดินทาง ยังคงมีความสุขกับเรื่องราวบนเส้นทางที่ไหลผ่านสอดรับกับจังหวะของหัวใจ เราจะกลัวไปทำไมกับคำว่า “เหงา” เพราะความเหงาที่อาจเกิดขึ้นในบางช่วงเวลา นั้นคุ้มค่าพอที่จะยอมรับ
และตราบใดที่หัวใจแห่งการเดินทางยังไม่หยุดเต้น จึงมักมีเสียงกระซิบมาจากมุมหนึ่งของหัวใจที่เรียกร้องให้เราพาชีวิตออกไปเริงร่าตามจังหวะหัวใจที่เราเป็น
จึงเป็นเรื่องยากที่เข็มนาฬิกานี้จะหยุดเดิน สองเท้าผมจึงก้าวเดินอีกครั้ง เดินไปบนหน้าปัดนาฬิกา ที่มีตัวเลขของหลักกิโลทอดยาวไปแสนไกล จนกว่าจะถึงวันสุดท้ายที่นาฬิกาเรือนนี้จะหมดลาน และเวลาทั้งหมดของชีวิตจะถูกเรียกคืนอย่างไม่มีวันหวนกลับ
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เวลา 11.04 น.