เพราะการไม่มีตู้เย็นเป็นเหตุ ทำให้ชาวตะวันตกหมายปองเครื่องเทศที่นอกจากใช้ปรุงรสอาหารแล้ว ยังสามารถใช้ในการถนอมอาหาร และถ้าแผ่นดินยุโรปสามารถปลูกเครื่องเทศได้ พวกเขาคงไม่ทำตัวเป็นนักกล้าม ที่เดินทางมาเบ่งอำนาจและยึดครองดินแดนในคาบสมุทรมาเลเซีย แหล่งผลิตเครื่องเทศอันดับหนึ่งของโลก
โปรตุเกสคือชาติแรก ที่สามารถเดินเรือผ่านแหลมกู๊ดโฮปในทวีปอาฟริกา มาสู่ทวีปเอเชียได้สำเร็จและยึดครองมะละกา เมืองท่าที่เป็นดาวเด่นของคาบสมุทรมาเลเซียไปครอบครองในปีค.ศ.1511 เส้นทางเดินเรือถูกโปรตุเกสเก็บเป็นความลับอยู่นาน
แต่ไม่ว่ายุคสมัยไหนก็มักมีหนอนบ่อนไส้เกิดขึ้นเสมอ เมื่อ ยาน ฮูเกน วาน ลินโชเทน (Jan Huygen Van Linschoten) ชาวดัตช์ที่เคยทำงานอยู่ในกองเรือของโปรตุเกส เอาความลับของเส้นทางเดินเรือไปพิมพ์เป็นแผนที่อย่างละเอียดยิบ ทำให้ประเทศบ้านเกิดอย่างฮอลันดาไม่รอช้าที่จะนำกองเรือออกเดินทางสู่เอเชียตามเส้นทางของหนอนบ่อนไส้ ในปีค.ศ.1595 และแค่ 1 ปีให้หลัง กองเรือฮอลันดาก็สามารถยึดครองบันเตน เมืองท่าทางทิศตะวันตกของเกาะชวาได้สำเร็จ และเป็นจุดสิ้นสุดของอาณาจักรมะตะรัมที่ปกครองดินแดนชวากลางในเวลาต่อมา
เรื่องราวชักสนุกเมื่อไส้สุดเก๋าอย่างโปรตุเกส ถูกหนอนหน้าใหม่อย่างฮอลันดามายืนเบ่งกล้ามอยู่ในคาบสมุทรเดียวกัน การต่อสู้อย่างดุเด็ดเผ็ดมันเพื่อเป็นผู้ผูกขาดการค้าเครื่องเทศจึงเริ่มขึ้น แต่แม้จะเก๋าอย่างไง สุดท้ายแล้วคลื่นลูกใหม่ก็ขึ้นมาแทนคลื่นลูกเก่าอยู่วันยังค่ำ โปรตุเกสจึงต้องรับเอาความพ่ายแพ้ใส่เรือแล้วล่องทะเลกลับบ้าน
แม้จะได้มะละกามาครอบครอง แต่ก็เข้าตำราลูกนอกไส้ ชาวดัตช์แห่งฮอลันดาจึงไม่ดูดำดูแดง โดยหันมาพัฒนาลูกหม้ออย่างเมืองจาการ์ต้าบนแผ่นดินเกาะชวาให้เป็นดาวดวงใหม่แทนที่มะละกา พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นบาตาเวีย และในเวลานี้ผมก็มายืนอยู่ที่หน้าสถานีรถไฟโกตา อันเป็นจุดศูนย์กลางของโกตา (Kota) หรือเมืองบาตาเวีย (Batavia) อดีตเมืองท่าอันรุ่งโรจน์สมัยดัตช์ครองเมือง
ถนน Pintu Besar Utara ที่ทอดตัวอยู่หน้าสถานีรถไฟนั้นมากไปด้วยบ้านเรือนและอาคารขนาดใหญ่อันเป็นเงาอดีตที่ตกทอดมาจากยุคอาณานิคมดัตช์ โดยเหล่าอาคารขนาดใหญ่ล้วนถูกดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่โกตาจึงมีพิพิธภัณฑ์จำนวนมากให้ผู้หลงใหลในกลิ่นอายประวัติศาสตร์ได้เที่ยวชม
ผมเดินทอดน่องไปตามคลอง Ciliwung หรือคลองท่าเรือ (Haven Kannaal) ที่ทอดตรงสู่อ่าวบาตาเวีย โดยมีสะพาน Engelse Brug ที่สามารถยกเปิดได้เป็นสัญลักษณ์ แม้น้ำในคลองจะไม่ใส แต่ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนเงาอดีตของเหล่าบ้านเรือนยุคอาณานิคมที่ขนานไปตามสองฝั่งคลอง
แล้วคลองท่าเรือก็พาผมเดินมาสู่ท่าเรือซุนดา เกลาปา (Pelabuhan Sunda Kelapa) ซึ่งตั้งอยู่ที่ปากอ่าวบาตาเวีย บริเวณนี้จึงมากไปด้วยเรือประมงและเรือสินค้าที่จอดเรียงเป็นแนวยาว เรือที่มีขนาดใหญ่โตเหล่านี้ล้วนโดดเด่นด้วยหัวเรือที่แหลมเปรี๊ยวชี้สู่ท้องฟ้า
แม้ชื่อบาตาเวียจะกลายเป็นอดีตนับตั้งแต่อาณานิคมของดัตช์สิ้นสุดลง แต่เชื่อว่าความคึกคักของท่าเรือซุนดา เกลาปาในวันนี้ คงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเมืองท่าบาตาเวียในยุคสงครามเครื่องเทศที่ผ่านมา
ฝั่งตรงข้ามท่าเรือเป็นที่ตั้งของหอคอยสูง ยอดสีแดงนามว่า หอคอยสยาห์บันดาร์ (Menara Syahbandar) สร้างขึ้นในปีค.ศ.1839 เพื่อเป็นโกดังเก็บเหล่าเครื่องเทศทั้งลูกจันทร์ พริกไทย รวมถึงชา กาแฟ ของชาวดัตช์ ในนามบริษัท Dutch East India
น่าแปลกที่โกดังแห่งนี้มีปืนใหญ่หลายกระบอกแทรกตัวอยู่ตามแนวกำแพง เพราะหอคอยแห่งนี้ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เพียงโกดัง หากแต่ทำหน้าที่เป็นป้อมปราการเพื่อปกป้องเหล่าเครื่องเทศ ที่มีค่าประดุจทอง แต่ในวันนี้หน้าที่ที่ยิ่งใหญ่นั้นได้ยุติลง หอคอยเครื่องเทศแห่งนี้จึงแปรสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์บาฮารี (Museum Bahari) หรือพิพิธภัณฑ์ทางทะเลที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินเรือและท่าเรือบาตาเวียในอดีต
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2565 เวลา 11.14 น.