ผมกลับมาที่เมืองมาเกลัง (Magelang) อีกครั้ง เพื่อต่อรถไปยังเมืองวอนอโซบอ (Wonosobo) เมืองที่ราบสูงที่เป็นเหมือนประตูสู่ดินแดนแห่งเทพเจ้าเดียงพลาโท

แม้ในย่านชุมชนการจราจรจะพลุกพล่านแถมฝนยังเทกระหน่ำ แต่คนขับรถบัสที่ผมนั่งก็สุดแสนซิ่ง ขับไปบีบแตรไป แต่สงสัยแตรรถคงไม่ดังพอ เด็กรถที่ประจำอยู่ที่บันไดด้านหน้าและหลังรถจึงต่างช่วยกันทำเสียงไซเรนไปตลอดทาง ชวนให้ปวดหัวปนหวาดเสียวไม่ต่างจากการเล่นเครื่องเล่นในสวนสนุก จนเส้นทางพ้นเขตเมืองเข้าสู่เขตชนบทนั่นแหละ ความสงบและสวยงามของธรรมชาติจึงกลับมาอีกครั้ง

สายฝนยังคงโปรยปรายเมื่อรถเข้าจอดที่ตัวเมืองวอนอโซบอ แม้เป็นเมืองในขุนเขา แต่ด้วยเหตุที่อินโดนีเซียมีประชากรมากถึง 200 ล้านคน ทำให้เมืองแห่งนี้ใหญ่กว่าที่คิดไว้

ทีแรกกะว่าจะขึ้นไปพักที่เดียงพลาโทเสียแต่เย็นนี้ แต่ด้วยสายฝนที่กระหน่ำแรงขึ้น ผมจึงปล่อยให้การเดินทางเป็นเรื่องของวันพรุ่งนี้ ในเวลานี้จึงเดินกางร่มหาที่พัก ซึ่งมีโรงแรม 3-4 แห่งให้เลือกในราคาที่แสนปราณีต่อเงินรูเปียห์ในกระเป๋า

หลังจากได้แผนที่จากพนักงานโรงแรม เช้าวันใหม่ผมจึงออกย่ำต๊อกไปยังตลาดเช้าที่สุดแสนคึกคัก ซึ่งคำพูดที่กล่าวว่า หากอยากเห็นวิถีชีวิตของผู้คนให้มาที่ตลาดยังคงเป็นความจริง

 ในเวลานี้ผมจึงได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวอินโด ที่อาจไม่ต่างกับวิถีชีวิตของคนไทย แต่เป็นวิถีชีวิตเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่พ่อค้าแม่ค้ายังคงใช้เครื่องชั่งแบบถ่วงน้ำหนัก และยานพาหนะของผู้คนยังคงเป็นรถม้า ที่ใช้ในวิถีชีวิตจริงๆ ไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยว

พ้นจากประตูเมืองวอนอโซบอ ผมนั่งรถโดยสารสู่เดียงพลาโท บนเส้นทางนั้นผ่านแนวเขาสูงใหญ่ที่ทอดตัวสลับซับซ้อนไปไกลสุดสายตา ให้ผมนั่งกินลมชมภูเขาจนเต็มอิ่ม


อีก 7 กิโลเมตรจึงจะถึงเดียงพลาโท (Dieng Plateau) แต่เป็นเพราะสะพานอยู่ระหว่างการซ่อม รถใหญ่ไม่สามารถผ่านได้ รถโดยสารจึงส่งผมได้เพียงแค่นี้ ผมจึงต้องเปลี่ยนเป็นนั่งรถมอเตอร์ไซค์ ที่คนขับเรียกราคาสูงถึง 100,000 รูเปียห์ สำหรับการพาไปส่งและเที่ยวชมเหล่าโบราณสถานในเดียงพลาโท ผมต่อคำเดียวที่ราคา 50,000 รูเปียห์ คนขับทำท่าอิดออด แต่เพียงไม่นานก็ตกลง จนผมรู้สึกว่านี่เราต่อราคาน้อยไปหรือเปล่า


สายลมที่โชยพัดบนเส้นทางที่ความสูงเพิ่มมากขึ้น ทำให้รู้สึกหนาวทั้งๆที่แสงอาทิตย์แผดจ้าอยู่บนท้องฟ้า ที่เป็นเช่นนี้เพราะเดียงพลาโท หรือที่ราบสูงเดียงนี้มีความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 2 พันเมตร ซึ่งนอกจากความสูงแล้ว ผืนแผ่นดินนี้ยังอุดมสมบูรณ์จนเป็นแหล่งเกษตรกรรมชั้นเยี่ยมของอินโดนีเซีย ความอุดมสมบูรณ์นี้เองที่ทำให้พระเจ้าสัญชัย แห่งราชวงศ์มะตะรัมที่ครอบครองดินแดนชวากลาง ได้เลือกเป็นสถานที่ก่อสร้างเหล่าเทวสถานในศาสนาฮินดู ที่มีมากมายกว่า 400 แห่ง จนทำให้ภูเขาแห่งนี้เป็นดั่งเขาไกลาส ดินแดนแห่งเทพเจ้าตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 7


เวลาที่ผ่านไปกว่าพันปี ประกอบกับการเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ทำให้เดียงพลาโทถูกทิ้งให้รกร้าง เทวสถานจึงกลายเป็นเพียงซากปรักหักพัง ที่ชาวบ้านต่างนำเศษอิฐที่เต็มไปด้วยศรัทธาของผู้คนในอดีตมาสร้างบ้านและถนนหนทาง จนทำให้เทวสถานกว่า 400 แห่งนั้นแทบจะหายสาบสูญ

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 16.16 น.

ความคิดเห็น