ทันทีที่ถึงสถานีขนส่งเมืองมาเกลัง ผมก็ตรงไปขึ้นรถของบริษัทหนุมาน ทรานสปอร์ทเพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองยอกยาการ์ต้า (Yokyakarta) หรือนิยมเรียกอย่างสั้นๆว่า ยอกยา ใช้เวลาเดินทางแค่เพียงชั่วโมงเดียวเท่านั้น ผมก็มายืนงงๆอยู่ภายในสถานีขนส่งจิวันกัน (Terminal Giwangan) เพราะแม้จะเป็นสถานีขนส่งประจำเมือง แต่ก็อยู่นอกเขตเมืองค่อนข้างไกล
การกวักมือของเหล่าแท็กซี่ไม่มีผลที่จะดึงดูดให้ผมใช้บริการ เมื่อได้รู้ว่าการเดินทางสู่ตัวเมืองยอกยานั้นแสนง่าย ด้วยการใช้บริการรถขนส่งมวลชน Jogja ที่มี 6 สายวิ่งไปยังสถานที่สำคัญทั่วเมือง โดยมีสถานีของตัวเองตลอดเส้นทาง ด้วยค่าโดยสารแสนถูกราคาเดียวตลอดสายคือ 3,000 รูเปียห์ อีกทั้งหากเป็นการ transit หรือเปลี่ยนเส้นทางโดยที่ยังไม่ออกจากสถานีก็ไม่ต้องซื้อตั๋วใหม่ เช่น การเดินทางจากสถานีขนส่งจิวันกันสู่สถานีรถไฟตูกู (Station Tugu) ก็สามารถขึ้นสาย 3A แล้วไปต่อสาย 1A ที่สถานีหน้าสนามบิน ประหยัดจริงๆ จึงอดคิดไม่ได้ว่า เมื่อไหร่ประเทศเราจะมีแบบนี้บ้างนะ
จริงๆแล้วภายในตัวเมืองยอกยานั้นมีสถานีรถไฟ 2 สถานี คือ สถานีตูกู กับ สถานีเลมปูยานกัน (Lempuyangan) แต่ผมเลือกสถานีตูกู เนื่องจากอยากชมความเก่าแก่ของสถานี ที่เริ่มใช้งานตั้งแต่ปีค.ศ.1887 ในสมัยที่ยังอยู่ใต้การปกครองของดัตช์ สถานีแห่งนี้จึงถือเป็นสถานีรถไฟที่เก่าแก่ที่สุดสถานีหนึ่งในอินโดนีเซีย
หลังจากจัดการจองตั๋วรถไฟสำหรับวันพรุ่งนี้เพื่อไปเมืองบันดุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ด้วยความที่อยากปลดเป้หนักๆออกจากหลัง ผมก็เดินทะลุด้านหลังสถานีเพื่อหาที่พักซึ่งมีให้เลือกหลายแห่ง แต่หากอยากได้ราคาประหยัดและมีให้เลือกมากกว่านี้ต้องไปที่ถนนมาลิโบโร ซึ่งเป็นแหล่งช็อปปิ้งและที่พักคล้ายๆกับถนนข้าวสารในกรุงเทพ แต่สำหรับค่ำนี้ ผมเลือกที่จะพัก Wismaperdana Guesthouse ซึ่งแม้จะอยู่ไกลจากสถานีรถไฟสักนิด ราคาสูงกว่าเกสท์เฮ้าส์อื่นสักหน่อย แต่สะอาดและบรรยากาศดูปลอดโปร่งกว่า แถมยังมีคุณป้าผู้ดูแลที่แสนใจดี อุตส่าห์วางสายตาจากละครโทรทัศน์เรื่องโปรด เพื่ออธิบายการเดินทางไปสถานที่ต่างๆในเมืองยอกยาให้ผมฟังเสียนาน
แม้อยากให้แข้งขาได้พักบ้าง แต่สุดท้ายก็อดไม่ได้ที่จะใช้งานแทบจะทันทีที่เป้ถูกปลดจากหลัง ด้วยการพาตัวเองไปถนนมาลิโบโร (JL. Malioboro) ซึ่งห่างออกไปไม่ไกล
โอ้โห! อะไรมันจะตระการตาได้ขนาดนี้ เพราะสองฟากถนนที่ทอดยาวกว่า 2 กิโลเมตรนั้นมากไปด้วยร้านค้า ที่จำหน่ายเสื้อผ้า ผ้าบาติก ของที่ระลึกอย่าง โมเดลของบุโรพุทโธ หรือพรัมบานัน สำหรับงานศิลปะก็มีมาก ไม่ว่าจะเป็น หน้ากากไม้ ตุ๊กตาไม้ ภาพวาด รองเท้า กระเป๋าสุดเก๋ จนแจกแจงไม่หมด ถนนสายนี้จึงน่าจะเป็นถนนละลายทรัพย์ตัวฉกาจสำหรับขาช็อปชาวไทย เฉพาะแค่ร้าน Ciamis Art Shop ที่เปิดขายตั้งแต่ปีค.ศ.1943 ร้านเดียว ผมก็ใช้เวลาเสียนานในการชื่นชมงานศิลป์ จนชักกังวลกับทุนทรัพย์น้อยๆในกระเป๋าที่ต้องใช้ดำรงชีพในเกาะชวาอีกหลายวัน
สุดปลายถนนเป็นเขตพระราชวังเครตอน ในวันนี้มีผู้คนพลุกพล่านมากกว่าปกติ เพราะมีงานมหกรรมคอนเสิร์ตของรถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อหนึ่ง แต่ก่อนที่ผมจะแหวกฝูงชนเข้าไป ผมเลือกที่จะเดินชมอาคารเก่าแก่หลายแห่งที่สร้างขึ้นสมัยที่อยู่ใต้การปกครองของดัตช์ เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ กับ ธนาคารอินโดนีเซีย พร้อมกับชมวิถีชีวิตของชาวยอกยาที่ชักชวนกันออกมานั่งเสื่อเพื่อเอร็ดอร่อยกับอาหารริมทาง
ในที่สุดก็ได้เวลาเบียดเสียดฝูงชนเพื่อมายืนอยู่หน้าเวทีคอนเสิร์ตขนาดยักษ์ที่ลานสนามหญ้าหน้าพระราชวังเครตอน แม้ดนตรีจะสุดแสนมันแถมยังสอดแทรกการแสดงศิลปวัฒนธรรมของอินโด แต่การแสดงแค่เพลงสองเพลง แล้วคั่นด้วยการโฆษณาคุณสมบัติของรถมอเตอร์ไซค์เสียยืดยาว ทำให้ผมปันใจไปให้ลานข้างๆที่มีจำนวนผู้ชมไม่แพ้กัน
เสาไม้ไผ่สูง 20 ลำตั้งอยู่บนลานกว้าง ที่โคนเสามากไปด้วยชายฉกรรจ์ ที่แหงนมองไปยังยอดเสาซึ่งมีกล่องใบน้อยห้อยอยู่โดยรอบ ไม่รู้เป็นเพราะเกาะชวาปลูกมะพร้าวมากหรืออย่างไร เพราะสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าผมนี้คือการละเล่นที่แต่ละทีมต้องต่อตัวกันปีนไปบนลำไม้ไผ่ที่อาบด้วยน้ำมัน เพื่อไปคว้าเอากล่องใบน้อยที่แขวนอยู่บนนั้น ดูๆไปแล้วเหมือนปีนขึ้นไปเก็บลูกมะพร้าวอย่างไงอย่างงั้น
นอกจากความตื่นเต้นจากการได้ลุ้นแล้ว งานนี้ยังได้ฮา ยามที่ผู้แข่งขันไหลลื่นกันลงมา จวบจนความลื่นจากน้ำมันที่อาบไว้ค่อยๆหมดลงนั่นแหละ กล่องใบน้อยจึงค่อยๆถูกปลดที่ละใบสองใบจนหมดเกลี้ยง เห็นทีลิงบนเกาะชวาคงตกงาน เพราะคนที่นี่ปีนต้นไม้เก่งเหลือเกิน
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 14.50 น.