ผมมายืนที่หน้าพระราชวังเครตอน (Kraton) อีกครั้ง เพื่อเข้าชมวังของสุลต่านแห่งยอกยาการ์ต้า แต่ผมคงหวังมากเกินไป เพราะหลงวาดภาพว่าวังสุลต่านนั้นน่าจะสวยหรูอลังการ แต่สุดท้ายผมก็ถึงกับอกหักอย่างแรงกับภาพที่ได้เห็น เพราะพระราชวังเครตอนนั้นมีเพียงศาลาโล่งๆขนาดใหญ่ ที่มีพลับพลาขนาดเล็กตั้งอยู่ภายใน
ผมเดินตามนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่มีเพียงไม่กี่คนเข้าไปภายใน ด้วยความหวังว่าน่าจะมีอะไรเด็ดๆให้ชมมากกว่าภายนอก แต่สุดท้ายผมก็อกหักเป็นครั้งที่สอง เพราะมีเพียงเรือนหลังเล็กๆที่จัดแสดงภาพถ่าย สุดท้ายจึงออกมาทำใจยืนดูหุ่นสิบกว่าตัว ที่สวมใส่ชุดทหารและชุดประจำชาติ
อยากจะหาน้ำใบบัวบกดื่มแก้อกหักสักถ้วยสองถ้วย แต่ก็เจอแต่น้ำอัดลม คนขี่เบจะก์ร้องทักผมเพื่อให้ใช้บริการด้วยราคาชั่วโมงละ 10,000 รูเปียห์ โดยบอกว่าจะพาไปเที่ยวให้ทั่วตัวเมืองยอกยา ดูๆแล้วก็เข้าที แถมราคายังไม่แพง แต่ติดอยู่ที่เวลาของผมมีไม่มากนัก จึงบอกให้เขาถีบไปส่งแค่ซูมูร์ กูมูลิง
พูดถึงเบจะก์ หรือสามล้อแบบอินโดนีเซีย ที่ผู้โดยสารนั่งอยู่หน้าคนถีบแล้ว ต้องยอมรับเลยว่า ตั้งแต่เห็นเบจะก์ครั้งแรกที่บาหลี จนถึงสุดปลายเส้นทางที่จาการ์ต้า เบจะก์เมืองยอกยานั้นสวยที่สุด เพราะบังโคลนล้อทั้งสองข้างนั้นถูกแต่งแต้มด้วยงานศิลป์ ที่สะท้อนความงดงามของธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คน จนกลายเป็นสิ่งประดับที่แสนสวยงามที่สี่แยกหน้าทางเข้าพระราชวังเครตอน
ผมยืนงงๆอยู่ในตรอกซอกซอยที่แน่ขนัดไปด้วยบ้านเรือนเก่าๆ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ผมยังเห็นซูมูร์ กูมูลิง (Sumur Gumuling) ตั้งเด่นสง่าอย่างกับป้อมปราการอยู่เบื้องหน้า แต่เมื่อเดินตามป้ายบอกทาง ซูมูร์ กูมูลิงกลับหายไปจากสายตา
“Hello where do you come from?”
ประโยคพื้นฐานในการทักทายชาวต่างชาติดังมาจากด้านหลัง เข้าทางผมพอดีที่จะถามทางเพื่อไปยังซูมูร์ กูมูลิง ชายหนุ่มร่างใหญ่ไม่เพียงแต่บอกทาง แต่กลับพาผมเดินไปจนถึง จนในที่สุดผมจึงรู้ว่า ไม่ใช่เข้าทางผมหรอก แต่ผมต่างหากที่เดินมาเข้าทางเขา เพื่อเสนอบริการไกด์นำชมซูมูร์ กูมูลิงโดยที่ไม่ได้ร้องขอ
ด้วยความที่ชอบเดินชมเอง มากกว่าการมีไกด์ที่คอยชี้ชวนให้ดูโน่นดูนี่ ผมจึงพยายามหลบตามซอกมุมต่างๆของซูมูร์ กูมูลิง แต่ดูเหมือนเป็นการเล่นซ่อนหา ที่หนุ่มอินโดร่างใหญ่ผู้นี้สามารถตามหาผมพบทุกที โดยตะโกนเรียกผมเสมอว่า “Hey! Thailand this way” แต่สุดท้ายแล้ว เมื่อเหยื่อรายใหม่ที่ดูมีฐานะดีกว่าเดินเข้ามา เขาจึงเลิกสนใจผมแล้วเดินเข้าไปประกบชาวตะวันตกผมทองทันที
เมื่อเป็นอิสระ ผมจึงไม่จำเป็นต้องเล่นซ่อนหาอีกต่อไป แต่สำหรับสุลต่านแห่งยอกยาแล้ว พระองค์อาจจำเป็นต้องเล่นซ่อนหากับศัตรู ในยามที่เพลี่ยงพล้ำจำต้องถอยหนี เพราะแม้ซูมูร์ กูมูลิงจะทำหน้าที่เป็นมัสยิดที่สุลต่านแห่งยอกยาการ์ต้าใช้ทำละมาดแล้ว ใต้ดินยังเจาะเป็นอุโมงค์ยาวเหยียดไปจนถึงหาดปารังตริติส ชายฝั่งทะเลตอนใต้ของเกาะชวา ซึ่งห่างจากตัวเมืองยอกยาถึง 30 กิโลเมตร
แม้จะเป็นอุโมงค์ใต้ดิน แต่อากาศภายในก็ถ่ายเทสะดวก เนื่องจากด้านบนทำเป็นโดมเตี้ยๆที่เจาะช่องระบายอากาศไปตลอดทาง แต่เนื่องจากบริเวณนี้หนาแน่นไปด้วยบ้านเรือน โดมระบายอากาศสำหรับช่องทางหนีภัยของสุลต่านจึงถูกใช้เป็นที่ปลูกต้นไม้บ้าง ที่จอดรถมอเตอร์ไซค์บ้าง จนถึงกลายเป็นที่ตากผ้าของชาวบ้าน
แล้วผมก็มาถึงจุดสำคัญ นั่นคือส่วนที่เป็นมัสยิด โดยทำเป็นรูปวงกลม มีทางเข้าออกเชื่อมกับอุโมงค์ใต้ดินหลายทาง ตรงกลางเป็นบันไดที่ทอดตัวสู่ลานที่ยกสูง ลานนี้เองที่สุลต่านใช้ทำละหมาดและบำเพ็ญพรต ซึ่งเป็นหนึ่งในสองทาง ในการได้มาซึ่งอำนาจตามความเชื่อ ส่วนอีกทางหนึ่ง คือการเสพสมกับราชินีทะเลใต้ นามว่า ระตู คิดุล แห่งหาดปารังตริติส หรือบางทีการสร้างอุโมงค์ใต้ดินที่ทอดยาวถึง 30 กิโลเมตร อาจไม่ใช่เพื่อการหลบหนีศัตรู แต่เพื่อใช้เป็นเส้นทางไปเสพสมกับราชินีทะเลใต้ตามความเชื่อ งานนี้เห็นทีต้องตามไปพิสูจน์เสียแล้ว
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 15.11 น.