การกลับสู่กรุงไคโรอีกครั้งทำให้ผมเริ่มสังเกตว่า ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่สูงแค่ไม่กี่ชั้น จนถึงอาคารสูงเป็นสิบๆชั้นในลักษณะคอนโด ล้วนไม่ฉาบปูน ปล่อยให้เห็นอิฐที่เปลือยๆ นั่นไม่ใช่เป็นการก่อสร้างด้วยศิลปะแบบไหนทั้งสิ้น แต่เป็นเพราะหากฉาบปูนเมื่อไหร่ หมายความว่าอาคารนั้นสร้างเสร็จ พร้อมที่จะเสียภาษี แต่ตราบใดที่ยังไม่ฉาบปูน แม้ว่าจะมีการเข้าอยู่อาศัย จนเห็นจานดาวเทียวติดอยู่ทุกห้อง จนถึงเห็นผ้าที่ตากไว้บนระเบียง ก็ยังไม่ถือว่าเป็นอาคารที่สร้างแล้วเสร็จ ก็ไม่ต้องเสียภาษี จึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมเมื่อผมมองจากเนินทะเลทรายในเขตมหาพีระมิด จึงเห็นบรรดาตึกรามบ้านช่องเป็นสีเทาทมึน เพราะทุกอาคารล้วนพร้อมใจกันไม่ยอมเสียภาษีนี่เอง


แล้วเราก็มาถึงสถานีขนส่งกรุงไคโร ซึ่งอยู่นอกเขตตัวเมืองไปไม่ไกล โดยตั้งอยู่ในห้าง Gateway Plaza เราจึงหลงคิดไปเองว่า น่าจะหามื้อเย็นทานได้จากศูนย์อาหารภายในห้าง รวมถึงน่าจะสามารถเดินชมสรรพสินค้าฆ่าเวลาก่อนที่รถจะออกได้ แต่ความจริงไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะนอกจากชั้นล่างที่มีช่องจำหน่ายตั๋วรถบัสประจำทางแค่ 4 – 5 บริษัทซึ่งวิ่งลงใต้ไปยังภูมิภาคอียิปต์บนแล้ว พื้นที่ส่วนที่เหลือของชั้น 2 และ 3 นั้นมีสภาพไม่ต่างจากห้างร้าง ที่บรรดาร้านรวงได้ปิดกิจการ


เราเข้าไปสอบถามราคาและเวลารถบัสประจำทางในการไปอบูซิมเบล คำตอบที่ได้รับคือ ไม่มีรถไปถึงเมืองชายแดนขนาดนั้น ไกลสุดก็คือจังหวัดอัสวาน ซึ่งเป็นจังหวัดใต้สุดของประเทศอียิปต์ ฉะนั้นหากจะไปอบูซิมเบล ก็ต้องไปต่อรถที่อัสวาน โดยรถไปอัสวานมีให้บริการแค่บริษัทเดียว อีกทั้งมีแค่วันละเที่ยวเท่านั้น จึงไม่มีทางเลือกอะไรนัก เจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วบอกราคาตั๋วสำหรับรถบัสปรับอากาศคนละ 140 ปอนด์ ซึ่งค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับบ้านเรา แต่ที่ทำให้เราคิดหนักคือ เวลาในการเดินทางที่ยาวนานถึง 13 ชั่วโมง รถออก 5 โมงเย็น ถึงอัสวาน 8 โมงเช้า เพราะติดใจในสภาพรถไฟของอียิปต์ ทำให้เราเริ่มลังเลว่าเราควรไปรถไฟจะดีกว่าไหม แต่เราก็ไม่รู้อยู่ดีว่ารถไฟออกกี่โมง จะใช้เวลาเร็วกว่านี้ไหม และที่สำคัญจะมีตั๋วไหม ฉะนั้นจึงเป็นการเสี่ยงเกินไปที่เราจะจ่ายเงินค่าแท็กซี่อีกครั้งเพื่อพาไปยังสถานีรถไฟ

เรายืนดูเวลาที่ระบุบนตั๋วรถบัสประจำทาง แล้วดูนาฬิกาข้อมือ ขณะนี้เพิ่งเวลาบ่ายโมงเศษ อีกทั้งห้างนี้เป็นห้างร้าง การรอโดยไม่มีอะไรทำเป็นเวลาเกือบ 4 ชั่วโมงจึงเป็นเรื่องที่พวกเรารับไม่ได้ ฉะนั้นจะรอช้าอยู่ใย หาแท็กซี่พาเที่ยวดีกว่า แต่ก็มีประเด็นเรื่องกระเป๋าเดินทางว่าจะเอาไปไว้ไหน สอบถามพนักงานจำหน่ายตั๋วว่าสามารถฝากกระเป๋าไว้กับเขาได้หรือไม่ คำตอบคือไม่รับฝาก โดยให้เราไปติดต่อร้านรับฝากกระเป๋าซึ่งอยู่ชั้นใต้ดิน แต่ดูจากเวลาแล้วกว่าจะเอากระเป๋าไปฝากเสร็จก็คงใช้เวลาพอสมควร อีกทั้งยังต้องเสียเงินอีก ผมจึงบอกเพื่อนๆว่าเราเอากระเป๋าใส่รถแท็กซี่เลยแล้วกัน ไม่เสียทั้งเวลาและเงิน

ที่หน้าสถานีขนส่งมีรถแท็กซี่คันหนึ่งจอดอยู่ สภาพรถค่อนข้างเก่า คนขับเป็นคุณลุงอายุราว 65 ปี เราบอกจุดหมายปลายทางว่าต้องการไปเที่ยวที่มัสยิดโมฮัมหมัดอาลี กับมัสยิดอัลอัซฮาร์ และกลับมาส่งที่สถานีขนส่งก่อน 5 โมงเย็น คุณลุงตอบตกลง แล้วจัดแจงเอากระเป๋าพวกเราเก็บไว้ที่กระโปรงหลัง แต่ใส่ไม่หมด จึงเอากระเป๋าล้อลากของผมกับพี่น้องทรงยกขึ้นไว้บนหลังคารถ จากนั้นจัดแจงนำเชือกซึ่งอยู่ในสภาพที่เก่าจนแทบจะขาดมาผูกมัดกระเป๋าไว้กับโครงหลังคา ดูสภาพแล้วน่าเป็นห่วงยิ่งนักว่ากระเป๋าจะร่วงหล่นระหว่างทาง แต่คุณลุงบอกว่าไม่ต้องกังวัล ไว้ใจได้กระเป๋าไม่ร่วงแน่นอน เพราะเขาขับรถแท็กซี่มาเป็นสิบๆปีแล้ว เชือกนี้ก็ใช้มาเป็นสิบๆปีแล้วเช่นกัน !

รถแท็กซี่พาเรากลับเข้าสู่ตัวเมืองด้วยหัวใจของผมกับพี่น้องทรงที่เต้นไม่เป็นจังหวะ โดยเฉพาะเวลารถเบรค เพราะกลัวว่าเชือกที่อายุใช้งานเป็นสิบๆปีจะขาดแล้วกระเป๋าจะร่วงหล่นกลางถนน มิหน่ำซ้ำยังอาจถูกรถที่วิ่งตามมาทับจนแบนบี้

บอกตัวเองว่าทำใจให้สบาย อย่ากังวลอะไรไป ให้เชื่อในฝีมือการขับและเชือกของคุณลุง แล้วคุณลุงชี้ให้ดูว่าทางซ้ายมือเป็นมัสยิดอัลอัซฮาร์ จะเข้าไปเที่ยวเลยไหม แต่เราเลือกที่จะไปมัสยิดโมฮัมหมัดอาลี ซึ่งอยู่ไกลกว่าก่อน


มัสยิดโมฮัมหมัดอาลี (Mohammad Ali mosque) เป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอียิปต์ อีกทั้งยังตั้งอยู่บนเนินเขา แต่ดูจากภายนอกแล้วเราแทบจะไม่เห็นตัวมัสยิด เพราะตัวมัสยิดนั้นตั้งอยู่ในซิทาเดล (Citadel) หรือป้อมปราการขนาดมหึมา


คุณลุงพยายามหาทางเข้าไปส่งเราให้ใกล้มัสยิดมากที่สุด แต่ก็ทำได้เพียงส่งเราที่บริเวณหน้าทางเข้าซิทาเดล ดูจากภายนอกโดยไม่ต้องใช้การประมาณการใดๆ ก็รู้ว่าซิทาเดลของกรุงไคโรนั้นมีขนาดใหญ่กว่า ซิทาเดลไคต์บาย แห่งอเล็กซานเดรียมากมายนัก เพราะภายในพื้นที่ที่กว้างใหญ่จนเหมือนเป็นเมืองๆหนึ่งนี้ แต่เดิมเมื่อกว่า 700 ปีที่ผ่านมาเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นปกครอง โดย ซาลาดิน (Salah El Din) ผู้นำของอียิปต์ในยุคนั้นได้เริ่มสร้างเมื่อปีค.ศ.1176 เพื่อใช้ป้องกันเมืองในช่วงสงครามครูเสด ครั้งที่ 3 (สงครามระหว่างศาสนาคริสต์กับอิสลาม)

เราเดินไปตามเส้นทางภายในซิทาเดลสู่สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่และสำคัญที่สุด นั่นคือ มัสยิดโมฮัมหมัดอาลี เพราะผม น้องเน และพี่น้องทรงเคยไปตุรกีด้วยกัน เมื่อได้เห็นมัสยิดโมฮัมหมัดอาลีจึงพร้อมใจลงความเห็นว่ามัสยิดแห่งนี้คล้ายกับมัสยิดสุลต่านอาห์เมต ที่เมืองอิสตันบูลยิ่งนัก ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะหลังจากสิ้นสุดสงครามครูเสด อียิปต์ก็ผ่านสงครามอีกหลายครั้ง รวมถึงสงครามอันยิ่งใหญ่จากการรุกรานของจักรพรรดินโปเลียน แห่งฝรั่งเศส ทำให้อาคารบ้านเรือนภายในซิทาเดลพังเสียหาย โดยเหลือเพียงมัสยิดที่ตั้งอยู่ตรงกลาง โมฮัมหมัด อาลี ผู้นำของอียิปต์ในยุคนั้นจึงสั่งให้บูรณะมัสยิดแห่งนี้ เมื่อปีค.ศ.1830 ด้วยสถาปัตยกรรมแบบออตโตมัน (ปัจจุบันคือประเทศตุรกี) โดยแทบจะเลียนแบบมาจากมัสยิดสุลต่านอาห์เมต ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในมัสยิดที่ยิ่งใหญ่และสวยงามที่สุดในโลก แต่สีสันของมัสยิดโมฮัมหมัดอาลีนั้นไม่สวยงามเท่า เพราะเป็นสีน้ำตาลทึมๆในสไตล์อียิปต์


มัสยิดสุลต่านอาห์เมต ที่ตุรกีมีหอสวด 6 หอ แม้มัสยิดโมฮัมหมัดอาลีจะมีหอสวดคู่ที่สูงเสียดฟ้า 2 หอ แต่ก็มีการสร้างหอสวดขนาดเล็กอีก 4 หอ โดยมีโดมขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยโดมขนาดเล็กอีกหลายโดม แม้ว่าตัวมัสยิดจะมีความสูง 52 เมตร แต่ถ้ารวมความสูงของหอสวดคู่ด้วยแล้ว จะมีความสูงถึง 82 เมตร จึงถือว่าเป็นมัสยิดที่มีความสูงมากมัสยิดหนึ่ง


เราพากันเข้าสู่ภายในมัสยิดด้วยอาการสำรวม แม้ภายในมัสยิดโมฮัมหมัดอาลีจะงดงามเทียบกับมัสยิดสุลต่านอาห์เมตไม่ได้ แต่หากไม่เคยเห็นมัสยิดสุลต่านอาห์เมตมาก่อน ก็ต้องพูดตรงกันว่าภายในมัสยิดโมฮัมหมัดอาลีนี้งดงามยิ่งนัก เพราะนอกจากเสาแต่ละต้นจะสร้างจากหินอ่อนสีชมพูที่มีลวดลายหินสวยงามแล้ว ที่บนเพดาน ในตำแหน่งโดมแต่ละอันยังมีลวดลายอันวิตรตามแบบฉบับของโลกมุสลิม ดวงไฟนับร้อยๆดวงที่ส่องแสงสว่างไสวภายในมัสยิด จึงช่วยกันขับความงดงามของทุกสรรพสิ่งให้สวยชัดมากยิ่งขึ้น


ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของมัสยิดโมฮัมหมัดอาลีที่อยู่ในเขตซิทาเดล ที่อยู่บนเนินเขาใจกลางกรุงไคโร ทำให้ที่แห่งนี้เป็นจุดชมวิวชั้นเลิศในการทอดสายตามองกรุงไคโรได้ทั้งเมือง โดยอาคารบ้านเรือนรวมถึงอาคารสูงที่สร้างกันอย่างอัดแน่นนั้นดูแล้วสีสันแทบไม่ต่างจากสีของมัสยิดโมฮัมหมัดอาลี นั่นคือเป็นสีน้ำตาลทึมๆ อันเป็นสีของผนังที่ไม่ฉาบปูน ปล่อยให้เห็นอิฐที่ก่อ และหากเพ่งสายตาดีๆ ภายใต้ม่านหมอกที่ไกลออกไป จะพบมหาพีระมิดแห่งกีซ่าปรากฏเป็นเงาลางๆอยู่ในนั้น



กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เวลา 16.12 น.