เวลาล่วงเลยไปเกือบ 2 ชั่วโมงผมจึงเดินมาถึงห้องจัดแสดงของราชอาณาจักรใหม่ ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ 1650 – 1070 ปีก่อนคริสตกาล ครอบคลุมตั้งแต่ราชวงศ์ที่ 14 – 20 ซึ่งยังคงมีเมืองธีบส์เป็นเมืองหลวง ในยุคสมัยนี้เปลี่ยนจากการสร้างพีระมิดเพื่อใช้เป็นสุสาน เป็นการสร้างสุสานไว้ใต้ดินในหุบเขากษัตริย์ โดยมีการสร้างวิหารขนาดใหญ่มากกมาย อีกทั้งยังมีฟาโรห์ที่เราคุ้นชื่อหลายองค์ ไม่ว่าจะเป็นฟาโรห์รามเสสที่ 2 ฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุต ฟาโรห์ตุตันคาเมน ซึ่งเป็นยุคสมัยที่อียิปต์เจริญรุ่งเรือง และมีอำนาจมากกว่าทุกยุคสมัย ทำให้ประชาชนเกิดความมั่งคั่ง นอกจากบรรดารูปปั้นที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่เทพเจ้าแล้ว ในยุคนี้จึงเริ่มเห็นเครื่องประดับที่ทำจากหินหลากสี อันสะท้อนถึงการอยู่ดีกินดีของประชาชน ที่สามารถมีสิ่งที่มากกว่าปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต

โบราณวัตถุที่จัดแสดงในยุคนี้มีมากมาย โดยนำมาจากเหล่าวิหารที่สร้างเพื่อบูชาเทพเจ้า กับภายในสุสานที่หุบเขากษัตริย์ นอกจากรูปสลักหินของฟาโรห์แล้ว ยังมีไหที่บรรจุเครื่องในของมัมมี่ และโลงศพหินของฟาโรห์องค์ต่างๆจากสุสานใต้ดินในหุบเขากษัตริย์ตั้งเรียงรายจนดูไม่หวัดไม่ไหว เดินดูโลงศพหินของฟาโรห์ไปเรื่อยๆผมก็มาเจอพี่น้องทรงอีกครั้ง ไม่รู้ว่าดูโบราณวัตถุจนเบลอหรือเปล่า จึงนั่งหลับโดยไม่สนใจคนที่เดินผ่านไปมาเลย

ทิ้งให้พี่น้องทรงหลับต่อไป เพราะเขาว่าปลุกคนหลับเป็นบาป ผมจึงเดินสู่ห้องจัดแสดงในยุคที่อียิปต์ถูกปกครองโดยชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวนูเบียน เปอร์เซีย จนถึงกรีก – โรมัน ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ซึ่งมีราชวงศ์ปโตเลมีเป็นฟาโรห์ราชวงศ์สุดท้าย บรรดารูปสลักหินจะมีความต่างออกไป หน้าตาของฟาโรห์จะเป็นหน้าตาของแต่ละชนชาติที่เข้ามาปกครอง โดยเฉพาะยุคสมัยราชวงศ์ปโตเลมีนั้น รูปสลักหินแต่ละอันแทบไม่เหลือความเป็นอียิปต์ ซึ่งถ้าไม่รู้ว่าขุดค้นพบที่ประเทศอียิปต์ อาจคิดว่ากำลังเดินชมโบราณวัตถุในประเทศกรีซ หรืออิตาลี

แล้วก็ได้เวลาที่ผมจะเดินขึ้นบันไดสู่ชั้น 2 ในขณะที่เพื่อนๆเดินนำขึ้นชั้น 2 ไปนานโข ส่วนแรกของชั้น 2 จัดแสดงโลงศพของฟาโรห์กับมเหสี แต่เป็นโลงไม้ซึ่งอยู่ด้านในของโลงหินแบบที่จะแสดงที่ชั้นล่าง แต่ละโลงล้วนยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ทั้งลวดลาย และสีสัน เพราะไม่ได้สัมผัสอากาศภายนอก และแน่นอนว่ามีมัมมี่จัดแสดงให้เห็นกันจะๆด้วย ดูแล้วสยองไม่น้อย ซึ่งไม่อยากจะคิดเลยว่าคราบดำๆที่เกิดจากการซึมออกมาจากผ้าที่ห่อมัมมี่นั้นคืออะไร

ห้องถัดไปจัดแสดงถ้วย ชาม ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องประดับ และเหล่าตุ๊กตาดินเผาตัวน้อยที่แสดงวิถีชีวิตของชาวอียิปต์เมื่อหลายพันปีก่อน และตุ๊กตาที่นั่งอยู่บนเรือหลากหลายรูปแบบ ทั้งเรือประมง เรือสำเภา อันเป็นพาหนะหลักในการสัญจรทางน้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำไนล์สายเลือดสำคัญของชาวอียิปต์ตั้งแต่อดีตสู่ปัจจุบัน

ส่วนตรงกลางอาคารจัดแสดงทรัพย์สมบัติที่พบในสุสานกษัตริย์ ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากทอง ทั้งเครื่องประดับ ข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงหน้ากากทองคำที่ใช้ปิดพระพักตร์ของฟาโรห์ แล้วผมก็พบกับเพื่อนๆทุกคนพร้อมกันที่หน้าห้องที่ถือว่าสำคัญที่สุดในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นั้นคือ ห้องที่จัดแสดงสมบัติที่พบในสุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมน

ย้อนกลับไปถึงวันที่เราไปเยือนหุบเขากษัตริย์ ซึ่งสุสานของกษัตริย์แต่ละแห่งแม้สร้างไว้ลึกลับแค่ไหนก็ตามก็ถูกโจรรื้อค้นเสียจนพรุน จนไม่เหลือทรัพย์สมบัติที่ถูกฝังไว้สักชิ้น จะเหลือก็เพียงภาพสลักบนฝาผนังในสุสาน กับโลงศพหินที่หนักเกินไปที่จะแบกออกจากสุสาน ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะแบกออกมาเพื่ออะไร จะมีก็แต่สุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมนแห่งเดียวเท่านั้น ที่ไม่ถูกโจรรื้นค้น สาเหตุเป็นเพราะสุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมนนั้นถูกสุสานของฟาโรห์รามเสสที่ 6 สร้างทับ ทำให้ไม่มีใครรู้ว่ายังมีสุสานแห่งนี้ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน จึงพ้นเงื้อมมือจากเหล่าโจรปล้นสุสาน และนั้นทำให้โลกได้ประจักษ์ว่า บรรดาทรัพย์สมบัติของเหล่าฟาโรห์นั้นล้ำค่าเพียงใด เพราะขนาดสุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมนที่ครองราชย์เพียงแค่ 9 ปี ยังมีทรัพย์สมบัติมากขนาดนี้ แล้วสุสานของฟาโรห์องค์อื่นๆ โดยเฉพาะฟาโรห์ที่มีอำนาจแผ่กว้างไพศาลอย่างฟาโรห์รามเสสที่ 2 จะมีทรัพย์สมบัติมากเพียงใด

การค้นพบสุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมนนี้เอง ที่ทำให้ฟาโรห์ที่แทบจะถูกลบเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์ กลายเป็นฟาโรห์ในหน้าประวัติศาสตร์อียิปต์ที่คนยุคปัจจุบันรู้จักมากที่สุด แต่วันที่เราไปเยือนหุบเขากษัตริย์ เราตัดสินใจไม่ซื้อบัตรเข้าสุสานฟาโรห์ตุตันคาเมน เพราะภายในสุสานนั้นแทบไม่เหลืออะไร นอกจากโลงศพหินกับภาพเขียนฝาผนัง โดยทรัพย์สมบัติกว่า 5 พันชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากทองถูกนำมาจัดแสดงไว้ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นโลงศพทองคำ เตียงบรรทม พระราชบัลลังก์ รถศึก 

บรรดาเครื่องประดับต่างๆ ซึ่งชิ้นที่ถือว่าสำคัญและงดงามที่สุด เห็นจะไม่พ้น หน้ากากทองคำที่หนักถึง 14 กิโลกรัม ที่ใช้ปิดพระพักตร์ของฟาโรห์ตุตันคาเมน นั้นงดงามอร่าม ไร้ตำหนิ จนเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศอียิปต์ในปัจจุบัน ซึ่งไม่ว่าใครได้เห็นเป็นต้องหยุดมองเหมือนตกอยู่ในมนต์สะกด ซึ่งห้องนี้เป็นห้องเดียวในพิพิธภัณฑ์ที่ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป ผมจึงเดินวนชมทรัพย์สมบัติล้ำค่าถึง 2 รอบ เพื่อให้สายตาและสมองเก็บภาพความทรงจำนี้ให้ได้มากที่สุด

แล้วผมก็ถูกเพื่อนๆยุให้ซื้อบัตรเพิ่มสำหรับการเข้าชม Royal Mummy ซึ่งจัดแสดงมัมมี่ของเหล่ากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็น ฟาโรห์รามเสสที่ 2 ฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุต ซึ่งนั่นรวมถึงมัมมี่ของฟาโรห์ตุตันคาเมนด้วย ทีแรกก็คิดจะควักเงินซื้อบัตรเพิ่ม แต่เอาเข้าจริงๆก็เปลี่ยนใจ เพราะแค่มัมมี่ที่จัดแสดงภายนอกก็ดูกันไม่หวัดไม่ไหว เพราะมีมากเหลือเกินจนตั้งวางเรียงต่อกันเป็นชั้นๆในแนวตั้ง เพราะหากวางเรียงนอนเห็นจะพื้นที่ไม่พอเก็บ ซึ่งขนาดยังมีผ้าห่ออยู่ ไม่เห็นเนื้อหนังที่เหี่ยวแห้งแบบหุ้มกระดูก เพียงแค่เห็นผ้าที่มีคาบน้ำเหลืองที่เคยซึมออกมาผมยังรู้สึกสยอง นี่หากได้เห็นมัมมี่ของเหล่ากษัตริย์ที่เปิดผ้าให้เห็นโฉมหน้าของพระศพแบบจะๆ เห็นจะฝันร้ายไปอีกนาน

เราใช้เวลาครึ่งค่อนวันในการเดินชมบรรดาโบราณวัตถุที่เป็นเหมือนเงาแห่งอดีตที่ถูกนำมารวมกัน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรอียิปต์โบราณให้คนในโลกยุคปัจจุบันได้รับรู้ เมื่อออกจากพิพิธภัณฑ์ไคโรเราจึงมีอาการอิ่มจนถึงขั้นจุก กับการชมเหล่าโบราณวัตถุที่มีมากมายเหลือเกิน ซึ่งเป็นเหมือนจิ๊กซอชิ้นสำคัญที่ทำให้การเดินทางท่องอียิปต์ตั้งแต่เหนือจรดใต้ไปตามแม่น้ำไนล์สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งในเวลานั้นผมเกิดความคิดว่า หากโบราณวัตถุเหล่านั้นไม่ได้นำมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ แต่ยังคงตั้งอยู่ในที่ที่มันจากมา จะทำให้เหล่าโบราณสถานมีความสวยงามยิ่งขึ้น และการเที่ยวชมเหล่าโบราณสถานในอียิปต์น่าจะให้ความรู้สึกที่ดีมากกว่านี้ แต่นั้นก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงจากการสูญหายและเสื่อมสภาพจากธรรมชาติที่สัมผัส

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 15.51 น.

ความคิดเห็น